การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ


บริหารความเสี่ยง

                ในสัปดาห์ก่อน ๆ ผู้เขียนได้แนะนำถึงขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยงตามแนวทางของ COSO ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทอื่น ๆ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐบาล ฯลฯ กำลังให้ความสนใจในเรื่องของการบริหารจัดการความเสี่ยงกันมากขึ้น

 

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นกิจกรรมที่ทุกธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทได้ให้ความสำคัญในด้านการบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะการที่ธุรกิจจะลงทุนในสิ่งใดแล้ว ผลที่ธุรกิจต้องการก็คือผลตอบแทนสูงสุด หรือมีกำไรสูงสุด แต่การที่ธุรกิจจะมีกำไรสูงสุดหรือมีผลตอบแทนสูงสุดเท่านั้นยังคงไม่พอในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคปัจจุบัน การบริหารธุรกิจในปัจจุบันจะเน้นที่ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ เพราะการที่บริษัทมีกำไรที่มากหรือผลตอบแทนสูง ไม่ได้แสดงถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทจะได้รับผระโยชน์สูงสุดด้วย แต่หากมองในมุมที่กลับกัน ถ้าผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งดี แสดงว่าธุรกิจนั้นมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

 

                ความเสี่ยงของธุรกิจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งที่บริษัทคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้ตั้งแต่แรก เช่นบริษัทคาดว่าในปีนี้จะทำกำไรได้สูงกว่าปีอื่น ๆ แต่ผลการดำเนินการออกมาไม่เป็นไปดังที่คาดเอาไว้ แสดงว่าการคาดการณ์ของบริษัทนั้นมีความเสี่ยง สาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่ได้กำไรตามที่คาดการณ์ไว้นั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์ทางการตลาด ราคาวัตถุดิบ การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้การค้า ฯลฯ ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์ต่อไป

 

                ดังนั้นหากธุรกิจใดสามารถประมาณการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจนั้นก็จะสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทสามารถประเมินค่าความเสี่ยงได้แล้วนั้น บริษัทก็จะสามารถที่พยายามปรับลดค่าความเสี่ยงให้เข้าสู่ค่าความเสี่ยงที่บริษัทสามารถยอมรับได้ โดยการปรับค่าความเสี่ยงนั้น อาจทำได้โดยการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น ลดการสต๊อกสินค้าเกินความจำเป็น เพราะจะก่อให้เกิดความสูญเสีย เมื่อบริษัทเกิดอัคคีภัย หรือราคาสินค้าดังกล่าวนั้นมีราคาที่ลดลงในอนาคต หรือในทางกลับกัน บริษัทอาจเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้บริษัทสามารถปกป้องไม่ให้เกิดค่าเสี่ยงขึ้น เช่น การซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า การซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ฯลฯ

 

                การวัดหาค่าความเสี่ยงนั้น เราสามารถใช้เครื่องมือทางการคำนวณ เพื่อช่วยในการวัดหาค่าความเสี่ยงได้ เช่น ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าเบต้า (Beta) ฯลฯ

 

                หากเราจะเริ่มต้นในการวัดความเสี่ยงของธุรกิจอย่างง่าย ๆ เราคงต้องเริ่มพิจารณาจากการดำเนินธุรกิจในแต่ละวัน ว่าการทำธุรกิจในแต่ละวันนั้นมีความเสี่ยงเพียงใด และเราจะสามารถลดความเสี่ยงดังกล่าวได้หรือไม่  สมมติ หากเราเป็นธุรกิจประกอบร้านอาหาร ยอดขายในแต่ละวันนั้นจะมียอดขายที่ไม่สม่ำสมอ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของวัน เช่น ร้านอาหารมักจะขายดีในช่วงวันศุกร์ ถึงวันอาทิตย์ เพราะเป็นช่วงวันที่คนโดยทั่วไปนิยมใช้เป็นวันพบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสมัยเรียน ครอบครัว ฯลฯ แต่ในช่วงของวันจันทร์ ถึงวันพฤหัสบดี ร้านอาหารจะมียอดขายที่ต่ำกว่าช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดพิเศษในเทศกาลต่าง ๆ

 

                หากเราเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และวันที่เรากำลังจะพิจารณากันนั้นเป็นวันศุกร์ และเป็นวันสิ้นเดือน (เงินเดือนออก) การประมาณการของร้านอาหารโดยทั่วไป จะต้องประมาณการว่ากิจการในวันนี้จะต้องขายดี แต่การประมาณการยอดขายนั้นอาจไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ด้วยหลากหลายสาเหตุ เช่น สภาพภูมิอากาศ สภาพการจราจร ฯลฯ ดังนั้นความเสี่ยงของธุรกิจร้านอาหารอาจเกิดขึ้นได้โดย การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศ เช่น ในช่วงฤดูฝน หากฝนตกในวันใด วันนั้นจะมียอดขายต่ำกว่าปกติ

 

                ดังนั้นการประมาณการยอดขายในแต่ละวัน ตลอดจนผลกำไรในแต่ละวันของร้านอาหารจะต้องมีการประเมินขึ้น เพื่อประมาณการยอดขายแลผลกำไรในแต่ละวันที่ควรจะเป็น แต่ถ้าหากวันดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดฝนตกขึ้น การประมาณการยอดขายจะเปลี่ยนไปจากสภาวะปกติ ซึ่งการประมาณการนั้น โดยปกติยอดขายของร้านอาหารจะต้องต่ำว่าการที่มีสภาพภูมิอากาศปกติ

 

                จะเห็นได้ว่าเมื่อผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพภูมิอากาศ ร้านอาหารก็จะเกิดความเสี่ยงขึ้น เพราะรายได้และผลตอบแทนเกิดความไม่แน่นอนตามสภาพของภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ในสัปดาห์หน้าผู้เขียนจะอธิบายถึงกลไกการวัดความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางสถิติช่วยในการวัด ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจในวิธีการวัดความเสี่ยงอย่างง่าย

จากตัวอย่างในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ได้กล่าวถึงการบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ โดยยกตัวอย่าง กรณีที่เราเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร และกำลังจะพิจารณาถึงยอดขายของวันศุกร์สิ้นเดือน (วันเงินเดือนออก) โดยปกติการประมาณการขายในวันนี้จะต้องประมาณการว่า ร้านอาหารจะขายดีมาก แต่การประมาณการยอดขายนั้นอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หากวันใดฝนตก วันนั้นจะมียอดขายต่ำกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงขึ้น เพราะการลงทุนในร้านอาหารแต่ละวันนั้นมีทั้งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างคงที่ และค่าใช้จ่ายที่ผันแปรไปตามยอดขาย

 

                ค่าใช้จ่ายคงที่ของร้านอาหารที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ถึงแม้ร้านอาหารจะมียอดขายดีหรือไม่ก็ตาม ร้านอาหารจะต้องมีค่าใช้จ่ายเหล่านี้เกิดขึ้น เช่น ค่าเช่าร้านอาหาร ค่าเช่าที่จอดรถยนต์ ค่าแรงพนักงาน ฯลฯ สำหรับค่าใช้จ่ายผันแปรนั้นจะผันแปรเปลี่ยนไปตามยอดขาย หากขายมากขึ้นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็จะสูงขึ้น เช่น ค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ค่าเครื่องดื่มต่าง ๆ ค่าเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารฯลฯ

 

                เมื่อยอดขายจะเกิดการผันแปรไปตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลตอบแทนของร้านอาหารในวันดังกล่าวนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน ความเสี่ยงของธุรกิจก็จะเกิดขึ้น เพราะรายได้และผลตอบแทนของการประกอบการในวันนั้นเกิดความไม่แน่นอนขึ้น

 

                หากสมมติเหตุการณ์เป็นตัวเลขจำนวนเงิน เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าในในภาพรวมมากยิ่งขึ้น จึงขอสมมติให้ การประกอบธุรกิจร้านอาหารโดยทั่วไปแล้วนั้น ร้านอาหารที่ประกอบการอยู่จะมีกำไรในวันศุกร์สิ้นเดือนเป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท จำนวนกำไรดังกล่าวนี้เจ้าของร้านอาหารจะต้องเป็นผู้ทำการประมาณการขึ้น โดยอาศัยจากข้อมูลหรือประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ว่ามียอดขายในวันที่มีลักษณะดังกล่าวอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามยอดขายนี้อาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะเป็นเพียงการประมาณการเท่านั้น

 

                สาเหตุที่จะทำให้ยอดขายเกิดความคลาดเคลื่อนได้มากที่สุดตามเหตุการณ์ข้างต้น คือ สภาพภูมิอากาศ เพราะถ้าหากฝนตก ยอดขายของร้านอาหารจะมีจำนวนที่ลดลง และจะทำให้ผลตอบแทนนั้นมีจำนวนที่ลดลงด้วยเช่นกัน สมมติให้กำไรในวันศุกร์สิ้นเดือน และเป็นวันที่ฝนตก มีจำนวน 10,000 บาท เนื่องจากธุรกิจมีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก และการประมาณการผลกำไรของวันที่ฝนตกนี้ก็มาจากประสบการณ์ในอดีตเช่นเดียวกัน

 

                การประมาณการผลกำไรในวันนี้ จึงขึ้นอยู่กับโอกาสที่ฝนจะตก หากเจ้าของร้านฟังการพยากรณ์ภูมิอากาศจากกรมอุตนิยมวิทยา พบว่า มีการพยากรณ์ถึงสภาพภูมิอากาศในเขตกรุงเทพมหานครว่า จะมีโอกาสฝนตกร้อยละ 60 หากเราพิจารณาจากการพยากรณ์ดังกล่าว แสดงว่าโอกาสที่ฝนจะไม่ตกนั้นคิดเป็นร้อยละ 40 ของโอกาศทั้งหมด

 

การประมาณการผลกำไรของร้านอาหารวันนี้จึงทำได้โดย นำเอาโอกาสของการเกิดฝนตกแต่ละเหตุการณ์คูณกับผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละเหตุการณ์ แล้วนำผลลัพท์ที่ได้ทั้งหมดมาบวกเข้าด้วยกัน คือ (50,000 x 0.40) + (10,000 x 0.60) = 20,000 + 6,000 = 26,000 บาท

 

หากเราเป็นเจ้าของร้านอาหารนี้ จะสามารถประมาณได้ทันทีว่า ถ้าวันนี้เปิดร้านอาหารขายตามปกติ จะมีผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในวันนี้ 26,000 บาท แต่ทั้งนี้การประมาณดังกล่าวอาจจะยังไม่มีความแน่นอนเท่าใดนัก เพราะผลตอบแทนหรือกำไรที่จะได้รับจริงนั้นอาจจะได้รับมากกว่า 26,000 บาทก็ได้ หรืออาจจะได้รับน้อยกว่านั้นก็ได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้หากความไม่แน่นอนนั้นเกิดขึ้นมากเท่าใด ความเสี่ยงของกิจการก็จะเกิดมากขึ้นเท่านั้นด้วย เพราะความเสี่ยงจะเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่แน่นอนของผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับเกิดขึ้น ตามหลักการทางสถิตินั้น การวัดค่าความไม่แน่นอนของผลตอบแทนนั้นสามารถทำได้โดย การวัดค่าความแปรปรวน (Variance) หรือค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) หากเราทำการคำนวณหาค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานแล้วจะพบว่า ธุรกิจร้านอาหาร ณ วันนี้จะมีค่าความเบี่ยงเบน 19,595.91 บาท (ผู้เขียนขอละวิธีการคำนวณเอาไว้ ซึ่งหากมีโอกาสในภายหน้าผู้เขียนจะอธิบายต่อไป) ซึ่งเป็นความเบี่ยงเบนที่มีค่ามากพอควร เพราะรายได้ของร้านอาหารอาจเกิดการเบี่ยงเบนไปจากค่าที่ประมาณการไว้ 26,000 บาท คืออาจจะมากกว่าที่ประมาณไว้ 19,595.91 บาท หรืออาจจะน้อยกว่านั้น 19,595.91 บาทได้เช่นกัน ดังนั้นการที่ธุรกิจจะมีความไม่แน่นอนมากเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานว่ามีขนาดใหญ่เพียงใด ถ้าค่าเบียงเบนมาตรฐานสูง ก็แสดงว่าโอกาสของการมีกำไรและขาดทุนก็จะสูงด้วยเช่นเดียวกัน

จากตัวอย่างการบริหารความเสี่ยงเบื้องต้นในตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเรื่องของกรณีที่สมมติว่าเราเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งกำลังจะพิจารณาถึงยอดขายของวันศุกร์สิ้นเดือน (วันเงินเดือนออก) เมื่อยอดขายจะเกิดการผันแปรไปตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลตอบแทนของร้านอาหารในวันดังกล่าวนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การประมาณการผลตอบแทนในแต่ละวันเกิดความไม่แน่นอน ความเสี่ยงทางธุรกิจจึงเกิดขึ้น

 

                เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้สมมติสถานการณ์ดังนี้ ธุรกิจร้านอาหารได้ประมาณการผลตอบแทนในรูปของกำไรเป็นเงิน 50,000 บาท ในกรณีวันเงินเดือนออกและเหตุการณ์ปกติ และคาดว่าถ้าเป็นวันที่ฝนตก จะมีกำไรเป็นจำนวนเงินเพียง 10,000 บาท เนื่องจากธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมากในแต่ละวัน หากวันที่จะพิจารณามีโอกาสฝนตกร้อยละ 60 แสดงว่าโอกาสที่ฝนจะไม่ตกนั้นคิดเป็นร้อยละ 40 ของโอกาสที่เป็นไปได้ทั้งหมด

 

                จากเหตุการณ์ดังกล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้ทำการประเมินค่าผลตอบแทนที่คาดหวังของการดำเนินธุรกิจในวันดังกล่าวว่าจะมีผลตอบแทนที่คาดหวังไว้ เท่ากับ 26,000 บาท และมีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เท่ากับ 19,595.91 บาท ซึ่งเป็นความเบี่ยงเบนมาตรฐานที่มีค่าค่อนข้างสูง เพราะอาจทำให้การคาดการณ์นั้นอาจมีผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน ถ้าหากเราพิจารณาโดยใช้ค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพิ่มขึ้นและลดลงจากผลตอบแทนที่คาดหวัง (หมายถึงให้นำค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำไปบวกและลบออกจากผลตอบแทนที่คาดหวังจำนวน 1 ครั้ง) จะทำให้การประมาณการผลตอบแทนเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น

 

                การกระทำการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจำนวน 1 ครั้งนั้น จะทำให้การคาดการณ์ของผลตอบแทนในวันดังกล่าวอาจมีค่าเป็นไปได้ตั้งแต่ 26,000 – 19,595.91 = 6,404.09 บาท จนกระทั่ง 26,000 + 19,595.91 = 45,595.91 บาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นตามหลักการทางสถิติ จะพบว่าการที่เรานำเอาค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานไปเพิ่มขึ้นหนือลบออกจากผลตอบแทนที่คาดหวังจำนวน 1 ครั้งนั้น การคาดการณ์ดังกล่าวนั้นอาจมีความถูกต้องเพียงประมาณ 68% ของความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ทั้งหมด

 

หรืออาจกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าผลตอบแทนที่คาดการณ์ว่าจะได้รับในวันนี้เป็นไปได้ตั้งแต่ 6,404.09 บาท ไปจนถึง 45,595.91 บาท แต่โอกาสในการคาดการณ์เช่นนี้มีโอกาสที่จะประมาณได้ถูกต้องเพียงร้อยละ 68 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเรายังมีโอกาสที่จะทายผลตอบแทนในวันนี้ได้ผิดพลาดถึงประมาณร้อยละ 32 ซึ่งยังถือว่าเป็นความผิดพลาดที่มีโอกาสสูงมาก ๆ

 

เราจะมีวิธีการในการลดความผิดพลาดดังกล่าวให้น้อยลงได้อย่างไร เพราะหากโอกาสการผิดพลาดในการประมาณการยิ่งสูงเท่าไร ก็จะส่งผลให้ความเสี่ยงของธุรกิจนั้นสูงยิ่งขึ้นไปด้วย วิธีการทางสถิติได้มีการทำการคำนวณไว้ว่า หากเราบวกหรือลบด้วยค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานจำนวน 1 ครั้ง จะทำให้โอกาสของการคาดการณ์นั้นจะถูกต้องประมาณร้อยละ 68 แต่ถ้าหากเราเพิ่มและลดอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานไปเป็นจำนวน 2 ครั้ง จะทำให้การประมาณการนั้นเกิดความแน่นอนเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีโอกาสทำนายได้ความถูกต้องถึงประมาณร้อยละ 95 ซึ่งอยู่ในระดับที่ธุรกิจพอจะยอมรับกับโอกาสความผิดพลาดในการทำนายได้ เพราะโอกาสความผิดพลาดนั้นจะเหลือเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น

 

                จากกรณีศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากธุรกิจใดมีค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงมากเท่าใด ความเสี่ยงของธุรกิจยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน เพราะหากค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่าสูง ก็จะทำให้การบวกและลบด้วยอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานออกจากผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นมีค่าที่มากขึ้น เพราะผลตอบแทนที่คาดหวังไว้จะเกิดความผันผวนมากขึ้น ทำให้ธุรกิจยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย

 

                การลดความเสี่ยงดังกล่าวอย่างง่ายที่สุด อาจกระทำได้โดยการลดค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปรลง เพื่อทำให้ค่าความเสี่ยงมีจำนวนที่ลดลง เพราะเมื่อค่าใช้จ่ายคงที่ลดลง จุดคุ้มทุนของธุรกิจจะต่ำลง ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจจะมากขึ้น เช่นเดียวกันกับค่าใช้จ่ายผันแปร หากค่าใช้จ่ายผันแปรต่ำ โอกาสการได้รับทุนคืนในแต่ละวันก็จะสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงของธุรกิจจะลดลง ดังนั้นการควบคุมค่าใช้จ่ายคงที่และผันแปร จึงเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจร้านอาหาร

การบริหารความเสี่ยงเบื้องต้น กรณีของการเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งกำลังจะพิจารณาถึงยอดขายในวันสิ้นเดือน ที่จะเกิดการผันแปรไปตามสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ธุรกิจร้านอาหารได้ประมาณการผลตอบแทนในรูปของกำไรเป็นเงิน 50,000 บาท ในกรณีวันเงินเดือนออกและสถานะการณ์ปกติ และคาดว่าถ้าวันดังกล่าวเกิดฝนตก จะมีกำไรเป็นจำนวนเงินเพียง 10,000 บาท เนื่องจากธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมากในแต่ละวัน หากวันที่จะพิจารณานั้นมีโอกาสฝนตกร้อยละ 60 แสดงว่าโอกาสที่ฝนจะไม่ตกนั้นคิดเป็นร้อยละ 40 ของโอกาสที่เป็นไปได้ทั้งหมด

 

                ค่าผลตอบแทนที่คาดหวัง (Expected Rates of Return) ของการดำเนินธุรกิจในวันดังกล่าวว่า จะมีผลตอบแทนที่คาดหวังไว้เท่ากับ 26,000 บาท และมีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เท่ากับ 19,595.91 บาท ซึ่งทำให้รายได้หรือผลตอบแทนของร้านอาหารอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตั้งแต่ 6,404.09 บาท ไปจนถึง 45,595.91 บาท (กรณีของการเพิ่มและลดลงด้วยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1 ครั้ง)

 

                จากกรณีการประกอบธุรกิจร้านอาหารทำให้พบว่า หากธุรกิจมีค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานสูงมาก ความเสี่ยงของธุรกิจก็จะสูงมากขึ้นเช่นกัน เพราะผลตอบแทนที่คาดหวังไว้จะเกิดความผันผวนมากขึ้นกว่าธุรกิจที่มีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานต่ำ

 

ดังนั้นการที่ธุรกิจจะดำเนินการลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจได้นั้น จะทำได้โดยการพิจารณาถึงต้นุทนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และรายได้ที่จะเกิดขึ้นว่าจะมีความสอดคล้องกันเพียงใด การลดความเสี่ยงสำหรับธุรกิจอย่างง่ายที่สุด คือ การลดค่าใช้จ่ายคงที่และค่าใช้จ่ายผันแปรลง เพื่อทำให้ จุดคุ้มทุนของธุรกิจจะต่ำลง จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจสูงขึ้น

 

                หากธุรกิจทำการลดต้นทุนทั้งคงที่และผันแปรลง เพื่อทำให้ค่าความเสี่ยงของธุรกิจลดลง เช่น หากธุรกิจร้านอาหารกำลังทำการประเมินผลตอบแทนของวันศุกร์สิ้นเดือน วันเงินเดือนออกเช่นเดียวกับที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่แรกนั้นจะพบว่า หากธุรกิจขายได้ปกติจะมีผลตอบแทน 50,000 บาท แต่ถ้าหากฝนตกจะได้รับผลตอบแทนเพียง 10,000 บาท ทำให้การประมาณการผลตอบแทนที่คาดหวังนั้นได้รับเพียงแค่ 26,000 บาท และมีอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 19,595.91 บาท

 

                ดังนั้นการลดความเสี่ยงดังกล่าวนั้น อาจทำได้อย่างง่ายคือ การลดต้นทุนลง เพราะการที่กิจการมีต้นทุนสูงนั้น ทำให้เกิดผลตอบแทนที่ลดลงเมื่อธุรกิจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดฝันเกิดขึ้น หากเราสามารถลดต้นทุนคงที่ หรือต้นทุนผันแปรลงได้ ความไม่แน่นอนของธุรกิจนั้นก็จะลดลงไปด้วย ทำให้ความเสี่ยงของธุรกิจนั้นต่ำลงด้วยเช่นกัน

 

                หากร้านอาหารสามารถลดต้นทุนลงได้ คือ หากในวันดังกล่าวช่วงเช้า เจ้าของธุรกิจทราบว่าได้มีการประมาณการฝนตกไว้สำหรับวันนี้คือ โอกาสที่ฝนจะตกคิดเป็นร้อยละ 60 และฝนไม่ตกคิดเป็นร้อยละ 40 และเจ้าของธุรกิจไม่ต้องการให้ความเสี่ยงของธุรกิจมีมากเกินความจำเป็น ธุรกิจอาจซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ จำนวนที่น้อยลง ลดจำนวนพนักงานที่จะมาทำงานเสริมในวันนั้น ๆ ฯลฯ เพื่อให้ต้นทุนดังกล่าวลดลง แต่การลดสิ่งต่าง ๆ ลงนั้น ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดสินค้าไม่พอขาย หากเหตุการณ์ไม่เป็นไปดังที่คาดการณ์เช่นเดียวกัน

 

                สมมติให้ธุรกิจดังกล่าวตัดสินใจที่จะลดต้นทุนในวันนั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดยอดขายในจำนวนที่น้อยลง หากเหตุการณ์เป็นไปตามปกติ เพราะมีอาหารไม่เพียงพอต่อการขาย หรือมีการบริการที่ไม่ดี แต่ในทางกลับกันก็จะมีผลตอบแทนมากขึ้นเมื่อสภาวะอากาศไม่ดี คือเกิดฝนตก สมมติว่าหากฝนไม่ตกธุรกิจร้านอาหารนี้ จะมีผลตอบแทนจำนวน 40,000 บาท แต่ถ้าหากฝนตกจะได้รับผลตอบแทนจำนวน 20,000 บาท จะทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังของกิจการมีค่าเท่ากับ 40,000 (0.4) + 20,000 (0.6) = 28,000 บาท ซึ่งจะมีค่าผลตอบแทนสูงกว่าในกรณีแรก และหากเราพิจารณาถึงค่าอัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานแล้วจะพบว่ามีค่าลดลงมากกว่าเดิม คือ มีค่าเท่ากับ 9,798 บาท

 

                การที่อัตราส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานลดลงนั้น แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงของกิจการลดลงด้วยเช่นกัน เพราะความเบี่ยงเบนของผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับนั้นมีความแน่นอนมากขึ้น เมื่อใดที่ธุรกิจสามารถพยากรณ์ผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น ธุรกิจนั้นความเสี่ยงก็จะลดลง

 

                ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ โดยใช้ตัวอย่างแบบง่าย เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจพื้นฐานในการบริหารจัดการความเสี่ยงของธุรกิจ ซึ่งสามารถนำเหตุการณ์ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายในเชิงธุรกิจต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
หมายเลขบันทึก: 478673เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 00:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท