O-NET แล้วได้อะไร?


O-NET แล้วได้อะไร เสียอะไร?

O-NET แล้วได้อะไร? 

……………………

 

       O-NET คืออะไรคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา คงไม่รู้ ไม่สนใจ แม้ครูเองก็เถอะ เข้าใจว่าคงมีบางคนที่อาจจะยังไม่ลึกซึ้งนัก

       O-NET คือการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ซึ่งมาจากคำว่า Ordinary National Education Test ที่จัดสอบโดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) หรือ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า National Institute of Educational Testing Service ตัวย่อ NIETS

       การสอบ O-NET นี้จะใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะใช้วัดความรู้และความคิดของนักเรียนในระดับ ป.6 ม.3 และ ม.6 โดยที่ข้อสอบจะประกอบไปด้วยเนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

       ข้อสอบ O-NETถูกวิพากษ์วิจารณ์ เสียๆ หายๆ มีให้เห็น ให้ได้ยินทุกปี หลายคนอาจจะชื่นชม แต่อีกหลายคนอาจจะออกมาแสดงอารมณ์ ที่รุนแรง มากบ้าง น้อยบ้างต่างกัน สำหรับผู้เขียนคิดว่า ครูไม่ควรสนใจคะแนน O-net มากนัก (แต่จำเป็นต้องสนใจ เพราะ เป็นนโยบายของเจ้านาย)

       การสอบ O-NET ตอบโจทย์การศึกษาได้แค่ไหน? 

          - ข้อสอบเพียงไม่กี่ข้อ วัดครอบคลุมได้แค่ไหน

          - คนที่สอบได้คะแนนน้อย ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเป็นคนดีของสังคมไม่ได้

          - คนที่ได้คะแนนมาก อาจจะเป็นได้แค่ คนจน ข้าราชการชั้นผู้น้อย

          - คนที่เรียนตกซ้ำชั้น แต่รวยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

          - คนเรียนไม่เก่ง แต่นำผ้าป่าสามัคคีถวายวัดและโรงเรียนปีละหลายแสน

          - ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย

       O-NETทำร้ายการศึกษาไทย เพราะการนำคะแนน O-NET ของแต่ละโรงเรียนมาเปรียบเทียบกัน ทำให้ครูหันไปสอนแบบสอนข้อสอบ เพราะต้องการ ผล คือ คะแนน  ซึ่งทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ถูกมองแค่ผลการเรียนรู้ในรายวิชา ส่วนคุณลักษณะที่พึงประสงค์(สำคัญที่สุด) กลับถูกละเลย กระบวนการสอนเป็นกลุ่ม การทำงานเป็นทีม กำลังจะสูญพันธุ์

       ได้โปรดพิจารณานิดหนึ่งเถิดเจ้านาย...

          - ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาควรเน้นที่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ แล้วจึงตามด้วยผลการเรียนรู้ด้านวิชาการมิใช่หรือ

          - ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้น คนไทยต้องมีคุณภาพสูงสุดและเท่ากันทุกคน ส่วนด้านวิชาการ ควรมีคุณภาพลดหลั่นกันไปตามความสามารถและระดับสมอง จะเท่ากันทุกคนย่อมไม่ได้

       เด็กเกิดจากต่างบิดา มารดา ต่างสถานที่ พื้นฐานต่างกัน ความอัจฉริยะของคนต่างกัน รักชอบคนละด้าน มาตรฐานต่างกัน ฯลฯ จะให้ทุกคนฉลาดหมดทุกอย่าง ย่อมเป็นเรื่องยากแสนยาก ถึงแม้บางคนอาจทำได้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็เก่ง "อย่างเป็ด"

       เด็กทุกคนมีแววความฉลาด

       ความฉลาดสามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภทได้แก่ (ปรียานุช ขุณเณร :http://www.vcharkarn.com/varticle/37342. 2555)

          1. ความฉลาดทางด้านภาษา (linguistic intelligence)

          2. ความฉลาดทางด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (logical-mathematical intelligence)

          3. ความฉลาดทางด้านมิติสัมพันธ์ (spatial intelligence)

          4. ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหว (bodily intelligence)

          5. ความฉลาดทางด้านดนตรี (musical intelligence)

          6. ความฉลาดในการเข้าใจตัวเอง (intrapersonal relation intelligence)

          7. ความฉลาดทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (interpersonal relation intelligence)

เลือกเอาสักทางที่ใช่ตัวฉัน ทำอย่างจริงจัง น่าจะเพียงพอแล้วมิใช่หรือ? 

       ผู้เขียนคิดว่า...

          - เด็กคนเดียว เก่งบางอย่าง และ ไม่เก่งในบางเรื่อง 

          - เด็กที่สมองไม่ดี ถ้ายัดเยียดความเก่งให้เขา พยายามให้เด็กทุกคนเก่งเหมือนกัน นั่นคือ การทำร้ายเด็ก

          - อาจเป็นไปได้ว่า เราให้เด็กเก่งทุกเรื่อง เด็กเลยไม่เก่งสักเรื่อง อ่านไม่ได้ เขียนไม่เป็น พูดไม่เก่ง ฟังไม่เข้าใจ

       ผู้เขียนเคยไปญี่ปุ่น 2 ครั้ง ๆ ละ เดือนกว่าๆ ได้พบว่า... "สังคมญี่ปุ่น ครอบครัวคนญี่ปุ่น ครูญี่ปุ่น เขาร่วมมือ เอาจริง เอาจัง ปลูกฝังให้คนของเขามี คุณลักษณะที่พึงประสงค์ เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อทุกคนอัดแน่นด้วยคุณลักษณะที่พึงประสงค์แล้ว จะสามารถพัฒนาวิชาการได้ง่าย พัฒนาประเทศได้ง่าย" คุณลักษณะที่พึงประสงค์ ของคนญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง ดูจากคนญี่ปุ่นได้เลย

       มาดูความแตกต่างญี่ปุ่นกับไทย

          - ที่ญี่ปุ่น เขาสอนเน้น คุณลักษณะที่พึงประสงค์ส่วนประเทศยากจน(พี่ไทย) สอนเพื่อสอบ (O-NET , NT)

          - ญี่ปุ่นพัฒนาชาติ ด้วยการพัฒนาคน (ระเบียบวินัยในตนเอง) ... ส่วนไทยพัฒนาทางด้านวัตถุ เช่น ทรงผมเกรียน ติ่งหู วัตถุนิยม ถนนหนทาง ตึกหรู โทรศัพท์ ฯลฯ

          - ห้องเรียนอนุบาล , ป.1 ในญี่ปุ่น เป็นห้องเรียนที่แสนจะเรียบง่าย ที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัย แต่ไทยเรา แจกเทปเล็ต และฝึกเด็กให้เป็นทาสของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (ของเล่น)

          - เด็กญี่ปุ่นเดิน และขี่จักรยานไปโรงเรียน...  เด็กไทยขับมอเตอร์ไซค์ (ญี่ปุ่นได้กำไร เด็กไทยกลายเป็นทาส)

          - เช้าวันจันทร์เด็กอนุบาลที่ญี่ปุ่น เดินไปโรงเรียนพร้อมกระเป๋าหนักอึ้งสองสามใบ ส่วนผู้ปกครองเดินมือเปล่า (เขาบอกว่า สอนลูกให้ช่วยเหลือตัวเอง)... ส่วนพ่อแม่ไทยช่วยเหลือเด็กทุกอย่าง (รักลูกมาก กลัวลูกเหนื่อย)

          - เด็กอนุบาลญี่ปุ่นต้องใส่กางเกงขาสั้นในช่วงฤดูหนาว (คุณแม่ญี่ปุ่นรายหนึ่งบอกว่า ใช่แล้ว เด็กๆจะล้มป่วยในสัปดาห์แรก จากนั้นจะไม่ป่วยอึกตลอดปี)

          - เด็กญี่ปุ่นอายุยังไม่ถึง 4 ขวบ แต่ต้องวิ่งมาราธอนจนถึงเส้นชัย และต้องไต่เขา 1 ชั่วโมง... (ถ้าทำแบบนี้ที่เมืองไทย ครูคงโดนไล่ออก)

          - ฯลฯ

       ตรงนี้ต่างหากที่ต้องปลูกฝังให้ได้

       สิ่งที่ครูต้องสอน เอาจริง เอาจัง เด็กทุกคนต้องเรียนรู้และปฏิบัติได้เท่ากัน คือ คุณธรรม จริยธรรม จิตอาสา วินัยในตัวเอง นิสัยรักการอ่าน ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ฯลฯ หรือที่เรียกว่า "คุณลักษณะที่พึงประสงค์" (แต่สิ่งเหล่านี้ สอนแล้วไม่ได้คะแนน O-net ตกต่ำ เจ้านายจึงไม่ค่อยจะปลื้ม)

       การพัฒนาด้านวิชาการ ครูควร...

          - เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ศึกษาเด็กเป็นรายบุคคล

          - สอนเด็กเป็นรายบุคคล เด็กเก่งด้านไหนส่งเสริมด้านนั้น

          - สอนให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เน้นกระบวนการกลุ่ม การทำงานเป็นทีม

          - วัดและประเมินผลจากสภาพจริง  เป็นรายบุคคล ผลของการประเมินอาจจะไม่ออกมาเป็นคะแนน แต่ประเมินผลเพื่อให้ทราบว่า จุดแข็ง จุดอ่อนอยู่ที่ไหน จะสามารถพัฒนาต่อไปอย่างไร ไม่ใช่ต้องการทราบว่าได้คะแนนเท่าใด ใครเก่งกว่ากัน

       การสอนปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ช่วยให้การพัฒนาด้านวิชาการและอื่นๆ ทำง่ายขึ้น และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิด วิธีการแบบนี้ ผู้เขียนเชื่อ และศรัทธา ได้นำมาใช้กับเด็กตลอดมา ได้ทำแล้ว ได้ผลแล้ว อยากบอกต่อ แต่ไม่รู้ว่าใครจะฟังบ้าง

บรรณานุกรม

ปรียานุช ขุณเณร. รู้จักความอัจฉริยะของสมอง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา :  http://www.vcharkarn.com/varticle/37342. สืบค้น 22 กุมภาพันธ์ 2555.



<p style="text-align: center;">เชิญคลิก

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง การสร้างภาพเคลื่อนไหว
คำสอนดีดี เครื่องประดับกายของคนดี
O-NET แล้วได้อะไร?
โรงเรียนบ้านปางป้อม
ผลงานดีเด่น 2551
ผลงานดีเด่น 2552
ผลงานดีเด่น 2553
ผลงานดีเด่น 2554
ผลงานดีเด่น 2555

การอบรมการบูรณาการ ICT รุ่นที่ 1/2553
การอบรมการบูรณาการ ICT รุ่นที่ 2/2553
การอบรมการใช้ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 53
การอบรมแม่ไม้มวยไทยและกีฬาพื้นบ้าน 53
การอบรมการทำโครงงานบูรณาการ ICT 53
การอบรมการจัดการความรู้ Gotoknow.org 53
การอบรมการใช้ ICT เพื่อการสอน 55
การอบรมการพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศด้านคอมพิวเตอร์ 55
</p>



<div style="margin: auto; width: 460px; visibility: visible;">

</div>

คำสำคัญ (Tags): #o-net
หมายเลขบันทึก: 480118เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนได้ดี ขอชื่นชมโดย้ฉพาะคุณลักษณะอันพึงประสงค์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท