มองต่างแง่...แลต่างมุม?... หลักสูตรพัฒนาครู กศน. ตำบล


แม้เราจะใส่อะไรให้เขาสักเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผลถ้าหากว่าเขา....ไม่ใส่ใจ....แล้วจะไปหวังให้เขาทำอะไรอีกเล่า....

       เมื่อวานนี้ อาจารย์จากสถาบัน กศน. ภาคใต้ ได้มาฟังข้อคิดเห็นของหลักสูตรการอบรมครู กศน. ในภาคใต้  ซึ่งเดิมได้มีการประชุมตั้งหลักสูตรไว้ 3 ประเด็นใหญ่คือ 1. การพัฒนาตนเอง 2.พัฒนาองค์กร (กศน.ตำบล) 3.พัฒนาสังคม ชุมชน ซึ่ง 3 ประเด็นนี้มีเนื้อหาในการอบรมคือการให้เทคนิค กระบวนการเรียนรู้ และมีผู้ที่ประสบความสำเร็จในแต่ละประเด็นมาเติมเต็ม...ซึ่งหลังจากที่ทีมจากนครศรีฯ ได้จัดทำร่างเรียบร้อยก็ได้เชิญทางสถาบัน กศน. ภาคใต้ ครู กศน. ตำบลของอำเภอเมือง และภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนแล้วประสบความสำเร็จ...มาร่วมวิภาค...

      เราตั้งความหวังไว้ว่าครู กศน. แนวใหม่จะต้องจัดการศึกษาได้ทุกเรื่อง เป็นทั้งผู้นำในการขับเึคลื่อนกิจกรรมของชุมชน และเป็นผู้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงผู้นำ แกนนำ ในพื้นที่ ชุมชน ซึ่งเบื้องต้นพวกเราได้มองถึงศักยภาพของครู กศน. ตำบลที่เข้าถึงพื้นที่.....แต่จริงๆแล้ว...ยังไม่ถึง.... 

      หลังจากที่ พี่ทวี สร้อยศิริสุนทร ได้นำเสนอร่างหลักสูตรพัฒนาครู กศน. ตำบล แล้วให้ทุกคนร่วมกันวิภาค ได้มีผู้นำเสนอว่าหลักสูตรที่จะอบรมให้กับครูน่าจะเป็นเรื่อง การจัดทำแผนการเรียนการสอน การออกข้อสอบ การวัดผล ประเมินผล ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยให้เหตุผลว่า ครู กศน. มีภาระงานที่หนักมากกับการสอนนักศึกษาหลักสูตรขั้นพื้นฐาน แต่ระดับสูงพยายามที่จะเอางานที่นอกเหนือจากงาน กศน. (งานสอนนักศึกษา)มาให้ครู กศน. ตำบล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูล กลุ่มสตรี เรื่องผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นงานในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ซึ่งมาเป็นภาระของครู กศน.ตำบล และครูบางคนไม่ได้จบครูมาโดยตรงไม่รู้เรื่องนี้ แต่เรื่องของเทคนิคการเข้าชุมชนนั้นครูที่นี่เป็นเลิศเพราะผ่านโครงการจัดการความรู้ชุมชนอินทรีย์ของจังหวัดนครศรีฯมาแล้ว...ผมอึ้ง...อยากจะลุกขึ้นพูดกรอกไมล์โครโฟนว่า...ถ้าไม่ได้เรียนไม่ได้รู้เขาไม่ให้มาเป็นครูหรอก... เพราะทุกคนมีใบประกอบวิชาชีพครูซึ่งการที่จะมีใบประกอบวิชาชีพครูได้ก็ต้องผ่านการเรียนในเรื่องดังกล่าว ทั้งกฎระเบียบต่างๆ 

      ผมนั่งมองอากัปกริยา...ของผู้เข้าร่วมทั้งหมดทุกกลุ่ม...ภาคประชาชนสนใจเรื่องที่พี่ทวี สร้อยสิริสุนทร นำเสนอและจะเป็นประโยชน์กับเขาถ้าหากพัฒนาครูกศน.ตำบลได้พัฒนาตนเอง องค์กร หน่วยงาน ซึ่งจะเข้าไปจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายได้มากและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย สำหรับครู กศน. ตำบลดูสีหน้าไม่ค่อยจะโอเค เพราะได้ปรบมือให้กับคนที่เสนอหลักสูตรการจัดทำแผนการเรียนการสอน การออกข้อสอบ การวัดผลประเมินผลไปแล้ว 

      ผมยังดีใจที่ยังมีอีกคนหนึ่งที่ร่วมวิภาคและพูดถึงบทบาทของ กศน. ได้ชัดเจนในการจัดการศึกษาให้กับประชาชน คือ คุณบู๊ท ว่าที่เรือตรีเฉลิมพล  บุญฉายา  จากองค์กร PATH  บอกว่าทุกเรื่องในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสตรี เด็ก วัยทำงาน ผู้สูงอายุ อาชีพ วิถีชีวิตของคนในชุมชนก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของการศึกษา และการศึกษาที่จะจัดเรื่องเหล่านี้ได้ก็คือ กศน. ซึ่งมีครูอยู่ในพื้นที่...ไม่ได้เป็นภาระงานอะไรที่มาเพิ่มเติมให้ครู...สำหรับเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลก็เป็นเรื่องดีที่ครูจะไ้ด้มีฐานข้อมูลในการจัดกิจกรรมได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทุกภาระกิจ...ฟังแล้วผมรู้สึกโล่งมาก...แต่ก็ยังแอบเห็นครู กศน. ของเราส่วนใหญ่...ซึ่งไม่พยายามที่จะเปิดใจรับสักเท่าไหร่นั่งแบะปาก...น่านิ่วคิ้วขมวด.... อยากจะบอกให้ทุกคนรู้ว่า ว่าที่เรือตรีเฉลิมพล  บุญฉายา คนนี้เคยเป็น ครู ศรช. ที่จังหวัดสงขลา...และเป็นคนที่รักงานการศึกษาของชุมชน...การศึกษาตลอดชีวิต...เคยจัดทีมสอนเด็กที่โรงเรียนท่าสะท้อน...โรงเรียนที่โดนยุบ...ไม่ได้ยุบ...และก็สอนผู้ปกครองในตอนกลางคืน...เป็นคนที่อยู่กับชุมชนมาตลอด...และผมคิดว่า บู๊ท เข้าใจเนื้องานของ กศน. มากกว่าครู กศน. เราในตอนนี้...

       หลักสูตรได้รับการปรับแก้...กำหนดตัววิทยากรอย่างคร่าวๆ รวมทั้ง ร่างตุ๊กตากำหนดการอบรม หลักสูตร 3 คืน 3 วัน 6 รุ่น...ที่สถาบัน กศน.ภาคใต้ จ.สงขลา

      แต่สิ่งที่ยังคาใจอยู่ ก็คือในความเป็นจริงที่ผ่านมา....เรื่องราวทั้งหมดที่ถูกนำเสนอนั้นไม่มีใครเคยถามไม่มีใครเคยดูดำดูดี...มองอยู่แค่หลักสูตรการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน โบราณคร่ำครึ...ซึ่งผมมองว่า...อีกหน่อยก็จะลดน้อยลง...เพราะแนวใหม่โครงสร้างให้จบภายในหนึ่งปี...สิ่งที่ครู กศน. ต้องทำก็คือคิดทำเครื่องมือในการเทียบโอนความรู้ ประสบการณ์ ของกลุ่มเป้าหมาย และผมมองว่าที่น่าจะเป็นไปได้ในการที่จะทำให้ผู้เรียนจบภายใน 1 ปีได้ ก็ต้องใช้กระบวนการสอบเทียบเหมือนกับสอบเทียบระดับประถมในสมัยก่อน.... อย่างนี้กลุ่มเป้าหมายขั้นพื้นฐานก็จะลดน้อยลง...และถ้าในพื้นที่ตำบล ไม่มีนักศึกษาขั้นพื้นฐาน... ครู กศน. จะทำอะไร...

      ตอนนี้ทีมงานเรารู้สึก เหนื่อย ล้า กับการที่จะพูดทำความเข้าใจเรื่องนี้มากๆ  ซึ่งได้คุยกันในทีมว่าใครไม่เอา ใครไม่ทำ เราเสนอไปเราต้องทำ...คิดเองทำเอง...สบายใจ...บางเหตุการณ์ที่ได้พบมันบอกพวกเราว่า....แม้เราจะใส่อะไรให้เขาสักเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผลถ้าหากว่าเขา...ไม่ใส่ใจ...แล้วจะไปหวังให้เขาทำอะไรอีกเล่า....

หมายเลขบันทึก: 479011เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2012 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท