Enterprise Wide Risk Management


EWRM

Enterprise Wide Risk Management (EWRM) หรือการบริหารความเสี่ยงโดยองค์รวมนั้น เป็นวิธีการบริหารความเสี่ยงในปัจจุบัน ซึ่งหลายองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น องค์กรบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือแม้กระทั่วหน่วยงานของราชการหลายแห่งเลือกใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

 

                หากเรานิยามถึง ความเสี่ยง ความเสี่ยงอาจหมายความถึง ภาวะคุกคาม ปัญหา อุปสรรค หรือการสูญเสียโอกาส ซึ่งมีผลทำให้องค์กรไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ซึ่งวัตถุประสงค์ขององค์กร คือ การสร้างมูลค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการให้มีค่าสูงที่สุด (Stakeholders Value Creation Maximization) โดยผู้ที่มีส่วนได้เสียนั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะผู้ถือหุ้นสามัญเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่มีส่วนได้เสียกับบริษัทรายอื่น ๆ ด้วย เช่น เจ้าหนี้ ผู้ถือพันธบัตร ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งแต่เดิมนั้นเรามักจะมองว่าวัตถุประสงค์ของบริษัทนั้เป็นเพียงการสร้างมูลค่าสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น (Wealth Maximization) เท่านั้น และการสร้างมูลค่าของกิจการให้สูงสุดนั้น องค์กรจะต้องดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) อย่างต่อเนื่องตลอดไป

 

นอกจากนี้ความเสี่ยงนั้นยังก่อให้เกิดผลเสียหายต่อองค์กรทั้งในทางกลยุทธ์ การปฏิบัติงาน การเงิน และการดำเนินธุรกิจขององค์กร อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

 

                Enterprise Wide Risk Management (EWRM) หรือ การบริหารความเสี่ยงโดยองค์รวม หมายถึง การบริหารปัจจัยและควบคุมกิจกรรมขององค์กร รวมทั้งกระบวนการปฏิบัติงานต่าง ๆ โดยต้องพยายามที่จะลดมูลเหตุของแต่ละโอกาสที่เกิดขึ้นแล้วจะทำให้องค์กรเกิดความเสียหาย การโดยทำให้ระดับความเสี่ยงและขนาดของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้อยู่ในระดับที่ สามารถยอมรับได้ ประเมินได้ ควบคุมได้ และตรวจสอบได้อย่างมีระบบ โดยคำนึงถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นสำคัญ

               

                กระบวนการบริหารความเสี่ยงของบริษัทสามารถกำหนดเป็นขั้นตอน 8 ขั้นตอน ได้ดังนี้

 

กำหนดวัตถุประสงค์

-ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการบริหารความเสี่ยงขององค์กร

การระบุความเสี่ยง

- เป็นการรบุถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อองค์กร

การประเมินความเสี่ยง

- ระบุถึงโอกาสของปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ว่ามีโอกาสเพียงใด

การจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยง

- วางแผนป้องกันหรือลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

การศึกษาถึงผลกระทบ

และการจัดทำแผนป้องกัน

- ระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อกิจการ ว่ามีความร้ายแรงเพียงใด

การรายงานและติดตามผล

- ศึกษาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการป้องกันความเสี่ยง

การประเมินผลแผนการบริหารความเสี่ยง และแก้ไขแผนในการป้องกันความเสี่ยง

สภาพแวดล้อมของการควบคุม

                การกำหนดกรอบแนวทางในการป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงนี้ เป็นวิธีการหรือหลักการของ COSO หรือ The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO)

การกำหนดสภาพแวดล้อมทั่วไป (Internal Environment) เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการในการจัดการกับความเสี่ยง เป็นการเตรียมการเพื่อตรวจสอบดูว่า องค์กรที่จะมีการบริหารความเสี่ยงนั้นมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด มีการเตรียมการในการจัดการกับความเสี่ยงอยู่ในระดับใด เป็นต้น

 

การกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective Setting) เป็นปัจจัยที่ผู้ทำหน้าที่ในการบริหารความเสี่ยงหรือบริษัท จะต้องทำการกำหนดวัตถุประสงค์ของการบริหารความเสี่ยง โดยกำหนดถึงความต้องการในการบริหารความเสี่ยง และกำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดการบรรลุในการบริหารความเสี่ยง เช่น บริษัทอาจกำหนดวัตถุประสงค์ในการบริหารความเสี่ยงของบริษัท คือ การแก้ไขความเสี่ยงอันจะเกิดขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของราคาวัตถุดิบ อัตราดอกเบี้ย ฯลฯ และระบุด้วยว่าต้องการที่จะบริหารความเสี่ยงดังกล่าวนั้นจำนวนเท่าใด พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายที่จะต้องการบรรลุของบริษัท

 

                การระบุความเสี่ยง (Risk Identification) เป็นขั้นตอนที่ทำหน้าที่ในการระบุถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อองค์กรหรือบริษัท เช่น องค์กรที่ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จะมีปัจจัยเสี่ยง คือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ไม่แน่นอน การขนส่งสินค้าอาจเกิดอัตราย ลูกค้าในต่างประเทศอาจผิดนัดชำระ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของแต่ละองค์กรก็จะเกิดความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทขององค์กร และขนาดขององค์กร เพราะประเภทขององค์กรที่แตกต่างกันจะมีความเสี่ยงในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ธุรกิจผู้ผลิตสินค้า ก็จะมีความเสี่ยงแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นธุรกิจบริการ รหือธุรกิจซื้อมาขายไป ก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป

 

                การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) ในขั้นตอนนี้เป็นอีกขึ้นตอนหนึ่งที่สำคัญ เพราะการที่บริษัทหรือองค์กรใด ๆ จะเลือกวิธีใดในการป้องกันความเสี่ยง บริษัทนั้นจะต้องทราบถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีโอกาสในการเกิดขึ้นเท่าใด เพื่อที่จะได้เลือกใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงได้ถูกต้อง เพราะวิธีการแต่ละวิธีในการป้องกันความเสี่ยงนั้น มีต้นทุนและวิธีการที่แตกต่างกัน การเลือกวิธีการหรือแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงที่ถูกต้องจะทำให้บริษัทเกิดความสมดุลย์

 

                การตอบสนองต่อความเสี่ยง (Risk Response) หลังจากที่บริษัททำการประเมินปัจจัยเสี่ยงทีละปัจจัย ว่าปัจจัยใดจะมีผลกระทบมากน้อยต่อองค์กรเพียงใด ปัจจัยที่มีผลกระทบมากจะได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบน้อย นั้นก็ไม่สามารถละเลยได้เช่นกัน แต่การศึกษาถึงผลกระทบนี้จะทำให้ธุรกิจทราบว่าแต่ละปัจจัยเสี่ยงจะมีผลกระทบต่อองค์กรร้ายแรงเพียงใด ผู้บริหารจะนำขั้นตอนนี้ไปใช้ในการประกอบการตัดสินใจ เพราะการบริหารความเสี่ยงนั้นบางครั้งมีต้นทุนที่สูง ถ้าหากนำมาใช้กับความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อธุรกิจน้อย อาจเกิดความไม่คุ้มค่ากับการลงมือบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ดังนั้นการตอบสนองต่อความเสี่ยงจึงจำเป็นจะต้องมีวิธีการในการจตอบสนองต่อความเสี่ยง โดยการตอบสนองต่อความเสี่ยงนั้นอาจมีวิธีการได้หลากหลยวิธี เช่น การจัดการความเสี่ยงตามแนวทางของ 4 T’s คือ

                Take เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อองค์กร เพราะความเสี่ยงเหล่านี้อาจจะมีโอกาสในการเกิดขึ้นน้อย และหากเกิดความเสี่ยงเหล่านี้แล้ว ก็อาจจะมีผลกระทบต่อองค์กรไม่มากนัก ทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อาจมีต้นทุนในการจัดการสูงกว่าความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นไม่เกิดความคุ้มค่า

                Treat เป็นการแก้ไขความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยองค์กรจะต้องเลือกเอาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาช่วยในการบรรเทา หรือลดทอนความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การใช้เครื่องมือทางการเงิน ตราสารอนุพันธ์ เป็นต้น

                Transfer เป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังบุคคลที่สาม ซึ่งอาจเป็นบริษัทร่วมค้า บริษัทประกันภัยต่าง ๆ เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงขององค์กร

                Terminate เป็นการยุติการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ ขององค์กร ด้วยกิจกรรมเหล่านั้นอาจเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงมาก หากยังคงดำเนินกิจกรรมนั้นต่อไป องค์กรอาจได้รับผลเสียมากกว่าผลดี

 

                กิจกรรมควบคุม (Control Activities) เป็นขั้นตอนของการวางแผนในการบริหารความเสี่ยง และการลงมือปฏิบัติในการบริหารความเสี่ยงอย่างแท้จริง เพื่อการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นขั้นตอน ธุรกิจจะต้องมีการวางแผนการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ โดยมีการกำหนดถึงแผนการบริหารความเสี่ยงอย่างเป็นขั้นตอน ว่าความเสี่ยงใดจะต้องทำการบริหารก่อนหลัง แต่การบริหารความเสี่ยงนั้นจะไม่สามารถกระทำแต่เพียงอย่างเดียวโดยลำพัง หรือการบริหารความเสี่ยงนั้นไม่สามารถมองปัญหาเพียงแต่ปัญหาเดียวได้ (Silo View) การบริหารความเสี่ยงจะต้องมองภาพรวมขององค์กร และลงมือแก้ไขอย่างพร้อมเพียงกัน แต่อาจกำหนดเป็นขั้นตอนก่อนหลังได้

 

                การรายงานและติดตามผล (Information & Communication) เป็นการสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรได้รับทราบถึงแนวทางในการปฏิบัติงาน และการตอบสนองต่อความเสี่ยง รวมถึงศึกษาถึงผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร ว่าประสบความสำเร็จในการป้องกันความเสี่ยงเพียงใด และการป้องกันความเสี่ยงนั้นเป็นไปตามแผนหรือไม่

 

                ขั้นตอนสุดท้าย การประเมินผลแผนการบริหารความเสี่ยง และแก้ไขแผนในการป้องกันความเสี่ยง (Monitoring) เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการรายงานและติดตามผล ว่าแผนที่ได้วางไว้นั้นเป็นไปตามขั้นตอน และประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าหากการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแผนในการป้องกันความเสี่ยง ก็จะต้องมีการปรับแผนใหม่ เพื่อให้รองรับได้กับสถานการณ์จริง โดยการติดตามผลการบริหารความเสี่ยงนั้นอาจทำเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีก็ได้

เมื่อบริษัทได้ทำการประเมินความเสี่ยงเสร็จสิ้นแล้วนั้น ฝ่ายบริหารความเสี่ยงจะต้องดำเนินการเก็บรวบรวมข้อเสนอแนะ จากฝ่ายหรือแผนกต่าง ๆ ตลอดจนผู้รู้ในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรอย่างครบถ้วน เพื่อการวางแผนและการแก้ไขความเสี่ยงนั้นจะได้เกิดความถูกต้องและตรงประเด็น

 

                การดำเนินการวางแผนในการแก้ไขความเสี่ยงของบริษัท ฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทจะต้องแบ่งประเด็นความเสี่ยงออกเป็นหลายลักษณะ เพื่อความสะดวกในการประเมินและเลือกแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะความเสี่ยงทุกความเสี่ยงนั้นมีความสำคัญต่อธุรกิจ ซึ่งไม่อาจจะหลีกเลี่ยงการไม่ประเมินถึงความเสี่ยงชนิดใดชนิดหนึ่งไปได้ แต่ความเสี่ยงทุกชนิดอาจได้รับความสำคัญไม่เท่าเทียมกัน และบางชนิดอาจได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่บางชนิดอาจไม่ได้รับการป้องกันแก้ไขเลย อาจเป็นเพราะการแก้ไขป้องกันความเสี่ยงนั้นอาจไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

                การแก้ไขป้องกันและจัดการความเสี่ยงของบริษัท สามารถดำเนินการได้ดังนี้ คือ

                1. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Risk Avoidance) วิธีการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงในเบื้องต้น คือ เมื่อบริษัทพบว่ามีความเสี่ยงใดที่อาจจะเกิดขึ้น บริษัทอาจทำการแก้ไขป้องกันในเบื้องต้นได้ คือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้ความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้น โดยการหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินกิจกรรมในกรณีที่กิจกรรมนั้นมีความเสี่ยง เพราะการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นอาจทำให้บริษัทเกิดความเสี่ยงในระดับที่อาจไม่สามารถยอมรับได้ หรือหากต้องการที่จะทำการป้องกันความเสี่ยง ก็อาจไม่คุ้มค่า ด้วยต้นทุนในการป้องกันความเสี่ยงนั้นมีมูลค่าที่สูงมาก

 

                2. การถ่ายโอนความเสี่ยงให้แก่ผู้อื่น (Risk Transfer) เป็นอีกวิธีของการป้องกันความเสี่ยง คือ การถ่ายโอนความเสี่ยงไปยังบุคคลที่ 3 การถ่ายโอนความเสี่ยงประเภทนี้เป็นประเภทที่เรามักจะรู้จักกันเป็นอย่างดี คือ การประกันภัย เช่น หากบริษัทเกรงว่าจะเกิดอัคคีภัยแล้วทำให้บริษัทเกิดความสูญเสีย บริษัทจะถ่ายโอนความเสี่ยงดังกล่าวไปยังบริษัทประกันภัย โดยการทำประกันภัย ซึ่งการประกันภัยนั้นจะสามารถทำได้กับสินทรัพย์หลากหลายชนิด เช่น อาคาร รถยนต์ โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ และการประกันภัยนั้นนอกจากจะกระทำกับสินทรัพย์แล้ว ยังอาจป้องกันความผิดพลาดของการปฏิบัติงานของผุ้บริหารหรือพนักงานของบริษัทที่อาจผิดพลาดได้อีกด้วย

 

                3. การควบคุมความเสี่ยง (Risk Control) เป็นการควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงนั้นเกิดปัญหาลุกลาม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาต่อบริษัทในอนาคต โดยการควบคุมความเสี่ยงนี้อาจกระทำได้สองทางคือ การกำจัดความเสี่ยงออกไป และการลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

 

                3.1 การกำจัดความเสี่ยงออกไป (Risk Elimination) เป็นการกำจัดความเสี่ยงออกให้หมด โดยอาจทำได้โดยการยกเลิกกิจกรรมบางอย่างที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อบริษัท หรืออาจเป็นการใช้ตราสารอนุพันธ์ทางการเงินเพื่อกำจัดความเสี่ยง เช่นการกำจัดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การกำจัดความเสี่ยงของการผันผวนของราคาวัตถุดิบ หรือการกำจัดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนใด ๆ

 

                3.2 การลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น (Risk Minimization) เป็นกิจกรรมที่คล้ายกับการกำจัดความเสี่ยง แต่เป็นการลดทอนโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น การดำเนินมาตรการปลอดภัยไว้ก่อนในองค์กร หรือโรงงาน ก็จะทำให้จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมีจำนวนที่ลดลงได้

 

                4. การยอมรับความเสี่ยง (Risk Acceptance) เป็นทางเลือกที่บริษัทอาจเลือก ในกรณีที่การแก้ไขหรือป้องกันความเสี่ยงนั้นอาจมีต้นทุนสูงกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้น บริษัทจึงต้องยอมให้ความเสี่ยงเหล่านั้นเกิดขึ้น โดยที่ไม่ทำการป้องกันใด ๆ เพราะหากทำการป้องกันความเสี่ยงไปแล้วอาจเกิดความไม่คุ้มค่าได้

 

                Risk หรือความเสี่ยง หากเราแบ่งคำว่า Risk ออกเป็นตัวอักษร 4 ตัว คือ “R” “I” “S” และ “K” แล้ว เราอาจนิยามคำว่าว่าความเสี่ยงได้ใหม่ คือ “R” ใช้แทนคำว่า Return “I” ใช้แทนคำว่า Immunization “S” ใช้แทนคำว่า Systems และ “K” ใช้แทนคำว่า Knowledge

 

                Return หรือผลตอบแทน เป็นหัวใจที่สำคัญของธุรกิจ เพราะธุรกิจทุกธุรกิจนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องมีผลตอบแทนหรือมูลค่าเพิ่มให้กับผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทให้มีมูลค่าสูงที่สุด (Stakeholders Value Creation Maximization) แต่การที่ธุรกิจดำเนินกิจกรรมใดแล้ว เราไม่อาจมองแต่ผลตอบแทนได้แต่เพียงอย่างเดียว เพราะการที่ธุรกิจจะมีผลตอบแทนที่สูงนั้น ธุรกิจก็จะเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้นตามมา ดังคำกล่าวที่ว่าความเสี่ยงในการลงทุนนั้นยิ่งสูงเท่าไร ผลตอบแทนก็ยิ่งมากตามมาด้วย

 

                แต่การที่ธุรกิจจะตัดสินใจลงทุนในโครงการใด หรือจะดำเนินการตามธุรกรรมใดแล้ว ธุรกิจจะต้องประเมินว่าผลตอบแทนที่จะได้รับนั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

 

                Immunization หรือภูมิคุ้มกันความเสี่ยง ธุรกิจทุกธุรกิจจะต้องทำการประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจว่า หากสถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นธุรกิจจะได้รับผลเสียหายเท่าใด พร้อมทั้งประเมินถึงภูมิคุ้มกันของบริษัทที่มีด้วยว่า สามารถช่วยในการลดทอนความเสี่ยงได้เพียงใด หากบริษัทที่มีภูมิคุ้มกันสูง โอกาสของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นก็ค่อนข้างต่ำ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นจะได้รับการบรรเทา เช่น การที่ธุรกิจอาจพบกับปัญหาด้านยอดขายลดลงในอนาคต เพราะสภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศเกิดความไม่แน่นอน ปัญหาเช่นนี้อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจที่มีการขายสินค้าเพียงในประเทศอย่างเดียวเท่านั้น หากธุรกิจดังกล่าวมีการกระจายการขายไปยังหลายประเทศทั่วโลก เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งเกิดภาวะความไม่แน่นอนเกิดขึ้น บริษัทก็ยังคงสามารถขายได้ในประเทศอื่น ๆ การที่บริษัทมีการส่งออกสินค้าไปขายยังหลายประเทศ ก็ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันอย่างหนึ่งของธุรกิจ

 

                Systems หรือระบบในการควบคุมความเสี่ยง ธุรกิจจะต้องมีการจัดตั้งระบบเพื่อช่วยในการลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยระบบดังกล่าวจะต้องเริ่มตั้งแต่ มีการวัดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีการระบุปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยง รวมทั้งมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เพราะความเสี่ยงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาของการดำเนินธุรกิจ เราจึงไม่สามารถที่จะละเลยได้เป็นบางช่วงเวลา และระบบที่จัดทำขึ้นนี้จะรวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน

 

                Knowledge หรือความรู้ในการจัดการความเสี่ยง องค์ความรู้ในเรื่องของความเสี่ยงนี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนในองค์กรจะต้องเรียนรู้และศึกษาไปพร้อม ๆ กัน บุคลากรในบริษัทจะต้องมีทักษะทั่วไปที่จำเป็นในการจัดการกับความเสี่ยงในเบื้องต้น และควรที่จะมีความรู้ในองค์รวมเพื่อที่จะบริหารจัดการกับความเสี่ยงของบริษัทที่จะเกิดขึ้นได้ บริษัทควรมีการส่งเสริมให้พนักงานทุกคน มีการเรียนรู้และมีความตระหนักในเรื่องของความเสี่ยง เพื่อเป็นการลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวของบริษัท

 

                การบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนในองค์กรจะต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน หากขาดความเร่วมมือประสานงานกันอย่างดีแล้ว การลดหรือป้องกันความเสี่ยงขององค์กรนั้นจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

 

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #EWRM
หมายเลขบันทึก: 478677เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท