ไบโอดีเซล: บทนำ


บทนำ

ความรู้พื้นฐานเชิงวิชาการ

 

เชื่อหรือไม่ครับว่า ในบรรดาบุคคลที่ทำการผลิตไบโอดีเซลในประเทศไทยนั้น มากกว่า 90% ที่ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับไบโอดีเซลอย่างดีเพียงพอ แต่ที่สามารถผลิตได้และใช้งานได้นั้น ก็เพราะว่าเทคโนโลยีการผลิตนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ยากเกินที่จะเรียนรู้ แต่การผลิตการทำไบโอดีเซลเพื่อใช้เองนั้นบางครั้งอาจพบกับปัญหาที่ไม่รู้เหตุผล ไม่รู้สาเหตุได้

 

สถานวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนจากน้ำมันปาล์มและพืชน้ำมันเอง ก็ยังไม่มีความรู้พื้นฐานไปเสียทั้งหมด โลกของไบโอดีเซลยังคงกว้างใหญ่ และน่าค้นหาอีกต่อไป แต่เทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้นจะเกิดขึ้นได้จากการมองเห็นและเข้าใจธรรมชาติของทุกส่วนของระบบการผลิตไบโอดีเซลอย่างชัดเจน แจ่มชัด เสียก่อน การพัฒนาหรือการต่อยอดที่ถูกต้อง ประหยัด จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นอันดับแรก เราอาจพูดได้ว่า นี่คือข้อแรกที่สำคัญที่สุดในการดำเนินตาม “อริยมรรค 8“ ในการแสวงหาความรู้ที่แท้จริง เมื่อมีความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว จะนำไปสู่”การคิดที่ถูกต้อง”  และ”การทำที่ถูกต้อง”ต่อไป

 

สถานวิจัยฯ ได้ตัดสินใจจะนำเสนอความรู้พื้นฐานเหล่านี้ไว้ในภาคแรกของหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้นักวิชาการรุ่นใหม่ รุ่นเยาว์ ได้มี”พื้นฐาน”ในการคิดต่อได้อย่างมีเหตุผล เราเห็นความสำคัญของการคิด การวิเคราะห์ มากกว่า การมุ่งเน้นหาคำตอบ/หาผลลัพธ์ ที่ปราศจากการคิดวิเคราะห์ เพราะจะไม่นำไปสู่ความมั่นคง ยั่งยืน เรามีความเห็นว่า การจะสร้างอาคารสูงนั้นต้องวางฐานรากที่มั่นคงเสียก่อน ต้องตอกเสาเข็ม วางรากฐานที่จะรองรับ ที่จะเสริมสร้างความแข็งแรงของตัวตึกที่จะสูงตระหง่านต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

แต่การทำเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่"น่าเบื่อ"ในการเรียนรู้ของสังคมยุคใหม่ ที่เป็นสังคมที่"ใจร้อน" อยากเห็นผลลัพธ์เร็ว ๆ ซึ่งเราก็ลังเลใจในการที่จะนำเสนออยู่เช่นกัน

 

ผมอาจลองยกตัวอย่างการนำเสนอแบบเดิมนั้น ผมคงอาจเริ่มต้นแบบนี้ครับ

 

ไบโอดีเซล หรือ เอสเตอร์

สารประกอบที่รวมกันแล้วเรียกเป็นไบโอดีเซลคือสารประกอบจำนวนเอสเตอร์ประเภทโซ่ยาว (long chain)

 

 

นี่คือสูตรเคมีของกรดคาร์บอกซิลิกเอสเตอร์ครับ

และรูปต่อไปนี้เป็นภาพจำลองของโมเลกุลเอทิลสเตียเรต ซึ่งเป็นชนิดหนึ่งของคาร์บอกซิลิกเอสเตอร์

โดยแท่งยาวทางซ้ายมือจะถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ R (โซ่ยาว) ที่นูนเป็นทรงกลมเปรียบเป็นอะตอมของไฮโดรเจน ส่วนแท่งสีเข้มกว่าซึ่งทรงกลมฝังอยู่คือคาร์บอนหลายตัวต่อกันเราอาจเรียกเป็นโซ่ของคาร์บอน ซึ่งจะเห็นว่าต่อยาวไปถึงทรงกลมสีแดง ซึ่งแสดงเป็นอะตอมของออกซิเจน  เมื่อดูในโครงสร้างที่เป็นสูตรเคมีรูปแรก จะพบว่าแท่งยาวทั้งหมดคือ R ต่อเข้ากับ C (คาร์บอน) ซึ่งต่อเข้ากับ O (ออกซิเจน) 2 อะตอม จากนั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ R' ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ขวามือสุด ซึ่งในรูปนี้คือกลุ่มของเอทิล C2H5- (อาจพอเห็นเหตุผลว่าทำไมใช้ R แทนแท่งยาวทั้งหมด เพราะถ้าเขียนเต็มก็จะเสียเวลามาก)

 

ผมว่าคงต้องสนใจจริง ๆ จึงจะเข้าใจนะครับ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้การสร้างรูปเหล่านี้ทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีโปรแกรมสำเร็จรูปแล้ว

 

โครงสร้างนี้คือเอทิลเอสเตอร์ แต่ที่เราใช้ไบโอดีเซลอยู่ในปัจจุบันจะเป็นชนิดของ เมทิลเอสเตอร์ ซึ่งก็จะใช้กลุ่มของเมทิล CH3- ต่อเข้ากับอะตอมออกซิเจนนั่นเอง

 

ผม..เอง

หมายเลขบันทึก: 480864เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2012 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท