การลงทุนใน Stock Futures


Stock Futures

ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) ได้เปิดทำการซื้อขาย Stock Futures หรือ การซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้า ในตลาดอนุพันธ์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551แต่ด้วยกระแสของความสนใจของนักลงทุนที่มีน้อยกว่าการลงทุนใน Gold Futures จึงทำให้นักลงทุนจำนวนมากไม่ทราบถึงการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทนี้ ซึ่ง Stock Futures จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อนักลงุทน ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยง หรือเก็งกำไรจากการลงุทนในหลักทรัพย์ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Stock Futures เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตกลงกันว่าจะมีการซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้า โดยอ้างอิงราคาหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น Stock Futures จึงเป็นสัญญาที่ผู้ซื้อและผู้ขายทำการตกลงกันว่า ในอนาคตจะมีการซื้อหรือขายหุ้นสามัญกันที่ราคาเท่าไร ในจำนวนเท่าใด ซึ่งคล้ายกับการซื้อขายตามสัญญา Futures แบบอื่น ๆ นั่นเอง

Stock Futures เป็นสินค้าที่มีคุณสมบัติน่าสนใจในการซื้อขายและน่าที่จะลงทุน โดยเฉพาะผู้ที่ลงทุนในหุ้นสามัญอยู่แล้ว เพราะจะทำให้ผู้ลงทุนในหุ้นสามัญนั้นสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินชนิดนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ลงทุนในปัจจุบันสามารถนำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้ไปประกอบกับการลงทุนในหุ้นสามัญ ทั้งในส่วนของการบริหารความเสี่ยงจากราคาหุ้นสามัญ ในกรณีที่หุ้นสามัญมีราคาผันผวน และสามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดพอร์ตลงทุนได้เช่นเดียวกัน หรือผู้ลงทุนสามารถใช้ Stock Futures เพื่อสร้างกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเก็งกำไรในการลงทุนนั่นเอง

การลงทุนใน Stock Futures ผู้ลงทุนสามารถ “ซื้อก่อนขาย” หรือ “ขายก่อนซื้อ” ได้ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถทำกำไรจากส่วนต่างของราคาได้ในทุกสภาพตลาด ไม่เหมือนกันการลงทุนในหุ้นสามัญที่ ผู้ลงทุนจะต้องทำการซื้อหุ้นสามัญมาอยู่ในการครอบครองเสียก่อนจึงจะสามารถขายได้ การลงทุนในกรณีที่ต้องซื้อหุ้นสามัญมาไว้ในการครอบครองก่อนนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถทำกำไรได้เพียงกรณีที่หุ้นอยู่ในขาขึ้นเท่านั้น แต่การลงทุนใน Stock Futures ผู้ลงทุนจะสามารถทำกำไรได้ในทุกสภาพตลาด ไม่ว่าตลาดจะอยู่ในขาขึ้น หรือขาลงก็ตาม ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามการคาดการณ์ที่ผู้ลงทุนได้ทำการคาดการณ์ไว้ หากผู้ลงทุนคาดการณ์ได้ถูกต้อง ผู้ลงทุนก็จะสามารถมีกำไรได้ทั้ง 2 ทาง แต่หากผู้ลงทุนคาดการณ์ไม่ถูกต้องก็จะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน

การลงทุนใน Stock Futures นั้นสามารถทำได้ดังนี้ ถ้าผู้ลงทุนมีกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน โดยมีหุ้นสามัญอยู่ในครอบครอง แต่คาดว่าในอนาคตหุ้นสามัญจะมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้ลงทุนยังไม่อยากจะขายหุ้นสามัญนั้นในขณะนี้ ผู้ลงทุนจะสามารถจัดการความเสี่ยงได้โดย Short Stock Futures หรือการขายหุ้นสามัญล่วงหน้า เพราะถ้าราคาหุ้นสามัญลดลง ผู้ลงทุนจะสามารถขายหุ้นสามัญได้ตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไรจากการลงทุนใน Stock Futures มาทดแทนการขาดทุนในหุ้นสามัญที่ผู้ลงทุนถือครองเอาไว้ และในระหว่างการลงทุนในหุ้นสามัญ ผู้ลงทุนก็จะสามารถทำกำไรจากการถือครองหุ้นและได้รับเงินปันผลอีกด้วย

แต่ถ้าผู้ลงทุนที่มีกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน และคาดว่าราคาหุ้นสามัญในบางกลุ่มในบางอุตสาหกรรมอาจจะดี ผู้ลงทุนสามารถ Long Stock Futures หรือการซื้อหุ้นสามัญล่วงหน้า เป็นการเตรียมการเพื่อการป้องกันราคาหุ้นสามัญจะขึ้นในอนาคต ทำให้ผู้ลงทุนหากต้องการซื้อหุ้นสามัญในตอนนั้นจะมีราคาแพง ดังนั้นผู้ลงทุนจะได้กำไรจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้ และจะซื้อหุ้นสามัญดังกล่าวในราคาแพงได้ในอนาคต เป็นการชดเชยกัน การ Long Stock Futures นี้ อาจกระทำเพื่อเพิ่มน้ำหนักของ Sector ในกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนได้

การลงทุนใน Stock Futures ใช้เงินลงทุนน้อย โดยลงทุนเพียงแค่ การวางเงินหลักประกันเริ่มแรก (Initial Margin) โดยทางตลาดอนุพันธ์อาจเป็นผู้กำหนด ซึ่งอาจอยู่ในราวประมาณ 15-20% ของมูลค่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั่นเอง การลงทุนด้วยเงินที่น้อยกว่าการซื้อหุ้นสามัญโดยตรง (การซื้อหุ้นสามัญโดยตรง ต้องลทุนทั้ง 100%) ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการซื้อหุ้นสามัญ โดยอัตราผลตอบแทนดังกล่าว อาจเป็นด้านกำไร หรือ ขาดทุนก็ได้ เพราะการลงทุนในอนุพันธ์นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญมาก หรืออาจเรียกได้ว่าการลงทุนใน Stock Futures นั้นจะมีอัตราผลตอบแทนสูง และใช้เงินลงทุนต่ำ

ข้อดีของการลงทุนในตลาดทุนแบบนี้ คือกำไรที่ได้จากการซื้อขาย Stock Futures ได้รับยกเว้นภาษี เช่นเดียวกับ SET50 Index Futures และ SET50 Index Options ซึ่งเหมือนกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย

เทคนิคการลงทุนใน Stock Futures นั้นสามารถทำได้ทั้งสองทาง คือ ทั้งหุ้นอยู่ในสภาวะขาขึ้น และหุ้นอยู่ในสภาวะขาลง โดยหากราคาหุ้นมีแนวโน้มที่ดี ผู้ลงทุนจะต้องใช้วีการ “ซื้อก่อนขาย” คือ Long Stock Futures โดยซื้อหุ้นสามัญไว้ในอนาคตในราคาถูก แล้วขายเพื่อทำการปิดสถานะเมื่อหุ้นมีราคาแพงในอนาคต และในทางกลับกัน หากราคาหุ้นมีแนวโน้มที่ไม่ดี ผู้ลงทุนจะทำการ “ขายก่อนซื้อ” คือ Short Stock Futures โดยขายหุ้นสามัญไว้ในอนาคตที่ราคาแพง แล้วซื้อเพื่อปิดสถานะเมื่อหุ้นมีราคาถูกในอนาคต

ตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ได้ทำการคัดเลือกหุ้นสามัญที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง มีสภาพคล่องสูง และมีความผันผวนของราคา มาเป็นสินค้าอ้างอิง เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายทั้งในหุ้นสามัญตามปกติจำนวนมาก และส่งผลให้การซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้ามีการซื้อขายมากเช่นเดียวกัน

คำสั่งการในซื้อขาย จะเป็นสัญญลักษณ์ เช่น  XYZM09X โดยมี XYZ เป็นชื่อหุ้นของบริษัท XYZ แล้วตามด้วยเดือนที่ครบอายุตามสัญญา โดยมีสัญญลักษณ์ดังนี้

H มีนาคม

M มิถุนายน

U กันยายน

Z ธันวาคม

แล้วตามด้วยหมายเลขสองหลัก ซึ่งแสดงถึงปีคริสตศักราช เช่น 09 เป็นปีที่ครบกำหนดตามสัญญา ในปี ค.ศ. 2009 แล้วจึงตามด้วยสัญญลักษณ์สุดท้าย โดยอาจเป็น X Y หรือ Z โดยมีความหมายว่า

X การปรับสัญญาครั้งที่ 1

Y การปรับสัญญาครั้งที่ 2

Z การปรับสัญญาครั้งที่ 3

ซึ่งสัญญลักษณ์ X Y หรือ Z เป็นการการปรับสัญญา เช่นหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์เมื่อมีการลงทุนไปแล้ว

ลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหุ้นสามัญ (Stock Futures) จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสัญญาฟิวเจอร์สทั่วไป แต่แตกต่างกันที่สินค้าอ้างอิง โดย Stock Futures จะมีสินค้าอ้างอิง คือ หุ้นสามัญจดทะเบียนตามรายชื่อที่ TFEX ประกาศ โดยขนาดของสัญญา 1 สัญญาจะมีขนาดเท่ากับหุ้นสามัญ 1,000 หุ้น เดือนที่สัญญาสิ้นสุดอายุ เดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคมโดยนับไปไม่เกิน 1 ปี

การเสนอราคาซื้อขายสำหรับสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้า จะเสนอราคาซื้อขายเป็นราคาต่อหุ้น โดยมีการกำหนดช่วงราคาซื้อขายขั้นต่ำ  0.1 บาท คือ จะมีการเคลื่อนไหวครั้งละ 0.1 บาท และช่วงการเปลี่ยนแปลงของราคาสูงสุดแต่ละวัน + 30%ของราคาที่ใช้ชำระราคาในวันทำการก่อนหน้า เพื่อไม่ให้เกิดการผันผวนมากจนเกินไปและเป็นไปตามกลไกการทำงานของตลาดหลักทรัพย์

เวลาทำการซื้อขายจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงใหญ่ คือ

Pre-open: 9:15 - 9:45

Morning session: 9:45 - 12:30

Pre-open: 14:00 - 14:30

Afternoon session: 14:30 - 16:55

นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ ทางตาลดจึงมีการกำหนด การจำกัดฐานะ โดยในช่วงแรกของการซื้อขาย TFEX กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ลงทุนมีฐานะสุทธิรวมใน Single Stock Futures ของหุ้นใดหุ้นหนึ่ง ในเดือนใดเดือนหนึ่งหรือทุกเดือนรวมกันเกินกว่า 20,000 สัญญา เพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนเกิดความเสี่ยงในการลงทุนมากจนเกินความสามารถที่จะรับไว้ได้

วันซื้อขายวันสุดท้าย คือ วันทำการก่อนวันทำการสุดท้ายของเดือนที่สัญญาหมดอายุ โดยในวันนั้น สัญญาที่จะหมดอายุจะซื้อขายได้ถึงเวลา 16.30 น.

ราคาที่ใช้ชำระราคาในวันซื้อขายวันสุดท้าย จะคำนวณจากค่าเฉลี่ยของราคาซื้อขายของหุ้นอ้างอิงของ Stock Futures ในช่วง 15 นาทีสุดท้าย และราคาปิดของหุ้นในวันซื้อขายวันสุดท้าย โดยใช้ค่าทศนิยม 2 ตำแหน่ง

วิธีการส่งมอบ / ชำระราคา การลงทุนในตลาดอนุพันธ์ จะไม่มีการส่งมอบหุ้นสามัญจริง แต่จะชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า

ค่าธรรมเนียมการซื้อขายและชำระราคา 7 บาทต่อสัญญา (จนถึง 31 ธันวาคม 2552)

ค่าคอมมิชชั่น เป็นไปตามที่ผู้ลงทุนตกลงกับโบรกเกอร์ โดยตลาดอนุพันธ์ไม่ได้เป็นผู้กำหนดค่าคอมมิชชั่น

Stock Futures หรือสัญญาซื้อขายหุ้นล่วงหน้า ที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดอนุพันธ์ในขณะนี้ มีหุ้นสามัญจำนวน 3 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP โดยนำเอาหุ้นสามัญของทั้ง 3 บริษัทมาทำการซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งประกอบด้วย

—   ADVANC Futures

—   PTT Futures

—   PTTEP Futures

การวิเคราะห์และการคาดการณ์ราคาของ Stock Futures จะมีสูตรในการคำนวณดังนี้

ราคาของ Stock Futures = ราคาหุ้น + ต้นทุนในการถือครองหุ้น – ผลประโยชน์ในการถือหุ้น

เช่น หุ้นสามัญบริษัท ABC จำกัด มีราคาหุ้นสามัญซื้อขายในปัจจุบันราคา 100 บาท ผู้ลงทุนมีต้นทุนในการกู้ยืมเงินเพื่อมาซื้อหุ้น 30 บาท และหุ้นสามัญบริษัท ABC จำกัด มีกำหนดการจ่ายเงินในอีก 1 เดือนข้างหน้า 10 บาท ดังนั้น ราคาของ Stock Futures จะสามารถคำนวณได้ดังนี้

Stock Futures Price = 100 + 30 – 10 = 120 บาท

ในความเป็นจริง ราคาของฟิวเจอร์สจะเป็นไปตามกลไกตลาด คือ เป็นราคาที่เกิดจากความต้องการซื้อ (Demand) และความต้องการขาย (Supply) ของผู้ลงทุนที่คาดการณ์ว่าในอนาคต หุ้น ABC จะมีราคาประมาณเท่าใด ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าราคาตลาดจริงก็ได้

กลยุทธ์ในการลงทุน

ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นสามัญจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ผู้ลงทุนจะสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ได้ดังนี้

  1. ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าหุ้นสามัญจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จะใช้กลยุทธ์ “ซื้อก่อนขาย”
  2. ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าหุ้นสามัญจะปรับตัวลดลง จะใช้กลยุทธ์ “ขายก่อนซื้อ”

ตัวอย่างของการลงทุนในภาวะของหุ้นสามัญที่มีราคาอยู่ในขาขึ้นและขาลง

สมมติ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ หุ้นสามัญ XYZ มีราคาในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 100 บาท ในขณะที่ฟิวเจอร์สของหุ้นสามัญ XYZ ที่ครบกำหนดเดือนในมีนาคม มีราคา 110 บาท

ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นสามัญของบริษัท XYZ จะเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจ Long XYZ Futures (การซื้อหุ้นสามัญบริษัท XYZ ล่วงหน้า)

ถ้าถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ราคาของหุ้นสามัญบริษัท XYZ ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ คือ มีราคาหุ้นลดลง ผู้ลงทุนจะสามารถตัดสินใจ Short XYZ Futures (การขายหุ้นสามัญล่วงหน้า) เดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 90 บาท (การปิดสถานะคือ การลงทุนในทางกลับกัน เช่น หากผู้ลงทุนซื้อล่วงหน้าไว้ การปิดสถานะคือการขายล่วงหน้าทดแทน) เพื่อเป็นการลดจำนวนการขาดทุนลง โดยการกระทำเช่นนี้ ผู้ลงทุนจะขาดทุน เท่ากับ (90 – 110) x 1,000 หุ้น = -20,000 บาท

แต่ถ้าในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ราคาของหุ้นสามัญบริษัท XYZ ไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ คือ ราคาหุ้นเท่าเดิม ผู้ลงทุนจะสามารถตัดสินใจ Short XYZ Futures เดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 110 บาท (ผู้ลงทุนอาจจะไม่ต้องการจะลงทุนต่อไป หรือคาดว่าแนวโน้มในอนาคตไม่ดี จึงปิดสถานะในวันนี้) ผู้ลงทุนจะเท่าทุน คือ (110 – 110) * 1,000 หุ้น = 0 บาท

ถ้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ราคาของหุ้นสามัญบริษัท XYZ เป็นไปตามที่คาดการณ์ คือ ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนจะสามารถตัดสินใจ Short XYZ Futures เดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 130 บาท (ซึ่งราคานี้อาจเป็นราคาที่ผู้ลงทุนพึงพอใจ และผู้ลงทุนไม่ต้องการที่จะเสี่ยงอีกต่อไป เพราะราคาอาจจะลดลงในอนาคตได้) ผู้ลงทุนจะมีกำไร เท่ากับ (130 – 110) * 1,000 หุ้น = 20,000 บาท

การลงทุนใน Stock Futures นี้ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ประเภทอื่น ๆ คือการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ใช้เงินลงทุนน้อย แต่มีโอกาสในการทำกำไรสูง และมีโอกาสในการขาดทุนสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากผู้ลงทุนต้องการจะลงทุนใน Stock Futures จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับกลยุทธ์ในการลงทุนให้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างต่อมา สมมติ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ราคาหุ้นสามัญ DEF มีราคาตลาดอยู่ที่ 100 บาท ในขณะที่ฟิวเจอร์สของหุ้น DEF (สัญญาซื้อขายหุ้นสามัญ DEF ล่วงหน้า) ที่จะครบกำหนดเดือนมีนาคม มีราคา 110 บาท ผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นมีแนวโน้มลดลง จึงตัดสินใจ Short DEF Futures (ขายหุ้นสามัญ DEF ล่วงหน้า) เพื่อหวังทำกำไรในตลาดขาลง ซึ่งการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้มีหลักการอยู่ที่ว่า หากคาดว่าราคาของสินทรัพย์อ้างอิง คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลง ผู้ลงทุนจะต้องทำการขายล่วงหน้า คือ การตั้งราคาขายไว้สูง และจะทำการซื้อในอนาคตคืน เมื่อราคาปรับลดลง จึงเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เรียกได้ว่า ขายแพง ซื้อถูก เพื่อการทำกำไร

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้ลงทุนหากตัดสินใจ Long DEF Futures ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม ในขณะที่ราคาของหุ้นสามัญนี้มีแนวโน้มลดลง เพื่อปิดสถานะ ที่ 90 บาท (เมื่อผู้ลงทุนมีความพึงพอใจในระดับกำไรนี้แล้ว) ผู้ลงทุนจะกำไร (110 – 90) x 1,000 หุ้น = 20,000 บาท

หากวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ผู้ลงทุนตัดสินใจ Long DEF Futures ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 110 บาท (ผู้ลงทุนอาจคิดว่าตลาดหลักทรัพย์กำลังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอน และไม่ต้องการจะเสี่ยงกับการลงทุนในสัญญาล่วงหน้าอีกต่อไป) ผู้ลงทุนจะเท่าทุน (110 – 110) x 1,000 หุ้น = 0 บาท

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ หากการลงทุนไม่เป็นไปดังที่คาดการณ์ไว้ ผู้ลงทุนตัดสินใจ Long DEF Futures ที่ครบกำหนดเดือนมีนาคม เพื่อปิดสถานะ ที่ 130 บาท (เพื่อลดการขาดทุนจากการที่ได้คาดหวังไว้ เพราะตลาดไม่เป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ จึงปิดสถานะเพื่อลดการขาดทุน) โดยผู้ลงทุนจะขาดทุน (110 – 130) x 1,000 หุ้น = -20,000 บาท

กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยง

ในภาวะตลาดหลักทรัพย์อยู่ในขาลง ผุ้ลงทุนจะสามารถใช้ Stock Futures ช่วยในการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้กลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนของผู้ลงทุนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะราคา Stock Futures จะมีแนวทางในการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาหุ้นสามัญ

ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นจะลดลง

ผู้ลงทุนจะ Short Futures (สัญญาขายหุ้นสามัญล่วงหน้า) ตามสัดส่วนหุ้นสามัญที่มีในกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน ถ้าราคาหุ้นลดลงตามที่คาดการณ์ไว้ ผู้ลงทุนจะทำการ Long Futures (ซื้อหุ้นสามัญล่วงหน้า) เพื่อทำการปิดสถานะ ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไร (การปิดสถานะคือ การซื้อขายขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากลับทางกันกับที่ได้ลงทุนไว้เริ่มแรก เช่น หากทำการซื้อล่วงหน้าไว้ทีแรก การปิดสถานะคือ การขายล่วงหน้า กลับทางกัน ทำให้เกิดการซื้อและขายหักลบกัน)

ตัวอย่างเช่น วันที่ 1 มีนาคม หุ้นสามัญ ABC มีราคาหุ้นละ 100 บาท ผู้ลงทุนได้ลงทุนไว้ 1,000 หุ้น ซึ่งมีมูลค่า 100,000 บาท และผู้ลงทุนได้ Short Futures (ขายหุ้นสามัญ ABC ล่วงหน้า) ไว้ที่ราคา 100 บาท จำนวน 1 สัญญา และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม หากหุ้นสามัญ ABC มีมูลค่าเพียง 80 บาท ถ้าผู้ลงทุนลงทุนแต่เพียงการซื้อหุ้นสามัญไว้เท่านั้น จะทำให้การลงทุนในหุ้นสามัญนั้นขาดทุน 20,000 บาท แต่หากผู้ลงทุนได้ทำการลงทุนใน  ABC Stock Futures ด้วยก็จะทำให้ Stock Futures นั้นได้กำไรทดแทน (100 – 80) x 1,000 = 20,000 บาท จึงทำให้การลงทุนนี้จึงไม่ขาดทุน (เท่าทุน)

ถ้าผู้ลงทุนคาดว่าราคาหุ้นจะเพิ่มขึ้น

ผู้ลงทุนจะสามรถใช้ Long Stock Futures (สัญญาซื้อหุ้นสามัญล่วงหน้า) เพื่อป้องกันความเสี่ยงในทางกลับกันได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนต้องการที่จะซื้อหุ้นสามัญ ABC ในอนาคต แต่ผู้ลงทุนยังไม่พร้อมที่จะลงทุนในขณะนี้ ผู้ลงทุนก็จะสามารถซื้อหุ้นสามัญ ABC ล่วงหน้าไว้ได้ แต่ถ้าราคาหุ้นสามัญนั้นเพิ่มขึ้นจริง ผู้ลงทุนก็จะซื้อหุ้นสามัญได้ในราคาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา

วันที่ 1 มีนาคม หุ้นสามัญ ABC มีราคาหุ้นละ 100 บาท ผู้ลงทุนได้ทำการ Long Futures (ซื้อหุ้นสามัญ ABC ล่วงหน้า) ไว้ที่ราคา 110 บาท จำนวน 1 สัญญา และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคม หากหุ้นสามัญ ABC มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 120 บาท ผู้ลงทุนจะสามารถทำการปิดสถานะ โดยการ Short Futures ที่ราคา 120 บาท แทน ทำให้ผู้ลงทุนได้รับกำไร (120 – 110) x 1000 = 10,000 บาท

กลยุทธ์ Calendar Spread

เป็นกลยุทธ์ที่ใช้การซื้อและขายฟิวเจอร์สของหุ้นสามัญตัวเดียวกัน แต่มีเดือนของอายุสัญญาต่างกัน เช่น ซื้อฟิวเจอร์สของหุ้น XYZ เดือนมีนาคม พร้อมกับขายฟิวเจอร์สของหุ้น XYZ เดือนมิถุนายน พร้อมๆกัน

กลยุทธ์นี้จะนำมาใช้เมื่อ ผู้ลงทุนคาดการณ์ว่า ราคา Stock Futures ที่มีอายุต่างกันจะเคลื่อนไหวเข้าหากัน ทำให้ส่วนต่าง (Spread) ระหว่างราคาฟิวเจอร์สลดลง หรือหากมีการเคลื่อนไหวออกจากกัน จะทำให้ Spread เพิ่มขึ้น

หากผู้ลงทุนคาดว่า Spread จะเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนจะใช้กลยุทธ์ ซื้อสัญญาไกล และขายสัญญาใกล้ (Long Spread) แต่ถ้าผู้ลงทุนคาดว่า Spread จะลดลง ผู้ลงทุนจะใช้กลยุทธ์ ซื้อสัญญาใกล้ ขายสัญญาไกล (Short Spread) เป็นทางกลับกัน

ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ฟิวเจอร์สตัวไกล มีราคาเพิ่มสูงมากกว่าตัวใกล้ ทำให้ Spread เพิ่มขึ้น ตัวอย่าง ถ้าผู้ลงทุนคาดว่า Spread ระหว่างสัญญา XYZH09 (มีนาคม) และ XYZ M09 (มิถุนายน) จะเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนเลือกใช้ กลยุทธ์ Long Spread คือ ซื้อสัญญาไกล ขายสัญญาใกล้ เช่น

วันที่ 1 มีนาคม ผู้ลงทุนซื้อสัญญา XYZM09 (ไกล) ราคา 110 บาท และขายสัญญา XYZH09 (ใกล้) ราคา 100 บาท อย่างละ 1 สัญญา ผู้ลงทุนจึงมี Spread = 110 – 100 =10

หากต่อมาวันที่ 20 มีนาคม Spread ทั้งสองสัญญาเป็นไปตามที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ไว้ ผู้ลงทุนจะสามารถปิดสถานะ คือขายสัญญา XYZM09 (ไกล) ราคา 122 บาท และซื้อสัญญา XYZH09 (ใกล้) ราคา 110 บาท อย่างละ 1 สัญญา จึงทำให้มี Spread = 122 – 110 = 12

สรุปผลการซื้อขายผู้ลงทุนจะได้กำไรดังนี้

XYZH09 = (ราคาขาย 100 – ราคาซื้อ 110) * 1,000 หุ้น = -10,000 บาท

XYZM09 = (ราคาขาย 122 – ราคาซื้อ 110) * 1,000 หุ้น = 12,000 บาท

กำไรของผู้ลงทุนคือ -10,000 + 12,000 = 2,000 บาท

กลยุทธ์ Pairs Trading

กลยุทธ์นี้จะถูกนำมาใช้เมื่อ ผู้ลงทุนคาดการณ์ว่าหุ้นตัวหนึ่งจะมีผลประกอบการดีกว่าหุ้นอีกตัวหนึ่งซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวหันกลยุทธ์นี้ จะทำการ Long Futures ของหุ้นที่คาดการณ์ว่าจะมีผลกระกอบการณ์ดี พร้อมกับ Short Futures ของหุ้นที่คาดการณ์ว่าจะมีผลประกอบการณ์ด้อยกว่า โดยที่กำไรขาดทุนของผู้ลงทุนจะอยู่ที่ส่วนต่างของราคา Stock Futures ทั้ง 2 หุ้น โดยไม่มีผลกระทบอื่น ๆ จากภาวะตลาด

หากผู้ลงทุนไม่แน่ใจว่า ในเดือนมิถุนายน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลง แต่ผู้ลงทุนมีความมั่นใจว่าหุ้นสามัญ AAA จะมีผลประกอบการณ์ดีกว่า หุ้นสามัญ BBB ผู้ลงทุนจึงทำการตัดสินใจ Long AAA Futures AAAM09 ราคา 150 บาท และ Short BBB Futures BBBM09 ราคา 110 บาท

ถ้าตลาดเกิดการปรับตัวสูงขึ้น AAAM09 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 160 บาท และ BBBM09 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 115 บาท ผู้ลงทุนปิดสถานะโดย Short AAAM09 ที่ราคา 160 บาท และ Long BBBM09 ที่ราคา 115 บาท

AAAM09 = (160 – 150) * 1,000 หุ้น = 10,000 บาท

BBBM09 = (110 – 115) * 1,000 หุ้น =   - 5,000 บาท

รวมกำไร = 10,000 – 5,000 = 5,000 บาท

ถ้าตลาดปรับตัวลดลง AAAM09 ปรับตัวลดลงเป็น 141 บาท และ BBBM09 ปรับตัวลดลงเป็น 99 บาท ผู้ลงทุนปิดสถานะโดย Short AAAM09 ที่ราคา 141 บาท และ Long BBBM09 ที่ราคา 99 บาท

AAAM09 = (141 – 150) * 1,000 หุ้น = - 9,000 บาท

BBBM09 = (110 – 99) * 1,000 หุ้น =   11,000 บาท

รวมกำไร = -9,000 + 11,000 = 2,000 บาท

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #Stock Futures
หมายเลขบันทึก: 478686เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท