Love Ocean


Love Ocean

น่านน้ำแห่งความรัก (Love Ocean)

 

                ท่านผู้อ่านคงเคยได้รู้จักกับแนวคิดในการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน ที่เรียกว่า น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) คือ การทำธุรกิจที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการต่างออกไปจากธุรกิจเดิม ๆ ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เปรียบเหมือนกับการแล่นเรือไปสู่ทะเลที่มีน่านน้ำสีคราม ซึ่งเป็นทะเลที่มีความสงบ เปรียบเทียบได้กับการทำธุรกิจที่มีความสงบ ปลอดจากการแข่งขัน ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดได้เป็นอย่างดี โดยน่านน้ำสีครามนี้มีความแตกต่างจากน่านน้ำสีเลือด (Red Ocean) ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน มุ่งที่จะเอาชนะคู่แข่งขัน ธุรกิจต่าง ๆ  ที่อยู่ในน่านน้ำสีเลือดนี้ จะใช้กลยุทธ์ในการลด แลก แจก แถม จนเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดให้มากที่สุด ทำให้ธุรกิจเหล่านั้นประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ได้รับผลตอบแทนต่ำลง ต้นทุนต่าง ๆ สูงขึ้น จนในที่สุดธุรกิจเหล่านี้จะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

                สำหรับธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้แนวคิดน่านน้ำสีขาว (WhiteOcean) หรือธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) หรือหลักบรรษัทภิบาล (Corporate Governance) คือดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ยึดหลักในการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณที่เหมาะสม

                การดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะนำเอาBlueOcean,RedOceanหรือWhiteOceanมาใช้ในการประกอบธุรกิจในปัจจุบันนั้นอาจยังไม่เพียงพอ เพราะการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ประกอบธุรกิจควรที่จะต้องประกอบธุรกิจด้วยความรัก หรือเป็นการนำเอาLoveOceanหรือน่านน้ำแห่งความรัก มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ

                ใน Love Ocean นั้นจะมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความรัก โยธุรกิจจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า ความรักนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีความบริสุทธิ์ ความรักจะทำให้การกระทำใด ๆ ก็ตามชนะทุก ๆ สิ่ง และความรักจะเป็นสิ่งที่ไม่มีวันที่จะสูญสิ้นไป ดังนั้น พื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทาง Love Ocean เป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของ พ่อ และแม่ ที่มีต่อลูก พ่อค้าและแม่ค้า ต้องปฏิบัติต่อลูกค้า เช่นเดียวกับพ่อและแม่ที่ปฏิบัติต่อลูก โดยมีความรักที่เป็นพื้นฐาน ปราศจากเล่ห์เหลี่ยม  ไม่มีการแข่งขัน มีแต่การพัฒนา ไม่มีกลยุทธ์ ไม่มียุทธศาสตร์ มีแต่ความรักแบบพ่อและแม่ที่มีต่อลูก กระทำดีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ

                การนำคำว่ากลยุทธ์ และยุทธศาสตร์มาใช้ในการทำธุรกิจนั้น อาจไม่เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะคำว่า กลยุทธ์ นั้นประกอบด้วยคำว่า กล เปรียบเสมือนการเล่นกล ซ่อนเงื่อน และคำว่ายุทธ์ ซึ่งใช้ในคำว่ายุทธศาสตร์ด้วย โดยทั้งคำว่า ยุทธ์ และยุทธศาสตร์ นั้นเป็นคำที่มักใช้ในสนามรบ เป็นสิ่งที่ทำเพื่อการเอาชนะ ช่วงชิง ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าไม่ได้รับความจริงใจ ตกเป็นเหยื่อให้กับธุรกิจ เป็นผู้ที่ถูกล่า และเป็นเพียงแต่ส่วนหนึ่งในเกมธุรกิจเท่านั้น

                การดำเนินธุรกิจตามแนวคิดLoveOceanจะเป็นการดำเนินธุรกิจด้วยความรัก คือ ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตน เป็นเหมือนพ่อและแม่ของลูกค้า ซึ่งเปรียบเสมือนลูกนั่นเอง ด้วยความรักจะทำให้ ธุรกิจต่าง ๆ นั้นดำเนินการด้วยใจที่ยิ่งใหญ่ และบริสุทธิ์ต่อ ลูกค้า ลูกน้อง คู่ค้า และคนอื่น ๆ ด้วยความรักแบบนี้ จะทำให้ธุรกิจต่าง ๆ มีความรักต่อผู้อื่น

                ธุรกิจที่ใช้ Love Ocean จะรักลูกค้าเหมือนลูก การที่ธุรกิจจะขายสินค้าและบริการให้กับลูกค้านั้น ก็จะเลือกสรรแต่สินค้าที่มีคุณภาพดี เปรียบเสมือนพ่อและแม่ เมื่อจะมอบสิ่งของต่าง ๆ ให้กับลูก ก็จะเป็นสิ่งของที่ดีเท่านั้น และธุรกิจแบบนี้จะดูแลลูกน้อง หรือพนักงานในบริษัทด้วยความห่วงใยและจริงใจ ใช้ความรักแทนคำสั่ง ความรักอยู่เหนือกฎเกณฑ์ มีความเมตตา อยู่เหนือคุณธรรม และจะดูแลคู่แข่งขัน เหมือนเพื่อคู่คิด ไม่มองคู่แข่งเป็นศัตรู แต่ต้องรักศัตรู เพราะการที่มีคู่แข่งขัน นั้นจะทำให้เรามีการพัฒนาเกิดขึ้นซึ่งการดำเนินธุรกิจแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นในการใช้กลยุทธ์แบบ Blue Ocean และ Red Ocean ซึ่งการดำเนินธุรกิจในสองแบบนี้ ยังคงมองคู่ค้าเป็นคู่แข่งขัน แต่หากธุรกิจต่างๆ สามารถมองคู่ค้า เป็นคู่คิดได้ จะทำให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                ธุรกิจที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยความยั่งยืนในอนาคต จึงเป็นธุรกิจที่มีความรักเป็นที่ตั้ง เพราะ“ความรัก.....ชนะทุกสิ่ง”

Love Ocean น่านน้ำแห่งความรัก “ใช้ความรัก...ลงทุน”

 

วิถีชีวิตของยาจก

ก้าวสู่ความเป็นเศรษฐี

คือ การเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน

ที่มีจากจำนวนน้อย

ไปสู่การหาเงินจำนวนมาก

 

น่านน้ำแห่งความรัก เป็นการดำเนินธุรกิจโดยอาศัยความรักเป็นเป้าหมาย โดยความรักนั้นจะเป็นความรักที่มีลักษณะเหมือนพ่อและแม่ที่มีความรักต่อลูก โดยผู้ที่ดำเนินธุรกิจทุกคน จะต้องรักลูกค้าให้เหมือนกับที่พ่อแม่ของเรารักเราเป็นเป้าหมาย แล้วจึงค่อยแปลงเป้าหมายเป็นทุน

 

                 “ต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะได้มาซึ่งธุรกิจที่ทำกำไรมากเท่าที่ต้องการ” คุณเคยถามคำถามนี้กับตัวเองบ้างหรือไม่

 

                มีทฤษฏีสอนเกี่ยวกับการลงทุนไว้ว่า ถ้าคุณคิดจะลงทุน 10 ล้านบาท แต่มีเงินทุน 3 ล้านบาท แล้วต้องไปกู้เพิ่มอีก 7 ล้านบาท เพื่อให้ได้เงินลงทุนครบตามที่ต้องการ คำถามที่ตามมาคือ คุณจะสามารถคืนทุนเงินจำนวนนี้ได้เมื่อไหร่ หากคำตอบของคุณคือ 10 ปี แล้วอะไรที่ทำให้คุณมั่นใจว่าภายในระยะเวลา 10 ปี จะไม่เกิดผลกระทบใดๆ กับธุรกิจของคุณ และหากคุณมีความมั่นใจเสียจนเหลือล้นว่าธุรกิจของคุณจะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอนแล้ว ทำไมคุณจึงไม่เริ่มดำเนินธุรกิจจากเงินทุนที่มี 3 ล้านบาท และทำกำไรให้งอกเงยต่อจากเงินทุนก้อนนี้ แทนที่จะต้องไปเพิ่มพูนหนี้สิน

                หากคุณพบคำตอบและเข้าใจได้ว่า เงินทุนที่มีอยู่ 3 ล้านบาทนั้นก็สามารถเริ่มธุรกิจได้ โดยไต่ระดับจากเบื้องหลังไปสู่ความสำเร็จเบื้องหน้าได้ นั่นย่อมแสดงให้คุณเห็นว่า “เงิน” ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

               

ธุรกิจ เป็นเสมือนสิ่งมีชีวิต

                ผู้ที่ทำธุรกิจจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ธุรกิจนั้นเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จนอาจเรียกได้ว่ากิจกรรมนั้นทำให้คำว่า ธุรกิจนั้นเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต

                แล้ว “ชีวิต” มนุษย์เราเติบโตมาด้วยอะไร หากมิใช่ “ความรัก”

                ดังนั้น ความรักจึงเป็นต้นทุนของชีวิต ทุกชีวิตถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรักที่เริ่มต้นจาก พ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู ซึ่งแม้จะไม่ได้มีเงินทองหรือสิ่งอำนวยความสำดวก แต่ก็ยังมีความรักและความปรารถนาดีมาให้อย่างไม่มีข้อแม้ และความรักเหล่านี้เองที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิตให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของสังคม ความรัก จึงเป็นต้นทุนของชีวิตที่ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินใครๆ มา มันเกิดจากที่ตัวเราเอง และเชื่อได้ว่า ทุกคนปรารถนาจะได้รับความรักจากคนรอบข้าง พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนๆ และพร้อมจะส่งมอบความรักกลับไปยังคนเหล่านั้นได้ตลอดเวลา

                สำหรับธุรกิจที่เปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิตนั้น ก็ย่อมไม่แตกต่างอะไรไปจากความปรารถนาของมนุษย์แต่ละคนเช่นกัน แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องธุรกิจก็มาจากการลงทุนด้วยเงิน เพื่อใช้ในการแข่งขันในหลากหลายยุทธวิธี จนหลงลืมไปว่าเงินไม่สามารถซื้อใจลูกค้าได้ไปตลอด และหากจะชนะใจลูกค้าได้ก็ต้อสู้กันในเส้นทางที่ต่างออกไปด้วยแนวคิดใหม่ที่เรียกว่า นวัตกรรมแห่งความรัก

                นวัตกรรมแห่งความรัก คือ พ่อแม่ที่ไม่อยากเห็นลูกๆ ลำบาก จึงต้องคิดค้นว่า จะทำอย่างไรให้ลูกๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วพ่อแม่ก็จะค้นพบวิธีการนั้นด้วยความรัก เปรียบเสมือน พ่อค้าหรือแม่ค้าที่รักลูกค้าเหมือนกับลูกของตัวเอง พ่อค้าและแม่ค้าเหล่านี้ก็จะค้นพบ “นวัตกรรมแห่งความรัก”

                ฉะนั้นแทนที่ธุรกิจจะลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก ก็เปลี่ยนมาเป็นการลงทุนด้วยความรัก ด้วยการเอาใจใส่ และมองหาความจริงที่ว่า ลูกค้านั้นต้องการอะไรจากเรา เหมือนพ่อแม่ดูแลและเอาใส่ลูก จะทำให้รู้ได้ว่าลูกต้องการอะไร

                หากสามารถเรารักลูกค้าทุกคนให้เหมือนกับที่เรารักลูกของเรา เราก็จะพบในสิ่งที่ลูกค้าต้องการจากธุรกิจของเรา และเราจะสามารถตอบโจทย์นั้นได้ด้วยด้วยความรักที่อาจมีการลงทุนด้วยเงินเพียงเล็กน้อย แต่จะมีผลตอบกลับมายังธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล เพราะถือเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจาก นวัตกรรมทางความคิด และเราก็จะค้นพบวิธีการที่ถูกต้องในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากสิ่งที่มี แม้จะเป็นเงินเพียงเล็กน้อย แต่การลงทุนด้วยความรักจะเป็นการชนะทุกสิ่งได้ เพราะการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจจากเงินเพียงเล็กน้อยนั้น คือ วิถีทางของความเป็นเศรษฐีในอนาคต           

         

Love Ocean น่านน้ำแห่งความรัก: “ใช้ความรัก...สร้างแบรนด์”

 

เพราะความอร่อย ไม่มีข้อจำกัด

ไม่มีตัวชี้วัด บางคนชอบเปรี้ยว

เผ็ด หวาน แต่สิ่งที่ทุกคน

สัมผัสได้ แต่ต้องการคือ..

ความรัก

 

            แบรนด์ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

            แบรนด์ หรือ เครื่องหมายการค้า เกิดขึ้นตั้งแต่สินค้าหรือบริการนั้นๆ มีชื่อเรียกกันแล้ว ทั้งในรูปแบบของชื่อที่เป็นทางหาร หรือไม่เป็นทางการ ที่ผ่านมามักมีคนที่มีความเชื่อว่า แบรนด์ที่แข็งแกร่งจะนำมาซึ่งธุรกิจที่มั่นคง ภาพในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายคนจึงมองว่าการสร้างแบรนด์จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ มากมายเข้ามาในการประกอบธุรกิจต่างๆ

            แต่สำหรับ Love Ocean นั้น ในฐานะผู้สร้างแบรนด์ด้วยความรักที่แท้จริง จึงไม่ต้องการให้มีการสร้างภาพ หากแต่ต้องการให้ภาพลักษณ์ที่ผู้คนได้เห็นนั้นเป็นภาพแห่งความจริง ที่มาจากความรักอันเป็นวิถีชีวิตที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจากเจ้าของแบรนด์ เพราะความรักทำให้คนได้ค้นพบความต้องการของตลาด และหากเราอยากจะรู้ว่า ความต้องการของตลาดนั้นมีมากแค่ไหน เราต้องเอาใจใส่ผู้บริโภค เปรียบเสมือนพ่อและแม่ที่เลี้ยง และดูแลเอาใจใส่ลูก จึงทำให้ลูกรักพ่อแม่ และก็ต้องการความรักจากพ่อแม่ตลอดไป ซึ่งลูกค้าก็ต้องการแบรนด์แบบนั้นจากผู้ค้าตลอดไปเช่นเดียวกัน

            ปัญหาของคนไทยที่กำลังเผชิญอยู่ในโลกธุรกิจคือ การยอมรับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศ Korea USA Japan หรือ Italy ที่มีความน่าเชื่อถือ จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนไทยไม่กล้าสร้างแบรนด์ของตัวเอง เพราะความสำเร็จจากแบรนด์ดังที่สร้างความเข้าใจผิดๆ ว่าการทำธุรกิจนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล ประกอบกับตัวอย่างอีกมากมายที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจจำนวนไม่มากนักที่จะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ทำให้โอกาสที่จะมองเห็นถึงความสำเร็จนั้นยิ่งไกลออกไปอีก

             สำหรับนักขายมืออาชีพที่ต้องการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ต้องทำความเข้าใจกับคำว่า กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ ซึ่งความจริงแล้วคำทั้งสองคำนี้ เแฝงไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมเล่ห์กลในการทำศึกสงคราม จึงควรเป็นคำที่ใช้ในสนามรบมากกว่าที่จะนำมาใช้ในแวดวงธุรกิจ แต่เมื่อโลกธุรกิจในปัจจุบันมีวิถีทางมากมายที่ทำให้ลูกค้ากลายเป็นเหยื่อทางธุรกิจ ธุรกิจต่างๆ จึงไม่อาจปฏิเสธการใช้คำเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตามการสร้างกลยุทธ์หรือการใช้ยุทธ์ศาสตร์เพื่อธุรกิจในแต่ละครั้งก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลไปได้

            และยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนด้วยการทำโปรโมชั่น ลด แลก แจม แถม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้าและบริการอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการสร้างแบรนด์ เพราะการสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ด้วยวิธีดังกล่าวจะทำให้คุณได้ลูกค้าในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกลายเป็นว่าลูกค้าไม่ได้ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการในธุรกิจของคุณอย่างแท้จริง และจะกลายเป็นการดำเนินธุรกิจที่ทำให้อายุของธุรกิจนั้นสั้นลงเพราะเป็นการสร้างกำแพงกั้นรักแท้ระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับลูกค้านั่นเอง

            การสร้างแบรนด์จึงต้องเริ่มจากความรักที่มีอยู่ภายในใจของเข้าของแบรนด์ด้วยการเอาใจใส่ผู้อื่น หรือที่เรียกว่า เอาใจเขามาใส่ใจเราคือ การรักผู้อื่นให้เหมือนกับที่เราอยากให้ผู้อื่นมารักเรา และทำดีกับเรานั่นเอง ซึ่งบางครั้งลูกค้าไม่ได้สนใจเรื่องราคา หากแต่จะเป็นเรื่องของการบริการหรือมิตรภาพที่มาจากความรักมากกว่า

             คุณเคยลองสังเกตุไหมว่า... สินค้าอย่างเช่น นาฬิกาแบรนด์ดังที่มีราคาแพง ไม่มีการลดราคา ไม่มีของแถม คำถามคือ...คุณรู้สึกอย่างไร? ความรู้สึกของคุณคือ นาฬิกาแบรนด์ดังยิ่งแพงยิ่งอยากได้ ยิ่งไม่ลดราคายิ่งภาคภูมิใจ และเชื่อมั่นว่า ของแท้ไม่มีราคาถูก ของแท้ไม่ลดราคา ของแท้ไม่มีของแถม

            แต่มองในทางกลับกัน เมื่อคุณเดินมาดูนาฬิกา no name ราคาถูก ต่อราคาได้ทุกครั้ง ลดราคาบ่อยมาก มีของแถมแจกกลับบ้าน หาซื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ความรู้สึกที่มีต่อสินค้าประเภทเดียวกันแต่คนละแบรนด์จะมีความแตกต่าง และนี่คือ ตัวอย่างการสร้างความศรัทธาให้กับแบรนด์ เป็นการสร้างความจงรักภักดีให้กับแบรนด์ด้วยความจริงนั่นเอง

            การใช้ความรักสร้างแบรนด์ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้กลยุทธ์ ลด แลก แจก แถมไม่ได้ แต่การทำอะไรก็ตามขอให้สิ่งๆ นั้นมาจากความรักอย่างแท้จริง แม้จะเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้น แต่ลูกค้าก็ยังคงสัมผัสได้ว่านั่นคือ ความรัก ซึ่งลูกค้าก้พร้อมจะให้อภัย และพร้อมที่จะให้โอกาสในการเริ่มต้นใหม่คือ...การเป็นลูกค้าประจำ

            การสร้างแบรนด์ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความจริงไม่ได้เริ่มต้นจากเงินทุนอันมหาศาล ไม่ได้เริ่มจากการใช้กลยุทธ์และยุทธศาสตร์ที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยม แต่เริ่มต้นจากนวัตกรรมทางความคิด และนวัตกรรมทางความคิดนั้น เป็นสิ่งที่มาจากความคิดอันสร้างสรรค์ และความคิดอันสร้างสรรค์นั้นจะเกิดขึ้นจากหัวใจที่มีความรักผู้อื่นเหมือนกับที่เรารักตัวเองเท่านั้น เราอาจเรียกนวัตกรรมแบบนี้ได้ว่า “นวัตกรรมจากความรัก”

-------------------------------------------------------

Love Ocean น่านน้ำแห่งความรัก: “ใช้ความรักเป็นการตลาด”

 

ความรักเป็นการตลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

 เพราะความรักคือ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

 

                ในยุคที่ธุรกิจมีความเข้มข้นทางการตลาด ทำให้การแข่งขันทางธุรกิจหลายๆ ครั้งนำมาซึ่งการแข่งขันสูง พ่อค้าและแม่ค้าหวังสร้างรายได้จากการตลาดที่ใช้กลยุทธ์ที่แฝงและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม จนหลายต่อหลายคน ทั้งพ่อค้าและแม่ค้าหลงลืมไปว่าการดำเนินธุรกิจที่แท้จริงนั้นทำเพื่ออะไร การมอบความรักและเอาใจใส่แก่ลูกค้า เป็นการเลี้ยงดูลูกที่ให้ทั้งความรักและความเอาใจใส่อย่างแท้จริง แต่ถ้าหากเป็นพ่อค้าและแม่ค้าที่เน้นการนำเอากลยุทธ์ต่างๆ มาหลอกล่อลูกค้าแล้วนั้น เปรียบเสมือนพ่อและแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยเงิน ซึ่งพ่อแม่กลุ่มนี้จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ความต้องการที่แท้จริงของลูกนั้นคืออะไร

 

                การตลาดที่แฝงและเต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ไม่อาจทำให้ธุรกิจยืนยาวและประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าใช้ความรักเป็นการตลาดเพื่อเข้าถึงและเข้าใจความต้องการของลูกค้า จะเปรียบเสมือนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยความรักความเข้าใจ แม้ลูกยังเล็กและยังพูดไม่ได้ แต่พ่อแม่จะสัมผัสได้ว่าลูกต้องการอะไร เพราะฉะนั้นวันนี้ในการทำการตลาด นักการตลาดจึงต้องคำนึงถึงความรักที่ลูกอย่างเราเคยได้รับจากพ่อแม่ แล้วนำความรู้สึกที่ได้รับจากพ่อแม่นั้นกลับไปใช้กับลูกค้า

 

                หมดยุค...เล่ห์เหลี่ยมการตลาด

            เล่ห์เหลี่ยมทางการตลาดคือ ระเบิดพลีชีพ เป็นเครื่องมือที่มีอายุสั้น ใช้งานได้ดีแต่เดี๋ยวเดียวลูกค้าจะเลิกฮิต!

 

                การลด แลก แจก แถม เป็นเพียงแค่เกมดึงดูดเงินในกระเป๋าลูกค้า เป็นกลยุทธ์ที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่อยู่ได้ไม่นาน แม้จะเพิ่มยอดขายได้จริง แต่หาก ไม่ลด ไม่แลก ไม่แจก ไม่แถม มีหรือลูกค้าจะสนใจ กลยุทธ์อย่างนี้เป็นการฆ่าตัวตาย เพราะเป็นการสร้างความสนใจให้แก่ลูกค้าเป็นระยะ เมื่อไหร่ที่มีกิจกรรมลูกค้าจะเข้า แต่เมื่อไม่มีกิจกรรมลูกค้าจะหายไป และรอเวลาให้จัดกิจกรรมขึ้นใหม่ลูกค้าจึงจะกลับมาอีกครั้ง คุณกำลังหลงผิดเพราะคุณไม่อาจดึงลูกค้าด้วยกิจกรรม ลด แลก แจม แถม ไปได้ตลอด

 

                และอีกด้านหนึ่งของการจัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ยังทำให้บริษัทต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย กำไรก็หดหาย เช่น วันนี้ถ้าเราขายราคาปกติใช้พนักงานหนึ่งคน แต่หากลดราคาสินค้าต้องเพิ่มเพิ่มงานเป็น 3 คน เนื่องจากมีลูกค้ามากกว่าช่วงปกติ การที่บริษัทต้องลดราคาลง ก็อาจจะทำให้บริษัทสามารถขายของได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ต้นทุนของบริษัทนั้นก็อาจจะสูงขึ้นอีกด้วย หรือการจัดโปรโมชั่นแบบลดสุดๆ เพื่อแย่งลูกค้า ก็ยิ่งเป็นการฆ่าตัวตายทางธุรกิจด้วยโปรโมชั่นแบบระเบิดพลีชีพแน่นอน

 

                โปรโมชั่นเกินเหตุ แม้เป็นการสร้างจุดขายที่ดึงดูดใจลูกค้าได้เป็นอย่างดี แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้จริง คุณกำลังเสียโอกาสทางธุรกิจไปเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสายการบินหนึ่ง “บินวันนี้ราคาไม่ถึง 100 บาท” เป็นแรงจูงใจลูกค้าได้ดี แต่เอาเข้าใจ ราคาตั๋วถูกบวกทั้งค่าภาษี ค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมแล้วไม่ต่างจากราคาปกติเท่าไหร่นัก หรือโปรโมชั่นจากห้างสรรพสินค้า “ไข่ไก่ ฟองละ 1 บาท” ลูกค้าตื่นตัวแห่พากันไปเข้าแถวเพื่อซื้อไข่ไก่ที่มีราคาถูกแสนถูก แต่เอาเข้าจริงกลับได้รับคำตอบว่าสินค้าหมดแล้วเพราะขายดีในเวลาอันรวดเร็ว อันที่จริงอาจไม่มีสินค้านี้อยู่จริงก็เป็นได้ แต่เพื่อเรียกลูกค้ามาเพื่อไม่เสียไปเวลาไปจับจ่ายซื้อของที่อื่น นี่คือกลยุทธ์ที่แยบยล แต่จะไม่เป็นผลดีกับธุรกิจในระยะยาว

 

                ใช้ราคาถูกเป็นจุดขาย...เท่ากับสร้างจุดตายทางธุรกิจ เป็นกลยุทธ์ที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมเป็นจุดขาย แต่หารู้ไม่ว่ามันเป็นจุดตายทางธุรกิจ เพราะยิ่งคุณลดราคาสินค้าเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดการลดคุณภาพสินค้ามากขึ้นเท่านั้น และกำไรที่ควรจะได้อย่างสมเหตุสมผลก็จะลดลง และในอีกทางคุณยังต้องเพิ่มสต๊อกสินค้าให้มากพอกับจำนวนลูกค้าที่คิดว่าจะเข้ามา คุณต้องเพิ่มจำนวนพนักงาน คุณต้องยอมรับกับต้นทุนที่สูงขึ้น ท้ายที่สุดแม้จะได้มาซึ่งจำนวนยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่กำไรต่อชิ้นน้อยลงและยังต้องเพิ่มการลงทุนเข้าไป คุณจะอยู่ได้อย่างไรในเมื่อธุรกิจเปรียบเสมือนสิ่งที่มีชีวิตที่หากไม่มีกำไรมาหล่อเลี้ยงก็เท่ากับธุรกิจหมดลมหายใจ

               

                ใช้ความรัก...เป็นการตลาด

                การขายเงินสด และงดให้สินเชื่อ เพื่อลดการทำบาป เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ช่วยให้ภาพลักษณ์ของพ่อค้าแม่ค้าไม่ดูเหมือนเป็นการเอาเปรียบลูกค้า เพราะการใช้กลยุทธ์สินเชื่อ แม้ผู้บริโภคได้สินค้าที่อ้างว่าจำเป็นต้องเอาไปใช้ก่อน แต่ความจริงรายได้ที่มีมันคงที่ หรือลูกค้าบางท่านมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุทางการเงินขึ้นลูกค้าจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้เงินมาผ่อนสินค้า หากไม่ใช่การกู้ยืมต่อไปเป็นทอดๆ

                นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจว่า การทำการตลาดไม่ใช่การเล่นด้วยสงครามราคาถูก แต่เป็นการสื่อสารด้วยความรัก ความใส่ใจ เอาชนะใจลูกค้าด้วยใจ การทำการตลาดต้องอย่าตามใจลูกค้า แต่ต้องมาจากการสื่อสารถึงเหตุผลที่แท้จริง และความรักไม่ใช่เป็นการตามใจ พ่อแม่เองต้องไม่ตามใจลูก แต่ต้องเลือกสรรสิ่งที่ดีๆ ให้กับลูก เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ค้าต้องคำนึกถึงความรักต้องการทำการสื่อสารที่ดีไปยังลูกค้า เพราะความรักจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการสื่อสาร

                 ความยั่งยืนของธุรกิจจะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาหลักความคิดที่มาจากความรัก เพราะความรัก คือสิ่งที่มนุษย์ (ตลาด หรือ ลูกค้า) ต้องการ

Love Ocean น่านน้ำแห่งความรัก “ใช้ความรัก... รักคู่แข่ง เป็นเพื่อนคู่คิด”

 

คู่แข่งไม่ใช่ศัตรู แต่ศัตรูและคู่แข่งที่แท้จริง คือ “ความบาปในตัวเราเอง”

 

“วันนี้ธุรกิจของคุณกำลังแข่งขันกับอะไร” คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนไม่ลังเลที่จะให้คำตอบว่า... “แข่งขันคู่แข่งไงล่ะ” และต่อจากนั้นก็คงจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “คู่แข่งเป็นตัวการที่จะแย่งลูกค้า ทำให้ลูกค้าของเราน้อยลง หรือทำให้ยอดขายเราก็น้อยลง”

                ลองกลับมาถามตัวเองสักนิด หากคุณมีความคิดเช่นนี้ คุณกำลังมีจิตใจริษยาอยู่หรือไม่ เพราะความเป็นจริงของการทำธุรกิจนั้น คุณต้องมองที่ความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ และก็พยายามทำธุรกิจของคุณให้ตอบโจทย์กับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่าน ลูกค้าจะรู้สึกอย่างไร เมื่อเห็นการแข่งขันอย่างดุเดือดทางธุรกิจ นั้นมีเงินในกระเป๋าลูกค้าเป็นเดิมพัน

                ในวันนี้หากถามว่า ธุรกิจของคุณต้องการการแข่งขันหรือต้องการการพัฒนาเพื่อลูกค้ามากกว่ากัน ไม่ว่าคุณจะมีคำตอบอย่างไร ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าคุณรู้จักตัวเองว่า คุณนั้นอยู่ในฐานะนักธุรกิจไม่ใช่นักกีฬาที่จะต้องเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า มากกว่าการแข่งขัน

                การปรับทัศนะคติเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจใหม่ คือ สิ่งที่คุณเรียกว่า “คู่แข่ง” หรือผู้ที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมสายเดียวกับคุณไม่มีตัวตน คุณจะมีการพัฒนาธุรกิจของคุณเองได้อย่างไร และหากไม่มีคู่แข่ง คุณจะพบจุดอ่อนของคู่แข่งแล้วนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งของธุรกิจคุณได้อย่างไร ดังนั้นคู่แข่งจึงเปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดมากกว่า

                ดังนั้น คู่แข่งจึงไม่ใช่ศัตรู แต่ศัตรูที่แท้จริง คือความบาปในตัวเราก็คงไม่ผิด และหากคู่แข่งจะมองเราเป็นศัตรูก็ตาม แต่การรักศัตรูให้เหมือนกับที่เรารักพ่อแม่ของเราได้นั้นก็จะสามารถชนะคู่แข่งขันได้ เพราะความรักนั้นสามารถชนะได้ทุกสิ่ง และความรักนั้นจะพาเราไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อนด้วย

                จึงไม่มีความจำเป็นหากคุณจะต้องเฝ้ามองธุรกิจของคู่แข่งที่ดำเนินไปพร้อมๆกับคุณ ด้วยความอคติ แต่จงเปลี่ยนมามองคู่แข่งให้เป็นเสมือนเพื่อนร่วมสายงาน ให้ความรักกับคู่แข่งเหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดแล้ว การดำเนินธุรกิจด้วยการมองไปที่ลูกค้าโดยมองหาความจริงด้วยความรักว่า ลูกค้าต้องการอะไร แล้วพัฒนาธุรกิจ สร้างกระบวนการวิจัยธุรกิจ  (Business Research Methodology) และการวิจัยตลาด (Marketing Research) จะทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่คู่แข่งตามไม่ทันอยู่แล้ว การดำเนินธุรกิจจึงไม่จำเป็นต้องคิดร้ายหรือคิดในแง่ลบกับคู่แข่งให้เป็นความบาปในตัวเรา

                คู่แข่งคือ มิตรภาพที่ยั่งยืน

                คำว่าการแข่งขัน ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะเกิดขึ้น หากในวันนี้เราใช้คำคำนี้กับธุรกิจ ไม่ธุรกิจของคุณหรือธุรกิจของคู่แข่งย่อมต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะและอีกฝ่ายหนึ่งต้องพ่ายแพ้ แต่ถึงผลจะออกมาอย่างไรธุรกิจก็ยังต้องดำเนินต่อไป วันใดวันหนึ่งผู้พ่ายแพ้ในครั้งนั้นจะซุ่มซ้อมและกลายมาเป็นศัตรูของผู้ที่เคยชนะก็เป็นได้

                ฉะนั้น เราควรมองในความเป็นจริงที่ธุรกิจควรกระทำคือ การมุ่งมองไปยังความต้องการของลูกค้าและตอบสนองสิ่งนั้นให้ได้ อย่ามองเรื่องการแข่งขันให้เป็นจุดสำคัญของธุรกิจ เพราะคู่แข่งที่อาจมองว่าเป็นศัตรูทางการค้านั้นไม่สามารถดึงลูกค้าไปจากเราได้ทั้งหมด และเราเองก็ไม่สามารถไปแย่งลูกค้าจากใครมาได้ทั้งหมดเช่นกัน ลองคิดดูว่า หากคู่แข่งของเรานั้นตายไป หรือธุรกิจของเขาต้องดับลง ลูกค้าทั้งหมดจะโอนมาซื้อของจากธุรกิจของเราหรือไม่ ไม่เลย แต่การหลีกหนีจากการแข่งขันและใช้ความรักในการพัฒนาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้ธุรกิจของเรานั้นยั่งยืนมากขึ้น

                ขอแค่คุณมองคู่แข่งเป็นเพื่อนร่วมชะตาเดียวกันเถิด หรืออีกนัยหนึ่ง ปรับมุมมองจาก การแข่งขัน มาเป็นการแบ่งปัน จะดีกว่าที่จะต้องมาใช้คำว่าแข่งขันให้เกิดความบาป ความโลภ ความหลง กิเลส และตัณหา กับตัวเรา

               

Love Ocean น่านน้ำแห่งความรัก “ใช้ความรัก…รักคู่ค้าเป็นเพื่อนร่วมทาง”

 

ใช้ความรัก…อยู่เหนือการต่อรอง

 

                คู่ค้า ยังเป็นอีกคนกลุ่มหนึ่งที่คุณต้องให้ความสำคัญใช่หรือไม่

หลายคนดำเนินธุรกิจโดยหวังผลกำไรเป็นที่ตั้ง มีกลยุทธ์พิชิตใจลูกค้ามากมายที่ทำให้ได้มาซึ่งยอดขายที่น่าพอใจ โดยคิดแค่ว่ามีเพียงลูกค้าและกำไรที่มากพอเลี้ยงธุรกิจไปได้เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว หากคุณมีความคิดเช่นนี้ คุณคงต้องกลับมาทบทวนใหม่อีกครั้งว่า ในสายธุรกิจที่คุณกำลังทำอยู่นั้น มีใครบ้างที่คุณควรให้ความรัก และความสำคัญนอกเหนือจากการเอาใจลูกค้าเพื่อแสวงหาผลกำไรจากคนกลุ่มนี้แต่เพียงอย่างเดียว

คู่ค้า หมายถึง ผู้ที่นำเอาสินค้ามานำเสนอเพื่อให้เรานำไปจำหน่ายต่อ หรือเป็นผู้ที่นำเอาสินค้าของเราไปจำหน่ายต่อ เป็นส่วนสำคัญทางธุรกิจส่วนหนึ่ง ที่มิอาจจะจับแยกออกไปได้อย่างเด็ดขาด เพราะคู่ค้าเปรียบเสมือนเพื่อร่วมทางทางการค้า เป็นเพื่อนที่จะพากันไปหาขุมทรัพย์อันมหาศาลที่ใช้เท่าไหร่ก็ใช้ไม่หมด แต่ยิ่งใช้ก็ยิ่งเพิ่มปริมาณ

ดังนั้นบนเส้นทางธุรกิจที่คุณดำเนินอยู่ในปัจจุบันนั้น ความเป็นจริงคุณไม่ได้เดินอย่างโดดเดี่ยวหรือเดินอยู่ตามลำพัง แต่ยังคุณยังมีคู่ค้า ที่เป็น Partner หรือ Supplier ที่เป็นเพื่อนร่วมทางและพร้อมที่จะเผชิญกับการแข่นขันร่วมกับคุณด้วยเสมอ บุคคลกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญไม่แพ้กับกับลูกค้าที่นำรายได้มาให้กับคุณ จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่คุณจะใช้ความรักกับคู่ค้า เปรียบดังที่พ่อแม่มีความรักความเอ็นดูกับลูก

 

ใช้ความรัก อยู่เหนือการต่อรอง

หากคุณเป็นผู้ผลิตสินค้า แล้วคุณมีลูกค้า 2 ราย

รายที่ 1 กดราคาสินค้า ขอส่วนลด ขอของแถม ขอของขวัญทุกเทศกาล จ่ายเช็คก็ช้า เช็คก็จ่ายลงวันที่ล่วงหน้าเป็นเดือน และแถมยังมีลูกเล่นอีกนานัปการ

รายที่ 2 ต่อรองราคาอย่างสมเหตุสมผล จ่ายเงินสด

คำสำคัญ (Tags): #love ocean
หมายเลขบันทึก: 478684เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท