Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ


ถอดบทเรียนจากน้ำท่วม เรื่องเล่าผ่านมุมธรรม “จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ” โดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว

เหตุการณ์มหาอุทกภัยปี ๕๔ คงเป็นปีแห่งความทรงจำของคนไทยไปอีกนานและคงไม่มีใครต้องการให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต แต่ก็คงยากที่จะกำหนดอนาคตให้เป็นอย่างที่เราต้องการได้  ที่สำคัญ จากคำทำนายทางโหราศาสตร์และการวิเคราะห์จากนักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อนาคตอันใกล้นับจากปีต่อไปเราจะยังคงประสบกับอุทกภัยแบบนี้หรือหนักกว่านี้ได้แน่ บทเรียนของวันวานที่ผ่านไป จึงเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับการรับมือกับอนาคตเป็นอย่างมาก(หากเป็นเช่นนั้นจริง)

                        บทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น อาจมีหลากหลายมุมให้มองมาเล่ากัน ทั้งในมุมเหตุแห่งมหาอุทกภัยที่น่าจะต้องกล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลให้เกิดมหาอุทกภัย  ทั้งมุมการป้องกันมหาอุทกภัย ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าฝ่ายบริหารบ้านเมืองยังมีเรื่องต้องปรับปรุงอีกมากมาย โดยเฉพาะความจริงจังและความจริงใจของผู้ปฏิบัติงานในการป้องกันปัญหานี้  อีกทั้งมุมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งมีหลายประเด็นให้คิดเห็น ให้ค้นหาเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี

                        ในที่นี้ ผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้รับโอกาสจากวิกฤติให้ได้แสดงออกซึ่งน้ำใจแก่เพื่อนพี่น้องไทยที่ประสบทุกข์ยาก รวมทั้งโอกาสจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม(มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น) ที่ได้มอบหมายและส่งเสริมให้มีส่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งนี้  จึงอยากจะเล่าเรื่องเป็นการถอดบทเรียนสักมุมหนึ่งซึ่งสะท้อนภาพแห่งความสวยงามและน่าอยู่ของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี  มุมที่ว่านั้น คือ “มุมธรรม”  ธรรมะในใจของคนไทย ที่ส่งผลให้เกิดธารน้ำใจไหลหลากฝ่าวิกฤติน้ำท่วมจนสร้างบรรยากาศของความสุขในท่ามกลางความทุกข์ได้อย่างดี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าน้ำท่วมครานี้ แม้มีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ “น้ำใจ” ที่ล้ำค่าและจะยังคงตราตรึงไปนานนับนาน

 

ปฐมบทแห่งธารน้ำใจสู่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

 

                  จุดเริ่มต้นของธารน้ำใจที่จะบอกเล่ากันนี้ ขอเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยราภัฏนครปฐม โดยการนำของท่านอธิการบดี (ผศ.สมเดช นิลพันธุ์) ที่ได้เรียกผู้บริหารคณะต่างๆ เข้าประชุมด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับน้ำท่วมและร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัย  วันนั้น (๘ ตุลาคม ๕๔)  ซึ่งเป็นวันที่หลายพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมาแล้วเกือบเดือน  และมีหลายพื้นที่กำลังประสบภัยอย่างหนัก ต้องหอบข้าวของและชีวิตไปอยู่พักพิงตามศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอำเภอวังน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ห้องประชุมเล็กๆ เริ่มต้นเสียงเตือนจากท่านอธิการว่า  เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าน้ำจะมาถึงนครปฐมมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้มวลน้ำมหาศาลจากตอนเหนือกำลังไหลบ่าลงมา  เราไม่ควรอยู่อย่างประมาท ต้องยกของขึ้นที่สูงทุกพื้นที่ ต้องบอกกล่าวชาวมหาวิทยาลัยฯให้เตรียมรับมือกับน้ำท่วม  และที่สำคัญในขณะนี้ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อแสดงน้ำใจต่อกัน

                        เมื่อผ่านเสียงเตือนจากท่านอธิการแล้ว  เสียงเสนอแนวทางจากท่านผู้บริหารผู้ร่วมประชุมก็ตามมา  แม้จะหลากหลายแนวทางเพราะมากจากต่างคนต่างคิด แต่ล้วนเป็นแนวทางที่ดีเพราะออกมาจากจิตปรารถนาดีเพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ (ภาษาพระเรียกว่า กรุณา) ส่งผลให้เกิดแนวทางหนึ่งขึ้น คือ การบูรณาการวัฒนธรรม ชุมชนท้องถิ่นกับภาระกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าด้วยกัน เป็นที่มาของการตักบาตรเทโวช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นเทศกาลประเพณีทางพระพุทธศาสนาประจำปีและจะเกิดขึ้นหลังวันประชุมอีก ๕ วัน 

                        วัดและชุมชนเป้าหมายที่ถูกเสนอในที่ประชุม คือ วัดใหม่ปิ่นเกลียว ในฐานะวัดที่ผูกพันใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยทั้งในเชิงพื้นที่ เพราะอยู่หน้ามหาวิทยาลัย และในเชิงความสัมพันธ์เพราะเป็นวัดที่มีคุณูปการต่อมหาวิทยาลัยมายาวนานและมหาวิทยาลัยก็ได้สนับสนุนวัดมายาวนานเช่นกัน อีกวัดหนึ่งซึ่งผูกพันกันไม่นาน แต่อยู่ในแผนงานนครปฐมโมเดลของมหาวิทยาลัยและโครงการบริการวิชาการที่ดำเนินร่วมกันมาประมาณครึ่งปี  ในนามโครงการ “โพรงมะเดื่อสุขสันต์ วิถีพุทธ วิถีไทย”  วัดที่ว่านั้นก็คือ วัดโพรงมะเดื่อ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักคุ้นเคยกับท่านเจ้าอาวาส (พระมหาประสิทธิชัย  ปณฺฑิโต) จากภาระกิจบริการวิชาการดังกล่าว  ทั้งสองวัดเป้าหมายเชิงเครือข่ายที่มหาวิทยาลัยฯ ได้มอบหมายให้รองเกด(ผศ.ดร.เกศินี  ประทุมสุวรรณ) รองอธิการบดี และผู้เขียนร่วมกันประสานงาน เพื่อให้วันตักบาตรเทโวที่จะมาถึง เป็นวันแห่ง “น้ำใจ” เพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นครั้งแรกในนามมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมร่วมกับท้องถิ่น     

                        จากวันประชุมนั้น ถัดมาอีกวันเดียว (๙ ต.ค.๕๔) ท่านรองเกดไม่รอช้า มีบันทึกภายในถึงทุกคณะเพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย  โดยการเชิญชวนร่วมทำบุญตักบาตรเทโวในวันที่ ๑๓ ต.ค.และเชิญชวนบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นทางการ ทั้งได้อ้างอิงถึงหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาที่ขอความร่วมมือสถาบันอุดมศึกษาในการช่วยเหลือผู้ประสยภัยในพื้นที่ท้องถิ่นด้วย  โดยที่ท่านรองเกดเองก็ได้นำทีมงานจัดหา จัดบรรจุเครื่องบริโภค อาทิ  น้ำพริก  หมูฝอย และอื่นๆ นำร่องเพื่อเตรียมนำไปบรรจุถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย งานนี้ได้ข้าวของเตรียมพร้อมนับ ๑,๐๐๐ ชุด  ติดสลาก “ราชภัฏนครปฐมรวมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” สีชมพูสวยงามทีเดียว    

                        อีกมุมหนึ่ง ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ท่านคณบดี (ผศ.ดร.อุษา น้อยทิม) รับเรื่องจากมหาวิทยาลัยฯแล้ว ได้มอบหมายงานนี้ให้ผู้เขียนดำเนินการทันทีและวางแผนเชิญชวนคณาจารย์ในคณะร่วมปฏิบัติภาระกิจนี้ในวันประชุมคณาจารย์ (๑๐ ต.ค.๕๔) ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเชิญชวนคณาจารย์ร่วมกันบริจาคตามศรัทธาและขอความร่วมมือลงนามเป็นกรรมการดำเนินงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยจิตอาสา รวมทั้งเชิญชวนร่วมทำบุญตักบาตรและคัดแยก บรรจุถุงยังชีพ  ณ วัดโพรงมะเดื่อด้วย ผลเป็นที่น่าชื่นใจมาก คณาจารย์กว่า ๒๐ คน พร้อมใจกันแสดงความตั้งใจที่จะอาสาช่วยภาระกิจนี้  วันที่ ๑๓ ต.ค.เป็นวันที่นัดหมายร่วมบุญใหญ่กัน ปฐมบทแห่งธารน้ำใจของชาวราภัฏนครปฐมจึงเกิดขึ้น

                        การจะปฏิบัติงานครั้งนี้ให้ลุล่วงนั้น คนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว คงยากที่จะสามารถทำให้งานสำเร็จได้  ปัจจัยบริบทต่างๆ ที่มาสนับสนุนเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะปัจจัยบุคคลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องประสานความคิด ความเห็น ความเข้าใจให้ลงรอยกัน (ดังที่ภาษาพระเรียกว่า “ทิฏฐิสามัญญตา” ในหลักสาราณียธรรม”) น้ำใจจึงเกิดขึ้นได้และมีพลังสร้างสรรค์สู่ความสำเร็จ

                        ผู้เขียนได้เห็นภาพของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายที่ล้วนไม่นิ่งดูดายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  ทำให้ซาบซึ้งในน้ำใจของบุคคลเหล่านั้น  และเมื่อมองผ่านมุมธรรมแล้ว ธรรมะในใจที่ถูกสะท้อนออกมาเป็นน้ำใจนั้น ถือเป็นบทเรียนที่อยากถอดมาเล่า เพื่อเป็นบรรยากาศที่สร้างสรรค์หลังผ่านวิกฤติของปีนี้ไป โดยจะขอเล่าโดยสังเขปตามลำดับประสบการณ์ของผู้เขียนเองก็แล้วกัน   

 

น้ำใจของคนในครอบครัว: น้ำใจจาก “บ้าน”


                        ก่อนจะออกไปทำงานอาสาเพื่อสังคม แน่นอนทุกคนต้องมีคนข้างหลัง หมายถึง พ่อแม่บ้าง พี่น้องบ้าง ลูกๆ สามีภรรยาบ้าง  หรือ อาจจะเรียกว่า “คนในครอบครัว” ที่เป็นประดุจทัพหลังคอยหนุนให้ทัพหน้าออกรบ หากทัพหลังอ่อนแอไม่ว่าด้วยปัจจัยใด คงยากที่ทัพหน้าจะมีพลังในการต่อสู้  เช่นเดียวกัน  งานอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ เป็นงานที่ทำด้วยใจและต้องทุ่มเทต่อเนื่อง  เวลา  เงิน  สุขภาพ  ความสุขส่วนตน  เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสละตามกำลังที่มี  แม้หน้าที่ประจำบางอย่างก็ต้องขอผ่อนไปก่อน  คนในครอบครัวทุกคนจำต้องเข้าใจและมีความรู้สึกเดียวกัน  ผู้ปฏิบัติงานจึงจะมีกำลังใจและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                        หันมามองครอบครัวของผู้เขียน (มิได้มุ่งจะชื่นชมครอบครัวตัวเอง แต่กำลังจะเล่าสิ่งที่เป็นจริงเพื่อแบ่งปันความดีงามที่เกิดขึ้นแก่มวลมิตรผู้อ่านทุกท่าน)  น้องพริศ (ลูกชายอายุ ๑๑ เดือน)  น้องพริม (ลูกสาวอายุ ๔ ขวบ) และแม่แพร (ภรรยาที่แสนดี อายุขอไม่บอกก็แล้วกัน) ๓ ชีวิต ที่อุทิศพ่อต้น (ผู้เขียน) ให้ทำงานเพื่อสังคมอย่างน่าอนุโมทนา (บางวันต้องกลับบ้านดึก บางคราวที่ควรอยู่บ้านในวันหยุดก็ไม่ได้อยู่  ปล่อยให้แม่แพรอดทนดูแลลูกทั้ง ๒ ที่บ้าน โดยอาศัยเทคโนโลยีสื่อสาร คือ โทรศัพท์มือถือโทรถามไถ่เหตุการณ์ถึงกันเป็นระยะๆ ด้วยความเป็นห่วง)

                        ก่อนทำงานนี้ ได้คุยกับแม่แพรว่าช่วงนี้เราคงนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เป็นโอกาสบุญที่จะได้บำเพ็ญกัน  แต่แน่นอน  แพรต้องเหนื่อยหน่อยที่จะต้องอดทนดูลูกน้อยทั้งสอง  บ้านเช่าหลังแคบๆ แทบไม่มีที่ให้ลูกวิ่งเล่น  ห่างไกลร้านค้า อาจไม่สะดวกนักในการใช้ชีวิตประจำวัน  บางวันน้ำประปาก็ไม่ไหล  ดีหน่อยที่ยังพอไว้ใจเพื่อนบ้านข้างๆ ได้ ว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ดี  ยามหัวหน้าครอบครัวต้องออกจากบ้านไปนานๆ หรือค่อนคืน ก็คงแต่มีเสียงภาวนาให้ทุกคนปลอดภัยด้วยบุญกุศลที่ทำและตั้งใจจะทำ  เมื่อตกลงว่า เราต้องทำหน้าที่เพื่อสังคมกันในนามสถาบันที่เราสังกัดอยู่  แพรก็ยินดีอนุโมทนาด้วย  แถมยังบอกว่าอะไรที่ช่วยได้ก็จะช่วยอีกแรง  นับเป็นน้ำใจที่มีค่า ส่งผลให้พ่อมหาอย่างผู้เขียน  มีกำลังใจในการปฏิบัติงานครั้งนี้มากล้น

                        วันที่ ๑๓ ต.ค. ๕๔ วันตักบาตรเทโวมาถึงแม่แพรรีบจัดแจงให้ลูกพริมได้มีส่วนร่วมงานของพ่อโดยการแต่งตัวเป็นนางฟ้าน้อย ร่วมคณะกับพี่ๆ นักศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์แห่งราชภัฏนครปฐม เพื่อนำขบวนแห่พระในงานตักบาตรเทโวที่วัดโพรงมะเดื่อ ออกจากบ้านกันแต่เช้า เข้าแถวหน้าอุโบสถตามระเบียบ บรรยากาศเพียบไปด้วยผู้คน มากล้นไปด้วยศรัทธา  อีกมุมหนึ่งนั้น คือ เหล่าคณาจารย์และนักศึกษาชาวราชภัฏนครปฐมนับ ๑๐๐ ได้มาร่วมแรงร่วมใจทำบุญตักบาตรและช่วยถ่ายของบิณฑบาต เพื่อนำไปคัดแยกบรรจุถุงยังชีพในเวลาถัดมา

                        เมื่อวันรุ่งขึ้นมาถึง แม่แพรชวนคุณแม่ยายพร้อมน้องพริมให้ออกติดตามพ่อต้นไปอำเภอวังน้อย ตามภาระกิจที่ตั้งใจกันไว้  พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษา นับ ๕๐ ชีวิต  เดินทางด้วยรถมินิบัสมหาวิทยาลัยฯ  รถตู้ตำรวจโพรงมะเดื่อ รถนำขบวนของสถานีตำรวจโพรงมะเดื่อ  รถสองแถวบรรทุกของวัดโพรงมะเดื่อ และรถสิบล้อบรรทุกถุงยังชีพเต็มคันนับ ๑,๐๐๐ ชุด  เป็นสัญญาณของการบูรณาการงานครอบครัวกับงานสังคมเข้าด้วยกันอย่างท้าทาย  เพราะการเดินทางครั้งนี้  ไม่ได้สนุกสนานหรือสะดวกสบาย เต็มไปด้วยความเสี่ยงและสิ่งตื่นเต้นทุกชั่วโมง  นับตั้งแต่การเดินทางเลี่ยงน้ำท่วม การขึ้นรถผิดคันของคุณแม่ยาย น้องพริม มีมี่(นักศึกษาเอกการพัฒนาชุมชน)และเพื่อนซึ่งติดรถผู้มีจิตกุศลตอนที่รถขบวนติดทางปิดน้ำท่วม แต่ก็นำไปส่งผิดที่ คือ ศาลากลางอยุธยา  การวิ่งรถสวนทางมอเตอร์เวย์โดยรถนำของทหาร และการไปถึงที่หมายเกือบ ๓ ทุ่ม  กว่าจะขนของเสร็จ ๔ ทุ่มล่วงแล้วจึงได้เดินทางกลับ จนมาถึงคลองสี่หน้าโลตัส คนที่พลัดหลงจากกัน(ก็ได้กลับมาขึ้นรถคันเดียวกัน ด้วยน้ำใจของทหารหาญที่มาส่งไว้ ณ โลตัส)  ลัดไปถึงบ้านเกือบตีสี่ ทุกคนปลอดภัย ที่สำคัญผู้เขียนได้รับการอภัยโทษจากแม่แพร จากเหตุการณ์ลูกพริมและแม่ยายหลงทางอย่างเหลือเชื่อ เพราะเอาแต่สนใจช่วยเหลือคนอื่น จนลืมสนใจลูกและแม่ยาย (อย่างไม่น่าผ่านการอภัยไปอย่างง่ายดาย) แต่ด้วยน้ำใจและความเข้าใจในบทบาทของคนเป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งผู้นำทีมช่วยเหลือ ที่อาจพลาดพลั้งกันได้  แม่แพรจึงไม่ถือสาหาความมากนัก  สาธุ....

                        แม่แพร ลูกพริม ลูกพริศ  ๓ ชีวิตที่เป็นกำลังใจในการทำหน้าที่ ยังมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่อง แม้บางครั้งถึงต้องนั่งทบทวนกันว่า “พอแล้วยัง” เพราะเจอกับเหตุการณ์ที่ต้องต่อสู้มากมาย จนรู้สึกล้า เนื่องจากทำงานดึกดื่นก็หลายวัน ข้าวปลาก็ไม่ค่อยได้ทาน บ้านก็กลับช้า โดยเฉพาะความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันที่แม่แพรจะต้องเจอในขณะที่พ่อต้นไปทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย  แต่แล้วก็ผ่านคำว่า “พอ” มาได้ด้วยการ “ผ่อน” ในบางโอกาสที่ต้องดูแลกัน เช่นวันที่ลูกพริศไม่ค่อยสบาย ก็ต้องเสียสละภาระกิจมาดูแลครอบครัว บางภาระกิจที่บูรณาการกันได้ก็ยกทีมครอบครัวไปด้วยกัน ร่วมกันทำงานเพื่อสังคม

                        ภาระกิจหนึ่งที่ได้ทำด้วยกัน คือ การสร้างเสริมกำลังใจผู้พักพิงในศูนย์พักพิงของมหาวิทยาลัยฯ ที่เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ ต.ค. และมีผู้เข้าพักพิงมากขึ้นเรื่อยๆ จนประมาณวันที่ ๓๐ ต.ค.ซึ่งผู้เขียนได้จัดกิจกรรมสวดมนต์เย็น เป็นการส่งเสริมกำลังใจให้ผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง  ผู้เขียนได้รับโอกาสจากท่านรองเกดและผู้บริหารให้ดำเนินการงานนี้ได้ตามศรัทธา  และงานนี้แม่แพร ลูกพริม ลูกพริศ มีส่วนร่วมด้วยแน่นอน  ต้องขอบคุณครูบาอาจารย์หลายท่าน ลูกศิษย์ลูกหาหลายคน ที่บ่อยครั้งได้ช่วยอุ้มน้องพริศ ให้แม่แพรได้สวดมนต์ด้วย  คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย พี่น้องผู้พักพิง ต่างสุขใจที่ได้สวดมนต์กันทุกเย็น ผ่านไปนับสัปดาห์จึงมีคณะพระอาจารย์จากมหาจุฬาฯ วังน้อยมาปฏิบัติงานด้านจิตใจ ท่าน อ.ดร.มนตรี วิวาห์สุข ก็ได้เข้ามารับช่วงดำเนินงานต่อกับคณะพระอาจารย์อย่างน่าอนุโมทนา

                        วันเวลาผ่านไป มีเหตุการณ์ให้ทำมากมาย.... แต่ขอเล่าลัดมาถึงวันสุดท้ายของการอยู่พักพิง ๑๑ ธ.ค. ๕๔ ช่วงเช้ามีการทำบุญ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ จำนวน ๙ รูป ในโอกาสปิดศูนย์พักพิงฯ และส่งผู้พักพิงกลับบ้าน  โอกาสมงคลดีๆ เช่นนี้  แม่แพร ลูกพริม ลูกพริศไม่พลาด รีบหลับนอนกันตั้งแต่ค่ำและตื่นกันมาแต่เช้า  อาบน้ำแต่งตัวรีบไปร่วมบุญกับทางมหาวิทยาลัยฯด้วย พ่อต้น(ในฐานะมหาเก่า) ไม่พลาดได้รับโอกาสให้เป็นมัคคนายกเช่นเคย  บรรยากาศงานบุญเช้านี้ผ่านไปด้วยดี ปิดฉากการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิงฯ ด้วยภาพอันเป็นมงคล  ขอบุญนำพาให้ทุกคนปลอดภัยและขอให้อย่าได้มีเหตุการณ์ร้ายๆ เช่นนี้เกิดขึ้นกับผืนแผ่นดินไทยอีกเลย ..

 

                        ผู้เขียนมานั่งนึกทบทวนธรรม สิ่งที่ก่อเป็นน้ำใจจากคนในครอบครัวจากวันแรกจนวันนี้นั้น ทำให้เห็นธรรมประการหนึ่งได้ชัด ดังที่เรียกว่า “ฆราวาสธรรม” หรือ “หลักของคนครองเรือน” มี ๔ ประการ ดังนี้

 

                                ๑. ความจริง  (สัจจะ) คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ของ “จริง”  การตัดสินใจช่วยเหลือผู้อื่นก็เป็นความ “จริง” ใจที่เกิดขึ้น “จริง”  การสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันภายในครอบครัวก็ล้วนอยู่บนฐานของความ “จริง” ไม่มีการบิดเบือนใดๆ  เรียกได้ว่า อยู่กับความจริง  ด้วยความจริงใจ   

                                ๒.ความข่มใจ (ทมะ) คือ การเอาชนะความรู้สึกไม่ดี  อารมณ์ไม่พอใจต่างๆ ระหว่างที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยเหตุด้วยผล ถ้อยทีถ้อยอาศัย  แม้บางครั้งมีน้อยใจบ้าง เสียใจบ้าง แต่ก็ผ่านมันไปได้ด้วยการข่มใจ

                                ๓.ความอดทน (ขันติ) คือ ทนต่อความยากลำบาก ทนต่อความตรากตรำหรือแม้แต่บางครั้งที่ต้องทนกับความเจ็บใจจากเหตุการณ์ต่างๆ เรียกว่า “สู้” ไม่ยอมแพ้บนทางของความดี

                                ๔.ความเสียสละ (จาคะ) คือ สละความสุขส่วนตัว สละของส่วนตัว สละเวลาส่วนตัว เป็นต้นเพื่อผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน

 

                        ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ถือเป็นหลักธรรมในใจที่ทำให้น้ำใจของคนในครอบครัวไหลหลากจนนำมาสู่ “ความจริงใจ  เห็นใจ  แข็งใจและมีน้ำใจ” อย่างต่อเนื่อง  วันเวลาแห่งวิกฤติที่ผ่านมาจึงเป็นโอกาสแห่งการเจริญธรรมดังว่าอย่างแท้จริง  น้ำใจของคนในครอบครัวที่เกิดขึ้นจึงเป็นพลังแห่งทัพหลังที่ส่งเสริมทัพหน้าให้ก้าวไปสู่ที่หมายได้อย่างดีทีเดียว “บ้าน” จึงเป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามสู่สังคมสืบเนื่องไป

  อ่านรายละเอียดเนื้อหาบทความตั้งแต่เริ่มต้นได้ที่นี่ค่ะ

 

จากน้ำท่วมสู่น้ำใจ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480096

 

น้ำใจของเนื้อนาบุญ : น้ำใจจาก “วัด”

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480098

 

น้ำใจของผู้บริหารองค์กร : น้ำใจจาก “มหาวิทยาลัย”

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480099

 

ปัจฉิมลิขิต : วิธีป้องกันวิกฤติอย่างยั่งยืน

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480100

 

เตรียมกาย เตรียมใจ รับภัยน้ำท่วม

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480086

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 480096เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท