ปรียาภรณ์ CD
นักศึกษา ปรียาภรณ์ preeyaporn CD ผั้วผดุง

การพัฒนาที่ไม่สอดคล้อง


การพัฒนา

การพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับชุมชน

 

          วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนของการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่มีเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่คำนึงถึงระดับความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ ภูมิสังคม หรืออัตภาพขององค์กร หรือความพร้อมของคนและระบบ ตามแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริ จึงหวังพึ่งพิงความรู้ เทคโนโลยี เงินลงทุน หรือตลาดจากภายนอกประเทศมากเกินไป โดยไม่เตรียมสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้มั่นคงและเข้มแข็ง หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อให้สามารถพร้อมรับความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยภายในและภายนอกในขณะเดียวกัน ปัญหาซึ่งทับถมอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายทุน กระจายความเจริญและผลประโยชน์จากการพัฒนา และกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มคนและในเชิงพื้นที่ รวมทั้งเกิดปัญหาทางสังคม ความย่อหย่อนทางศีลธรรม ความเสื่อมถอยของวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคมไทย ตลอดจนความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน

          ที่มาของการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องและไม่ยั่งยืน เกิดจากการใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตลอดเวลากว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ที่ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมหรือเศรษฐกิจทุนนิยมที่มุ่งพัฒนาเพื่อสร้างความมั่งคั่งและรายได้มาสู่ประเทศเป็นหลัก และใช้การเติบโตของรายได้ต่อหัวเป็นเครื่องมือวัดผลสำเร็จของการพัฒนา ด้วยความคาดหวังว่า การเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ การเพิ่มการจ้างงาน รวมทั้งประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ในที่สุดแล้วย่อมจะสามารถกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำให้ปัญหาความยากจนหมดไปได้ในที่สุด

          แนวคิดและวิธีวัดการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว จึงทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจได้รับการเอาใจใส่มากกว่าความสมดุลและความยั่งยืน ทั้งที่แท้จริงแล้วการ การเติบโตทางเศรษฐกิจ จะต้องไม่ขัดแย้งกับเสถียรภาพ ความสมดุลและความยั่งยืนของการพัฒนาในระยะยาว และควรเป็นนโยบายที่ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้น โดยมีสมมติฐานว่าระบบเศรษฐกิจมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยี  ที่สามารถใช้ประโยชน์บรรดาลปัจจัยการผลิตต่างๆ  ได้อย่างเต็มที่  ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจ  ที่จะทำให้เติบโตต่อเนื่องระยะยาวได้นั้น ต้องมีขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยีมีการพัฒนาคุณภาพคนในเชิงสติปัญญาความรอบรู้   มีความพอเพียงของสินค้าและบริการสำหรับการดำรงชีวิตของประชาชน และมีความเป็นธรรมในการแบ่งสรรมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการผลิตในระหว่างปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมตลอดทั้งความเสมอภาคในทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในชาติ ความมั่นคงและความสงบสุขในสังคม และมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้เสื่อมสลายไม่คุ้มค่า และที่สำคัญที่สุดคือ มีเอกราชและอธิปไตยของชาติซึ่งไม่อาจที่จะแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่นได้(เสถียร เหลืองอร่าม,2518:54) การพัฒนาที่ครอบคลุมความหมายทั้งหมดนี้จึงจะทำให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

                การพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระบบเสรีนิยมที่ผ่านมา แม้ดูเสมือนว่าประสบความสำเร็จจากการเติบโตขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง แต่แท้ที่จริงเป็นการเติบโตเชิงปริมาณที่ยังมีปัญหาความอ่อนแอในเชิงรากฐานของระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากยังพึ่งตนเองไม่ได้ทางเทคโนโลยี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเพียงการนำเข้ามาใช้ในการผลิตหรือเป็นการบริโภคเท่านั้น ทั้งที่เทคโนโลยีเป็นปัจจัยชี้ขาดการผลิตสินค้าและบริการที่มีความสำคัญเหนือปัจจัยอื่นๆ ในขณะที่ผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงานก็ยังมีปัญหาอยู่ในระดับต่ำ และการผลิตต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอกอื่นๆ ทั้งพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ ขณะเดียวกันการออมของประเทศมีจำกัด ทำให้ต้องกู้เงินต่างประเทศเพื่อการลงทุนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน การพึ่งพาเทคโนโลยีและเงินลงทุนจากต่างประเทศนี้ นำไปสู่การผลิตสินค้าของต่างประเทศในไทยมากกว่าสินค้าที่ไทยผลิตเอง() ตลอดจนพึ่งพิงตลาดต่างประเทศในการส่งออกสินค้าดังกล่าว จึงเป็นการนำประเทศไปสู่การพึ่งพิงต่างประเทศอย่างกว้างขวาง และสร้างความเสี่ยงสูงต่อการผันผวนของปัจจัยภายนอก

          นอกจากนี้ การระดมทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศผ่านสถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์และการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ฐานเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เติบโตอย่างรวดเร็ว สร้างความมั่งคั่งและรายได้แก่บุคคลและกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง กลายเป็น เศรษฐกิจธุรกิจ ครอบคลุมทั่วประเทศ และส่งผลให้เศรษฐกิจภาคเมืองมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากกว่าการมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจภาคชนบท ทั้งสังคมเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของเศรษฐกิจธุรกิจ ก่อให้เกิดปัญหาการจัดบริการพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว นำไปสู่ปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนในเมือง

          ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่กว่าสองในสามของประเทศอยู่ในพื้นที่ชนบท และเป็นฐานเศรษฐกิจภาคการเกษตรอยู่ในภาวะเสียสมดุลทางโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมากว่าสี่ทศวรรษหรืออีกนัยหนึ่งในเชิงเศรษฐกิจแล้วเป็นการเสียสมดุลระหว่างรายได้กับรายจ่ายของคนชนบท(วิทยากร เชียงกูล , 2523:18) เนื่องจากฐานการทำมาหากินถูกจำกัดจากทรัพยากรธรรมชาติที่เสียดุลจากการใช้อย่างสิ้นเปลืองและเสื่อมโทรมลงมาก ตลอดทั้งปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาระดับการศึกษาและผลิตภาพการผลิตต่ำ ขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ละทิ้ง ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สะสมมานาน และพึ่งพาภายนอกทางการตลาด จึงทำให้มีรายได้ต่ำและยากจน ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคของคนชนบทเริ่มเปลี่ยนเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ทำให้รายได้ไม่พอกับรายจ่าย นำไปสู่ปัญหาหนี้สินมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการเสียสมดุลทางสังคมที่คนชนบทในวัยหนุ่มสาวต้องละทิ้งภูมิลำเนาเดิมไปแสวงหางานและรายได้ในเมืองใหญ่ๆ และในต่างประเทศ ตามมาด้วยปัญหาความอ่อนแอของสังคมชนบทนานัปการ

          ปัญหาการเสียสมดุลอย่างต่อเนื่องนี้ได้ทำให้คนชนบทอยู่ในภาวะยากไร้มานานปี ซึ่งลำพังปัจเจกหรือครอบครัวก็ยากจะฟื้นฟูแก้ไขให้เกิดสมดุลและยืนอยู่บนพื้นฐานการพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง เพราะขาดความรู้ ขาดเทคโนโลยีที่พึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง และขาดทุนทรัพย์ รวมทั้งขาดประสบการณ์ในเรื่องเศรษฐกิจธุรกิจสมัยใหม่ การพลิกฟื้นให้คนในสังคมชนบทสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งมั่นคง จึงต้องอาศัยจุดแข็งของวัฒนธรรมระบบเครือญาติในการรวมกลุ่มเรียนรู้ ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลและพึ่งพาอาศัยกันในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีปัญหาเสียสมดุลดังกล่าว แต่สังคมชนบทยังคงเป็นตาข่ายนิรภัยทางสังคมที่สามารถช่วยรองรับประชาชนจากสังคมเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตให้กลับมาพึ่งพิงได้ ผลกระทบต่อคนและสังคมไทย

          การที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยเปิดกว้างสู่โลกาภิวัตน์ และเกิดการเลื่อนไหลของวัฒนธรรมอย่างไร้พรมแดนเข้าสู่สังคมไทย โดยขาดความรอบรู้ที่จะเป็นภูมิคุ้มกันในการกลั่นกรองที่ดี ได้ส่งผลกระทบต่อระบบคุณค่า ความเชื่อ พฤติกรรมการดำรงชีวิต และการปฏิสัมพันธ์ในสังคมไทยให้ปรับเปลี่ยนไปจากเดิม คนไทยมีค่านิยมและพฤติกรรมที่เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยมเพิ่มมากขึ้น ขาดจิตสำนึกสาธารณะ ให้ความสำคัญส่วนตนมากกว่าส่วนรวม การให้คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นคนและการยึดหลักธรรมในการดำรงชีวิตเริ่มเสื่อมถอยลง วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาติถูกละเลยและมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่น้อย

          ขณะที่การพัฒนาศักยภาพคนแม้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับสูงขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาในเชิงคุณภาพการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องเร่งพัฒนาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นระบบคิดแยกส่วนออกจากวิถีชีวิต โดยเอาตำราหรือวิชาเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นความรู้นอกตัว ยังไม่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาให้รู้จักชีวิตหรือรู้จักตัวเอง ซึ่งจะทำให้วางความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องมี จริยธรรม๔ และสามารถนำ ความรอบรู้ ที่เชื่อมโยงทั้งหลักวิชาและประสบการณ์ความรู้จากชีวิตจริงมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม อันจะทำให้สามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลคนอื่นได้ต่อไป

          ระบบบริหารจัดการประเทศยังปรับตัวไม่ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง แม้จะเริ่มมีการปรับปรุงกลไกภาครัฐและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงสร้างและระบบการบริหารจัดการเศรษฐกิจและสังคมยังรวมศูนย์อำนาจการบริหารอยู่ในส่วนกลาง บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมยังมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากยังไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงนโยบายและร่วมปฏิบัติตามหลักการและขั้นตอนของกระบวนการมีส่วนร่วมที่แท้จริง การเปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญยังมีขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติที่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่เอื้อต่อกระบวนการมีส่วนร่วม(จิตจำนงค์ กิติกีรติ, 2532:67)

          ดังนั้นการจัดสรรพทรัพยากรของประเทศและการออกกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือจัดสรรสิทธิและอำนาจ มุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเสรีนิยมดังกล่าว ยังขาดกฎหมายที่เกื้อหนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งมีกฎหมายที่ล้าสมัยและเปิดโอกาสการใช้ดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐมาก ทำให้สามารถแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อประกอบกับระบบความสัมพันธ์ในสังคมไทยที่ยังคงมีวัฒนธรรมอุปถัมภ์ จึงทำให้เกิดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ที่คนส่วนน้อยและบางพื้นที่ เกิดความเหลื่อมล้ำของรายได้และผลประโยชน์จากการพัฒนาระหว่างกลุ่มคนในสังคม ระหว่างภูมิภาค และระหว่างชนบทกับเมือง นำไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการของประเทศที่ไม่สมดุลและไม่เป็นธรรม และก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมเพิ่มมากขึ้น

อ้างอิง

                เอกสารการสอนชุดวิชาปัญหาการพัฒนาชนบทไทย,มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. สาขาวิชา                  รัฐศาสตร์,พิมพ์ครั้งที่ 8, 2534.

                ปัญหาการพัฒนาประเทศไทย [จุลสาร] ,วิทยากร เชียงกูล ,กรุงเทพฯ : ธนาคารกรุงเทพ, 2523.

                การพัฒนาชุมชน : การมีส่วนร่วมของประชาชนในงานพัฒนาชุมชน,                จิตจำนงค์ กิติกีรติ,กรุงเทพฯ                             :2532.

                การพัฒนาชุมชน : หลักการและวิธีการปฏิบัติ ,สัญญา สัญญาวิวัฒน์,กรุงเทพฯ ,2514.

                ความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาชุมชน ,เสถียร เหลืองอร่าม,                                     กรุงเทพฯ :2518.


หมายเลขบันทึก: 480032เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2012 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 06:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

บทความนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ การพัฒนาต้องสอดคล้องกับบริบทชุมชน เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ โดยพัฒนาจากฐานรากของชุมชน การนำตัวอย่างชุมชนมาเขียนจะช่วยให้บทความนี้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ค่ะ

จากบทความข้างต้นที่ได้อ่านมา

น่าจะมีที่มามากกว่านี้ของเรื่องระบบเศรษฐกิจ

ทีทำให้ผู้คนที่เกิดความสนใจในเรื่องของระบบเศรษฐกิจ

ระบบการบริหาร และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกัน ผู้บริหารไม่สามารถแก้ปัยหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจต่อสังคมปัจจุบันนี้ เพราะการที่สังคมจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน อาทิเช่น

เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมต่างๆที่อาจแตกต่างหรือเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการพัฒนาที่ดีก็ควรจะควบคู่กับการพัฒนาสิ่งอื่นๆที่มีอิทธิผลด้วย

ต้องมีการติดตามกันต่อไปว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

จะมีการปรับปรุงแก้ไขกับชุมชนอย่างไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท