มองชีวิตและแง่คิดจากทริปอินเดีย-เนปาล(๑)


เส้นทางสี่สังเวชนียสถานนี้อยู่ในรัฐที่ยากจนมาก คือ รัฐพิหาร และ รัฐอุตรประเทศ ผู้เขียนยังไม่เคยไปเมืองในรัฐรวยๆจึงไม่ควรตีขลุมว่าอินเดียเป็นอย่างนี้หมด ประเทศอินเดียนั้นใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า

ก่อนไปถึงอินเดีย ผู้เคยไปมาแล้วและบริษัททัวร์ก็ช่วยบอกให้แต่ละคนที่จะร่วมทางจาริกบุญตามรอยพระศาสดา นมัสการสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง ได้เตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมใจให้พร้อม นอกจากเรื่องหยูกยาประจำตัวและยาหอม ยาดม ยาอม ยาหม่องแล้ว ใครรู้ตัวว่าทานยากก็เตรียมของแห้งที่ตัวเองคุ้นลิ้นไปบ้างไม่ต้องมาก เพราะทางทัวร์จะเสริมอาหารไทยแทบไม่ซ้ำเมนูให้ทุกมื้ออาหารตลอดการเดินทาง เป็นคณะผู้มีวิบากดีที่ผู้เขียนได้ช่องขอเกาะเกี่ยวไปกับเขาด้วย มีเกร็ดเล็กน้อยมาฝากค่ะ

  • ขอทาน

สิ่งที่ถูกเตือนมากคือเรื่อง ขอทาน เพราะจะมีขอทานทุกที่ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเด็กๆ และว่ากันว่าขอทานอินเดียนี้จะชอบตามคณะคนไทยเป็นที่สุด เพราะคนไทยเลื่องลือเรื่องความใจดี จึงไม่เห็นไปตื๊อนักเดินทางชาติอื่นเท่าไร ขนาดพูดภาษาไทยบางคำได้ว่า “จำได้ๆ ๆ” ทำราวกับรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนทั้งๆที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แถมตะโกนเรียก “มาตายีๆ ๆ” ซึ่งแปลว่า อาจารย์ ก็อย่าไปหลงคิดว่าเด็กขอทานตาแหลมเห็นราศีเราดีเป็นผู้ทรงความรู้

เหนือชั้นกว่านั้นคือ กลุ่มเด็กขอทานประสานเสียงขรมเรียกผู้มาเยือนว่า “ มหาราชา – มหารานี ๆๆ ” หากบ้ายอไปหยิบยื่นเงิน หรือ แจกขนม ที่เห็นเด็กๆห้าหกคนจะกลายเป็นหลายสิบคนในพริบตาบางทีจะมาพร้อมครอบครัวด้วยซ้ำ อีกมุขที่เด็กๆชอบใช้คือมาดักรอตรงประตู้ขึ้นลงรถโค้ช และสาธยายคำสวดมนต์ชัดแจ๋ว จะเอาบทไหนล่ะ “อะระหังสัมมาสัมพุทโธ ภควา...” หรือ “อิติปิโสภควา...” ก็มี

ผู้เขียนจึงระมัดระวังใจตนเองมาก เพราะเห็นหน้าดำๆ มือดำๆ ก็สงสารไม่น้อย พระอาจารย์สมาน ปภาสโร พระวิทยากรของคณะเรา สอนให้พิจารณาการจะให้ทานด้วยปัญญา เพราะให้เท่าไหร่ก็ไม่ทั่ว จะเกิดการกลุ้มรุมที่จะเป็นอันตรายได้อีกด้วย จึงควรมีท่าทีที่เหมาะสม คือไม่ไปแสดงอาการรังเกียจทั้งภายนอกและในใจ ให้แผ่เมตตา และ ท่องคาถาว่า ไม่มองหน้า ไม่สบตา ไม่เจรจา แล้วจะรอดพ้น

หากเป็นที่ที่ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะกว้างใหญ่ เช่น โบราณสถานเขามักมีประตู รั้วรอบกั้นไม่ให้มีขอทานหรือการเร่ขายของในพื้นที่ ที่จะไปรบกวนความสงบของผู้มาจาริกบุญ หากเราเห็นเหมาะสมว่าเด็กไม่ได้มากมาย อยากแจกเงินแจกขนมบ้างก็พอทำได้ และจะให้ดีควรวานผู้ช่วยไกด์ซึ่งเป็นคนอินเดียเขาจัดการให้ ในภาพคุณดูราเกซ เขาเรียกเด็กๆมาเข้าแถว นั่งเป็นระเบียบ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ขนม ก็น่ารักดี

ได้ไปแวะวัดไทยแห่งหนึ่งระหว่างทางไปกรุงราชคฤห์ เป็นวัดใหม่กำลังก่อสร้าง เป็นคุณูปการแก่นักจาริกแสวงบุญชาวไทยมาก เพราะจะได้แวะเข้าห้องน้ำ ขนาดว่าวัดนี้ก็อยู่เหมือนชนบท พอรถจอดก็ยังมีเด็กๆวิ่งมาขอเงิน เห็นป้ายใหญ่ที่วัดนี้ติดว่าขอความร่วมมืออย่าให้ทานแก่เด็กๆที่มาขอเงิน-ขนม เพราะคณะคนไทยทำกันเป็นปกติแต่พ่อแม่เด็กได้มาต่อว่าที่วัดและขอให้งดการให้เงิน ให้ขนมเด็ก ด้วยเหตุผลหลักๆคือ

  • เด็กจะมารอผู้มาเยือน ไม่ยอมไปโรงเรียน
  • เด็กจะเสียนิสัย ชินกับการขอ ไม่ขวนขวายในการทำงาน
  • จะเป็นการทำลายอนาคตเด็กโดยไม่ตั้งใจ(เป็นการสร้างเวรกรรม)

หากอยากช่วยคนอินเดียจริงๆและยังสามารถช่วยได้ไร้ขอบเขตเชื้อชาติและไปได้กว้างไกลควรทำบุญมอบเงิน มอบของที่ วัดไทยกุสินารา เพราะเป็นวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางกระจายความช่วยเหลือไปยังท้องที่ต่างๆที่มีวัดไทยด้วย ที่วัดยังมีกิจกรรมสอนศาสนา ปฏิบัติธรรม มีคลีนิครักษาโรคที่รักษาทั้งคนอินเดียและนักท่องเที่ยวนานาชาติ “๘ รูปีรักษาทุกโรค” ที่ทำได้เพราะแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครจากเมืองไทยผลัดกันไปช่วยค่ะ (อย่างที่คุณบุญรุ่ง - ตันติราพันธ์ เคยไป) นับว่าได้ช่วยผู้คนและเป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างดียิ่ง

  • พาหนะยวดยาน

รถบัส รถตุ๊กๆ มากมายส่วนใหญ่เป็น รถแอ ค่ะ คือ แออัด ผู้โดยสารแน่นรถ

 

ที่ไปมาหลายเมืองแถบนี้ยังเห็นการใช้ รถม้า อยู่หลายที่ ตามแหล่งท่องเที่ยวมักมีรถม้า จะนั่งสองแถวหันหลังชนกัน เขาตกแต่งม้าอย่างสวยงาม แต่น่าสงสารม้ามาก นั่งระยะทางสั้นๆได้บรรยากาศดีค่ะ

ในภาพเราไปที่วัดแห่งหนึ่ง เด็กๆมาวิ่งเกาะท้ายรถ ส่งเสียงอธิบายว่าสองข้างทางเป็นอะไร เช่น ทุ่งมัสตาร์ด ต้นมะตูม วิ่งตามทั้งไปและกลับ หากไม่ให้ค่าเหนื่อยคงนอนคิดถึงตาแป๋วๆที่ยิ้มเป็นประกายจนนอนไม่หลับแน่

 

  • ฝุ่นและเชื้อโรค

อีกเรื่องที่ถูกเตือนมาก คือ เรื่องฝุ่นและความสะอาด ฝุ่นมากจริงๆค่ะแทบในทุกที่ ทุกเมือง ขึ้นไปอย่างบนเขาก็ค่อยยังชั่วหน่อย ให้นึกภาพอากาศที่แห้งและมีขยะเกลื่อนกล่นตามชุมชน ต้องเตรียมผ้าคาดจมูก-ปากไปใช้ ล้างมือบ่อยๆ เตรียมเจลล้างมือและกระดาษเช็ดมือแบบเปียกติดตัวไว้เลยค่ะ

เส้นทางสี่สังเวชนียสถานนี้อยู่ในรัฐที่ยากจนมาก คือ รัฐพิหาร และ รัฐอุตรประเทศ ผู้เขียนยังไม่เคยไปเมืองในรัฐรวยๆจึงไม่ควรตีขลุมว่าอินเดียเป็นอย่างนี้หมด ประเทศอินเดียนั้นใหญ่กว่าประเทศไทยหลายเท่า ประชากรหลักพันล้าน

 

มีศรัทธา ตั้งใจจริง มีทรัพย์ และ มีสุขภาพดี เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสี่ประการ ในการจะได้มาตามรอยบาทพระศาสดา ไม่ได้หวังมาเที่ยวเล่น เพลิดเพลิน ได้เดินทางในเส้นทางสายนี้แล้วได้ รำลึกถึงหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้มาโปรดสัตว์โลก ได้พิจารณาธรรม ขัดเกลากิเลสตนเอง เป็นความยินดี เป็นความสุขที่ลึกซึ้งกว่ามากนัก จะจารึกไว้ในความทรงจำไปจนสิ้นลมหายใจค่ะ

  • ของฝาก

อย่างไรก็ตามเนื่องจากพวกเราหลายคนแม้จะพยายามอยู่บนเส้นทางไปสู่นิพพาน แต่คงอีกยาวไกล เมื่อเห็นของสวยงามจึงยังต้องตา ต้องใจอยู่ ไปอินเดียเขาขึ้นชื่อเรื่อง เสื้อผ้าฝ้ายเนื้อดีปักลวดลายสวย ราคาไม่แพง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่เนื้อนุ่มลื่นมือแบบ soft and silky เบาแต่ให้ความอบอุ่นดีมาก ทำจากขนแพะภูเขา ที่เรียกว่า พาชมินา (Pashmina) และ แคชเมียร์ (Cashmere) เส้นใยของพาชมินาจะเล็กกว่าแคชเมียร์ค่ะคณะคนไทยเข้าที่ไหน ไม่ซื้อเป็นไม่มี ของแท้ราคาแพงมากเป็นพันๆ ต้องระวังของปลอมจากจีนทำจากใยสังเคราะห์ที่ดูสวย ราคาถูกแต่ซักครั้งเดียวหมดสภาพราคาแค่ไม่เกินสิบดอลลาร์ พาชมินาจากเนปาลมีชื่อเสียงเลื่องลือ แต่ในอินเดียก็มีขาย

สองฝั่งแม่น้ำคงคายามเช้าตรู่ ที่พาราณสี รอชมพระอาทิตย์พ้นขอบฟ้า

ฝั่งที่มีอาคาร มีผู้คนทำพิธีกรรมเรียกว่าฝั่งสวรรค์ อีกฝั่งที่พระอาทิตย์โผล่ขึ้นมาไม่มีการสร้างอาคารบ้านเรือนเลย เพราะฝั่งนี้เขาเรียกว่า ฝั่งนรก

ที่เมืองพาราณสี เขาพาไปร้านเก่าแก่ที่ทำผ้าไหมเนื้อละเอียดแบบโบราณดั้งเดิม ราคาแพงมาก คนจะใช้ ผ้าไหมแคว้นกาสี จะต้องเป็นชนชั้นสูง มีเงิน ผู้เขียนเงินมีเล็กน้อยได้ซื้อแค่ผ้าพันคอมาสี่ห้าผืนไว้ใช้และเป็นของฝาก

เห็นหลายคนพากันซื้อ ยาสะระแหน่สกัด เป็นเม็ดเล็กๆกลมๆใสๆเป็นแผงๆ บรรจุอยู่ในกล่องยาวๆ เขาว่าเป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อได้ดี ผู้เขียนไม่ได้ซื้อ แต่ได้ซื้อ มะขามป้อมแช่อิ่มที่แห้งๆ บรรจุขวด เรียกว่า Amla Candy อร่อยดี ทั้งสองอย่างคิดเป็นเงินไทยไม่แพงเลย

แม้จะเห็นต้นสะเดาขนาดใหญ่มาก และ ต้นมะรุมที่ออกดอกขาวนวลฟูทั้งตนเรียงรายตามถนนหลายแห่ง ตื่นตามาก แต่ไม่เห็นมีใครบอกเรื่องผลิตภัณฑ์จากสะเดาและมะรุม

  • เงินตรา

เงินอินเดียนั้นผู้เขียนใช้คำนวณง่ายว่า ๑๐ รูปี เท่ากับประมาณ ๖ บาทไทย ผู้เขียนไปอินเดียครั้งนี้เป็นครั้งแรก แม้ประสบการณ์น้อย แต่ก็อยากจะแนะนำว่าใครจะไปอินเดียให้เตรียมเงิน ดอลล่าร์อเมริกัน ใบเล็กๆ พวก ๑, ๕, ๑๐, ๒๐, ๕๐ ดอลลาร์จะใช้ง่าย (ใบ ๑๐๐ ดอลล่าร์ใช้ยากหน่อย หากเขาต้องทอนเยอะ)เขายินดีรับ

เงินไทยเขาก็รับแต่จะไม่ได้ค่าดีเท่าดอลล่าร์ ไม่ควรแลกเงินรูปีมากนัก แลกใบเล็กๆ พวก ๑๐, ๑๐๐ รูปี ไว้ทิป ไว้ซื้ออะไรนิดๆหน่อย ช้อปปิ้งเงินดอลล่าร์ดีที่สุด เงินทำบุญใช้เงินไทยได้เลยไม่ต้องไปเสียค่าธรรมเนียมแลกเงิน ที่เนปาลก็ใช้ดอลล่าร์อเมริกันสะดวกเช่นกัน

  • ขนมบางชนิด

ก่อนข้ามชายแดนอินเดีย เข้าเนปาล มุ่งสู่เมืองลุมพินี รถโค้ชของเราไปถึงชายแดนก็ค่ำแล้ว แต่คงทำบุญไว้มากวิบากดี ทัวร์จัดแวะวัดไทยที่ชายแดน แจ้งเขาล่วงหน้า เขารอต้อนรับด้วยโรตีทอดร้อนๆโรยนมข้น-น้ำตาล และ น้ำชา กาแฟ

กระทงใบไม้ที่เห็นทำจาก ใบสาละ เขียงไม้และที่นวดแป้งโรตีก็ทำจากไม้สาละ

ระหว่างบันเทิงบริโภค คุณดูราเกซ ผู้ช่วยไกด์ เป็นคนอินเดีย นำพาสปอร์ตและเอกสารตรวจคนเข้าเมือง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปให้เจ้าหน้าที่เนปาลตรวจประทับตรา ไม่ต้องเสียเวลาที่ด่านลงไปทำทีละคน

พระอาจารย์สมานเล่าเรื่อง ขนมขาชา (Kacha) ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติให้ฟัง ยาวจำไม่ได้เสียแล้ว แต่ชื่อขนมยังจำได้และไกด์ได้ซื้อมาแจกให้ชิม เป็นแป้งบางเฉียบเหมือนแป้งพายซ้อนๆหลายชั้น ไม่ได้มีรสชาติพิเศษนักแต่ชื่อแปลก มีขายร้านติดๆกันนับสิบร้าน

พระอาจารย์บอกว่ามีขนมอีกชนิดชื่อ ตีนกุด คงโชคดีที่ไม่ได้ชิม ขนมอินเดียเข้ากับชาอินเดีย ต้มกับนมและเครื่องเทศ เรียกชานี้ว่า การัมจาย ผู้เขียนชอบมากค่ะ

ตอนหน้าตามกันเข้าไปในเนปาลนะคะ

หมายเลขบันทึก: 481058เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2012 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

มาชวนไปร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนา สร้างปัญญาด้วยบทเพลง กับจีวัน BAND

ที่นี่ครับ http://g-oneband.com/

ขอบคุณครับ

ขอบคุณอาจารย์อ.นุค่ะที่มาเยี่ยมและชวนไปฟังบทเพลงปัญญา สืบทอดพระศาสนา เข้ากันกับบันทึกชุดนี้เลยค่ะ ผู้มาอ่านท่านอื่นๆก็จะได้ตามไปฟังด้วย

พี่นุชโอโหเห็นภาพแล้ว อยากไปบ้าง แต่เด็กๆน่าสงสารจริงๆๆด้วย

สวัสดีค่ะพี่นุช

ขอบคุณสำหรับเรื่องราวที่นำมาแบ่งปันนะคะ

ด้วยความระลึกถึงเสมอค่ะ;)

สวัสดีค่ะ

ไม่ค่อยได้ไปไหน....อ่านตามพี่นุชได้เรียนรู้ตามค่ะ

ขอบคุณค่ะ^^

  • พี่นุชเจ้า..

ตามติดทริปอิเดียค่ะ (ถึงแม้จะมาช้าหน่อย)  ^^  อ่านตัวหนังสือของพี่นุชแล้วนึกภาพตาม   โดยเฉพาะเรื่องขอทาน..   ทำให้นึกถึงเรื่องคล้ายๆ กันที่แถวๆ บ้านเราก็มี   เช่น น้ำตกแห่งหนึ่งมักจะมีเด็กๆ ชนเผ่ามารอขายดอกไม้ให้นักท่องเที่ยว   สรรพนามที่เขาใช้เรียกนักท่องเที่ยวผู้หญิงคือ "พี่คนสวย..ย..ย"   พวกเขาจะตามเราเป็นพรวนเพื่อขายดอกไม้   แรกๆ ก็แอบคิด "เอ๊ะ หรือเราจะสวยจริง"  อิอิ

 

การเดินทางไปอินเดีย   ถ้ามีโอกาสในชีวิต   พุทธศาสนิกชนควรจะได้ไปสักครั้งหนึ่งเนอะ  ^^

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท