หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ


ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาจะมีอยู่ตราบใดที่ผู้พิพากษาตุลาการยังประพฤติ ปฏิบัติอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตุลาการ แต่หากเมื่อใดผู้พิพากษาตุลาการมิได้ปฏิบัติอยู่ในขอบเขตดังกล่าว ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง กล่าวคือ แม้ดุลพินิจของผู้พิพากษาตุลาการจะเป็นอิสระ แต่ต้องเป็นดุลพินิจโดยชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย หากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบหรือโดยทุจริต ภูมิคุ้มกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการก็ย่อมจะหมดไป เมื่อเป็นดังนี้ผู้พิพากษาตุลาการก็ต้องเข้าสู่ระบบการตรวจสอบ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อื่น ๆ มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาตุลาการมีอภิสิทธิ์เหนือข้าราชการโดยทั่วไป

“ หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ”
โดย สมลักษณ์  จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอดีตกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษวิชาระบบศาล และการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทยทุกฉบับจะมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา   ตุลาการไว้ แม้แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันในเร็ว ๆ วันนี้ ก็มีการบัญญัติเรื่องนี้ไว้ตามมาตรา ๑๙๗ ซึ่งบัญญัติว่า

การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และอยู่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย”

เหตุที่ต้องมีการรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการไว้เช่นนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้มีหมู่คณะหนึ่งคณะใด หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้ามาก้าวก่ายงานของผู้พิพากษาตุลาการ เช่น สั่งให้ผู้พิพากษาตุลาการพิพากษาคดี  ไปตามความต้องการหรือใช้ดุลพินิจไปในทางที่ให้ประโยชน์ต่อคณะบุคคลหรือบุคคลนั้น ๆ

ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาจะมีอยู่ตราบใดที่ผู้พิพากษาตุลาการยังประพฤติ ปฏิบัติอยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตุลาการ แต่หากเมื่อใดผู้พิพากษาตุลาการมิได้ปฏิบัติอยู่ในขอบเขตดังกล่าว เช่น ประพฤติทุจริตหรือจงใจละเมิดกฎหมาย ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครอง กล่าวคือ แม้ดุลพินิจของผู้พิพากษาตุลาการจะเป็นอิสระ แต่ต้องเป็นดุลพินิจโดยชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและตามกฎหมาย     หากเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบหรือโดยทุจริต ภูมิคุ้มกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการก็ย่อมจะหมดไป

เมื่อเป็นดังนี้ผู้พิพากษาตุลาการก็ต้องเข้าสู่ระบบการตรวจสอบ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ อื่น ๆ มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็นว่าผู้พิพากษาตุลาการมีอภิสิทธิ์เหนือข้าราชการโดยทั่วไป และองค์กรที่จะมีอำนาจในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการในฐานะที่ผู้พิพากษาตุลาการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทหนึ่งก็คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งขอให้ศึกษารายละเอียดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๕๐ และ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๔ มาตรา ๘๔, มาตรา ๙๑ และมาตรา ๙๒ หรืออ่านบทความของผู้เขียนในวารสาร “รพี ๕๓” ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว ยังมีบทบัญญัติในเรื่องการจ่าย การโอน และการเรียกคืนสำนวนคดี ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๓๓ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา ๕๖

สำหรับพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๓๓ จะเป็นกฎเกณฑ์ในการโอนสำนวนและเรียกคืนสำนวนของศาลยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นหลักประกันอำนาจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี และป้องกันมิให้ผู้บริหารศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงการทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะผู้พิพากษา โดยมาตรา ๓๓ บัญญัติว่า “การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล กระทำได้ต่อเมื่อ เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีของศาลนั้น

กรณีที่จะถือว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี ตัวอย่างเช่น ผู้พิพากษาพิพากษาคดีขัดต่อหลักกฎหมาย ขัดต่อแนวคำพิพากษาของศาลนั้น ๆ ที่เคยมีคำพิพากษาไว้แล้วหลายเรื่อง โดยไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษาดังกล่าว หรือพิพากษาคดีขัดแนวคำพิพากษาฎีกา โดยปราศจากเหตุผลตามกฎหมาย เป็นต้น

สำหรับการคืนสำนวนนั้น พระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา ๓๓ วรรคสี่บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะผู้พิพากษามีคดีค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลล่าช้า และผู้พิพากษานั้นขอคืนสำนวนคดีที่ตนรับผิดชอบ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี มีอำนาจรับคืนสำนวนคดีดังกล่าว และโอนให้ผู้พิพากษาหรือองค์คณะผู้พิพากษาอื่นในศาลนั้นรับผิดชอบแทนได้”

ผู้มีอำนาจขอคืนสำนวนตามมาตรา ๓๓ วรรคสี่ คือ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและองค์คณะผู้พิพากษา ถ้าคดีอยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียว ผู้คืนสำนวนก็คือผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แต่คดีใดที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษามากกว่า ๑ คนขึ้นไป ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีแต่ผู้เดียวจะตัดสินใจใช้สิทธิขอคืนสำนวนคดีไม่ได้ ต้องให้องค์คณะผู้พิพากษาเห็นชอบด้วย จึงจะใช้สิทธิขอคืนสำนวนคดีได้

สำหรับศาลปกครอง จะมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง มาตรา ๕๖ วรรคสาม บัญญัติว่า “เมื่อได้มอบสำนวนคดีให้แก่ตุลาการเจ้าของสำนวนคนใดแล้ว หรือได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะใดแล้ว ห้ามมิให้มีการเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนคดี เว้นแต่ กรณีดังกล่าวต่อไปนี้

(๑)  เมื่อมีการโอนคดีตามที่ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครอง สูงสุดกำหนด

(๒)  เมื่อมีการคัดค้านตุลาการเจ้าของสำนวนสำหรับกรณีเรียกคืนสำนวนหรือ ตุลาการศาลปกครองในองค์คณะพิจารณาพิพากษานั้นถูกคัดค้าน หรือไม่ครบองค์คณะสำหรับกรณี โอนสำนวน

(๓)  เมื่อตุลาการเจ้าของสำนวนหรือองค์คณะพิจารณาพิพากษามีคดีค้างการพิจารณาอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งจะทำให้การพิจารณาคดีล่าช้า และตุลาการเจ้าของสำนวนหรือ องค์คณะพิจารณาพิพากษาขอสละสำนวนคดีที่ตนรับผิดชอบอยู่

ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครอง ข้อ ๙ บัญญัติว่า “เมื่อได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะใดหรือมอบสำนวนคดีให้แก่ตุลาการเจ้าของสำนวนคนใดแล้ว นอกจากกรณีตามมาตรา ๕๖ วรรคสาม (๒) และ (๓) ห้ามมิให้มีการเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนคดี เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้

(๑)     เมื่อปรากฏเหตุใด ๆ อันเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้น และประธานศาลปกครองสูงสุดหรืออธิบดีศาลปกครองชั้นต้นสั่งเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนคดี

(๒)     เมื่อมีการโอนคดีตามข้อ ๗๙ หรือ ข้อ ๘๑ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓

หากมีกรณีที่จะต้องมีการโอนหรือเรียกคืนสำนวน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็ควรนำเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลนั้น ๆ  จะเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า

เหตุที่ทั้งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครองมีบทบัญญัติถึงหลักเกณฑ์การโอน และการคืนสำนวนไว้ ก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริหารศาลใช้อำนาจ โอน หรือรับคืนสำนวนโดยพลการเมื่อผลของคำพิพากษาไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริหารศาล

การกระทำของผู้บริหารศาลดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาตุลาการ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาจักรไทยทุกฉบับ ให้การรับรองไว้ หากยอมให้มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นก็ถือได้ว่าระบบความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการ อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย ถูกทำลายลงโดยสิ้นเชิง

หมายเลขบันทึก: 480730เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2012 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 12:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท