Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

น้ำใจของเนื้อนาบุญ : น้ำใจจาก “วัด”


ถอดบทเรียนจากน้ำท่วม เรื่องเล่าผ่านมุมธรรม “จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ” โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

นอกจากทัพหลังที่คอยหนุนแล้ว ผู้เขียนขอเล่าถึงอีกมุมหนึ่งของ “น้ำใจ” ซึ่งเป็นพลังเชื่อมโยงไปสู่เครือข่ายการทำงานอีกมากมายทั้งรัฐและราษฎร์  ซึ่งขอเรียกว่า “พลังแห่งเนื้อนาบุญ” นั่นก็คือ พระคุณเจ้าทั้งหลายที่มีเมตตาธรรมอย่างสูง  ยามสงบท่านก็เป็นเนื้อนาบุญอันดี ให้สาธุชนได้รับบุญจากการถวายทานแด่ท่าน  แต่ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติเช่นนี้  ท่านที่จะเอ่ยถึงนี้  ไม่วางทีเฉยเมย ท่านเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ที่พร้อมนำลูกศิษย์ลูกหา ศรัทธาญาติโยม โหมโรงภารกิจช่วยผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง  ท่านไม่มีข้าวของหรือเงินทองมากมาย  แต่ท่านมีความดีงามเป็นที่มาของศรัทธาและเงินทอง รวมทั้งข้าวของจำนวนมาก เพื่อภารกิจครานี้ 

 

                  น้ำใจเจ้าคณะตำบลผู้เมตตา

                  ขอเริ่มต้นที่ท่านเจ้าอาวาสวัดโพรงมะเดื่อและเจ้าคณะตำบลโพรงมะเดื่อ(พระมหาประสิทธิชัย  ปณฺฑิโต) หลังสิ้นเสียงโทรศัพท์จากผู้เขียน  เป้าหมายการตักบาตรเทโวบางประการที่เป็นดังเดิมก็เปลี่ยนไป  คือ เดิมที่ข้าวของที่ได้มาจะเก็บไว้ถวายพระสงฆ์และเตรียมไว้สำหรับงานเทกระจาดประจำปี แต่ตอนนี้มีผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม ท่านเลยเห็นชอบกับการบูรณาการงานตักบาตรเป็นงานบุญช่วยเหลือผู้ประสบภัย  ไม่น่าเชื่อข้าวของจำนวนมหาศาลจากคลื่นมหาชนชาวโพรงมะเดื่อ  จัดการบรรจุถุงยังชีพเสร็จสิ้นแล้วนับได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ชุด  เต็มคันรถสิบล้อพอดี  แรงศรัทธาบวกด้วยความเมตตาของท่านเจ้าอาวาสวัดโพรงมะเดื่อ ทำให้วันที่ ๑๔ ต.ค. ณ วัดชูจิตรธรรมาราม เต็มไปด้วยรอยยิ้มอย่างมีความหมายและความหวัง ของผู้ประสบภัยที่มาพักพิง ณ ที่นั่นจำนวนนับพันชีวิตที่ได้รับของจากคณะสงฆ์วัดโพรงมะเดื่อร่วมกับชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม 

                        แรงกายที่ท่านทุ่มเท  แรงใจที่ท่านเปี่ยมเมตตา  แรงศรัทธาที่อุบาสกอุบาสิกามีต่อท่าน  และแรงความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นมีความสุข รวมกันรินเป็นน้ำใจที่เย็นฉ่ำสู่หมู่ชน วันที่ ๑๓-๑๔ ต.ค.เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น  ท่านพระอาจารย์ยังได้นำคณะญาติโยมปฏิบัติกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกหลายครั้ง  ทั้งในจังหวัดปทุมธานี ลพบุรีและนครปฐม ลุยน้ำ ตากแดด หนทางลำบากแค่ไหนท่านก็บุกฝ่า นำพาคณะสู่ที่หมายอย่างปลอดภัย เป็นต้นแบบของผู้นำจิตใจที่ควรยกย่อง  แต่ที่ต้องขอบพระคุณอย่างสูงในนามมหาวิทยาลัยฯ คือ การอุปถัมภ์เสื่อหมอนและผ้าห่มจำนวนมากให้แก่ศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อรองรับผู้ประสบภัยที่มาพักพิงและการอนุเคราะห์รถสองแถวของวัดโดยมีคุณลุงเล็ก(อุบาสกคนใกล้ชิด) ทำหน้าที่เป็นสารถีให้ชาวราชภัฏฯ ได้ขนข้าวของไปมอบให้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ นับ ๑๐ ครั้ง .... 

 

                  น้ำใจพระวิปัสสนาจารย์ผู้กรุณา

                        พระคุณเจ้ารูปต่อมา คือ หลวงพ่อผู้เป็นที่เคารพอย่างสูงของผู้เขียนและครอบครัว  ท่านเป็นผู้สั่งสอนและส่งเสริมแนวธรรม รวมทั้งให้พร ให้โอกาส ให้กำลังใจในการทำความดีแก่ผู้เขียนเสมอมา นั่นก็คือ หลวงพ่อพระครูปลัดวีระนนท์  วีระนนฺโท  เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช  ปทุมธานี  พระวิปัสสนาจารย์ผู้ชำนาญกรรมฐานหลากรูปแบบ  หลวงพ่อเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่เตือนญาติโยมอยู่เสมอว่า

 

“ปีนี้น้ำจะท่วมหนัก ให้ระวังและเตรียมรับมือ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ” 

 

คำเตือนของท่านหากย้อนไปเมื่อช่วงมีนา-เมษา ประมาณต้นปีเดียวกัน หลายคนคงเฉยๆ และมีบ้างที่อาจเฉยเมย แต่พอเอาเทปเก่าที่ท่านเทศน์มาฟังตอนนี้ “ชัดเจน” สิ่งที่ท่านบอกไว้ก่อนนั้น คือ วันนี้ที่เราเจอกัน 

 

และที่สำคัญท่านบอกว่าครั้งนี้เป็นเพียงเบิกทาง ครั้งหน้า หมายถึงปีหน้า นั่นของจริง “น้ำจะท่วมหนัก จะสูญเสียชีวิตเพราะน้ำท่วมกันอีกมาก และหนักกว่านี้”  หลวงพ่อไม่ใช่นักพยากรณ์โหราศาสตร์ และท่านใช้ความสามารถพิเศษทางฌานสมาธิ  เป็นที่เลื่องลือมาหลายครั้ง 


น้ำใจของท่านที่มีต่อศิษย์ คือ เตือนให้ไม่ประมาทและเร่งหาโอกาสทำความดี บุญคุณความดีนั่นแหล่ะจะคอยคุ้มกันผู้ประพฤติดี (พุทธภาษิตมีว่า “ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ : ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” )


                        วันหนึ่ง  ณ  ศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยฯ ประมาณสองสัปดาห์หลังการเปิดศูนย์ฯหลวงพ่อและน้องบอม(ลูกศิษย์คนใกล้ชิด) ได้มาเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยโดยมีท่านรองเกดและผู้เขียนคอยต้อนรับ หลวงพ่อได้มีโอกาสให้กำลังใจผู้พักพิงและได้ให้ธรรมะผ่านสื่อทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) เป็นข้อคิดสะกิดใจที่คมคำและมีคุณค่า โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำของฝ่ายบ้านเมืองที่ยังมีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกในท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชนอย่างไม่น่าจะเป็น และท่านยังได้เน้นถึงการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ และในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ว่าทำไมไม่ศึกษาและปฏิบัติตามกัน ที่สำคัญวันนั้นท่านได้เตือนให้คนไทยมีศีลมีธรรม ไม่ทำลายธรรมชาติและให้สามัคคีกันเพื่อช่วยกันป้องกันอนาคตของประเทศชาติให้ปราศจากภัยพิบัติ 

                        ถัดจากนั้นอีกไม่นาน หลวงพ่อได้แวะเวียนมาเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้เขียนได้ปรึกษากับท่านรองเกดว่า สิ่งที่หลวงพ่อพูดวันก่อนนั้นควรได้รับการเผยแพร่อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ปัจจุบัน จนเป็นที่มาของการประสานงานทาง WBTV ให้มาบันทึกเทปรายการพิเศษร้อยน้ำใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมและรายการธรรมะจากข่าวที่มหาวิทยาลัยฯ สาระดีๆ จากธรรมะที่ท่านสอนมีอีกเช่นเคย  (ผู้สนใจสามารถติดตามชมย้อนหลังได้ทาง  www.youtube.com  ธรรมะจากข่าว ๑๔.๑๑.๕๔)

                        น้ำใจของหลวงพ่อยังไม่จบแค่นั้น หลังจากนั้นอีก ๒ วัน ท่านก็มาเยี่ยมเยียนศูนย์พักพิงอีกครั้ง  โดยวันนี้ทางพระมหาสมมาศ วชิรปญฺโญ และคณะพระอาจารย์จากมหาจุฬาฯ ได้จัดการประชุมหลังสวดมนต์เย็นพอดี  จังหวะนั้นหลวงพ่อพระครูปลัดวีระนนท์ ก็ได้มาให้ธรรมะเป็นกำลังใจแก่ผู้พักพิง

 

“น้ำมาไม่นานมันก็ลด ให้อยู่อย่างมีความหวัง อยู่อย่างไม่ประมาทและให้อภัยกัน” 


จบการให้ธรรมะ หลวงพ่อก็ได้เมตตาโปรดเด็กๆ ที่พ่อแม่นำมากราบ ท่านได้อธิษฐานจิตให้พรไปนับสิบคน สร้างความอิ่มเอมใจให้แก่ผู้พักพิงถ้วนหน้า

                        นอกจากภารกิจการเดินทางหลบน้ำ หลีกเส้นทางจากปทุมธานีมาสู่นครปฐมนับหลายชั่วโมงด้วยเมตตาที่มีต่อผู้พักพิงและความปรารถนาดีต่อศิษย์ คือ ผู้เขียนและท่านรองเกดผู้มีศรัทธาในท่านแล้ว ก่อนหน้านี้หลวงพ่อก็ยังได้นำคณะศิษย์นับได้เกือบ ๓๐ คันรถ ประมาณ ๖๐ ชีวิต พร้อมข้าวของบรรจุถุงยังชีพนับพันชุด ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ภาพวันนั้นเป็นภาพแห่งความทรงจำอีกภาพหนึ่งที่ผู้เขียน ซึ่งได้เดินทางร่วมคณะหลวงพ่อไปกับท่านรองเกด  ดร.มนตรี  วิวาห์สุข  ส้ม(สิริวรรณ ริ้วสุขสันต์) เลขาฯท่านรอง และสารถีมหาวิทยาลัยฯผู้มีน้ำใจงาม คือ คุณพี่อินถา  ๕  ชีวิตในนามชาวราชภัฏฯ ร่วมคณะไปกับคณะศิษย์หลวงพ่อด้วย ออกจากวัดป่าเจริญราช ๖ โมงเช้า ถึงลพบุรีประมาณบ่ายโมง กว่าจะไปต่อถึง อ.ท่าวุ้ง ที่หมายเป็นเวลา  ๔ โมงเย็นเศษ หลวงพ่อนำคณะไปถึงจุดที่รถไปไม่ได้ ต้องใช้เรือล่องไป  ผู้เขียนได้รับโอกาสเป็นหนึ่งใน ๑๐ กว่าชีวิตที่ลงเรือไปพร้อมกับหลวงพ่อเพื่อนำของไปให้แก่ผู้ประสบภัย ณ วัดเขาสมอคอน นั่งเรือกันไป ผ่านน่านน้ำเหนือท้องทุ่ง ราวกะข้ามผ่านห้วงทะเลลึกนานนับชั่วโมงเศษ  จนถึงวัดที่หมาย  รอบๆ วัด เห็นภาพน้ำท่วมมิดหลังคาบ้านชั้นเดียวน่าอนาถใจ สงสารชาวบ้านที่ต้องอพยพกันไปอยู่วัดซึ่งตั้งอยู่บนเขา  มอบของเสร็จภารกิจจึงกลับมาสู่จุดเดิม  ศิษยานุศิษย์ต่างรอด้วยใจจดจ่อ เพราะล่วงกาลผ่านไปถึง ๖ โมงครึ่ง มืดค่ำเป็นห่วงหลวงพ่อกันเป็นการใหญ่  แต่แล้วภารกิจครั้งนี้ก็ลุล่วงไป กว่าจะกลับถึงบ้านนครปฐมก็ตีสามพอดี…ด้วยเมตตาของหลวงพ่อจึงเป็นบ่อเกิดบุญให้แก่ศิษยานุศิษย์จำนวนมาก ด้วยน้ำใจของหลวงพ่อผู้ประสบภัยจึงได้กำลังใจให้สู้ชีวิตต่ออย่างมีความหมายและความหวัง ...นี่คืออีกหนึ่งเนื้อนาบุญที่เป็นเบ้าหลอมรวมอีกนับร้อยนับพันดวงใจให้ไหลหลั่งธารน้ำใจเพื่อผู้ประสบภัยครานี้

 

                        น้ำใจพระนักศึกษาผู้อาสาเพื่อสังคม

                        สุดท้ายที่ขอเล่าขานต่ออีกรูปหนึ่ง ซึ่งท่านได้นำทีมพระนิสิตจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รวมจำนวน ๖ รูปด้วยกัน พกประสบการณ์จากการปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาและการจัดการศูนย์พักพิง ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาเต็มย่าม สู่ศูนย์พักพิงมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม  นั่นก็คือ  พระมหาสมมาศ ปญฺญาวชิโร  พระนิสิตสาขาพุทธจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ฯ (มจร.) ผู้เสียสละนำคณะมาพำนักอยู่ศูนย์พักพิงแรมเดือน บทบาทหลักของท่านที่ทางมหาวิทยาลัย โดยผู้เขียนเป็นผู้ประสานผ่านท่านพระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส  ผู้ช่วยอธิการบดี มจร. และพระมหาวิชาญ สุวิชาโน หัวหน้าฝ่ายบริการฝึกอบรม มจร. คือ การปฏิบัติงานด้านการเยียวยาและสร้างเสริมกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย

                        วันแรกที่ท่านมา ท่านมา ๒ รูป แต่อีกไม่กี่วันทีมงานของท่านก็ตามมา  กิจกรรมที่ท่านได้ทำที่ศูนย์พักพิงที่สำคัญ คือ การนำทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้า-เย็น การให้ธรรมะเป็นข้อคิดและกำลังใจ  การพูดคุยและนำกลุ่มผู้สูงอายุที่พักพิงแยกส่วนกันอยู่จากผู้พักพิงกลุ่มใหญ่ประมาณ ๔๐ คน สวดมนต์และเจริญจิตภาวนา  การให้ธรรมะสำหรับผู้ป่วยและญาติในโรงพยาบาลสนามของศูนย์พักพิงซึ่งมีผู้ป่วยอยู่ประมาณ ๑๕ เตียง  และการจัดกิจกรรมธรรมะส่งนอนซึ่งถอดแบบมาจาก มจร.วังน้อย

                        ภารกิจของท่านมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆปรับไปกับการจัดการดูแลของฝ่ายมหาวิทยาลัย  ดูแล้วเริ่มต้นอาจจะมีความยากลำบากอยู่บ้างเนื่องจากที่นี่(มหาวิทยาลัยฯ) ไม่ใช่วัดและไม่ใช่ศูนย์พักพิงแบบ มจร.วังน้อย ที่พระสงฆ์บริหารแบบเต็มที่ มีการจัดทำ มหาจุฬาฯโมเดล เป็นที่ปรากฎทางสื่ออย่างเป็นระบบ  มีการแบ่งหมู่บ้าน  ตำบล  มีเจ้าคณะตำบลดูแลหมู่บ้านควบคู่กับกำนัน มีกิจกรรมทางธรรมเต็มที่และต่อเนื่อง  แต่ที่ศูนย์พักพิงที่ท่านมาพำนักอยู่นั้น ถูกจัดการมาก่อนที่ท่านจะมา มีการจัดตั้งหมู่บ้านไว้แล้ว ๒๑ หมู่  มีหัวหน้าหมู่บ้านครบถ้วน ที่สำคัญ ความรู้สึกของชาวบ้านกับพระนั้น คนละแบบกับที่ มจร. แรกๆ อาจจะมีบางกลุ่มที่รู้สึกต่อต้าน เมื่อท่านจะดำเนินกิจกรรมเชิงรุกถึงพื้นที่(ที่นอน) ด้วยการจัดกิจกรรมธรรมะส่งนอน แต่แล้วท่านก็ได้ปรับท่าที  ผ่อนคลายความตึงเครียด หันมาสนใจผู้ที่ต้องการโดยไม่บีบบังคับ โดยเฉพาะกลุ่มสวดมนต์และผู้สูงอายุ  เพื่อให้เป้าหมายสำคัญ คือ การเยียวยาและให้กำลังใจ รวมทั้งให้สติ ให้ธรรมะแก่ผู้ประสบภัยยังคงอยู่ต่อไป จนถึงเวลาอันควร 

                        วันสำคัญวันหนึ่ง ๑๔ พ.ย. เป็นวันที่ท่านรองเกดมอบหมายให้ผู้เขียนนิมนต์ท่านร่วมโต๊ะเสวนาในการเสวนาจัดการความรู้โดยภาคีเครือข่ายของมหาวิทยาลัยฯและไทยทีวี วันนั้นท่านได้เล่าถึงเหตุการณ์ ณ วังน้อยให้ผู้ร่วมเสวนาฟังอย่างน่าสนใจและน่าประทับใจ  ท่านได้ถอดบทเรียนที่สำคัญออกมาสู่ที่ประชุม คือ “ยามที่คนเรามีทุกข์จากการสูญเสีย ต่างก็ตกอยู่ในห้วงความหวังและความกังวลใจ  และเมื่อมีคนเข้ามาหยิบยื่นสิ่งต่างๆ ที่เรียกว่าความช่วยเหลือให้ เขาก็รู้สึกเร่งรีบที่จะรับการช่วยเหลืออย่างไม่รีรอ มีข้าวของก็รีบรับรีบเก็บไว้  เพราะต่างคนต่างไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้จะมีแบบนี้อีกหรือไม่? คนกว่าครึ่งพัน รู้สึกแบบเดียวกันในวันแรกๆ แต่พอหลายวันเข้า ความจำเจของการช่วยเหลือทางวัตถุ มันถึงจุดอิ่มตัว เขาเริ่มรู้ตัวแล้วว่า สิ่งที่เขาต้องการที่แท้จริง ไม่ใช่วัตถุ หากแต่เป็นความสงบสุข ความอบอุ่น ความเข้าใจ ยอมรับกับความจริงและสติตื่นรู้ที่จะอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นเรื่องทางจิตใจต่างหาก นับจากนั้นสังเกตได้ชัดว่า เขาเหล่านั้นมีท่าทีความเห็นแก่ตัวลดลง  ความอยากลดลง มีแต่การให้และการเสียสละ รวมทั้งความตั้งใจที่จะทำความดีเพื่อผู้อื่นมากขึ้น” 

                        จากบทเรียนที่ท่านถอดมาเล่าวันนี้ ถือเป็นบทธรรมอีกบทหนึ่งที่สะท้อนความจริงแท้ของมนุษย์ในเรื่องความอยากกับความจริง  บทสรุป คือ อยากไปแค่ไหนก็หนีทุกข์ไม่พ้น  จะพ้นทุกข์จะพ้นได้ก็ต่อเมื่อจิตใจถูกเติมเต็มไว้ด้วยความเข้าใจ “ความจริง” และการมุ่งมั่นทำ “ความดี”  เท่าที่โอกาสจะมี

                        พระมหาสมมาศ  ปญฺญาวชิโร พร้อมคณะได้ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์พักพิงแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมมาจนถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ท่านทั้งนั้นก็ได้อำลาญาติโยมไปปฏิบัติศาสนกิจช่วยเหลือเยียวยาประชาชนต่อที่วัดสามพราน นครปฐม วันนั้นท่านรองเกด  อ.ดร.มนตรี และผู้เขียนก็ได้มีโอกาสส่งท่านด้วยการถวายภัตตาหารเพลร่วมกัน ต่อจากนั้น พระมหาศุภชัย (พระอาสาอีกรูปหนึ่งซึ่งเป็นทีมงานดูแลครัวส่งภายนอกร่วมกับพระอธิการทรงชัย  ตปสีโล  เจ้าอาวาสวัดเกาะลันตา  จังหวัดกระบี่มาเป็นเวลาแรมเดือนเช่นกัน) ก็รับหน้าที่นำญาติโยมสวดมนต์เจริญจิตภาวนาต่อ โดยมีท่านรองเกดและอ.ดร.มนตรี เป็นโยมอุปถัมภ์คอยสนับสนุนศาสนกิจอันน่าอนุโมทนาของท่านจนถึงวันปิดศูนย์ฯ 

                        พลังแห่งเนื้อนาบุญในท่ามกลางมหาอุทกภัยปีนี้  ไม่ได้มีเพียงเท่านี้  พระสงฆ์จำนวนมากในนามศาสนทายาทของพระบรมศาสดาและในนามสถาบันศาสนา  ต่างพร้อมใจกันเป็นที่พึ่งทางจิตใจและนำศรัทธาสาธุชนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างน่าเลื่อมใสในเมตตาธรรมของท่าน ในส่วนที่ผู้เขียนได้มีโอกาสข้องเกี่ยวกับท่าน โดยได้ขออนุเคราะห์ถุงยังชีพบ้าง ขอนิมนต์ท่านมาเยียมเยียนผู้ประสบภัยบ้าง หรือการได้ร่วมกับท่านในการดำเนินภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยบ้าง  ก็ขอเอ่ยนามกราบนมัสการขอบพระคุณมา ณ ที่นี้  ได้แก่ 

พระเดชพระคุณพระธรรมปริยัติเวที  เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์   

พระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.)

พระครูปรีชาธรรมวิธาน รองอธิการบดี มมร. 

พระครูปราการรักษาภิบาล   เจ้าอาวาสวัดใหม่ปิ่นเกลียว 

องสรภาณอนัมพจน์ เถี่ยนบ๊าว  เจ้าอาวาสวัดธรรมปัญญารามบางม่วง 

พระครูวิสุทธินพคุณ  ประธานศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม 

พระมหารพีภัทร  วชิรปญฺโญ  เลขานุการศูนย์พระสงฆ์นักเผยแผ่ธรรมเพื่อพัฒนาสังคม

พระมหาอดุลย์  วิจิตฺโต วัดอุดมรังสี กทม.

และพระอาจารย์ชัยรัตน์  สิริปุญฺโญ   วัดกาญจนสิงหาสน์ กทม.

  อ่านรายละเอียดเนื้อหาบทความตั้งแต่เริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ

 

จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480096

 

น้ำใจของเนื้อนาบุญ : น้ำใจจาก “วัด”

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480098

 

น้ำใจของผู้บริหารองค์กร : น้ำใจจาก “มหาวิทยาลัย”

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480099

 

ปัจฉิมลิขิต : วิธีป้องกันวิกฤติอย่างยั่งยืน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480100

 

เตรียมกาย เตรียมใจ รับภัยน้ำท่วม

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480086

 


หมายเลขบันทึก: 480098เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 00:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท