ไปเรียนรู้สภาพโรงเรียนสมาชิก LLEN ในจังหวัดฉะเชิงเทรา


          วันที่ ๗ - ๘ ก.พ. ๕๕ ผมติดตาม ดร. เจือจันทร์ ผู้ประสานงานโครงการ LLENของ สกว. ไปเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนในโครงการ LLEN ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ๓ แห่ง    คือ โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน  โรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ)  และโรงเรียนวัดหนองแหน (รัตนศิริราช)    โดยยอมยกเลิกการเข้าร่วมประชุม วิชาการนานาชาติเรื่องโรคติดเชื้อกับมะเร็ง   เพราะอยากไปคลุกคลีทำความเข้าใจโรงเรียน เพื่อจะได้หาทางช่วยกันพัฒนาการศึกษาของบ้านเมืองเรา

          บันทึกนี้จึงคล้ายๆ AAR กับตัวเอง  ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง ไม่ได้อะไรบ้าง    วงการศึกษาไทยควรปรับ ตรงไหนบ้าง    โดยที่เมื่อเอามา ลปรร. ใน บล็อก ผู้อ่านต้องแยกแยะเอาเองว่าตรงไหนน่าเชื่อ ตรงไหนสะท้อน ความเขลาของผม

          สองโรงเรียนแรกถือเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ คือมีนักเรียนกว่าสองพันคน   ได้รับรางวัลมากมาย   โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน (โรงเรียนมัธยม) เป็นโรงเรียนเก่าของ ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน และเวลานี้ท่านเป็นประธานคณะกรรมการโรงเรียน   ส่วนโรงเรียนวัดท่าเกวียน (โรงเรียนประถม) ได้รับการสนับสนุนใกล้ชิดมากจากเทศบาลตำบลพนมสารคาม   มีศิษย์เก่าที่เป็นนายกเทศมนตรีชื่อคุณนิกร จันทร์ธรรมาพิทักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการศึกษา    โรงเรียนนี้มีสถานที่สะอาดสะอ้านมาก

          สิ่งที่โรงเรียนทั้งสองอวดเรา ต้องเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจ คือผลงานด้านสิ่งแวดล้อม ที่ มรภ. ราชนครินทร์มาชวนดำเนินการตามโครงการ LLEN    ของโรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายนคือโครงการมัคคุเทศก์น้อย นำชม ป่าชายเลนในบริเวณโรงเรียน   ส่วนโรงเรียนวัดท่าเกวียนอวดการฝึกการพูดภาษาไทยชัดถ้อยชัดคำ  และผลของ โครงงานหลายโครงงาน ที่ต่างก็ส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลมากมาย

          ผมสวมแว่น 21st Century Learning ทำ AAR การไปรับฟังการนำเสนอของ ๒ โรงเรียนนี้   ซึ่งรับประกัน คุณภาพโดยหลักฐานรางวัลมากมาย แล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทางโรงเรียนและครูเคยตรวจสอบไหมว่า ในการทำกิจกรรมเหล่านั้น นักเรียนได้เรียนรู้ และไม่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ที่เป็นทักษะสำคัญสำหรับโลกสมัยใหม่

          ทางครูและโรงเรียนเคยทบทวนไหมว่า สิ่งที่นักเรียนควรได้เรียนรู้สำหรับเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคต คืออะไร   และวิธีที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุด ที่จะให้ศิษย์ได้รับสิ่งนั้น คืออะไร  

          โรงเรียนที่สามที่เราไปเยี่ยมคือโรงเรียนวัดหนองแหนเป็นโรงเรียนประถมขนาดเล็ก นักเรียน ๑๖๐ คน   มีกิจกรรมเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เขาภูมิใจคือป่าไผ่ผาก ที่นักเรียนชอบกิจกรรมออกไปเรียนรู้ที่นั่น   โดยที่ผม คิดว่าความท้าทายคือ จัดการเรียนรู้ป่าไผ่ผากอย่างไร ให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกและเชื่อมโยงทุกหน่วยสาระ   ที่นี่ ผอ. โรงเรียนเป็นคนกว้างขวางและเล่าเรื่องต่างๆ เก่ง   

          ผมจึงได้ตระหนักว่าโรงเรียนย่อมอยู่ในบริบททางสังคมของ พื้นที่นั้นๆ    และในพื้นที่นี้ก็มีการขุดดินไปขาย มีบ่อที่เกิดจากการขุดดินมากมาย รวมทั้งบ่อขยะที่ขยะจาก เขตเมืองฉะเชิงเทราถูกนำมาทิ้งที่นี่    ซึ่งก็กลายเป็นที่เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของเด็กนักเรียนไปด้วย    รวมทั้งมีการบุกรุกที่สาธารณะ   การมีสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดของเอกชนเข้ามาอยู่ใกล้โรงเรียน เกิดกรณีผู้ติดยาหนีเข้ามาในโรงเรียน เสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดกับเด็ก

          ในวันที่ ๘ ก.พ. เป็นรายการทบทวนโครงการ LLEN จ. ฉะเชิงเทรา โดยใช้กระบวนการ KM สองห้อง    คือห้องนักวิจัยของ มรภ. ราชนครินทร์ มี ดร. เลขา ปิยะอัจฉริยะ เป็นวิทยากร    และห้องครูจากโรงเรียนเครือข่าย มีคุณอ้อ (วรรณา เลิศวิจิตรจรัส) จาก มสส. เป็นวิทยากร    ผมเป็นผู้สังเกตการณ์ในห้องนี้

          ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า มรภ. ราชนครินทร์ ดำเนินการ LLEN จ. ฉะเชิงเทราโดยเดินเรื่องด้วยสาระวิชาด้าน สิ่งแวดล้อม และทำกับครูวิทยาศาสตร์    เป็นการทำงานที่เน้นการเรียนสาระวิชา (content) ตามแนวทางของ วงการศึกษาไทย ที่ยังอยู่ในกระบวนทัศน์ที่เน้น content ทีมวิจัยของ มรภ. ราชนครินทร์ เน้นทำงานโดยไปชวน โรงเรียนจำนวนหนึ่งให้เข้ามาเป็นเครือข่ายพัฒนาการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ของ ตนเอง    

          โรงเรียนบางปะกงบวรวิทยายน มีป่าชายเลนผืนโตพอสมควรอยู่ในบริเวณโรงเรียน ถือเป็นทรัพยากร การเรียนรู้ที่มีค่ายิ่ง    จึงดำเนินการต่อยอดจากทุนเดิมที่มีอยู่แล้ว    เชื่อมโยงเป็นกิจกรรมมัคคุเทศน์น้อยพาเรียนรู้ ป่าชายเลน เพราะมีโรงเรียนอื่นๆ พานักเรียนมาเยี่ยมชมป่าชายเลนที่นี่มาก

          โรงเรียนวัดท่าเกวียน (สัยอุทิศ) เดินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิสัยทัศน์การทำงานร่วมกับครอบครัว (มีตัวอย่างครอบครัวพรหมพฤฒา ร่วมกิจกรรมครอบครัวนักคิดประดิษฐ์ของเหลือใช้ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม)ของนักเรียน  ร่วมกับเทศบาล และบริษัทธุรกิจ เช่น บ. โตโยต้า  ในกิจกรรมที่หลากหลาย

          ผมนั่งฟังและอ่านเรื่องเล่า ๑๕ เรื่อง ของครู ๑๕ คนแล้ว    ก็บอกตัวเองว่า ท่านเหล่านี้คือตัวอย่างของ “ครูเพื่อศิษย์”   ผมสัมผัสแรงบันดาลใจของท่านเหล่านี้   เห็นชัดเจนว่าเวทีเล็กๆ นี้ได้ช่วยให้ครูตระหนักในคุณค่า ของการเป็นครู  และเห็นว่าท่านเหล่านี้มองเห็นโอกาสที่จะทำงานพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของศิษย์อย่างต่อเนื่อง   เห็นโอกาสใช้ทรัพยากรการศึกษาในพื้นที่   และเห็นโอกาสเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายข้ามโรงเรียน   เพื่อ ลปรร. ยกระดับขีดความสามารถในการจัดการเรียนรู้ให้ ทรงคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นไป 

          ควรยกระดับประเด็นการพัฒนาและเรียนรู้ จากเน้นสาระวิชา (ในกรณีนี้คือสิ่งแวดล้อม) สู่การเน้นวิธีสร้างแรงบันดาลใจแก่ศิษย์ และเน้นการพัฒนาทักษะการเรียนรู้  ทักษะชีวิต และทักษะสำคัญอีก หลายอย่างในกลุ่มทักษะเพื่อศตวรรษที่ ๒๑

          มรภ. ราชนครินทร์ก็เห็นโอกาสในการทำงานร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ยกระดับคุณภาพการเรียนรู้    โดยที่ค่าใช้จ่ายสามารถหาได้จากแหล่งในพื้นที่  

          หากกิจกรรม LLEN จังหวัดฉะเชิงเทรา ช่วยปลุกหรือกระตุ้น ให้ทั้งฝ่ายโรงเรียน และฝ่าย มรภ. ราชนครินทร์ ร่วมมือกันหาภาคีและแหล่งสนับสนุนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ให้นักเรียน งอกงาม “ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑” อย่างต่อเนื่อง ก็จะบรรลุเป้าหมายของ สกว. ในการสนับสนุนให้ดำเนินการ โครงการ LLEN  

          ตอนบ่าย ผศ. ดร. นพรัตน์ สรวยสุวรรณ ผอ. สถาบันพัฒนาคุณภาพครู ของ มรภ. ราชนครินทร์ มาพบเพื่อหารือการจัด workshop เพื่อพัฒนาครูในจังหวัดฉะเชิงเทรา และเขตภาคตะวันออก    คุยกันแล้วก็เห็นชัด ว่านี่คือขั้นตอนต่อเนื่องของ LLEN นั่นเอง   โดยต้องทำให้เป้าหมายชัดเจน ว่าเพื่อปฏิรูปกระบวนทัศน์ทางการ ศึกษา จากแนวทางเดิมๆ สู่กระบวนทัศน์แห่งศตวรรษที่ ๒๑

          ผมเสนอให้ดำเนินการตามแนวทางที่ระบุในหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑   โดยร่วมมือกับมูลนิธิสดศรีฯ   

          อ่านเรื่องราวทั้งหมดของ LLEN ได้ที่นี่

 

วิจารณ์ พานิช
๙ ก.พ. ๕๕
 

วง ลปรร. ที่ รร. บางปะกงบวรวิทยายน


 

 

 สาระเข้มข้นขึ้นเมื่อเชื้อเชิญนักเรียนมา ลปรร. ด้วย


 

 

 ป่าชายเลนของ รร. บางปะกงบวรวิทยายน


 

 

 บริเวณ รร. วัดท่าเกวียนที่สะอาดเป็นระเบียบ


 

 

 นักเรียนชั้น ป. ๓ กำลังนำเสนอผลงานน้ำหมักชีวภาพ


 

 

วง ลปรร. ที่ รร. วัดท่าเกวียน


 

ผอ. รร. วัดหนองแหน เล่าเรื่องป่าไผ่ผาก และพิธีขึ้นเขาเผาข้าวหลาม


 

 

 บริเวณ รร. วัดหนองแหน


 

 

ลักษณะของป่าไผ่ผากหน้าแล้ง  ในฤดูฝนป่าทึบมองไม่เป็นตะวัน หลงทางได้ง่าย


 

 

 

หมายเลขบันทึก: 480765เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2012 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พื้นที่สวยงามมาก น้ำไม่ท่วมนะครับ

สุดยอดค่ะ เป็นตัวแบบที่ดีได้หลาหหลายรายการนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท