ป่าในชีวิตโดย ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)


โครงการอนุรักษ์วรรณกรรมเก่าและหายาก อันดับที่ ๔๑

 (เรื่องป่าในชีวิตเริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามนิกรรายวัน วันที่ ๑๗ ม.ค. ๒๔๘๐ จบลงฉบับวันที่ ๒๕ เม.ย. ๒๔๘๑ รวมทั้งสิ้น ๗๓ วัน)

          นิกร     ร้อยโทหนุ่มบุตรชายคนโปรดของท่านนายพลตรีพระยาเดชานุภาพไตรภพแห่งกองทัพบก  หล่อ คม สง่า องอาจ  มีน้ำใจ  เป็นคนสนุกสนานตลอดเวลา  เขาชอบการแต่งกายภาคภูมิ โอ่โถง ชอบคบเพื่อน ชอบการสนทนา โดยไม่เลือกว่าจะเป็นเรื่องที่มีแก่นสารหรือไม่  แต่ก็เป็นความจริงว่า  ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเขามักจะเป็นสุขด้วยความสนุก ใจดีของเขา  อย่างไรก็ตามเขาเป็นคนฉลาดและมีความเด็ดเดี่ยวแน่นอน  แต่เขาไม่ใคร่ใช้ความฉลาดและความเด็ดเดี่ยวของเขาไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์

          กันยา    สวย  สง่า  ฉลาด  มีเสน่ห์ ร่าเริง ช่างพูด ไม่ถือตัว  เป็นคนใจกว้าง รักความสนุกสนาน 

          ประพาส   คนหนุ่มวัย ๒๗ ปี  สุภาพ เรียบร้อย อ่อนโยน  โอบอ้อมอารี  มีระเบียบ  มีหลักการ  ได้รับการศึกษามาดี มีคุณวุฒิและฐานะพอที่จะสมาคมกับคนทั้งหลายได้  เขาเป็นคนละแบบกับนิกร  เขาไม่ใช่ชายหนุ่มรูปงามเช่นนิกร  บรรพบุรุษของเขาเป็นชาวเมืองกำแพงเพชร และได้รับการศึกษาอบรมในกรุงเทพฯ ผิวจึงไม่นวลเช่นชาวกรุงเทพฯ ไม่หล่อ จมูกใหญ่ ริมฝีปากค่อนข้างหนา  ถ้าเปรียบกับนิกรถือว่าเกือบจะเรียกได้ว่าขี้เหร่  แต่ถ้ากล่าวโดยทั่วไปและภายใต้เครื่องแต่งกายอันสุภาพเรียบร้อยแล้ว  เขาก็ไม่ดูเป็นคนขี้เหร่  วงหน้าของเขาแม้ว่าจะไม่สะสวยแต่ก็มีความหวานและซื่ออยู่ในดวงหน้านั้น  ทำให้เขากลายเป็นคนที่น่าติดต่อสมาคมผู้หนึ่ง  ประพาสเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของนิกร 

          นายพลตรีพระยาเดชานุภาพไตรภพ   มีบุตรชายสองคน  คนโตได้ออกไปรับราชการอยู่ต่างจังหวัดในตำแหน่งผู้พิพากษา  คุณหญิงเดชานุภาพฯ ได้ลาจากโลกนี้ไปเสียแล้วเมื่อ ๖-๗ ปีก่อน  ท่านนายพลได้ถูกปลดออกจากราชการ ภายหลังที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง  ท่านรักนิกรมาก 

          เจ้าคุณบริบาลฯ  บิดาของกันยา  ไม่นิยมเข้ามาเกี่ยวข้องก้าวก่ายในการตัดสินใจในเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น  ท่านถือว่า  ท่านมีหน้าที่แต่จะคอยประคับประคองให้โอวาท สั่งสอนชี้ทางที่ถูกให้ลูกได้ดำเนินไป  ส่วนการตัดสินใจนั้น  ท่านปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเขา  สำหรับกันยาซึ่งเป็นลูกคนโตท่านถือว่าได้รับการศึกษาเล่าเรียนมาพอ  และฉลาดพอที่จะเลือกคู่สมรสของหล่อนได้เอง  ท่านจึงไม่นำตัวเข้าไปยุ่งก้าวก่ายกับการตกลงใจของหล่อน

         คุณหญิงบริบาลประชากิจ    มารดาของกันยา  ซึ่งท่านมีนิสัยและหลักการตรงกันข้ามกับเจ้าคุณสามี  คุณหญิงถือหลักว่า  ลูกจะดีไปกว่าแม่ไม่ได้  ศิษย์จะดีไปกว่าครูไม่ได้  และถ้าจะดีไปให้ได้แล้วก็จะกลายเป็นคนอกตัญญูไปที่เดียว  แม่ต้องเป็นแม่อยู่เสมอ  และต้องฉลาดกว่าอยู่เสมอด้วย โดยเหตุนี้คุณหญิงจึงมักจะนำตนเข้าไปพัวพันกับการส่วนตัวของลูกๆ  ทำให้ไม่ค่อยชอบนิกร

          นิกรได้หมั้นหมายกับกันยาเอาไว้  และมีกำหนดการที่จะแต่งงานกันไม่เกิน ๖ เดือนต่อมา  แต่หลังวันหมั้นได้ ๓ วัน นิกรก็ถูกคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการที่อยุธยา  ทำให้เขาและเธอติดต่อกันทางจดหมาย 

          ในเวลาต่อมา  ทหารเกิดการต่อสู้กัน  กองทัพฝ่ายรัฐบาลเป็นฝ่ายชนะ  ท่านเจ้าคุณเดชานุภาพได้ร่วมมือในการกบฏและได้หลบหนีออกนอกประเทศ  ร้อยโทนิกรถูกจับกุมข้อหากบฏ เป็นเชลยศึกของรัฐบาลโดยที่เขาไม่รู้ตัว  รู้เพียงแต่ว่าเป็นทหารต้องทำตามคำสั่ง  และเขาถูกผู้บังคับกองพันสั่งให้ไปปราบปรามการจลาจลซึ่งก่อขึ้นโดยพวกคอมมิวนิสต์  เขาไม่ได้ใจใส่เรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ เขาเป็นทหารอย่างเดียวเท่านั้น  หน้าที่ของทหารคือดำเนินการรบตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาและห้ามถาม แม้ว่าจะมีความสงสัยมากมายก็ตาม

          นิกรถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก ๑๔ ปี  และกันยาก็ยังมั่นคงที่จะเดินทางไปเยี่ยมนิกรพร้อมของฝากอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด

          ในระหว่างที่นิกรถูกจองจำ  ประพาสได้ไปมา หาสู่กับกันยาอย่างสม่ำเสมอเช่นกัน  ไปเยี่ยม ปลอบใจ เป็นเพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว เพื่อนเต้นรำ ตลอดจนเป็นเพื่อนในการไปเยี่ยมนิกร

          นิกรเริ่มเปลี่ยนไป  ไม่สดใสร่าเริงดังเช่นเคย  ขณะที่กันยายังคงความสดใสร่าเริงอยู่

          นิกรตัดสินใจแจ้งให้กันยาทราบว่า  ไม่สมควรที่จะรอเขา  เพราะมันไม่มีประโยชน์อันใด  เวลา ๑๔ ปี มันนานเกินไป มันจะเป็นการดีต่อกันยา ต่อพ่อแม่ พี่น้อง และต่อสังคมทั่วไป  เขายอมเสียสละกันยาให้ประพาสเพื่อนรักของเขา   

         ใจจริงแล้วกันยาไม่ได้ชอบประพาสในเชิงชู้สาว  แต่เธอไม่ได้ควบคุมพฤติกรรมตัวเองทำให้ประพาสและสังคมเชื่อว่าทั้งสองมีใจให้กัน  และประพาสได้ขอเธอแต่งงาน

         กันยาถึงแม้ว่าจะไม่เต็มใจที่จะมีประพาสเป็นคู่ครองแต่หล่อนก็ไม่สามารถทำอะไรได้  หล่อนไม่เข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธเขา  ทำให้หล่อนเขาสู่พิธีหมั้นกับประพาส และจะแต่งงานกันหลังจากนั้นประมาณ ๔ เดือน  จนกระทั้งเหลือเวลาอีกราว ๒ สัปดาห์จะถึงกำหนดวันแต่งงาน  ก็มีเหตุการณ์ที่คาดฝันเกิดขึ้น  เมื่อมีการพระราชทานอภัยโทษนักโทษการเมือง นักโทษ ๑๕ คนจะถูกส่งออกมาจากคุก ซึ่งรวมทั้งนิกรด้วย

         กันยาดีใจอย่างเก็บอาการไม่อยู่  ประพาสหดหู่  เศร้าใจ อย่างเห็นได้ชัด 

         ประพาสตัดสินใจยกเลิกงานแต่งของตน  สละกันยาคืนให้แก่นิกรผู้ซึ่งเคยสละหล่อนให้แก่เขา

         กันยาจัดงานต้อนรับนิกรที่บ้าน  จัดเตรียมทุกอย่างไว้เป็นอย่างดี  มีแต่สิ่งที่นิกรของเธอชื่นชอบ  แต่เวลาในคุกได้เปลี่ยนแปลงนิกรไปเสียแล้ว  เขาสุภาพมากขึ้น  พูดน้อย  สงบเสงี่ยม  ไม่ใช่นิกรคนเดิมที่กันยารู้จัก

         สุดท้าย  นิกรได้มีจดหมายมาถึงกันยา  หลังจากที่พยายามสมัครงานในกรุงเทพฯ หลายแห่งแต่ถูกรังเกียจว่าเป็นคนคุก ถูกปฏิเสธ   เขาตกลงใจที่จะเดินทางไปในที่ต่างๆ  เพื่อว่าจะได้พบชนที่มองดูชีวิตของเขาด้วยนัยน์ตาอันยุติธรรมดุจเดียวกับที่พระเจ้าได้มองเห็นมนุษย์ทั้งหลาย  พร้อมจบจดหมายว่า “...ฉันขอลากันยา  และอาจจะเป็นการล่ำลาชั่วนิรันดร  อยู่ข้างนี้ขออย่าได้มีจิตคิดพะวงถึงฉันเลย  แม้ว่าฉันอาจจะตกระกำลำบากบ้าง  แต่จิตใจของฉันแข็งพอที่จะยิ้มรับความระกำลำบากได้อย่างใจเย็นเสมอ  ฉันรักกันยาไม่เปลี่ยนแปลง”

         “...ดิฉันเชื่อนิกรเมื่อเขาพูดถึงคุณ  เพราะดิฉันเข้าใจนิกรดี  แต่เมื่อเขาพูดถึงตัวเขา  ดิฉันไม่สู้เชื่อนัก เพราะดิฉันเข้าใจเขาดีกว่าตัวเขาเอง...”

         “...ฉันไม่ประสงค์จะเคี่ยวเข็ญนิกรของฉันให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้  ให้เว้นทำอย่างนั้นอย่างนี้  ฉันอยากตามใจเธอทุกอย่าง  อยากให้เสรีภาพแก่เธอทุกอย่าง  ฉันไม่ประสงค์จะให้ความรักกลับมาเป็นเครื่องพันธนาการเสรีภาพและความพอใจของเรา  ดังที่ฉันมักจะได้พบในความรักของคนอื่น  อย่างมากที่ฉันจะทำก็เพียงแต่จะเตือนให้เธอระลึกถึงความสมบูรณ์แห่งสุขภาพของเธอเท่านั้น...”

         “...ผู้หญิงโดยมากเมื่อเกิดไปชนะความรักผู้ชายคนไหนเข้า ก็มักจะชอบออกกฎเกณฑ์ร้อยแปดให้ผู้ชายประพฤติตาม  ราวกับว่าความรักมิใช่อื่นไกล คือกฎเกณฑ์นั่นเอง  และการแต่งงานก็คือการประกาศยืนยันกฎเกณฑ์บ้าบอคอแตกเหล่านั้นให้เป็นการแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น...”

          “...เธอเป็นเชลยแห่งความรักของฉัน  มิใช่เชลยของกฎเกณฑ์...”

          “...แต่ฉันยินดีจะอยู่ในกฎเกณฑ์ของเธอด้วย  เพราะฉันเชื่อถือในกฎเกณฑ์ของเธอว่า  คงประกอบด้วยเหตุผลและหวานชุ่มชื่นเหมือนดังน้ำใจเธอ...”

          “...เธอเริ่มประจบฉันแล้วละ  ถ้าฉันจะผูกมัดรัดเธอด้วยกฎเกณฑ์เมื่อใด  ฉันคงจะรัดเธอด้วยโซ่ทอง  มิใช่โซ่เหล็ก...”

          “...ความรักมีอำนาจเหนือกฎเกณฑ์แห่งธรรมจรรยาต่างๆ ที่มนุษย์ได้ตั้งขึ้น  ความรักจึงอาจเกิดขึ้นแก่คนทุกคนและทุกเวลา  โดยไม่มีข้อสงวนหรือข้อจำกัดใดๆ...”

          “...ความรักมีบ่อเกิดและมีวิถีทางของมัน  มนุษย์ไม่อาจจะบังคับหันเหียนเปลี่ยนแปลงวิถีความรักตามอำนาจวาสนาของตน...”

          “...กันยาเริ่มมีความคิดของหล่อนเองในเรื่องสงครามและสันติภาพ  หล่อนเล็งเห็นว่าทหารที่ถูกอาวุธในที่รบนั้น มิใช่ว่าได้รับความเจ็บปวดแต่ลำพังผู้เดียว  ยังมีผู้หญิง คนชรา และเด็กเล็กอีกมากที่ไม่ได้มีส่วนในการรบพุ่งนั้นเลย  ที่มิได้ทำความผิดเลย ก็พลอยได้รับความเจ็บปวดจากบาดแผลของบรรดาทหารเหล่านั้นไปด้วย  และในบางราย  คนที่ไร้ความผิดเหล่านี้อาจมีความเจ็บปวดเสียยิ่งกว่า...เมื่อนึกถึงตัวหล่อนแล้ว  กันยาเห็นว่าการรบนั้นแท้จริงแล้วมิใช่เป็นการรบระหว่างทหารต่อทหารเท่านั้น  แต่เป็นการบังคับให้ผู้ที่มิได้ปรารถนาจะทำการรบเลย และไม่มีหน้าที่จะต้องรบพลอยได้รับผลร้ายอย่างแสนสาหัสจากการรบนั้นไปด้วย  บุคคลเหล่านี้มีจำนวนมาก มากกว่าบรรดาทหารของทั้งสองฝ่ายรวมกันหลายเท่า  ส่วนกำไรหรือผลดีจากการรบนั้น  ถ้าจะมีได้จริงๆ หล่อนก็เห็นว่าคงจะตกอยู่แก่คนไม่กี่คน  เหตุนี้กันยาจึงมองเห็นการรบเป็นสิ่งที่เหี้ยมโหดทารุณ  ไร้เมตตาจิต ไร้มนุษยธรรมและเป็นการน่ารังเกียจอย่างที่สุดเท่าที่มนุษย์จะรู้สึกได้...”

          “...เมื่อความรักได้อุบัติขึ้นแล้ว  ตามมูลกำเนิดของมัน มันก็มีชีวิตอยู่ และเป็นอมรไม่มีอำนาจอะไรหรือของใครจะกำจัดปัดเป่าได้...”

          “...แต่ความรักมิใช่งานการ  ความรักประกอบขึ้นด้วยความรู้สึกละเอียดอ่อนและซับซ้อน  อาจมีสิ่งลวงตา ลวงใจปะปนอยู่ได้  โปรดช้าๆ อย่าหักโหม...”

          “...กันยาอาจจะกล่าวว่า  คุณก็ไม่ได้ทำอะไรที่จะจูงใจให้ความรักของผมอุบัติขึ้น  ถูกแล้ว  กันยาไม่ได้ตั้งใจเช่นเดียวกับที่ผมก็มิได้ตั้งใจ  การบำเพ็ญหน้าที่ของผมและการสนองไมตรีจิตของคุณอำนวยผลให้เป็นไปเอง  ความรักอุบัติขึ้นตามธรรมชาติ มิใช่ว่าผมตั้งใจจะเสาะแสวงหา  ความรักไม่เปิดโอกาสให้เราได้คิดใคร่ครวญว่า  เราควรจะรักหรือไม่  แต่ว่าผมควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น  ผมอาจจะใคร่ครวญได้...”

          “...ชีวิตของคนเราจะดีหรือร้ายนั้น  อำนาจอย่างหนึ่งได้กำหนดไว้แล้ว  ชีวิตต้องดำเนินไปตามเส้น ตามแนวที่อำนาจนั้นได้กำหนดไว้ให้เดิน  อำนาจที่ว่านั้นจะเรียกว่ากรรมเก่าก็ได้  กรรมหรือการกระทำใดๆ ที่เราประกอบขึ้นบางทีไม่ให้ผลในทันที แต่อาจจะให้ผลในภายหลัง  ฉะนั้นถ้าเราได้พบเหตุการณ์จะดีหรือร้ายก็ตาม  ในทางที่เรามิได้คาดหวังไว้ล่วงหน้า หรือที่เราเชื่อแน่ว่าเรามิได้ประกอบกรรมทำผิดไว้เลย  นั่นหมายความว่าเป็นผลกรรมเก่าแก่ที่เราได้ลืมเสียแล้ว  และถ้าใครคิดปองร้ายก่อกรรมทำเข็ญต่อเราในบัดนี้  ในวันหนึ่งข้างหน้าไม่ช้าก็เร็ว  ผลกรรมก็จะสนองเขาเช่นเดียวกัน...”

          “...ในช่วงระยะเวลาอันไม่ยาวนักที่ฉันได้เผชิญกับเคราะห์กรรมอันแสนร้ายกาจนี้  ฉันได้รับบทเรียนว่า เราไม่อาจที่จะยืนยันได้ว่า  เรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้  เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้  เพราะว่าตามความจริงมันอาจเป็นไปได้ทั้งนั้น  เราอาจพูดได้ก็แต่เพียงว่ามันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น  แต่มันก็อาจเป็นเช่นนั้นได้ ทั้งที่มันไม่ควรจะเป็น...”

          “...การพูดความจริงในเวลาที่สมควร  แม้จะก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนบ้าง  ฉันก็หวังว่ามันจะนำผลอันงดงามมาให้แก่ทุกๆ คนในที่สุด  ฉันต้องตกเข้ามาอยู่ในคุก ในสถานที่อันต่ำช้าสารเลวที่สุดเท่าที่จะมีได้ในโลกมนุษย์นี้ก็จริง  แต่จิตใจของฉันยังสูงพอที่จะใคร่ครวญถึงชีวิตของเธอ  โดยไม่มาเพ่งถึงความต้องการของตัวฉันถ่ายเดียว  ฉันเหลียวแลถึงความต้องการของคนอื่นๆ โดยรอบด้าน  และเมื่อฉันเล็งเห็นว่าความต้องการของผู้อื่นชอบด้วยเหตุผลยิ่งกว่าความต้องการของฉันแล้ว  ฉันก็พร้อมที่จะสละความต้องการของฉัน...”

          “...ความเป็นไปในชีวิตของคนเราจริงๆ นั้น คงจะแตกต่างกว่าชีวิตของตัวละครในนิยายต่างๆ เป็นแน่  การเสียสละอย่างใหญ่หลวงมีได้มากและมีได้ไม่ยากในเรื่องนิยาย  แต่ในชีวิตจริงๆ ฉันไม่ใคร่จะได้พบการเสียสละเช่นนั้น...”

          “...ความเชื่อมั่นของเราอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงและอาจไม่ตรงได้บ่อยๆ ด้วย  ในคุกนี้ฉันได้รับบทเรียนชีวิตจากของจริงมาก และเดี๋ยวนี้ฉันพอจะพูดได้ว่า  ฉันมีความชำนาญในชีวิตมากกว่าเธอ...”

          “...เราควรจะบังคับโชคชะตาด้วยการตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแน่นอนด้วยตัวของเราเอง...”

          “...เคราะห์กรรมสิ้นไปจากคนหนึ่ง  แต่มันไม่ได้ตายไป มันมีชีวิตอยู่ตลอดกาล ผ่านจากคนหนึ่งแล้วก็ไปเกาะกับชีวิตของอีกคนหนึ่ง  นิกรพ้นเคราะห์แล้ว บัดนี้เจ้าเคราะห์กรรมบ้านั้นได้กะเกณฑ์ให้ผมเข้ารับเวรต่อไป...”

          “...ฉันเชื่อแน่ว่า  สำหรับนิกรคนใหม่ กันยาจะไปกับฉันไม่ได้ เธอต้องการความสนุกร่าเริง ต้องการชีวิตที่สดงามและเบาดังขนนก ซึ่งเดี๋ยวนี้ฉันไม่มีชีวิตเช่นนั้นจะร่วมกับเธอเสียแล้ว  ฉันมีแต่ความจริงจัง มีชีวิตที่หนักอึ้งเต็มไปด้วยอุปสรรค เศร้าและข่มขื่น และฉันก็พอใจที่จะดำเนินชีวิตไปในรูปการเช่นนี้  ที่รัก ฉันแน่ใจว่าฉันไปกับเธอไม่ได้  ฉันเข้ากับเธอไม่ได้  ๔ ปีในคุกได้ส่งฉันข้ามมาอยู่อีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแห่งชีวิต และฉันรู้ว่าฉันจะกลับคืนไปยังฝั่งเดิมไม่ได้แล้ว...”

หมายเลขบันทึก: 481421เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2012 08:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท