พ้นทุกข์ด้วยการปฏิบัติตามหลัก "ไตรสิกขา" อันประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา


ข้อความเกี่ยวกับไตรสิกขาที่ผมสรุปมาจากหนังสือคู่มือมนุษย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ

               ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวไว้ในหนังสือ คู่มือมนุษย์ (สนพ.สุขภาพใจ, ๒๕๔๙ หน้า ๑๓ – ๔๔ และ ๑๐๑ – ๑๓๐) ว่า เมื่อมีศีลธรรมดีแล้ว ปัญหายังคงมีเหลืออยู่ว่า คนนั้นยังไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นจากการเบียดเบียนของกิเลส โดยเฉพาะคือ โลภะ โทสะ โมหะ   เรื่อง ศีล และ ธรรม ทั้งหมดนี้ มีความมุ่งหมายให้เกิดผลเพียงเป็นอยู่อย่างสงบเรียบร้อยของสังคมทั่วไป และเป็นความผาสุกขั้นต้นๆ อันเป็นวิสัยของปุถุชน   มิได้หมายสูงพ้นขึ้นไปถึงการดับทุกข์ หรือตัดกิเลสเด็ดขาดสิ้นเชิง จนเป็นพระอริยเจ้า   พระพุทธศาสนามีหลักปฏิบัติให้คนไปไกลกว่าเรื่องศีลธรรม ไปไกลจนถึงกับสามารถกำจัดความหม่นหมองทุกชนิด ที่เหลือวิสัยที่ศีลธรรมจะกำจัดได้ เช่น ความยุ่งยากใจเป็นส่วนตัว ความทุกข์ในใจอันเกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และกิเลสชั้นละเอียด ซึ่งไม่อยู่ในวิสัยที่ศีลธรรมทั้งหลายจะช่วยกำจัดให้ได้ จะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องปฏิบัติตามหลัก ไตรสิกขา อันประกอบด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ซึ่งสรุปโดยย่อได้ดังนี้

               คำ สิกขา เป็นภาษาบาลี เป็นคำเดียวกับคำ ศึกษา ในภาษาสันสกฤต คำ ศึกษา ในทางธรรม ไม่ได้หมายถึงการเล่าเรียน ท่องตำราความรู้อย่างที่เข้าใจกันในทางโลก แต่หมายถึงการลงมือปฏิบัติที่เป็นการอบรมกาย วาจา ใจ โดยตรง คือ อบรมตนเองให้เปลี่ยนจากลักษณะหนึ่งไปสู่อีกลักษณะหนึ่ง ตามที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้นไป

               คำ ไตร แปลว่า สาม ไตรสิกขา ประกอบด้วย สิกขา ๓ ได้แก่ สีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา  บางทีก็ใช้คำว่า ศีล-สมาธิ-ปัญญา   ไตรสิกขานี้มีไว้เพื่อดับทุกข์

               สีลสิกขา เป็นสิกขาชั้นแรกสุด สีลสิกขา แปลว่า สิ่งที่ควรศึกษาหรือควรอบรมที่เป็นชั้นศีล  แม้จะมีการจำแนกไว้เป็น  ศีล ๕  ศีล ๘  หรือ ศีล ๒๒๗  และอื่น ๆ อีกเป็นอันมากก็ตาม  แต่รวมใจความแล้ว  ก็อยู่ตรงที่เป็นการปฏิบัติเพื่อความปรกติสงบเรียบร้อย  ปราศจากโทษชั้นต้นๆ  ที่เป็นไปทางกาย ทางวาจา ทั้งที่เกี่ยวกับสังคม หรือส่วนตัว หรือสิ่งของต่างๆ  ที่จำเป็นแก่การเป็นอยู่   ศีลช่วยให้คนอยู่อย่างผาสุก ไม่มีเรื่องรบกวน แต่อานิสงส์ที่สำคัญที่สุดของศีลอยู่ที่การเป็นบาทฐานที่งอก ที่เกิด ที่เจริญสมาธิ   สีลสิกขาจึงเป็นการตระเตรียมเบื้องต้นให้เป็นผู้อยู่ในโลกด้วยลักษณะที่สะอาดบริสุทธิ์ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดสมาธิในขั้นต่อไปได้ง่าย ถ้ามีเรื่องรบกวนมากก็ยากที่จะเกิดสมาธิ

               สมาธิสิกขา เป็นสิกขาชั้นที่ ๒ ที่สูงขึ้นไปอีก  ได้แก่การที่ผู้นั้นสามารถบังคับจิตใจของตัวไว้ได้ ในสภาพที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดตามที่ตนต้องการ   คำ สมาธิ ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป คือ ความตั้งใจมั่นแน่วแน่  เป็นจิตที่สงบ  แต่สมาธิโดยสมบูรณ์หมายถึง การทำจิตนั้นให้เหมาะสมแก่การงานของจิต เป็นการฝึกฝนอบรมจิตให้อยู่ในลักษณะที่พร้อม  ที่มีสมรรถภาพถึงที่สุดในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ทางจิต  ข้อหลังนี้เป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ   ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงลักษณะของจิตด้วยคำอีกคำหนึ่งซึ่งเป็นคำสำคัญที่สุด  คือคำว่า  กมฺมนิโย  แปลว่า  สมควรแก่การทำงาน   คำนี้เป็นคำสุดท้ายที่ทรงแสดงลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ    คำว่า  สมาธิ  แปลว่าจิตตั้งมั่นก็จริง  แต่ต้องหมายถึงตั้งมั่นในลักษณะที่พร้อมที่จะปฏิบัติงาน  ไม่ใช่ตั้งมั่นในลักษณะที่ไม่ปฏิบัติงานใดๆ  คือสงบนิ่งเงียบอยู่เฉยๆ   ผู้ที่พอใจที่จะยึดถือความหมายเป็นความสงบเงียบนั้น ก็เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิสงบเงียบ  ไม่มีอะไรรบกวนแล้ว  ในขณะนั้นย่อมรู้สึกเป็นความสุขอย่างยิ่ง ก็เลยเกิดชอบความสุขชนิดนั้น  เลยรักการทำสมาธิในทางนั้น   ไม่ได้พอใจสมาธิในลักษณะที่จะปรับปรุงจิตให้เหมาะสมที่จะทำการพิจารณาหรือค้นคว้าสืบไป ด้วยเหตุนี้  นักสมาธิส่วนใหญ่  จึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของความสุขอันเกิดจากความสงบของจิต  แล้วก็หยุดอยู่เพียงแค่นั้น  ไม่สามารถทำสมาธิของตนให้สูงขึ้นไป  จนถึงกับเป็นพื้นฐานหรือเป็นบาทฐานของการเจริญปัญญา  อันจะทำให้เข้าถึงความดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง(พระนิพพาน)ได้  มิหนำซ้ำ  ยังจะตกอยู่ในลักษณะของความหลง  คือหลงเอารสแห่งความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น  ทำให้ไม่ก้าวหน้าไปจนถึงปัญญาชนิดที่จะตัดตัณหาหรืออุปาทานได้   สมาธิสิกขานี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “จิตตสิกขา”  แปลว่า  สิ่งที่ควรศึกษาหรืออบรมในทางจิต

               ปัญญาสิกขา  เป็นสิกขาชั้นที่ ๓ เป็นการฝึกฝนอบรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องและสมบูรณ์ถึงที่สุด ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง   คนเราตามปรกติรู้อะไรตามที่เข้าใจเอาเอง  ไม่ใช่ตามที่เป็นจริง พุทธศาสนาจึงมีระเบียบปฏิบัติที่เรียกว่าปัญญาสิกขา เป็นส่วนสุดท้ายสำหรับจะได้ฝึกฝนอบรมให้เกิดความเห็นแจ้งในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง   “ความเห็นแจ้ง” นี้หมายถึงสิ่งที่บุคคลได้ซึมซาบมาแล้วด้วยการผ่านสิ่งนั้นๆ มาแล้วด้วยตนเอง หรือมีประสบการณ์ตรงกับสิ่งนั้น ด้วยการพิจารณาจนเกิดเป็นความรู้สึกในใจขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่ด้วยเหตุผล   คำปัญญาสิกขาในพระพุทธศาสนาจึงไม่ได้หมายถึงปัญญาที่เป็นไปตามอำนาจเหตุผล อย่างที่ใช้กันในวงการศึกษา   การพิจารณาทางปัญญาตามสิกขาข้อนี้จึงจำเป็นต้องใช้สิ่งต่างๆ ที่ได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลังในชีวิตของเราเองเป็นเครื่องพิจารณา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เรื่องที่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้จิตใจของเราเกิดความสลด สังเวช เบื่อหน่าย คลายกำหนัด ในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ได้จริง   หากใช้หลักเหตุผลมาวินิจฉัยลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็จะได้แต่ “ความเข้าใจ” อยู่นั่นเอง   คำ ความเข้าใจ จึงต่างจากคำ ความเห็นแจ้ง   ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ปฏิบัติในทางปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนาจึงไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการใช้เหตุผลมากเหมือนกับการศึกษาในศาสตร์ต่างๆ แต่อาศัยความรู้สึกในใจจริงๆ ที่เคยมี เคยเป็น เคยผ่านมาแล้วแต่หนหลังเป็นสำคัญ   หากแม้จะมีการเทียบเคียงด้วยเหตุผลบ้าง ก็ใช้เหตุผลโดยเอาสิ่งที่ได้ผ่านมาแล้วแต่หนหลังนั้นมาเป็นเหตุผล ไม่ใช่เหตุผลจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์   การเห็นแจ้งจึงเป็นปัญญาที่ออกผลแก่จิตใจในขณะนั้นๆ ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่จะต้องเก็บสะสมไว้มากๆ เรื่อยๆ ไป จนกระทั่งลืมเลือน ฟั่นเฟือนไปด้วยเหตุผลนั้นเอง   คนจึงไม่อาจพ้นทุกข์ด้วยลำพังความเข้าใจ จะพ้นทุกข์ได้ก็ด้วยความเห็นแจ้ง

               อนึ่ง ปัญญา กับ สมาธิ นั้นสัมพันธ์กัน นั่นคือ สมาธิช่วยให้เกิดปัญญา ขณะเดียวกันปัญญาก็ช่วยให้เกิดสมาธิ.

 

หมายเลขบันทึก: 480353เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

Ico64

เรียนท่าน สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์

 

- ปัญญา กับ สมาธิ .... สัมพันธ์กัน

- สมาธิช่วยให้เกิดปัญญา ....ขณะเดียวกัน....ปัญญาก็ช่วยให้เกิดสมาธิ

- ได้ความรู้...จริงๆๆค่ะ

- ขอบคุณค่ะ

 

ขอบคุณ Dr.Somsri เช่นกันครับสำหรับความเห็นที่เป็นกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท