สัมมาทิฐิ : พัฒนาผู้นำอย่างไร


หลักการของสัมมาทิฐิ คือ การพัฒนาความคิด การมองภาพของอนาคตตามสภาพความเป็นจริงในสถานการณ์นั้นๆ ด้วยการรับถ่ายทอดหรือเล่าเรียน ศิลปะวิทยาการและข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ และรับรู้ประสบการณ์ จากการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างถูกต้องโดยปราศจากอคติ และการพิจารณาโดยแยบคาย รอบคอบ ด้วยปัญญาที่ปราศจากกิเลสครอบงำ

สัมมาทิฐิ : พัฒนาผู้นำอย่างไร

              สัมมาทิฐิ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิสัยทัศน์ผู้นำ      ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า “คนเริ่มมีการศึกษา เมื่อเขามีสัมมาทิฐิ”[1]หมายความว่า ผู้นำเริ่มที่จะเรียนรู้สิ่งใด นั่นคือเขาต้องมีความเชื่อที่ถูกต้องในสิ่งนั้น ซึ่งเนื้อหาสำคัญของสัมมาทิฐิ คือ อริยสัจ ๔ รวมไปถึงชิวทัศน์ โลกทัศน์และค่านิยมพื้นฐานที่ดีงามของผู้นำทั้งหมด ดังนั้น สัมมาทิฐิจึงเป็นแหล่งรวมของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไปปัญหาทั้งหมด นับตั้งแต่อะไรคือปัญหา อะไรคือสาเหตุของปัญหา อะไรคือเป้าหมาย และอะไรคือวิธีการหรือวิถีที่จะไปสู่เป้าหมายนั้น  ด้วยเหตุนี้ ในกระบวนการพัฒนาผู้นำจึงต้องนำด้วยสัมมาทิฐิ เนื่องเพราะว่า สัมมาทิฐิ (วิสัยทัศน์) เป็นประดุจดังแสงประทีปนำทาง ถ้าขาดสัมมาทิฐิ (วิสัยทัศน์) ก็เปรียบ เสมือนว่าผู้นำนั้นเดินทางท่ามกลางความมืดโดยไม่รู้ว่าทางอยู่ใหนจุดหมายปลายทางคืออะไร 

              ด้วยเหตุผลดังกล่าวสัมมาทิฐิจึงเป็นเหมือนกองสอดแนมไปข้างหน้า เพื่อหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ หาวิธีการต่างๆ ที่จะให้กองทัพหลวงทำงานได้อย่างสำเร็จ บางทีก็เปรียบได้เสมือนเข็มทิศหรือแผนที่ ซึ่งต้องมีก่อน รู้แจ่มแจ้งก่อน จึงจะทำอะไรไปได้ตามแผนที่หรือแผนการ”[2]

              นอกจากนี้สัมมาทิฐิทำหน้าที่ประดุจเป็นนายสารถี ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ทางนั้นชื่อว่าทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง ประกอบด้วยล้อคือธรรม มีหิริเป็นฝา มีสติเป็นเกราะกั้น ธรรมรถนั้น เราบอกให้  มีสัมมาทิฐินำหน้านั้นเป็นนายสารถี”[3] จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้เปรียบผู้นำกลุ่มหรือองค์กรว่าเป็นแค่ตัวรถที่กำลังแล่นไปอยู่บนเส้นทาง ปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบเพียงเพื่อให้เป็นกลุ่มหรือองค์กรที่สมบูรณ์เท่านั้น จะไม่มีประโยชน์อันใดเลยหากรถคันนั้นจอดไว้เฉยๆ  หรือจะวิ่งไปสู่จุดหมายปลายทางไม่ได้หากขาดคนขับที่ชาญฉลาด สัมมาทิฐิจึงเป็นเสมือนนายสารถีผู้รู้จักเส้นทางเป็นอย่างดี จึงจะนำกลุ่มหรือองค์กรไปสู่เป้าหมายได้  วิสัยทัศน์เกี่ยวข้องกับทั้ง “การวางแผนเชิงกลยุทธ์ ”และ“ การนำองค์กร” ทิศทางขององค์กร จุดหมายในอนาคต สิ่งที่ท้าทายและแรงบันดาลใจ รวมทั้งสิ่งที่องค์กรต้องการอย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาถึงสิ่งเหล่านี้ เราอาจให้คำนิยามได้ว่า “วิสัยทัศน์ คือ ภาพของความสำเร็จขององค์กรที่ต้องการในอนาคต” ผู้นำองค์กรที่มีวิสัยทัศน์จึงเปรียบเสมือนหางเสือเรือ คอยกำหนดทิศทาง การสำรวจเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า ก็สามารถปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์      (หรือหางเสือเรือ) เพื่อให้อยู่ในทิศทางที่สามารถหลบหลีกการชนหินโสโครกและรอดพ้นจากการอับปางได้  วิสัยทัศน์ผู้นำที่พึงประสงค์ เมื่อวิสัยทัศน์  หมายถึง การมองภาพอนาคตของผู้นำและสมาชิกในองค์กร  และกำหนดจุดหมายปลายทางที่เชื่อมโยงกับภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อเข้าด้วยกัน แล้วมุ่งสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการ จุดหมายปลายทางดังกล่าวต้องชัดเจน ท้าทาย มีพลังและมีความเป็นไปได้  ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาวิสัยทัศน์ตามหลักของสัมมาทิฏฐิ นำมาประยุกต์ใช้ได้ คือ

              (๑)  ผู้นำต้องมองแบบตรงเป้าเข้าประเด็น  ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของอริยสัจ ๔ กระบวนการพัฒนาวิสัยทัศน์ผู้นำด้วยการเรียนรู้ ๔ ขั้นตอน  กล่าวคือ ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การฝึกมองปัญหา หมายความว่า ผู้นำต้องมีความรู้ กำหนดรู้ มองปัญหาของกลุ่ม องค์กรได้อย่างชัดเจนว่ากลุ่มหรือองค์กรกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ และเข้าใจปัญหานั้นได้อย่างดี (ทุกข์) ขั้นตอนที่สอง คือ การฝึกสืบเสาะหาสาเหตุของปัญหานั้นๆ หมายความว่า ผู้นำสามารถที่จะสืบสาวหาสาเหตุของปัญหาที่กลุ่มหรือองค์กรเผชิญอยู่ได้อย่างถูกต้องชัดเจน แม่นยำ (สมุทัย) ขั้นตอนที่สาม คือ การฝึกกำหนดเป้าหมายของกลุ่มหรือองค์กร สามารถกำหนดเป้าหมายของกลุ่ม องค์กรได้ว่ามีจุดมุ่งหมายอะไร จุดหมายอยู่ที่ใหน และจะดำเนินไปได้อย่างไร (นิโรธ) และขั้นตอนที่สี่ คือ การนำกลุ่มหรือองค์กรเดินเข้าสู้เป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วนั้นอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ ตามวิธีการที่กำหนดไว้หรือแผนที่วางไว้แล้ว

              (๒) ผู้นำต้องมองแบบเชื่อมโยง กระบวนการของปฏิจสมุปบาท กล่าวคือผู้นำจะ ต้องมีความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางสังคมทุกด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ธรรมชาติ แวดล้อมต่างๆ สิ่งเหล่านี้มีเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกระทบถึงกัน เมื่อเกิดมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมาก็จะมีสิ่งนั้นตามมา ผู้นำต้องมองให้รอบด้าน คิดให้รอบคอบ ใส่ใจในทุกด้านไม่ว่าจะเป็น คน (Man) เงิน (Money) สินค้า (Goods) เทคโนโลยี (Technology) หรือ ระบบ (System) การทำงาน เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งของกลุ่มหรือองค์กรด้วยคำว่า “เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี” หมายความว่าปัจจัยต่างๆที่กล่าวแล้วนั้นมีความ สัมพันธ์กันจะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้  ด้วยเหตุนี้ ผู้นำจึงต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมให้รอบด้าน

              (๓)  ผู้นำต้องมองตามสภาพความเป็นจริง  เป็นกระบวนการของหลักไตรลักษณ์ หรือกฎไตรลักษณ์ ที่ผู้นำต้องรู้และทำความเข้าใจ เพราะเป็นกฎธรรมชาติว่าด้วยความเปลี่ยน แปลงที่ครอบคลุมชีวิตและจักรวาล กฎไตรลักษณ์ มี ๓ ข้อสำคัญ ได้แก่ ทุกสรรพสิ่งไม่มีสิ่งใด  ที่เกิดขึ้นแล้วสามารถดำรงอยู่ได้ตลอดกาล (อนิจจัง) เมื่อกลุ่มหรือองค์กรขาดความเข้มแข็งไร้สมรรถภาพในการปแข่งขันก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ การขาดทุน ได้กำไรเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา (ทุกข์) และผู้นำพึงทำความเข้าใจว่าสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง ความสำเร็จ หรือความล้มเหลว ทุน กำไร มีความไม่แน่นอน (อนัตตา) ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่แสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ มีการเกิด-มีการคงอยู่-มีการดับไป และการเปลี่ยนแปลง เมื่อผู้นำเห็นเช่นนี้จะทำให้ผู้นำสามารถกำหนดกรอบนโนบาย  การวางแผนกลยุทธ์ และยุทธศาสตร์ในการนำกลุ่มหรือองค์กรไปสู่เป้าหมายได้ด้วยดี            มีประสิทธิภาพ

              นอกจากกระบวนการทั้ง ๓ ที่ได้กล่าวแล้ว  การเรียนรู้ และการเลียนแบบจากสิ่งภายนอกต่างๆ ที่เรียกว่า ปัจจัยทางสังคม หรือกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมก็ได้ (socialization) โดยแหล่งเรียนรู้สำคัญๆ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ มิตรสหาย คนมีชื่อเสียง เป็นต้น  เหล่านี้รวมเรียกว่า “กัลยาณมิตร” “บัณฑิต” หรือ “สัตบุรุษ” ที่เรียกว่า  “สัปปุริสธรรม” คือ ธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ คือ[4](๑) รู้จักเหตุ คือ รู้จักความจริงของธรรมชาติ (๒) รู้จักผล คือ รู้ความหมายและความมุ่งหมายของหลักการ กฏเกณฑ์ หน้าที่ (๓) รู้จักตน (๔) รู้จักประมาณ  (๕)  รู้จักกาล (๖) รู้จักชุมชน (๗) รู้จักบุคคล

              นอกจากนี้ ผู้นำยังต้องอาศัยหลัก “โยนิโสมนสิการ”  (Internal factor) คือ การใช้ความคิดอย่างถูกวิธี  คิดอย่างมีระเบียบ คิดหาเหตุผล  สืบค้นหาต้นเค้า สืบสาวให้ตลอดสาย แยกแยะสิ่งทั้งหลายให้เห็นความจริงตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย โดยไม่เอาความรู้สึกตัณหาอุปาทานเข้าไปจับ[5] มี ๑๐ หลักการ[6] ได้แก่ (๑) หลักการคิดแบบสาวหาเหตุปัจจัย   (๒) หลักการคิดแบบแยกแยะ (๓) หลักการคิดแบบสามัญลักษณ์  (๔) หลักการคิดแบบแก้ปัญหาหรือแบบอริยสัจ  (๕) หลักการคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์ (๖) หลักการคิดแบบเห็นคุณโทษและทางออก (๗) หลักการคิดแบบรู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียม (๘) หลักการคิดแบบเร้าคุณธรรม (๙) หลักการคิดแบบอยู่กับปัจจุบัน (๑๐) หลักการคิดแบบวิภัชชวาท คือ การคิดแบบแยกส่วนออกให้เห็นทุกแง่ทุกมุมของปัญหา

              เมื่อผู้นำปฏิบัติตามหลักการและขั้นตอนการพัฒนาตามกระบวนการของสัมมาทิฐิอย่างนี้แล้ว  จะช่วยให้ผู้นำนั้นมีวิสัยทัศน์มากขึ้น มองเห็นภาพของอนาคตมากขึ้น และสามารถเป็นผู้นำที่นำพากลุ่มหรือองค์กรไปสู้จุดหมายปลายทางได้ และเป็นผู้นำที่พึงประสงค์ของบุคคลทั่วไป  เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวทำให้ผู้นำคิดเป็น กำหนดเป้าหมายได้ เข้าใจปัญหา  เข้าใจสภาพแวดล้อมของกลุ่มหรือองค์กรชัดเจนมากยิ่งขึ้น หรือกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำที่ “คิดดี    คิดกว้าง มองไกล เข้าใจปัญหา” นั่นเอง



                  [1]พระธรรมปิฏก,(ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธรรมฉบับปรับปรุงขยายความ, (กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๓๖), หน้า ๗๔๐.

                  [2]พุทธทาสภิกขุ, มหิดลธรรม, (กรุงเทพมหานคร : การพิมพ์พระนคร, ๒๕๑๘), หน้า ๑๕๙.

                  [3] สํ.ส. (ไทย) ๑๕/๔๖/๖๐

                  [4] ที.ปา. (ไทย) ๑๑/๓๓๐/๓๓๓

                  [5] พระเทพเวที, (ประยุทธ์  ปยุตฺโต), วิธีคิดตามหลักพุทธรรม, (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ปัญญา,๒๕๓๕), หน้า ๓๑.

                  [6] พระราชวรมุนี,(ประยุทธ์  ปยุตฺโต), ปรัชญาการศึกษาไทย, (กรุงเทพมหานคร: สนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๕), หน้า. ๑๗๙-๑๙๖.

หมายเลขบันทึก: 481222เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2012 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท