กระท่อม...อีกหนึ่ง Version


กระท่อม

กระท่อม 

 พฤติกรรมการใช้พืชกระท่อม

                   ๑. การใช้พืชกระท่อมแบบดั้งเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อการทำงาน โดยการเคี้ยวใบสด เพื่อให้สามารถทำงานกลางแดดได้นาน  หรือใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค เช่น ลดอาการไอ ปวดท้อง เบาหวาน (ลดน้ำตาลในเลือด)  ฯลฯ ผู้ใช้กระท่อมอาจเคี้ยวใบกระท่อมร่วมกับน้ำชา กาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง

                   ๒. การเสพกระท่อมผสม เยาวชนใช้น้ำต้มใบกระท่อมผสมกับโค้ก ยาแก้ไอ และสารอื่น ๆ รู้จักกันในชื่อ “สี่คูณร้อย” ซึ่งชื่อจะแตกต่างกันไปตามที่กลุ่มผู้ใช้ตั้งชื่อเมื่อมีการผสมสารประกอบอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพบว่ามีการใช้สี่คูณร้อยร่วมกับบุหรี่ กัญชา รวมถึงอัลปราโซแลม  การใช้พืชกระท่อมผสมเกิดขึ้นเมื่อมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ทำให้ยาเสพติดอื่นๆ หายาก จึงมีการคิดค้นกระท่อมผสมเป็นสารทดแทน (ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖) และมีการนำกระท่อมผสมไปเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีการสร้างความเชื่อว่าเสพสี่คูณร้อยแล้วเกิดความฮึกเหิม  

 ผลของพืชกระท่อมต่อร่างกาย

                      จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า อัลคาลอยด์ mitragynine ในใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับอาการปวดได้

เช่นเดียวกับมอร์ฟีน แต่ฤทธิ์อ่อนกว่ามอร์ฟีน ๑๐ เท่า  ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้ เมื่อใช้เป็นเวลานาน จะเกิดการดื้อยา ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณที่ใช้ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลที่ต้องการ จนเกิดการติดยาในที่สุด  หากบริโภคเป็นเวลานาน  ผิวหนังจะหยาบกร้าน หน้าสีคล้ำเขียว เบื่ออาหาร ผอม แก้มตอบ หมดแรง และซึมเศร้า  หากหยุดใช้จะมีอาการไม่สบายตัว ง่วงหาว น้ำตาไหล ปวดเมื่อย วิตกกังวล

                      จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ถึงผลของน้ำต้มใบกระท่อมกับหนูขาว พบว่า กระท่อมมีผลลดน้ำตาลในเลือด ระงับอาการถ่ายท้อง รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อได้  นอกจากนี้สารในกระท่อมมีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าได้

 ประเด็นการเฝ้าระวัง

                   การใช้กระท่อมผสม ร่วมกับยากล่อมประสาท พบว่ามีการใช้ สี่คูณร้อย ร่วมกับ ยา “มาโน่” ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และเป็นสารกลุ่มเดียวกับอัลปราโซแลม ซึ่งเยาวชนสามารถหาซื้อได้จากร้านขายยา (ซึ่งปกติเป็นยาที่ต้องซื้อโดยมีใบสั่งแพทย์)  เมื่อเยาวชนเสพจะง่วงนอนทั้งวัน อาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางเพศ หรืออื่นๆ ตามมา 

 ประเด็นที่เกี่ยวข้องในการนำไปพัฒนานโยบาย/มาตรการ

                    ๑.  อาการเสพติดของพืชกระท่อมมีความแตกต่างจากการติดสารเสพติดอื่นๆ ซึ่งกระท่อม

เป็นเพียง  “ภาวะการพึ่งพิงยา” คล้ายๆ กับการใช้ยาคลายกังวล  ซึ่งในการรักษาทางการแพทย์สามารถควบคุมอาการข้างเคียงต่างๆ ได้  ดังนั้น การกำหนดกระท่อมเป็นพืชเสพติด ส่งผลต่อการพัฒนาการรักษาและการใช้พืชสมุนไพรในทางการแพทย์

                   ๒. พืชกระท่อมมีความเชื่อมโยงกับมิติวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุจะรู้สึกกระทบกระเทือนใจเมื่อต้นกระท่อมที่มีอยู่ถูกตัดทำลาย เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ลำบากใจที่จะตัดทำลาย แต่ไม่ต้องการทำผิดกฎหมาย บางครั้งจึงต้องใช้มาตรการเชิงบริหารมาใช้ โดยตัดบางส่วน และให้ประชาชนได้ใช้บางส่วน

                   ๓. ปัญหาตัดฟันพืชกระท่อมในป่าต้นน้ำ ซึ่งทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะที่เมื่อผู้ค้าใบกระท่อมหากระท่อมในประเทศไม่ได้ จึงเริ่มพบการจับกุมพืชกระท่อมที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ดังนั้นมาตรการตัดทำลายอาจไม่ได้ผลและก่อให้เกิดความต้องการใบกระท่อมนำเข้าจากต่างประเทศ

                   ๔. ควรมีการสะท้อนปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับพืชกระท่อมของภาคประชาชนในมิติสังคมและวัฒนธรรม เพื่อให้ฝ่ายการเมืองรับทราบ รวมทั้งการจัดทำสารคดีเกี่ยวกับประโยชน์ของพืชกระท่อม และความเชื่อมโยงของวิถีชาวบ้านเพื่อให้สังคมเข้าใจมากขึ้น

                   ๕. ในด้านกฎหมาย ควรแยกฐานความผิดในการเสพพืชกระท่อม โดยการใช้ใบสดไม่ผิดกฎหมาย และไม่ควรมีบทลงโทษ  โดยแยกจากกรณีขนส่งใบกระท่อมจำนวนมาก  และการเสพกระท่อมผสม จึงมีความผิดตามกฎหมาย   

มีข้อเสนอถึงการออก “กฎหมายสิ่งปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ”  ซึ่งเป็นการจัดการกับปัญหาการปรุงแต่งสารเสพติดทุกประเภท รวมถึง สี่คูณร้อย ทั้งด้านการแปรรูป ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้าควรได้รับโทษ 

                   ๖. ในกรณีเยาวชนรวมกลุ่มเสพสี่คูณร้อย ควรให้ภาคประชาชนเข้ามาดูแล ตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตลอดจนให้ชุมชนเข้ามาดูแลจัดการพื้นที่ที่มีต้นกระท่อมเพื่อมิให้เยาวชนนำใบไปต้มเป็นกระท่อมผสม

                   ๗. ควรอนุญาตให้นักวิชาการสามารถครอบครองพืชกระท่อมเพื่อการวิจัย ทดลองได้ เพื่อ ประโยชน์ในการพัฒนายารักษาโรค  และลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เนื่องจากพืชกระท่อมมีสรรพคุณที่มีผลวิจัยเบื้องต้นรับรองว่าสามารถนำไปรักษาโรคได้หลายโรค

                    อย่างไรก็ตาม จากการประชุมระหว่างผู้เกี่ยวข้องหลายครั้งพบว่ามีข้อเสนอถึงการขาดผลงานวิจัยรองรับการตัดสินใจเชิงนโยบาย  กรณีโทษพิษภัยของพืชกระท่อมต่อร่างกายผู้เสพ งานวิจัยที่ผ่านมาศึกษากับหนูขาว ซึ่งเป็นการสกัดสาร mitragynine จากกระท่อมสด หรือกระท่อมแห้งตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งผลการวิจัยไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่ามีผลเหมือนหรือแตกต่างจากกรณีที่มีการเคี้ยวใบกระท่อมซึ่งเป็นการย่อยสารโดยเอนไซม์ในน้ำลายของมนุษย์โดยตรง  และยังขาดการศึกษาวิจัยติดตามผู้เสพพืชกระท่อมไปข้างหน้า/ระยะยาว ว่าผู้เสพได้รับผลจากพืชกระท่อมอย่างไร ทั้งนี้ เนื่องจากการวิจัยดังกล่าวต้องใช้งบประมาณ และระยะเวลาจำนวนมาก ตลอดจนจริยธรรมการศึกษาวิจัยในมนุษย์มีข้อจำกัดมาก

คำสำคัญ (Tags): #กระท่อม
หมายเลขบันทึก: 478695เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท