ปลูกมันสำปะหลังในนา ทางรอดของเกษตรกร


แม้จะอายุ 5-6 เดือน แต่ขนาดหัวมัน ใหญ่เทียบเท่า มันที่ปลูกในไร่อายุ9-10 เดือน

จากสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพู  ที่ทำลายมันสำปะหลังอย่างรุนแรงในรอบ2-3 ปี ที่ผ่านมา  ทำให้เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังต้องสูญเสียรายได้อันมีอยู่น้อยนิดไป..โดยเฉพาะที่ตำบลบ้านลาน อำเภอบ้านไผ่  ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ของเราแหล่งหนึ่ง..

        เราพบกับคุณดวงดาว  วงศ์ชารี ซึ่งเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร รับผิดชอบตำบลบ้านลาน เล่าให้ฟังว่าเดี๋ยวนี้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังในนาเป็นพืชฤดูแล้งแล้วนะ เฉพาะตำบลนี้ก็ 3 พันกว่าไร่ แล้ว ทั่วจังหวัด น่าจะเป็นหมื่นไร่.. ปลูกอายุ5-6 เดือน ก็ขุดออกขายเพื่อปลูกข้าวต่อ   เกี่ยวข้าวก็ปลูกมัน..หมุนเวียนอยู่อย่างนี้.. ชาวบ้านเรียกปลูก"มันปรัง"

       เราลังเลอยู่นาน..จะส่งเสริม  เผยแพร่ ดีมั้ย..มันขัดแย้งกับวิชาการนะ..ขายมันอ่อน อายุต่ำกว่า 8 เดือน  ทำให้เปอร์เซนต์แป้งต่ำ  ขาดคุณภาพ

       อย่างไรก็ตาม  เราน่าจะไปคุยถาม  เกษตรกรดูนะ  เขาคิดอย่างไร  ทำไมจึงปลูกกันและขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

       เรานัดหมายไปดูพื้นที่กันในวันที่  16  กุมภาพันธ์  2555  ตลอด 2 ข้างทางเข้าไปในหมู่บ้าน  ผ่านไร่มันสำปะหลัง(สภาพพื้นที่ไร่) สูงขนาดหัวเข่า  ยอดออกสีเหลือง-แดง  จำนวนมาก  แสดงถึงกำลังถูกเพลี้ยไฟ ทำลาย( ถ้าอากาศแห้ง เพลี้ยไฟจะระบาดดูดกินน้ำเลี้ยง)   ไม่นานนักก็เข้าเขตหมู่บ้าน รอบหมู่บ้านมองเห็นคันนา  แต่ในนานั้นมีต้นมันสำปะหลัง ขึ้นอยู่ ความสูงพอกับต้นมันในสภาพไร่ที่ผ่านมา แต่ทุกแปลงมีใบเขียวสด  และในแปลงสะอาดไม่มีหญ้า

      กลุ่มเกษตรกร  รอเราอยู่ที่ศาลากลางบ้าน  จำนวนหนึ่งแต่ว่ามากในความรู้สึกเรา  เพราะเราคิดว่าจะมาสังเกตการณ์เท่านั้น  พวกเขากระตือรือล้น ที่จะเล่าให้เราฟังและอยากพาเราไปดูแปลงของพวกเขา..

      เราถามเขา คำแรก " คิดยังไงมาปลูกมันในนา"..  พวกเขาชี้ไปที่คุณดวงดาว..บอกว่าเกษตรตำบลแนะนำ.. เราจึงหันไปหาคุณดวงดาว..เธอเล่าว่าปี 50-51 เพลี้ยแป้งระบาดรุนแรงมากในไร่มัน รัฐต้องให้ไถทิ้ง ทำให้ขาดแคลนท่อนพันธุ์   พวกเราจึงหาทางออกหลบการปลูกในไร่  มาปลูกในนาหลังเกี่ยวข้าว  เพื่อจะได้มีต้นพันธุ์ปลูกในฤดูหน้า  ตอนแรกทดลองกันไม่กี่ราย เฉพาะเกษตกรผู้นำ  เมื่อเข้าฤดูฝน ต้องใช้นานั้นปลูกข้าว.. ก็ขุดหัวมันไปขาย  ลำต้นก็ขายเป็นพันธุ์..  พวกเขาไม่พบการระบาดทำลายของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังที่ปลูกในนาเลย.. ขณะเดียวกันหัวมันที่ขุดขึ้นมาก็มีขนาดใหญ่..แม้จะอายุ 5-6 เดือน  แต่ขนาดหัวมัน ใหญ่เทียบเท่า  มันที่ปลูกในไร่อายุ9-10 เดือน ที่เดียว  เมื่อนำไปขายที่ลานมัน ก็ไม่ได้วัดเปอร์เซนต์แป้ง  ให้ราคาตามขนาดหัว.. ได้เงินเพิ่มเข้ามา ครัวเรือนละ 2-3 หมื่น..แล้วใครจะไม่ปลูกตามหละ....

           เราถามว่า "แล้วพันธุ์หละ  เอามาจากไหน"  เขาก็บอกว่า  เอามาจากไร่ แถบนั้นปลูกพันธุ์ เกษตรศาสตร์50   ก็ใช้พันธุ์นี้แหละมาปลูกในนา   เรื่องพันธุ์นี้ คุณดวงดาวเล่าว่า  นักวิชาการจาก สวพ4. มาทดลองปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ ที่นี่เหมือนกัน ผลทดลองยังไม่สรุป...

 

            นี่คือเจ้าของตำบล คุณดวงดาว ถ่ายภาพกับผลงานเธอ

 

      เมื่อพวกเราเดินดูต้นมันในแปลง ซึ่งอายุประมาณ 2 เดือน  พบว่าเริ่มลงหัวแล้ว  ซึ่งการลงหัวนี้  มันในนาจะลงหัวเร็วกว่ามันไร่ ( มันไร่จะเริ่มลงหัวเมื่ออายุ 3 เดือน)

 

          ในสภาพนา ที่ปลูกมันต่อจากข้าว  จะทำให้มันได้รับปุ๋ยเคมี ที่ตกค้างอยู่ในดิน เพราะเกษตรกรบอกใส่ปุ๋ยข้าวใช้สูตร  16-8-8  กัน โปตัสเซียม ที่เหลือคงช่วยในการลงหัว ประกอบกับดินนายังคงมีความชื้นอยู่มาก  ทำให้ไม่ชงักการเจริญเติบโต..และที่สำคัญการไม่ถูกรบกวนจากเพลี้ยแป้งหรือเพลี้ยไฟ  ทำให้พวกเขาได้รับผลผลิตอย่างเต็มที่แม้จะต้องขุดขายทั้งที่มีอายุเพียง 5-6 เดือน ก็ตาม

      แล้วอย่างนี้.. พวกเรานักส่งเสริม..จะทำยังไงดี...ส่งเสริมหรือขัดขวาง...

 

 

หมายเลขบันทึก: 479429เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

นักส่งเสริมต้องส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดของเกษตรกร

สมควรส่งเสริมอย่างยิ่ง แต่ต้องให้หลักวิชาการชาวบ้านให้เยอะ ๆ ไม่ใช่ทำอย่างเดียว แทนที่จะได้ปลดหนี้ กลับเป็นการสร้างหนี้ และเหนื่อยเปล่า

ผมอยู่สุโขทัย ทำนาได้ปีละครัง สนใจปลูกมันหลังนา มากครับ

แล้วในปีนี้ ชาวบ้านเขาปลูกกันหรือยังครับ

ผลผลิตเป็นอย่างไร ได้ไร่ละกี่ตัน

มีภาพปัจจุบันให้ดูได้ไหมครับ

จากวันนั้น ผ่านมา 2 ปี แล้ว เราติดตามดูอยู่ตลอด ปีที่ผ่านมาไม่ดีนักเพราะฝนตกเร็ว ประมาณเดือนพฤษภาคมฝนก็ตกมากแล้ว เกษตรกรเร่งกู้หัวมันออกเพราะกลัวหัวมันเน่า มันหัวเล็กขายได้ราคาไม่ดีนัก ต่างจากปีก่อนหน้าที่ฝนมาล่า มันสามารถอยู่ในนาได้ถึงเดือนกรกฎาคม หัวโต ขายได้ราคามากกว่า...คุณสุชาติที่สนใจจะปลูกที่สุโขทัย ดิฉันไม่แน่ใจนะคะ เนื่องชุดดินมีความสำคัญ ที่ขอนแก่นชุดดินนาจะเป็นชุดดินร้อยเอ็ดซะส่วนใหญ่ มีความเหนียวน้อย ร่วนทราย ทำให้น้ำระบายได้ดีและดินไม่แน่น การเจริญของหัวมันจึงเป็นไปได้ดี ถ้าดินเหนียวจัดและละเอียดทางที่ลุ่มภาคกลางอาจจะไม่ดี ลองถามศุนย์วิจัยพืชไร่พิษณุโลกดูนะคะ เห็นออกข่าวส่งเสริมเรื่องนี้อยู่ อาจให้คำแนะนำเรื่องชุดดินที่ปลูกได้ในแถบนั้น

น่าจะช่วยเกษตรกร

คนกลางทำใจลำบาก ไห้ชาวบ้านตัดสินใจ ถ้าชาวบ้านทำ ก็ส่งเสริมเลยครับ

สนใจมากเลยคะเรืองปลูกมันสำปะหลัง แต่กำลังศึกษาอยู่คะ

อยู่สกลนครนะคะ ที่นาจะมีความเสี่ยงคือน้ำท่วมค่ะ น้ำจะลงประมาณเดือนตุลาคม ว่าจะลงมัน 6 เดือนไล่น้ำเลยจะเหมาะไหมคะ


แหล่งปลูกอื่นๆ หากสนใจจะปลูกมันสำปะหลังในนา แนะนำให้ดูชุดดินของแปลงนาตนเองนะคะ ดินควรเป็นดินร่วนทราย เหมือนที่ขอนแก่น เพราะน้ำจะไม่ขัง ถ้าดินนาเหนียวและแน่นคงเป็นอุปสรรคต่อการลงหัวของมัน ควรสอบถามเจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินในพื้นที่ก่อน

มันสำปะหลังไม่ให้ดำทำไงค้ะ ??

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท