09 วัดเกลาณียะราชมหาวิหาร


ใครอยากมีบุตรธิดาให้มาวัดนี้

ประเทศที่พวกเราถูกส่งทำมาปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้เป็นประเทศที่มีความเป็นอยู่สะดวกสบายเท่ากับบ้านของเรา แม้กระนั้น ข้าราชการอย่างผมก็อดนึกไม่ได้ว่าตนยังโชคดีและมีบุญอยู่บ้างที่ถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ที่ประเทศศรีลังกา เพราะศรีลังกาเป็นเมืองพุทธ มีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ และมีวัฒนธรรมที่สวยงาม

ดังนั้น เมื่อว่างจากการปฏิบัติภารกิจ พวกเราข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ภายใต้การนำของเอกอัครราชทูตพลเดช วรฉัตร จึงมักจะเดินทางไปนมัสการและเยี่ยมชมวัดที่สำคัญต่างๆ ของศรีลังกา

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเราได้เดินทางไปนมัสการและเยี่ยมชมวัดเกลาณียะราชมหาวิหาร (Kelaniya Raja Maha Viharaya) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบประมาณ 13 กิโลเมตรทางทิศเหนือ วัดแห่งนี้มีความสำคัญต่อชาวพุทธศรีลังกาเพราะเชื่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่เป็นสาวกอีก 500 รูปได้เคยเสด็จมายังวัดแห่งนี้ในวันวิสาขบูชาตามคำเชิญของเจ้าผู้ครองแคว้นกัลยาณี ซึ่งเป็นพญานาค นามว่า มณีอัคขิกะ (King Maniakkhika) ซึ่งปัจจุบัน ในบริเวณวัดมีพระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำสีขาวผุดผ่องขนาดมหึมาซึ่งชาวพุทธศรีลังกาเชื่อว่าเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระแท่นบัลลังค์ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับเมื่อคราวมาโปรดพญานาคมณีอัคขิกะและบริวาร

สิ่งปลูกสร้างภายในวัดที่เห็นในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งปลูกสร้างในยุคเริ่มแรกของวัด เพราะวัดนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกช่วงประมาณปี พ.ศ. 300 โดยกษัตริย์ยัฎฐาลาติสสะ (King Yathalatissa)  และได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 6 (King Parakramabahu VI) แห่งราชอาณาจักรโกฏเฏ (Kingdom of Kotte) ซึ่งโปรดให้สร้างวัดแห่งนี้ให้เป็นวัดที่ยิ่งใหญ่ มีสิ่งปลูกสร้างมากมาย มีพระสงฆ์พำนักนับร้อย จนกลายเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่สำคัญ และได้ถูกบรรยายว่าวัดแห่งนี้งดงามราวสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2048 วัดได้ถูกผู้รุกรานชาวโปรตุเกสเผาทำลายลงจนสิ้นซาก 

ต่อมากษัตริย์กีรติศรีราชสิงหะ (King Kirthi Sri Rajasinghe) ซึ่งปกครองราชอาณาจักรแคนดี้ (Kingdom of Kandy) ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2290 - 2325 ได้ทำข้อตกลงกับผู้ปกครองลังกาในยุคนั้น คือ ฮอลันดา ให้สามารถส่งพระสงฆ์เข้าไปบูรณะวัดได้ ดังนั้น เมื่อปี 2310 ได้โปรดให้พระมปิฏิกามะ พุทธรักขิตตะเถระ (Venerable Mapitigama Buddharakkhita Thera) พร้อมพระสงฆ์จำนวนหนึ่งเดินทางไปปฏิสังขรณ์วัด แต่เหตุการณ์ทางการเมืองที่วุ่นวายซึ่งส่งผลให้ลังกากลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษใด้ทำให้ภารกิจดังกล่าวต้องชะงักลง

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2431 นางเฮเลนา วิเจวาร์เดนา (Mrs. Helena Wijewardena) เศรษฐีนีแห่งกรุงโคลัมโบได้สนใจและได้อุทิศทรัพย์สินในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด ดังนั้น สิ่งปลูกสร้างที่พบเห็นในบริเวณวัดในปัจจุบันจึงเป็นผลจากแรงศรัทธาของเธอและครอบครัวทั้งสิ้น จุดเด่นที่สำคัญของวัดคือพระวิหาร ซึ่งประกอบด้วยพระนอน ห้องประดิษฐานพระสารีริกธาตุ และภาพจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องชาดก พุทธประวัติ และเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาในศรีลังกา ซึ่งภาพเหล่านั้นเป็นผลงานของนายโสริอัส เมนดิส (Solius Mendis) ศิลปินชื่อดังของศรีลังกาที่ได้อุทิศเวลากว่า 20 ปีในการรังสรรค์ภาพจิตรกรรมที่งดงามดังกล่าว 

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อด้วยว่า วัดเกลาณียะเป็นที่สถิตของเทพวิภิศณะ (Vibhishna) หรือพระยาพิเภก น้องชายของท้าวทศกัณฑ์ ซึ่งพระรามมอบหมายให้ปกครองกรุงลงกาสืบแทน และเชื่อกันว่าเทพวิภิศณะนั้นศักดิ์สิทธินัก หากบนบานขอบุตรธิดากับท่าน ก็มักจะสำเร็จตามความปรารถนาทุกราย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ขอเชิญชวนให้ใด้มาพิสูจน์กัน

ในคืนก่อนคืนวันพระจันทร์เต็มดวงของเดือนมกราคมในแต่ละปีจะมีพิธีแห่พระสารีริกธาตุประจำปีของวัด (Duruthu Perahera หรือ Kelaniya Procession) โดยในขบวนแห่จะมีช้างหลายสิบเชือกเข้าร่วมขบวน และมีขบวนนักเต้นรำที่แต่งตัวแบบศรีลังกาที่มีสีสันสดใสสวยงามแปลกตา ควรค่าที่จะได้ชม

 

ปัจจุบันวัดเกลาณียะราชมหาวิหารเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวศรีลังกาที่สำคัญแห่งหนึ่ง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีโอกาสได้เดินทางมาเยือนศรีลังกาไม่ควรพลาด 

เนื่อเรื่องโดย นายภานุวัฒน์ พรมมานนท์ เลขานุการเอก

หมายเลขบันทึก: 481253เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2012 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

การไปเที่ยวศรีลังกา สิ่งที่อยากให้ได้รับกลับไปก็คือความรู้ เรื่องราวต่างๆ ซึ่งมีอยู่มากมาย ผู้ที่ไปจึงควรมีไกด์หรือผู้รู้ไปด้วย ถ้าเป็นสังเวชนียสถานในอินเดีย ผู้แสวงบุญชาวไทยโชคดีที่มีพระธรรมทูตไทยหรือพระไทยประจำอยู่ในวัดไทยหลายวัดซึ่งท่านพร้อมที่จะเป็นไกด์กิติมศักดิ์ให้อย่างเต็มใจและดีย่ง

แต่ในศรีลังกา ไม่ค่อยมีพระไทย จึงขาดตรงนี้ไป

ต้องขอบคุณคุณภานุวัฒน์ที่จัดโปรแกรมสำรวจศรีลังกาได้อย่างดีเยี่ยมและต่อเนื่อง เช่นวัดเกลาณิยะนี้ เป็นวัดที่กว้างใหญ่ ไม่เหมือนวัดในโคลัมโบที่ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กถึงเล็กมาก

วัดนี้ บริเวณกว้างขวางมีต้นไม้ร่มรื่น  ที่สำคัญภาพวาดในผนังวิหารนั้นสวยงามมาก นอกจากนั้นยังมีต้นโพธิ์ที่นำมาจากอนุราชปุระให้ได้สักการะด้วย

สังเกตุว่าวัดนี้มีผู้คนไปสักการะค่อนข้างมาก หลายคนหาที่นั่งสวดมนต์กันด้วยความศรัทธา

ตั้งแต่ไปชมวัดมาหลายวัดในเวลาไนนนัก พอจะสรุปในเบื้องต้นได้ว่าวัดพุทธในโคลัมโบจะมี

1.วิหารที่มีพระพุทธรูปนอนและปางต่างๆ เป็นจุดสำคัญของวัด

2.มีเจดีย์ที่มักจะมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่

3.มีภาพวาดฝาผนังประวัติพระพุทธเจ้าและประวัติพุทธศาสนาในศรีลังกา

4.มีพิพิธภัณฑ์วัตถุทางพุทธศาสนา....บางวัดก็มีมากจนเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ได้

5.มีต้นโพธิ์ที่มักมาจากพุทธคยาหรืออนุราธปุระ

6.มีอาคารสำหรับคนมาฟังสวดซึ่งจะใช้เป็นที่เรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ด้วย

7.กุฏิพระ ซึ่งตามปรกติจะมีน้อยมากเพราะพระศรีลังกามีไม่มาก

8.มีช้างไว้สำหรับทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ

ค่อยๆ สำรวจไปก็คงจะมีมาเพิ่มครับ

หากไปเยี่ยมชมวัดต่างๆ ในประเทศศรีลังกาแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการไปในวันพระ (Poya Day) หรือวันอาทิตย์ เนื่องจากจะพบกับฝูงชนมหาศาลที่ไม่จะไม่พบเห็นในวันธรรมดา เราอาจจะได้ภาพความศรัทธาอันล้นเหลือของชาวพุทธที่นี่ แต่โอกาสที่จะได้ดื่มด่ำกับความงดงามของศิลปจะขาดหายไป

 

 

ขอบคุณคุณปราโมทย์ เป็นข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ เพราะหากคนเยอะมาก ก็คงไม่สัปปายะแน่นอนครับ บางวัดผมได้รับการบอกจากพระว่ามีคนมาประมาณ 3.5 หมื่นคน...ขอไม่ไปครับ หากไปก็แวะผ่านไปดูเฉยๆ

หวังว่าคงจะได้รับคำแนะนำจากผู้ที่เคยอยู่ในศรีลังกามานานต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท