การบริหารความเสี่ยงเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ (Enterprise Risk Management: ERM)


ERM

การบริหารความเสี่ยง เครื่องมือที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ ที่ใช้ในการซื้อขายเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งการบริหารความเสี่ยงที่ผู้เขียนอธิบายในหลายตอนที่ผ่านมานั้นเป็นความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินเป็นสำคัญ แต่ในบริษัทต่าง ๆ นั้นการบริหารความเสี่ยงไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะความเสี่ยงทางการเงินเท่านั้น

 

                ในบริษัทต่าง ๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมีอยู่หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงทางธุรกิจ ความเสี่ยงทางการตลาด ความเสี่ยงในการดำเนินงาน ฯลฯ ซึ่งวิธีการในการประเมินความเสี่ยงและแนวทางในการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้อาจแตกต่างกันออกไป

 

                ดังนั้นการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจต่าง ๆ ในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างไปจากการบริหารความเสี่ยงในอดีต การบริหารความเสี่ยงไม่ใช่เป็นการบริหารเฉพาะด้านของธุรกิจอีกต่อไป แต่การบริหารความเสี่ยงในปัจจุบันจะต้องเป็นการบูรณาการความเสี่ยงทุกด้านเข้าด้วยกัน โดยการบริหารความเสี่ยงภายใต้แนวคิดของ Value-Based Enterprise Risk Management นั้นจะต้องเป็นการบริหารความเสี่ยง เพื่อช่วยลดความไม่แน่นอนของกิจการ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของกิจการไปด้วยอย่างพร้อมกัน

 

                ในอดีตเรามักจะมองวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจว่า เป้าหมายของการดำเนินธุรกิจเป็นการทำกำไรสูงสุดให้แก่บริษัท (Profit Maximization) แต่ต่อมาเมื่อแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป วัตถุประสงค์ของบริษัทจึงกลายเป็น การสร้างความมั่งคั่งให้แก่ผู้ถือหุ้น (Wealth Maximization) แต่ในปัจจุบันการมองเพียงความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะการที่ผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งในปัจจุบันสูง ไม่ได้เป็นการแสดงว่าในอนาคตจะมีความมั่งคั่งสูงเช่นเดียวกัน

 

                ดังนั้นวัตถุประสงค์ของบริษัทในปัจจุบันจึงเป็น การสร้างมูลค่าและมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของกิจการให้มีค่าสูงที่สุด (Stakeholders Value Creation Maximization) โดยดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และมีความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) อย่างต่อเนื่องตลอดไป

 

เพราะผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ของบริษัทในปัจจุบันนั้นไม่ใช่มีแค่เพียงผู้ถือหุ้นเท่านั้น แต่ผู้ที่มีส่วนได้เสียในธุรกิจนั้นประกอบได้ด้วย เจ้าของ (ผู้ถือหุ้น) เจ้าหนี้ ลูกค้า ประชาชนทั่วไป และพนักงานของบริษัท ดังนั้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียนั้น จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับความพึงพอใจสูงสุด มูลค่าเพิ่มของบริษัทจึงสูงสุด

 

การบริการความเสี่ยงจึงเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ ด้วยการบริหารความเสี่ยงนั้นค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ถึงแม้จะมีบางธูรกิจได้นำเอาการบริหารความเสี่ยงเข้ามาใช้ ก็ยังคงเป็นการบริหารความเสี่ยงเฉพาะด้านเท่านั้น การบริหารความเสี่ยงแบบเดิมนั้นเป็นการมองถึงความเสี่ยงเฉพาะด้าน ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ของความเสี่ยงเข้าด้วยกัน จึงทำให้การประเมินถึงค่าต่าง ๆ ของความเสี่ยงนั้นมีค่าที่ไม่ถูกต้อง

 

และสิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือ การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจของไทยในปัจจุบัน เน้นเฉพาะการป้องกันความเสียหายมากกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการ จึงเรียกได้ว่า การบริหารความเสี่ยงที่มีอยู่นั้น ไม่ได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการเป็นสำคัญ

 

                โดยทั่วไป ความเสี่ยงของธุรกิจ (Business Risk) อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ เกิดจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจ หรือเกิดจากกระบวนการดำเนินงานทางธุรกิจ ซึ่งสาเหตุหรือแหล่งที่มาของความเสี่ยงเหล่านี้มีบางอย่างที่เราอาจไม่สามารถที่จะบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นให้หมดไปได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยที่สามารถลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยการบริหารความเสี่ยงที่ดี

 

                ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจ (Business Environment Risks) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้จากหลายด้าน เช่น ปัจจัยทางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลง อัตราแลกเปลี่ยนเกิดการผันผวน อัตราดอกเบี้ยมีความไม่แน่นอน คู่แข่งขันปรับเปลี่ยนนโยบายการตลาด ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นของบริษัทเกิดปัญหา แหล่งเงินทุนในการดำเนินงานไม่สามารถจัดหาได้ อิทธิพลจากนโยบายสาธารณะหรือรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายในอนาคต ฯลฯ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกของบริษัท

 

                ความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการดำเนินงาน (Business Process Risks) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น กระบวนการผลิตไม่มีประสิทธิภาพ คุณภาพของสินค้าและบริการไม่ได้มาตรฐาน ระบบการจัดส่งสินค้าบกพร่อง ความปลอดภัยของระบบข้อมูลต่ำ ไม่มีแผนหลักในการดำเนินธุรกิจ กระแสเงินสดของบริษัทขาดมือ ระบบรายงานการเงินขัดข้อง ต้นทุนในการพัฒนาบุคลากรสูง บุคลากรย้ายงานบ่อย มีการฉ้อโกงภายในบริษัท ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นจากภายในของบริษัท

 

                เมื่อธุรกิจทราบถึงความเสี่ยงแต่ละชนิดแล้วนั้น การบริหารจัดการกับความเสี่ยงจะต้องไม่ทำแบบ Silo View คือ จะไม่บริหารจัดการความเสี่ยงแต่ละชนิดแยกออกจากกัน เพราะการที่แยกการบริหารความเสี่ยงออกเป็นหน่วยย่อย ๆ นั้น จะทำให้การขจัดความเสี่ยงออกจากบริษัทไม่สมบูรณ์ การบริหารความเสี่ยงของบริษัทในยุคสมัยใหม่ต้องทำแบบ Portfolio View คือ จะต้องบริหารความเสี่ยงทั้งระบบไปพร้อม ๆ กัน

 

ขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยงจึงต้องเริ่มจาก การวิเคราะห์ความเสี่ยงอิสระ (Silo View) แล้วจึงนำความเสี่ยงเหล่านี้มาวิเคราะห์รวมกัน (Portfolio View) และขั้นตอนของการดำเนินการบริหารความเสี่ยงนั้นสามารถกำหนดได้เป็นขั้น ๆ ดังนี้

 

                เริ่มวิเคราะห์ที่ตัวกิจการเองเป็นการเริ่มต้น (Internal Environment) คือ การจัดการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจของธุรกิจนั้นต้องเริ่มที่กิจการก่อนเป็นอันดับแรก หากกิจการหรือธุรกิจใดยังไม่มีการบริหารความเสี่ยง หรือมีแล้วแต่ยังไม่ชัดเจน จะต้องเริ่มทำโดยทันที เพราะความเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจตลอดเวลา แต่ความเสี่ยงเหล่านั้นสามารถบริหารจัดการได้ และถ้ากิจการสามารถบริหารความเสี่ยงเหล่านั้นได้เหมาะสม กิจการก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการจัดการกับความเสี่ยงได้อีก

 

                การบริหารความเสี่ยงของกิจการโดยทั่วไป จะต้องมีการพิจารณาถึงผลตอบแทนและความเสี่ยงตลอดเวลา เพราะการบริหารความเสี่ยงนั้นจะต้องคำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและผลตอบแทนควบคู่กันไป การที่เราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี แต่ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับนั้นต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นมีต้นทุนสูง การบริหารความเสี่ยงนั้นก็อาจไม่คุ้มค่า

 

                นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว การเริ่มจัดทำการจัดการบริหารความเสี่ยงของบริษัทต้องมีความชัดเจน บริษัทควรมีคณะกรรมการพิจารณาความเสี่ยง และมีผู้จัดการหรือผู้บริหารด้านความเสี่ยง (CRO: Chief Risk Officer) เพื่อรับผิดชอบดูแลด้านความเสี่ยงโดยตรง

 

                ขั้นตอนต่อมาเป็นการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการและนโยบายการบริหารความเสี่ยง (Objective Setting) การที่กิจการมีการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการนั้น เป็นการกำหนดถึงการวัดความเสี่ยงในทางอ้อมเช่นเดียวกัน คือ หากผลการดำเนินงานของกิจการพลาดไปจากเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ กิจการนั้นก็จะเกิดความเสี่ยง ดังนั้นการตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในขั้นตอนแรก ๆ ของการบริหารความเสี่ยง และเป็นสิ่งที่บริษัทจะต้องกำหนดใหชัดเจน เป็นรูปธรรม และสิ่งที่สำคัญคือ จะต้องสามารถวัดผลได้ มิฉะนั้นการประมาณการความเสี่ยงจะไม่สามารถดำเนินการได้

 

                ในขั้นตอนนี้กิจการจะต้องมีการกำหนดถึงความเสี่ยงที่พึงประสงค์ (Risk Appetite) หรือความเสี่ยงที่กิจการปรารถนาจะให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด อีกนัยหนึ่งก็คือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว กิจการสามารถยอมรับถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นได้ เช่น กิจการจะมีการค้ากับต่างประเทศ กิจการนั้น ๆ จะต้องทราบดีว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการทำการค้ากับต่างประเทศที่จะต้องเกิดขึ้นนั้นอาจมีหลายอย่าง เช่น ความเสี่ยงทางการเมือง ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระเงินค่าสินค้า ฯลฯ การกำหนดความเสี่ยงที่พึงประสงค์นี้ เป็นการกำหนดเพื่อให้กิจการทราบว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้น จะมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมการในการบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ

 

                อีกความเสี่ยงหนึ่งที่กิจการจะต้องทำการตั้งไว้ตั้งแต่การดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ คือ Risk Tolerance หรือความเสี่ยงที่กิจการพร้อมที่จะยอมรับได้ หรือความเสี่ยงสูงสุดที่กิจการสามารถรับได้ ตามที่ได้ตั้งไว้ใน Risk Appetite ที่กิจการเลือกไว้ตั้งแต่แรก เช่น ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กิจการอาจยอมรับได้ว่าการลงทุนหรือการทำการค้ากับต่างประเทศนั้นจะต้องมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่กิจการจะต้องมีขอบเขตหรือความจำกัดในการยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้กิจการเกิดการขาดทุนมากจนเกินไป เมื่อความเสี่ยงถึงจุดที่กิจการไม่สามารถยอมรับให้เกิดขึ้นได้ กิจการจึงต้องมีการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำสัญญา Forward ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศกับธนาคาร เป็นต้น

 

                ในขั้นตอนนี้ ไม่เพียงเฉพาะการกำหนดถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจการเท่านั้น แต่ยังมีความจำเป็นที่กิจการจะต้องกำหนดถึงนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

 

                การกำหนดนโยบายในการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจนั้น เป็นการกำหนดแนวทางของการบริหารความเสี่ยงให้ทุกหน่วยงานในบริษัทใช้เป็นหลักในการทำงาน การกำหนดนโยบายนี้สามารถทำได้โดย เริ่มต้นด้วยการประเมินความเสี่ยง ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นความเสี่ยงประเภทใด จะมีวิธีในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร เพื่อกำหนดถึงแนวทางในการบริหารความเสี่ยง แล้วจึงทำการกำหนดทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง ว่าทางเลือกในปารบริหารความเสี่ยงแบบใด จะมีต้นทุนในการบริหารเท่าใด และมีผลกระทบต่อต้นทุนของกิจการมากน้อยเพียงใด โดยคำนึงถึงผลได้ผลเสียของกิจการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ผลกระทบจะต้องทำการพิจารณาทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายในและจากภายนอกของกิจการด้วย

 

                เมื่อกำหนดทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงแล้ว กิจการจะต้องทำการตัดสินใจเลือกทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง โดยมีมาตรฐานในการพิจารณาคือ ให้ทางเลือกที่จะเลือกนั้นเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด มีต้นทุนน้อยที่สุด และมีผลกระทบต่อกิจการต่ำที่สุด  โดยการเลือกทางเลือกดังกล่าวจะต้องใช้เกณฑ์ในการพิจารณาเหล่านี้ควบคู่กัน

 

ขั้นตอนที่สามของการดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบ Enterprise Risk Management หรือ ERM นั้น คือ การระบุสาเหตุหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อกิจการ (Event Identification) เป็นการระบุสาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบกับกิจการ ทำให้ผลของการดำเนินงานแตกต่างไปจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ตั้งแต่เริ่มแรก

 

                สาเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและมีผลกระทบกับธุรกิจนั้น ได้แก่ การเติบโตของยอดขาย ต้นทุนการผลิตเกิดการเปลี่ยนแปลง ความพึงพอใจของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ ฯลฯ

 

                จากสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้ผลลัพธ์ที่ธุรกิจต้องการนั้นเกิดความแตกต่างไปจากเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้นั้น จะเห็นได้ว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจจะทำการบริหารจัดการแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป เพราะความเสี่ยงต่าง ๆ ที่ธุรกิจจะได้รับนั้นจะเป็นลักษณะที่เชื่อมโยงกัน และมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก การวิเคราะห์จึงควรเป็นแบบการวิเคราะห์เชิงบูรณาการ

 

                ขั้นตอนที่สี่ การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) เป็นขั้นตอนของการประเมินความสำคัญของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอีกขั้นตอนหนึ่ง ด้วยทรัพยากรอันจำกัดของบริษัท จึงทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทนั้นไม่สามารถบริหารจัดการได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน เพราะการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจนั้นจะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นตามชนิดของความเสี่ยง ซึ่งบางชนิดก็มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทจะต้องประเมินก่อนว่าความเสี่ยงใดเป็นความเสี่ยงที่ต้องรีบดำเนินการบริหารจัดการก่อนเป็นลำดับแรก ๆ

 

                ขั้นตอนที่ห้า การจัดการกับความเสี่ยง (Risk Response) เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการประเมินความเสี่ยง คือ เมื่อธุรกิจทราบว่าความเสี่ยงของตนนั้นมีอะไรบ้าง และแต่ละความเสี่ยงนั้นจะมีแนวทางในการจัดการให้ลดลงได้อย่างไรแล้วนั้น การเลือกที่จะจัดการกับความเสี่ยงนั้นมีอยู่ 4 ทางเลือก คือ

 

                1. ทางเลือกที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ (Avoid) หากกิจการเลือกทางเลือกนี้ กิจการจะไม่สามารถขจัดความเสี่ยงได้เลย จะทำให้เกิดต้นทุนการเสียโอกาสของบริษัท

                2. ทางเลือกที่จะหาพันธมิตรในการร่วมทำกิจกรรมลดความเสี่ยง (Share) ทางเลือกนี้จะช่วยให้กิจการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถลดโอกาสในการเกิดความผิดพลาด มีค่าใช้จ่าย และมีต้นทุนค่าเสียโอกาส เช่น การเลือกที่จะทำประกัน หรือ Syndicated Loans เป็นต้น

                3. ทางเลือกในการลดโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง (Reduce) เป็นการเฝ้าระวัง ดูแล ควบคุมให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ แต่ทางเลือกนี้อาจมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เสียเวลามากขึ้น

                4. ทางเลือกในการยอมรับ (Accept) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ธุรกิจอาจเลือก เพราะความเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในระดับต่ำ เช่น ภัยธรรมชาติ หรือภัยจากคู่แข่งขันทางธุรกิจในการแข่งขันแย่งลูกค้า เป็นต้น

 

ขั้นตอนที่หก เป็นขั้นตอนของการควบคุมความเสี่ยง (Control Activities) เป็นขั้นตอนของการที่ควบคุมไม่ให้ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้นเกินกว่าความเสี่ยงที่บริษัทควรจะรับได้ ในขั้นตอนนี้บริษัทจะต้องทำการปรับปรุงระบบการควบคุมความเสี่ยง ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมความเสี่ยง ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ของบริษัทที่เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ความเสี่ยงของบริษัทนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้

 

                ขั้นตอนที่เจ็ด การสื่อสารให้ข้อมูล (Information and Communication) เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดอีกขั้นตอนหนึ่ง เพราะว่าถ้าบริษัทมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดีเลิศเพียงใด แต่บริษัทนั้นขาดการสื่อสารกับพนักงานในองค์กร หรือขาดการให้ข้อมูลกับพนักงานในองค์กร เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทกำลังดำเนินการหรือกำลังเผชิญอยู่นั้น ระบบการบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่ดีเลิศนั้น ก็อาจไม่เกิดความสำเร็จได้

 

                ดังนั้นทุกคนในหน่วยงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทราบถึงกระบวนการของการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทดำเนินการอยู่ การรับรู้ถึงกระบวนการของพนักงานแต่ละคนนั้นจะได้รับทราบเท่าที่จำเป็นและที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานเท่านั้น นอกจากนี้การรับทราบถึงกระบวนการดังกล่าว จะทำให้พนักงานทุกคนทราบถึงบทบาทของตนเอง ตลอดจนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของตำแหน่งหน้าที่ของตนต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับหน้าที่ต่าง ๆ ของหน่วยงานอื่น เพื่อทำให้เข้าใจถึงภาพรวมของการบริหารความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น

 

                ขั้นตอนที่แปด การติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด (Monitoring) การติดตามผลการบริหารความเสี่ยงนั้นจะต้องกระทำโดยผุ้บริหารอย่างใกล้ชิด คอยสอดส่องดูแลในงานต่าง ๆ แต่ละงานอย่างละเอียด (Silo View) โดยทำการเปรียบเทียบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง ว่าแตกต่างไปจากการคาดการณ์มากน้อยเพียงใด หากความเสี่ยงเกิดขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผู้บริหารจะได้ทำการจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้ทันที นอกจากผู้บริหารจะติดตามงานบริหารความเสี่ยงแบบ Silo View แล้ว ผู้บริหารจะต้องบริหารในภาพรวมด้วย เพราะความเสี่ยงจะลดลงได้นั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารความเสี่ยงเชิงบูรณาการทั้งบริษัทพร้อมกัน

 

                การติดตามเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดนั้น จะเป็นการช่วยให้ผู้บริหารได้รับทราบปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว และจะได้มีการจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้ทันที

 

                กระบวนการของ Enterprise Risk Management (ERM) เป็นกระบวนการที่มีการทำงานแบบวนLoopคือ การเริ่มต้นของงานบริหารความเสี่ยง จะเกิดการวนเวียนอย่างต่อเนื่อง เมื่องานนั้นสิ้นสุดลง ก็จะเกิดการเริ่มต้นใหม่ วนเวียนไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด งานการบริหารความเสี่ยงนั้นจึงเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่เป็นเพียงการทำแบบลูบหน้าปะจมูกเท่านั้น

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #erm
หมายเลขบันทึก: 478675เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท