วิกฤติผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์


สาเหตุที่นำไปสู่วิกฤติผู้นำ มีสาเหตุหลักสำคัญ ๓ ประการ ๑) โลภะ คือ ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ต้องการครอบครองสิ่งต่างๆ มีความต้องการเป็นเจ้าของ ความต้องการอยากเสพสิ่งเหล่านั้น เช่น อยากมีทรัพย์สิน อยากมีชื่อเสียง อยากได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่าผู้อื่น อยากให้คนยอมรับนับถือ และอยากมีชีวิตที่สุขสบาย นำไปสู่การแสวงหาด้วยกลวิธีการต่างๆ แม้เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องตามครรลองธรรมหรือกฏหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการนั้น ๒) โทสะ คือ อารมณ์ที่ขุ่นมัว ความขุ่นเคืองใจ ความโกรธเคืองและพยาบาทที่ขาดความเหมาะสม การทนรับสภาพในบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การแสวงหาหนทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ในศีลธรรมในการล้างแค้น การมุ่งร้ายที่จะทำสิ่งต่างๆแก่บุคคลที่ตนไม่ชอบ รวมถึงการไม่ชอบบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผล นำไปสู่การทำลายผู้อื่น และความปรารถนาให้ผู้อื่นรับเคราะห์ การไม่ยอมรับผู้อื่นที่มีสิ่งต่างๆ ดีกว่าตนเองทั้งด้านทรัพย์สมบัติลักษณะรูปร่างนิสัย และ การประสบความสำเร็จ ความอิจฉานำไปสู่การรังเกียจตัวเอง ต้องการอยากเป็นผู้อื่น นำไปสู่การขโมยและทำลายผู้อื่น ๓) โมหะ คือ ความหลง ไม่รู้จริง ความคิดเห็นที่ผิดจากการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ประจักษ์ในเรื่องนั้นๆ ให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ชักนำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีต่างๆ โมหะหรือความไม่รู้อันนี้ และความไม่รู้ทำให้ขาดปัญญา ไม่มีวิสัยทัศน์

วิกฤติผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์

          “ปัญหาวิกฤติของผู้นำ” ที่เกิดขึ้นในสังคม หรือเรียกว่า ปัญหาผู้นำที่ไม่พึงประสงค์ ที่ไม่ใช่เพียงแค่สังคมใดสังคมหนึ่ง แต่ปัญหาวิกฤติผู้นำในปัจจุบันเกิดขึ้นกับทุกๆสังคม การจงใจฝ่าฝืนกฏหมายและความถูกต้องชอบธรรมของข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงที่ลุแก่อำนาจ ขาดความรู้ ความสามารถ ทักษะ หรือความตั้งใจในการทำงานให้สำเร็จ ปัญหาความล้มเหลวขององค์กรที่เกิดขึ้น มาจากระบบการบริหาร และขาดการมีผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ บริหารที่ขาดความโปร่งใส เสียสละ และเห็นแก่ตัว ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานประจำวันมากกว่าการคิดถึงแผนกลยุทธ์หรือการบริหารกลยุทธ์ของหน่วยงาน ขาดทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการทำงานเป็นทีมมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มีอัตตาสูง ตัดสินใจจากสัญชาติญาณมากกว่าข้อมูล ไม่สนใจรายละเอียดของขั้นตอนและเนื้อหาของงาน ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ ตนเองได้ ผู้นำไม่อยู่กับร่องกับรอย พูดจาเชื่อถือไม่ได้ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้ารับผิดชอบ ใช้วาทศิลป์ในการชักจูงให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจผิดเพื่อเอาตัวรอด โดยมีสื่อให้ความร่วมมือในระดับหนึ่ง ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ ชักจูงสาธารณชน ตัวอย่างได้แก่ ผู้นำในยุคเผด็จการนาซีเยอรมัน หรือสังคมนิยมในบางประเทศ ขาดวิสัยทัศน์ มองสั้นๆ เฉพาะผลประโยชน์เฉพาะหน้า แก้ปัญหาได้เฉพาะวันต่อวัน ไม่สามารถมองการณ์ไกลได้ เล่นพรรคเล่นพวกเอาแต่กลุ่มของตน ไม่เปิดกว้างให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยทำงาน คือผู้นำที่ไม่พึงประสงค์ ลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจเป็นธรรม ข่มเหงรังแกผู้ซึ่งอ่อนแอกว่าโดยถือว่ามีอำนาจ อยู่ในมือกลบเกลื่อนปกปิดความชั่วของตนเอง ขณะเดียวกันก็ป้ายร้ายผู้อื่นโดยไม่มีหิริโอตัปปะ ยักย้ายถ่ายเทเอกสารเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบบัญชีหาข้อเท็จจริง อันจะเป็นการปกปิดความผิดที่ได้กระทำขึ้น ได้อำนาจมาโดยการโกงการเลือกตั้ง หรือการโครงการต่างๆมาด้วยการใช้อิทธิพลข่มขู่เพื่อไม่ให้ผู้อื่นมีโอกาสมาประมูล หรือการล็อกสเป็คเพื่อให้บริษัทของพวกพ้องมีโอกาสสูงกว่าพวกอื่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง กอบโกยผลประโยชน์เพื่อเอาเงินไปปฏิบัติงานทางการเมือง หรือเพื่ออำนวยความสะดวกและความสุขของตนเองและครอบครัว ขาดความรู้ความสามารถไม่มีอุดมการณ์ สร้างภาพขยายคุณสมบัติส่วนตัวและผลงานเกินกว่าความเป็นจริง ในขณะเดียวกันก็พยายามบดบังผลงานของฝ่ายตรงกันข้าม และถ้ามีโอกาสก็ย้ำถึงความล้มเหลวของฝ่ายตรงกันข้าม ทั้งในส่วนที่เป็นจริงและส่วนที่กุขึ้น หมกหมุ่นในผลประโยชน์ของตนเอง ปัญหาดังกล่าวนี้นำไปสู่การรวมตัวกันของกลุ่มคนที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำเหล่านี้ เพื่อขับไล่ผู้นำออกจากตำแหน่งผู้นำ หรือให้ผู้นำนั้นยุติบทบาทการนำ นำมาซึ่งความเสียหายแก่ตัวผู้นำเอง องค์กร และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สาเหตุของวิกฤติผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์

          ลักษณะของวิกฤติผู้นำในยุคโลกาภิวัตน์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มีสาเหตุหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิกฤติผู้นำ หรือ เรียกว่า ภาวะขาดผู้นำที่ดี มาเป็นผู้ทำหน้าที่ในการนำกลุ่ม องค์กร สังคม วิกฤติผู้นำมาจากสาเหตุเหล่านี้ คือ

           ๑) วิสัยทัศน์ (Vision) หมายถึง สภาพที่ผู้นำขาดความสามารถในการสร้างภาพอนาคต หรือการมองอนาคตซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการเดินไปสู่อนาคต โดยวิธีการนำเอาระบบการวางแผนมาใช้ ปัญหาการขาดวิสัยทัศน์ ไม่สนใจคิด ใคร่ครวญ ค้าคว้าหาข้อมูลความรู้ มีแต่ข้อมูลล้าสมัยใช้การไม่ได้ มีแต่เสี่ยงตัดสินใจผิด มีอย่างมากเพียงแผนเชิงรับ ไร้ศักยภาพในการแข่งขัน มีแต่ความล้มเหลว ขาดการป้องกันปัญหาจนเกิดการสะสมซ้อนทับของปัญหาหลายชั้นตามกาลเวลาจนยากจะหาต้นตอและหนทางการแก้ไขได้ครบ ผู้บริหารที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่มีโอกาสคิดที่จะบุกเบิกวางแผนในการบุกเบิกสร้างสรรค์งานใหม่ๆ และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงต่อความต้องการหรือกระแสของสังคม ดังเช่นกรณีศึกษาของโมโตโรล่า รับเบอร์เมด ชวินน์ไบซีเคิล หรือแม้กระทั่งอ๊อกซ์ฟอร์ด เฮลท์ แพลนส์ แอล เอ เกียร์ ที่ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ เมินเฉยต่อสัญญาณที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการพัฒนาองค์กร สินค้า ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็นบริษัทมหาอำนาจ ขาดไหวพริบ และเชาว์ปัญญาในการวิเคราะห์ปัญหา การตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงประเด็นที่กล่าวอย่างนี้เพราะว่าผู้นำส่วนใหญ่มักมองข้ามปัญหาหรือใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยให้กาลเวลาลบหรือปล่อยผ่านไป หรือแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปเท่านั้น          

             ๒) ความคิดริเริ่ม (Creativity) ในปัญหานี้อธิบายได้สองนัย คือ นัยที่หนึ่ง กล่าวคือ ผู้นำขาดความคิดที่ดีงาม มีความคิดพยาบาท ขาดเมตตา เบียดเบียนผู้อื่นให้เขาต้องเดือดร้อน หมกมุ่นวุ่นวายเกี่ยวกับเรื่องกาม ในท่ามกลางภาวะสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่มีการช่วงชิง แก่งแย่งเพื่อความอยู่รอดของตน หรือกลุ่มของตนเอง ผลลัพธ์จากการแข่งขันนำมาสู่การมีชัยหรือปราชัย ผลลัพธ์ต่อจากการมีชัยหรือปราชัยของอีกฝ่ายนำไปสู้การอาฆาต ผูกใจเจ็บ นำไปสู่การประทุษร้ายต่อกันด้วยวิธีการต่างๆ ทำลายอีกฝ่าย หรือทำให้อีกฝ่ายเดือดร้อน นัยที่สอง คือ การที่ผู้นำ ผู้บริหาร หรือ ซีอีโอ ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ยึดติดอยู่กับระบบการทำงานแบบเดิมๆ ผลิตภัณฑ์เดิมๆ ขาดความคิดสร้างสรรค์นำนวัตกรรมใหม่ๆ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ขาดความ คิดริเริ่ม (Originality thinking) ขาดกระบวนการทางความคิดคล่องตัว (Fluency thinking) ยึดติดหรือไม่มีความคิดที่ยืดหยุ่น(Flexible thinking) ความคิดละเอียดลออ (Elaboration thinking) ความคิดจินตนาการ(Imagination) ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผู้นำที่ขาดความคิดสร้างสรรค์ ผู้วิจัยจะนำกรณีศึกษาของบริษัทชั้นนำของโลกมาวิเคราะห์ชี้ให้เห็นชัดเจนขึ้น เช่น กรณีของ ชวินน์ไบซีเคิล ซีอีโอของชวินน์ไบซีเคิลมีแนวความคิดและเชื่อมั่นในศักยภาพของรถจักรยานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของตนว่าคุณภาพดีที่สุด แม้ในช่วงเวลานั้นจะมีผู้ผลิตจักรยานยี่ห้ออื่นๆออกมาแข่งในตลาดก็ตาม ในที่สุดแล้วชวินน์ไบซีเคิลก็ได้พบกับความสูญเสียด้านการตลาดในที่สุด แม้คิดจะปรับแนวทางการตลาดแต่ก็สายเกินไป หรือแม้กระทั้งโมโตโรล่าที่มองข้ามความระคัญของระบบสื่อสารแบบดิจิตอลในที่สุดก็พบกับความล้มเหลว อีกกรณีคือ อ๊อกซ์ฟอร์ด เฮลท์ แพลนส์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซีอีโอมุ่งขยายธุรกิจ ระบบการบริหารจัดการถูกละเลยล้าหลัง ขาดการควบคุม และพบกับความล้มเหลวในที่สุด กรณีของ อ๊อกซ์ฟอร์ด เฮลท์ แพลนส์ นอกจากแสดงให้เห็นถึงความที่ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ในการขยายกิจการแล้ว ยังขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการ การวางระบบที่ดีด้วย

         ๓) การสื่อสาร (Communication) เป็นปัญหาสำคัญของผู้นำในปัจจุบัน ซึ่งผู้นำในฐานผู้บริหาร ผู้ให้คุณและให้โทษต่อผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชา จะพบว่า ผู้นำยังมีปัญหาในเรื่องของการใช้ภาษาในการสื่อสาร เช่น (๑) การที่ผู้นำใช้วาจาไม่สุภาพหรือดุด่าแสดงอาการไม่พอใจผู้ตามหรือผู้ใต้บังคับบัญชา หรือการกล่าวให้ร้ายผู้อื่นต่อหน้าสาธารณะชน (๒) วาจาที่ผู้นำกล่าวออกมาไม่เป็นวาจาเป็นสัจ (๓) เป็นวาจาที่ขาดความอ่อนหวาน (๔) เป็นวาจาที่กล่าวไม่ประกอบด้วยประโยชน์ (๕) เป็นวาจาที่กล่าวด้วยขาดเมตตาจิต ซึ่งการที่ผู้นำขาดความรู้ความเข้าใจ ขาดกลวิธีในการถ่ายทอดหรือการนำเสนอที่ดีที่เหมาะสม ที่ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ตามเกิดความสนใจ หรือมักใช้อารมณ์เหนือเหตุผล ข้อมูล (Data) ของผู้นำ ไม่สมนัย หรือไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ขาดข้อมูลในมิติต่างๆ เกี่ยวกับโครงการ หรือวิถีชีวิตความเป็นไปของกันและกัน จึงก่อให้เกิดการเข้าใจผิด อันเป็นสาเหตุของการขาดการสื่อสาร หรือสื่อสารไม่ถูกต้อง มีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับข้อมูล หรือที่มาของข้อมูลต่างๆ หรือพยายามที่จะบิดเบือนข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ เพื่อให้การชอบธรรมหรือมีวาระซ่อนเร้นเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลก่อให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ (Relationship) ขาดการปฏิสัมพันธ์กันในลักษณะต่างๆ เช่น การพบปะพูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกัน การที่ผู้นำหรือกลุ่มบุคคลมีบุคลิกภาพ พฤติกรรม หรือการแสดงออกที่แตกต่างกัน การที่ผู้นำมีพฤติกรรมในเชิงลบเนืองๆ อันทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลในองค์กรไม่สามารถที่จะยอมรับพฤติกรรมดังกล่าวได้ กรณีของ อ๊อกซ์ฟอร์ด เฮลท์ แพลนส์ ที่ผู้บริหารเน้นการขยายกิจการแบบซื้อรวบ ทำให้มีปัญหาด้านการสือสาร และความร่วมมือ อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำสื่อสารกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยการใช้อารมณ์เหนือเหตุผลเรื่องการทำงาน มีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามลดระดับลง หรือทำลายความเชื่อใจที่มีต่อกัน           

          ๔) ความซื่อสัตย์ (Truth) หมายถึง การที่ผู้นำขาดความซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและหน้าที่ความรับผิดชอบ ผู้ใต้บังคับบัญชาขาดความไว้วางใจ ความน่าเชื่อถือและเลื่อมใส การปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำที่ขาดความซื่อตรง ละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ การปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่น้อยกว่า หรือเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้สำหรับตนเองหรือผู้อื่น การใช้หรือเบียดบังทรัพยากรของรัฐไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว การขาดจิตสำนึกในการบริการสาธารณะ มีการใช้ดุลยพินิจที่ไม่คงเส้นคงวาในการให้บริการสาธารณะ การละเว้นหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ และมาตรฐานวิชาชีพ การใช้อำนาจหน้าที่ทางราชการ เพื่ออำนวยประโยชน์ต่อพวกพ้อง และการใช้สิทธิพิเศษ การรับของกำนัลและผลประโยชน์ การไม่รักษาความขององค์กรและการปกปิดข้อมูลที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ การมีช่องว่างของกฎหมายและการขาดระบบการตรวจสอบที่ดี นำไปสู่ความขัดแย้งกันระหว่างผล ประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม รูปแบบความขัดแย้งมีหลายรูปแบบตั้งแต่การรับสินบน การรับของขวัญ การใช้อิทธิพลส่วนตัว การใช้ข้อมูลลับ การใช้ความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ซึ่งนำไปสู่การคอร์รัปชั่นที่รุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ความซื่อสัตย์สุจริต ยังกล่าวรวมถึงความซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเอง ต่อครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคม ประเทศชาติด้วย ปัญหาที่พบหรือคำทีมักจะได้ยินหลายครั้งคือ “ตะบัดสัตย์” ที่เกิดมาจากความไม่จริงใจ การที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อกันและกันของตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล สะท้อนถึงปัญหาด้านความซื่อสัตย์อย่างเห็นได้ชัดเจน

          ๕) การทุจริต (Corruption) หมายถึง การที่ผู้ปฏิบัติงานของผู้บริหาร หรือร่วมกับบุคคลภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกระทำการเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ตนเองหรือแก่พรรคพวกโดยมิชอบหรือโดยผิดกฎหมาย ผลประโยชน์ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะในรูปของตัวเงินเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ เช่น การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การประมูลซื้อขายตำแหน่งหน้าที่ในวงราชการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้นำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีการสมยอมคบคิดกันในการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ของหน่วยงานภาคราชการ หน่วนงานต่างๆ ของรัฐ มีการวิ่งเต้นที่จะให้ได้มาซึ่งตำแหน่งหน้าที่ ที่สูงขึ้นกว่าผู้อื่น การยักยอกทรัพย์ หลบเลี่ยงภาษี เหล่านี้เป็นต้น

             ๖) ความรับผิดชอบ (Accountability) หมายถึง ความรับผิดชอบต่อตนเองและต่อครอบครัว ต่อผู้บังคับบัญชา ต่อเพื่อนร่วมงานต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และต่อประชาชนผู้ใช้บริการ หมายถึง ความสามารถในการควบคุมตนเองได้ มีวินัยในตนเอง โดยไม่ต้องมีผู้ใดมาคอยควบคุมดูแลหรือบังคับ การที่ผู้นำปฏิเสธที่จะรับผลการกระทำหรือการปฏิบัติของตนต่อบุคคลอื่น หรือฝ่ายอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ ขาดความกระตือรือร้น (Enthusiasm) หรือความตื่นตัว (alert) และขวานขวายในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ขาดความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาแนวทางในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ รวมถึงการกระตุ่น จูงใจให้ทีมงานหรือผู้อื่นเกิดความตื่นตัวในการทำงาน การติดตามผลการเปลี่ยนแปลงของผู้ใต้บังคับบัญชา ฝึกฝนหาความรู้ มีการพัฒนาด้านต่างๆ ความกระตือรือร้นในงานที่ได้รับ การติดตามดูแลการเปลี่ยนแปลงของผู้ใต้บังคับบัญชารวมตลอดถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น

             ๗) การใช้อำนาจ (Lost of Authority) หมายถึง เมื่อบุคคลได้ก้าวมาสู้ตำแหน่งผู้นำ สิ่งได้มาคือ อำนาจ กล่าวคือ อำนาจหน้าที่ และอำนาจที่ได้มาจากอิทธิพลของการดำรงตำแหน่งผู้นำว่าด้วยเรื่องอำนาจหากนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือกลุ่ม และประโยชน์ของส่วนรวมจะเป็นผลดี ทั้งนี้ก็มีกลุ่มผู้นำบางคนหรือบางพวกได้ใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง เมื่อเสพติดอำนาจหรืออยู่ในตำแหน่งนานอาจทำให้เกิดการหลงในอำนาจ ใช้อำนาจแบบไม่มีขอบเขตนำมาซึ่งความประมาทโดยมีความเชื่อว่าองค์กรของตนเองเป็นมหาอำนาจ หรือเชื่อว่าตนเองมีอำนาจมากพอ ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดทำลายตนได้ เช่น มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หรือตั้งใจที่จะทำให้เกิดความเสียหายจากการกระทำของตนโดยผิดกฎหมาย เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือ ไม่มีสิทธิหรือทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การงดเว้นการกระทำอันเป็นผลทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรและบุคคลอื่น การใช้อำนาจที่มีอยู่เกินส่วนหรือใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่น เหล่านี้ปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมปัจจุบัน แต่หากว่ายังไม่มีผู้ใดหรือองค์กรใดเข้าไปจัดการแก้ปัญหา ตัวอย่างผู้นำที่ลุแก่อำนาจเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ได้แก่ คิม จอง อิล ( Kim Jong-il) ผู้นำประเทศเกาหลีเหนือ พล.อ. ตาน ฉ่วย (Ban Owe) ผู้นำประเทศพม่า มูอัมมาร์ อัล กัดดาฟี (Muammar Al-Gaddafi) ผู้นำประเทศลิเบีย เตโอโดโร โอเบียง งวยบา (Obiang Nguema) ผู้นำประเทศเอเควตอเรียลกินี อีดี้ อามิน เป็นผู้นำจอมโหดแห่งอูกันดาซาปาร์มูรัต นิยาซอฟ ประธานาธิบดีของเติร์กเมนิสถาน เป็นต้น

            ๘) วุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Quotient) คือ ความฉลาดทางอารมณ์ จะสังเกตได้ว่าความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง การรู้จักอารมณ์ของตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ในที่นี้หมายถึง การรู้จักควบคุมอารมณ์ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดปัญหา ในทางธุรกิจจะพบว่าผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะเกรี้ยวกราดหรือมีท่าทีที่แสดงให้เห็นว่าอารมณ์เสียมาก เมื่อพบสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ความกราดเกรี้ยวหรืออารมณ์โกรธเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คิด เป็นตัวของตัวเองสุดโต่ง รู้จักตัวเองแต่ไม่รู้จักคนอื่น ไม่ยอมปรับตัวเข้าหาผู้อื่น เรียกร้องให้ผู้อื่นปรับตัวเข้าหาตนเอง อารมณ์แปรปรวนอย่างคาดเดาไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไปมาอย่างหลากหลายในวันเดียวกัน ขาดความหนักแน่น ซึ่งเมื่อก้าวขึ้นมาสู้ตำแหน่งผู้นำสิ่งแรกที่สังคมถามหาคือ ผู้นำนั้นมีภาวะผู้นำหรือไม่ ย่อมประกอบไปด้วยบุคลิกภาพอารมณ์ รวมถึงกริยาอาการต่างๆที่แสดงออกสู่สาธารณะ

           สาเหตุของวิกฤติผู้นำทั้ง ๘ ประการที่ได้กล่าวแล้ว หากมองในแง่ของพระพุทธศาสนา จะพบว่าสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมีปัจจัยหลัก ๒ ประการ ได้แก่ เกิดจากปัจจัยภายใน (ตัณหา) เป็นแรงกระตุ้น และปัจจัยภายนอก (วัตถุ) เป็นสิ่งเร้าผลักดันให้ผู้นำกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตนเอง อาจกล่าวได้ว่า สาเหตุที่นำไปสู่วิกฤติผู้นำ มีสาเหตุหลักสำคัญ ๓ ประการ 

         ๑) โลภะ คือ ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ต้องการครอบครองสิ่งต่างๆ มีความต้องการเป็นเจ้าของ ความต้องการอยากเสพสิ่งเหล่านั้น เช่น อยากมีทรัพย์สิน อยากมีชื่อเสียง อยากได้ตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่าผู้อื่น อยากให้คนยอมรับนับถือ และอยากมีชีวิตที่สุขสบาย นำไปสู่การแสวงหาด้วยกลวิธีการต่างๆ แม้เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องตามครรลองธรรมหรือกฏหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการนั้น

         ๒) โทสะ คือ อารมณ์ที่ขุ่นมัว ความขุ่นเคืองใจ ความโกรธเคืองและพยาบาทที่ขาดความเหมาะสม การทนรับสภาพในบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การแสวงหาหนทางผิดกฎหมายบ้านเมือง ในศีลธรรมในการล้างแค้น การมุ่งร้ายที่จะทำสิ่งต่างๆแก่บุคคลที่ตนไม่ชอบ รวมถึงการไม่ชอบบุคคลอื่นโดยไร้เหตุผล นำไปสู่การทำลายผู้อื่น และความปรารถนาให้ผู้อื่นรับเคราะห์ การไม่ยอมรับผู้อื่นที่มีสิ่งต่างๆ ดีกว่าตนเองทั้งด้านทรัพย์สมบัติลักษณะรูปร่างนิสัย และ การประสบความสำเร็จ ความอิจฉานำไปสู่การรังเกียจตัวเอง ต้องการอยากเป็นผู้อื่น นำไปสู่การขโมยและทำลายผู้อื่น

         ๓) โมหะ คือ ความหลง ไม่รู้จริง ความคิดเห็นที่ผิดจากการไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ประจักษ์ในเรื่องนั้นๆ ให้ถ่องแท้ถี่ถ้วนก่อน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เป็นเหตุให้ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ชักนำให้ไปทำความชั่วความไม่ดีต่างๆ โมหะหรือความไม่รู้อันนี้ และความไม่รู้ทำให้ขาดปัญญา ไม่มีวิสัยทัศน์

หมายเลขบันทึก: 481722เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2012 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท