คุณภาพชีวิตกับโรคภูมิแพ้


โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่พบบ่อยในไทย โรคนี้ส่งผลอย่างไรกับคุณภาพชีวิต มีวิธีป้องกันและรักษาโรคนี้ได้อย่างไร

โรคภูมิแพ้

เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทย โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมาก ผิดปกติภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น ในคนปกติจะไม่เกิดอาการ

สาเหตุของโรคภูมิแพ้

สาเหตุสำคัญมีมาจากปัจจัย 2 ประการ คือ

1. กรรมพันธุ์ โรคภูมิแพ้หลายโรคจะเกิดขึ้นได้ง่าย ถ้ามีพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็ก ยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาสมากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว

 2. สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ไม่ว่าสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ หรือจากการรับประทาน หรือจากการสัมผัส สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น อาหาร หลังจากการรับประทานอาหารทะเล อาจเป็นลมพิษภายในเวลาครึ่งชั่วโมง หรือกินยาแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยกวาดบ้าน เล่นกับแมว หรือสุนัขแล้วเกิดอาการจาม คัดจมูกหรือหอบ สารก่อภูมิแพ้บางอย่างสังเกตได้ยาก เพราะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เกสรหรือเชื้อราในอากาศ หรือไรฝุ่นในบ้าน ซึ่งมีมากตามที่นอน หมอน โซฟา ห้องรับแขก พรม ฯลฯ

     นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้นหรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศหนาว อากาศเปลี่ยน มลพิษในอากาศจากควันรถ ควันบุหรี่ ควันโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองตามท้องถนน ภายในบ้านหรือในสำนักงาน

โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย ได้แก่

1. เกิดขึ้นในระบบการหายใจ มีอาการได้ตั้งแต่น้ำมูกไหล จาม คันจมูก คัดจมูก (คนทั่วไปมักเรียกโรคแพ้อากาศ) หรืออาจมีอาการรุนแรง เช่น ไอ มีเสมหะมาก มีอาการหอบ ซึ่งเป็นอาการของโรคหืด บางคนอาจเป็นทั้งโรคหืดและโรคแพ้อากาศ  สำหรับในเด็กเล็ก ๆ อาหารอาจเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ของระบบการหายใจได้เช่นเดียวกัน เช่น แพ้นมวัว ไข่ เป็นต้น

     2. เกิดขึ้นที่ผิวหนัง เช่น อาการลมพิษ หรือผื่นภูมิแพ้ในเด็ก หรือผื่นแพ้จากการสัมผัส สาเหตุใหญ่ของลมพิษมักเป็นอาหารและยา ส่วนผืนภูมิแพ้ในเด็กมักเกิดขึ้นเองในเด็กที่มีแนวโน้มในการเกิด เช่น มีกรรมพันธุ์ของโรคภูมิแพ้ในครอบครัว อาหาร เช่น นม ไข่ อาจทำให้เกิดอาการผื่น ซึ่งมักเกิดบริเวณแก้มเด็กเล็ก หรือข้อพับในเด็กโต

     3. เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการแพ้อาหาร

     4. เกิดขึ้นในหลายระบบและรุนแรง ผู้ป่วยบางรายมีอาการแพ้มาก อาจมีอาการเกิดขึ้นในทุกระบบ เช่น หอบ ลมพิษ ช็อค หรืออาจรุนแรงจนเสียชีวิตภายหลังจากกินอาหารบางชนิด เช่น กุ้ง ถั่วลิสง ฯลฯ หรือภายหลังได้รับยา เช่น เพนนิซิลลิน

อาการของโรคภูมิแพ้ที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต

            ภูมิแพ้  จะมีอาการไอ จาม คัดจมูกน้ำมูกไหล ทุกครั้งที่อากาศเปลี่ยน หรือเข้าใกล้สารก่อภูมิแพ้ คงทำให้รู้สึกรำคาญไม่น้อย โดยเฉพาะคนทำงาน หรือนักเรียน นักศึกษา

อาการของโรคภูมิแพ้จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ, ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือเล่นกีฬาได้ตามปกติ อาการน้ำหูน้ำตาไหลขณะประชุมงานอยู่ในห้องแอร์ ต้องคอยซับ หรือกระพริบตาถี่ๆ ตลอดเวลา ไอ จาม ขณะเรียนหนังสือ ทำให้ขาดสมาธิทำให้เรียน และเรียนหนังสือได้ไม่เต็มที่ เสียบุคลิกภาพที่ดีในการเข้าสังคม นอกจากนั้นการที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น ไซนัสอักเสบ ผนังคอและต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง การเจริญเติบโตของรูปหน้าผิดปกติในเด็กเล็ก จมูกไม่ได้กลิ่น นอนกรน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคผิวหนังติดเชื้อ หรือถ้าเป็นมากอาจมีอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ กล่องเสียงและหลอดลมทำให้หายใจไม่ได้ และอาจทำให้เกิดอาการช็อค (anaphylactic shock) ได้ เพราะฉะนั้นควรการให้การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้อง นอกจากจะสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้แล้ว ยังทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

การรักษาโรคภูมิแพ้

มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอน คือ

1. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยง หรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด

เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ พยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ5หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส

พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน

-งดใช้พรมปูพื้น ไม่ใช้เก้าอี้นอนหรือเครื่องเรือนที่บุด้วยผ้า ไม่ใช้ที่นอนหรือหมอนที่ทำด้วยนุ่น หรือขนสัตว์ ควรใช้ชนิดที่ทำด้วยใยสังเคราะห์หรือฟองน้ำ ควรคลุมที่นอน และหมอนด้วยผ้าพลาสติก หรือผ้าไวนิล หรือผ้าหุ้มกันไรฝุ่น
-ไม่สะสมหนังสือหรือของเล่นที่มีขน 
-ซักผ้าม่าน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่มทุก 1-2 สัปดาห์ โดยใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง 
-ดูดฝุ่น เช็ดถูทำความสะอาดพื้นและเครื่องเรือน เพื่อขจัดฝุ่นละอองเป็นประจำ
-ไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขน เช่น สุนัข แมว ภายในบ้าน 
-พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบภายในบ้าน เพื่อป้องกันเชื้อราไม่ควรนำต้นไม้ ดอกไม้สดหรือแห้งไว้ในบ้าน 
-จัดเก็บขยะและเศษอาหารให้มิดชิด เพื่อป้องกันและกำจัดแมลงสาบ 

2. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ

ยารับประทาน, ยาพ่นจมูก, ยาทาผิวหนัง, ยาสูด หรือพ่นคอ, ยาหยอดตา

3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy) เป็นการรักษา โดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย

4. การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา 

            โรคภูมิแพ้นั้น สามารถรักษาให้อาการต่างๆ ดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยปราศจากโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้การรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ที่เป็นโรคนี้ด้วย

 

คุณภาพชีวิตกับโรคภูมิแพ้สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของตนเองได้โดย การสังเกตอาการตนเอง เนื่องจากดิฉันเป็นโรคอยู่ จึงหาความรู้มาเพื่อพัฒนาสุขภาพตนเอง นำข้อมูลที่ได้มาปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตนเอง ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ตนเองแพ้ และพยายามดูแลตนเองไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน เพื่อสุขภาพที่ดี และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากจะหาความรู้มาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองแล้ว ยังเป็นการนำข้อมูลมาให้ความรู้กับคนอื่นๆ  เนื่องจากในปัจจุบันนี้ในเมืองไทย มีคนเป็นโรคนี้จำนวนมาก และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงนำข้อมูลที่ได้มา เพื่อให้ผู้มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคนี้ ได้สังเกตอาการของตนเอง ซึ่งบางคนอาจจะเป็นโรคนี้โดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อทราบอาการของตนเองเร็ว ก็สามารถรักษาตามอาการของตนเองได้ทันท่วงที ซึ่งสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นได้  ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นตามมา

เอกสารอ้างอิง

คลังปัญญาไทย.โรคภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555, จากคลังปัญญาไทย :

http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89

สยามเฮลท์.โรคภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555, จากSiamhealth.net :

http://www.siamhealth.net/public_html/index0/allindex.htm

ช่างหรรษา.สาเหตุของโรคภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555 ,จาก changsunha.com :

http://www.changsunha.com/health/allergy/

ต้านภูมิแพ้.com .สาเหตุและอาการของโรคภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555 จากต้านภูมิแพ้.com :

http://ต้านภูมิแพ้.com/index.php?option=com_content&view=article&id=64:2011-02-07-10-41-11&catid=42:2011-02-07-10-36-17&Itemid=83

สำนักบริการคอมพิวเตอร์.อาการและสาเหตุของโรคภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555, จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ :

http://www.ku.ac.th/e-magazine/february48/know/health.html

mitefear.comโรคภูมิแพ้ และ ไรฝุ่น.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555 ,จากmitefear.com :

http://www.mitefear.com/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A0%E0%B8%B9%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%89-%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0-%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9D%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%99.html

ขาวละออเภสัช.คุณภาพชีวิตลดเพราะภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555, จาก khaolaor.asia :   

http://www.khaolaor.asia/news/hn_preview.php?id=H00037

เดลินิวส์.โรคภูมิแพ้ รักษาโรคภูมิแพ้ อาการโรคภูมิแพ้.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555, จาก health.kapook.com :

http://health.kapook.com/view2849.html

4life-network.com.โรคภูมิแพ้ในเด็ก.วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555, จาก 4life-network.com :  

http://www.4life-network.com/index.php?mo=3&art=286010

 ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน.เป็นโรคภูมิแพ้...โรคทำลายคุณภาพชีวิต...ทำอย่างไรดี !!!  .วันที่สืบค้นข้อมูล 27 กุมภาพันธ์ 2555 จากนิตยสาร HealthToday  :

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=353558

 

 

หมายเลขบันทึก: 480364เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2012 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท