การลงทุนในหลักทรัพย์ขั้นกลาง


หลักทรัพย์ขั้นกลาง

หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้เข้าใจในหลักการเบื้องต้นแล้ว จึงถือโอกาสเจาะลึกในหลาย ๆ เรื่องที่ผู้ลงทุนมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเพื่อให้ตนเองนั้นพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ถนนแห่งการลงทุนต่อไป ในสัปดาห์นี้ จึงเริ่มต้อนด้วยการแนะนำถึง หลักทรัพย์ที่ใช้ในการลงทุนชนิดหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมในการลงทุนมากที่สุด คือ หุ้นสามัญ

                หุ้นสามัญ (Common Stock) เป็นตราสารทางการเงินประเภทหุ้นทุน ซึ่งออกจำหน่ายโดยบริษัทที่มีความต้องการที่จะใช้เงินในการลงทุน และขอระดมเงินทุนจากประชาชนหรือนักลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนได้เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของในธุรกิจนั้นโดยตรง ผู้ที่ลงทุนในหุ้นสามัญจะได้รับสิทธิต่าง ๆ และ ผลตอบแทนจากการลงทุน เช่น เงินปันผล หุ้นปันผล กำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคา เป็นต้น โดยปกติหุ้นสามัญจะไม่มีสิทธิพิเศษอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นกรณีรับเงินปันผล หรือรับทรัพย์สินที่เหลือจากการที่บริษัทเลิกกิจการ

สิทธิของผู้ถือหุ้นสามัญ

1. ผู้ถือหุ้นสามัญ หรือผู้ที่ซื้อหุ้นสามัญ จะมีสิทธิในการบริหารจัดการงานของบริษัทผ่านการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Shareholder Rights) แต่ไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการปบริษัทได้โดยตรง การจัดการงานของบริษัทผ่านการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นนั้น อาจเป็น การเลือกตั้งกรรมการบริหาร การตัดสินใจในการเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล การครอบงำกิจการ เป็นต้น

ตามโครงสร้างหลักของการบริหารองค์กร ได้มีการกำหนดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการบริหาร หรือควบคุมบริษัท รวมทั้งการคัดเลือกผู้อำนวยการ และทีมงานบริหารให้เข้ามาดำเนินงานแทน โดยผู้ถือหุ้นยังสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารงาน หรือตรวจสอบการดำเนินงานของธุรกิจในที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ด้วย

การนับคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี ใช้สิทธิในการลงคะแนนเสียงแบบ 1 หุ้น 1 เสียง ไม่ใช่ 1 คน 1 เสียง และการใช้สิทธิในการออกเสียง (Proxy Voting) อาจกระทำได้โดยการที่มอบหมายให้บุคคลอื่นเข้าไปดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงแทน ก็สามารถทำได้

2. ผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิในการได้รับผลตอบแทนจากผลกำไรของบริษัท เมื่อบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน บริษัทจะต้องการการกระจายกำไรนั้นไปสู่ผู้ถือหุ้น โดยที่บริษัทจะต้องประกาศจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนในรูปของเงินปันผล ในบางครั้งอาจมีความแตกต่างในการจ่ายเงินปันผล เช่นอาจจ่ายเงินปันผลนั้นเป็นตัวเงิน เป็นหุ้นสามัญ ฯลฯ ก็ได้

3. ในกรณีที่บริษัทผู้ออกจำหน่ายหุ้นสามัญ ต้องการที่จะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ผู้ถือหุ้นเดิมจะได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นใหม่ก่อนผู้ถือหุ้นรายอื่น เพื่อให้สัดส่วนในการถือครองหุ้นของตนเท่าเดิม และเป็นการปกป้องสิทธิของตนทั้งในเรื่องการออกเสียง และการได้รับผลตอบแทน

4. ในกรณีที่กิจการล้มละลาย ผู้ถือหุ้นสามัญยังมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งที่เหลือของกิจการภายหลังการจ่ายชำระภาระผูกพันต่าง ๆ แก่เจ้าหนี้รายอื่น ๆ  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การจ่ายเงินปันผล (Dividend)

การจ่ายเงินปันผลนั้นจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามวิจารณญารของคณะกรรมการบริหารบริษัท

1. การจ่ายเงินปันผลถือว่าเป็นการแบ่งผลกำไรจากการประกอบการของบริษัท เงินปันผลไม่ใช่เป็นการจ่ายสำหรับหนี้สินของบริษัท ดังนั้นผู้ถือหุ้นจึงไม่สามารถฟ้องร้องบริษัทได้ หากเกิดกรณีที่บริษัทไม่จ่ายเงินปันผล และจำนวนเงินปันผลที่จะจ่ายนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารบริษัทในการประกาศ

2. เงินปันผลไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่เป็นเพียงการนำเอากำไรมาแบ่งกันเท่านั้น บริษัทจึงไม่สามารถเอาเงินปันผลจ่ายมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ จึงไม่ได้ช่วยให้บริษัทเกิดการประหยัดภาษี

3. เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายได้จะถูกถือว่าเป็นเงินได้ของแต่ละคน ซึ่งแต่ละบุคคลจะต้องนำไปคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน เพื่อนำไปเสียภาษีต่อไป

 

                สำหรับหุ้นทุนอีกประเภทหนึ่ง คือ หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) ซึ่งเป็นหุ้นทุนเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แต่มีความแตกต่างจากหุ้นสามัญคือ หุ้นบุริมสิทธิมีสิทธิเหนือหุ้นสามัญในการได้รับเงินปันผลก่อน และในกรณีที่กิจการเลิกทำการ ก็จะได้รับเงินคืนก่อนหุ้นสามัญ แต่หุ้นบุริมสิทธิจะไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ

                หุ้นบุริมสิทธิ จะถูกผู้ลงทุนมองว่าเป็นตราสารกึ่งหนี้สิน เพราะมีลักษณะเป็นเหมือนทั้งตราสารปนี้และตราสารทุน คือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่แน่นอนตามที่ได้กำหนดไว้ (Stated Dividend) และถ้าบริษัทจะต้องเลิกกิจการด้วยสาเหตุใดก็ตาม ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับเงินทุนคืนก่อนหุ้นสามัญ ในบางครั้งหุ้นบุริมสิทธิอาจมีการกำหนดการแปลงสภาพ (Convertible) เป็นหุ้นสามัญ และอาจมีการเรียกไถ่ถอนคืน (Callable) ก่อนกำหนดได้

                มูลค่าของหุ้นบุริมสิทธินั้นจะขึ้นอยู่กับเงินปันผลที่จ่ายในอนาคต ซึ่งการจ่ายเงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธินั้นจะไม่เหมือนกับพันธบัตร คณะกรรมการบริหารของบริษัทอาจตัดสินใจไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก็ได้ และการตัดสินใจดังกล่าวก้อาจไม่เกี่ยวเนื่องจากรายได้ปัจจุบันของบริษัทก็ได้

                เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิอาจจ่ายในรูปแบบของเงินปันผลแบบสะสม หรือแบบไม่สะสมก็ได้ ถ้าเงินปันผลมีการจ่ายในแบบสะสม และยังไม่มีการจ่ายในงวดนี้ เงินปันผลก็จะถูกยกยอดไปจ่ายในงวดหน้า โดยทั่วไปแล้ว เงินปันผลของหุ้นบุริมสิทธิจำเป็นจะต้องจ่ายให้ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิก่อน จึงจะจ่ายให้แก่หุ้นสามัญได้

 

ผลตอบแทนจากการลงทุนของหุ้นทุน

1.ผลตอบแทนในรูปแบบเงินปันผล เป็นผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้โดยตรงจากบริษัทผู้ออกจำหน่ายหุ้นสามัญ ซึ่งผลตอบแทนประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับความสามารถของบริษัทในการทำกำไร เช่น ปีใดที่บริษัทมีกำไรมาก ผู้ถือหุ้นก็อาจจะได้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลมากขึ้นตามสัดส่วนของกำไรที่มากขึ้น แต่ในทางกลับกันหากปีใดที่บริษัทมีกำไรน้อยลง หรือขาดทุน ผู้ถือหุ้ก็นอาจจะได้เงินปันผลน้อยลง หรืออาจไม่ได้รับเงินปันผลเลยก็ได้

 

ตัวอย่างเช่น 
                บริษัท ABC มีนโยบายจ่ายเงินปันผลในอัตราคงที่ คือ 30% จากกำไรสุทธิ โดยบริษัท ABC มีผู้ถือหุ้นจำนวน 10 ล้านหุ้น (ที่มา: www.tsi-thailand.org)

                ในปี 2551 บริษัทมีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท จะจ่ายเงินปันผล 30 ล้านบาท หรือคิดเป็นหุ้นละ 3 บาท แต่ถ้าในปี 2552 บริษัทมำกำไรสุทธิ 120 ล้านบาท ก็จะจ่ายเงินปันผล 36 ล้านบาท ทำให้เงินปันผลจ่ายต่อหุ้นเพิ่มเป็น 3.6 บาท

 

2. ผลตอบแทนในรูปส่วนต่างราคา เป็นผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่ซื้อหุ้นทุกคนจะได้รับ ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นขายหุ้นสามัญดังกล่าวที่ตนเองถือครองอยู่ไปยังบุคคลอื่นในราคาที่สูงกว่าตอนที่ตนซื้อมา และในทางกลับกัน ถ้าเกิดขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่ตนเองซื้อมานั้น ก็จะเกิดการขาดทุนจากการลงทุน

 

ตัวอย่างเช่น นักลงทุน ก. ซื้อหุ้น บริษัท ABC มาในราคา 10 บาท จำนวน 1,000 หุ้น หลังจากถือหุ้นดังกล่าวผ่านไป 1 เดือน ราคาตลาดของหุ้นบริษัท ABC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 11.50 บาท นักลงทุน ก. จึงตัดสินใจขายหุ้นดังกล่าวออกไปทั้งหมด 1,000 หุ้น ทำให้นักลงทุน ก. ได้กำไร 1.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 1,500 บาท แต่อย่างไรก็ตาม ราคาตลาดของหุ้นบริษัท ABC อาจไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ดังกล่าวก็ได้ ในกรณีที่ราคาตลาดปรับตัวลดลง นักลงทุน ก. ก็มีโอกาสขาดทุนจากการลงทุนในหุ้นบริษัท ABC ได้ (ที่มา : www.tsi-thailand.org)

 

ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นทุน

                การลงทุนใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความเสี่ยง การลงทุนในหุ้นสามัญก็เช่นเดียวกัน ก็จะมีความเสี่ยงมาควบคู่กับการลงทุน ดังคำกล่าวที่ว่า การลงทุนใดก็ตามที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนก็จะย่อมสูงด้วยเช่นเดียวกัน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนในหุ้นทุนนี้ประกอบด้วย (ที่มา : www.tsi-thailand.org)

1. ความเสี่ยงทางธุรกิจ เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากลักษณะของธุรกิจนั้นๆ เช่น ประเภทของธุรกิจ โครงสร้างของรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกิจการ ความเสี่ยงทางธุรกิจจะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทตัดสินใจการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร หรือตัดสินใจในการลงทุนในโครงการต่าง ๆ การที่กิจการมีต้นทุนคงที่จำนวนมาก เมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงที่เท่าเดิม ก็จะทำให้กำไรของกิจการติดลบอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลให้ผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนลดลงไปด้วย

2. ความเสี่ยงทางการเงิน เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่กิจการสร้างภาระผูกพันทางการเงินไว้ เช่นการก่อหนี้ ถ้ากิจการใดมีการก่อหนี้จำนวนมาก กิจการนั้นก็จะมีภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก เมื่อกิจการไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตามภาระผูกพันได้ ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน นั้นมักจะมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันและนักลงทุนควรจะต้องตระหนักไว้เสมอว่าการลงทุนใด ๆ นั้นย่อมมีความเสี่ยงควบคู่มาด้วยเสมอ โดยปกติการลงทุนใดที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนมักจะต้องขอส่วนชดเชยความเสี่ยงที่สูงขึ้น หรือการคาดหวังผลตอบแทนที่ต้องการสูงขึ้น และในทางกลับกัน ถ้าการลงทุนใดก็ตามที่มีความเสี่ยงต่ำ นักลงทุนย่อมคาดหวังผลตอบแทนทึ่ต้องการต่ำด้วยเช่นเดียวกัน ดังค่ำที่นักลงทุนโดยทั่วไปจะได้ยินก็คือ High Risk, High Return หรือการลงทุนอะไรก็ตามที่ให้ผลตอบแทนสูง ก็มักจะมีความเสี่ยงที่สูงจากการลงทุนนั้น

เมื่อผู้ลงทุนจำเป็นที่จะต้องลงทุน หรือมีความต้องการที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ใด ๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนนั้นก็จะต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

การลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ยังคงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นในการพิจารณาตัดสินใจในการลงทุน  เช่น ดัชนีราคาหุ้น ก็เป็นอีกเป็นเครื่องมือหนึ่งที่บ่งชี้ระดับราคาของหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ บางครั้งค่าดัชนีนี้เรียกว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดยที่ดัชนีราคาหุ้นจะบอกถึงแนวโน้มของตลาดหุ้นโดยรวม โดยดัชนีราคาหุ้นในประเทศไทยที่นิยมใช้ คือ “ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” หรือ SET Index ซึ่งเป็นการคำนวณระดับราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉลี่ย ณ วัน หรือเวลาใดเวลาหนึ่งเทียบกับวันฐาน คือวันที่ 30 เมษายน 2518 (เป็นวันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มเปิดดำเนินการซื้อขาย)

วิธีการคำนวณหาค่า SET Index จะคำนวณจากราคาหุ้นสามัญทุกตัวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คูณด้วยจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้มูลค่าตลาดรวมของทุกหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่จะทำการคำนวณ หรือวันปัจจุบัน แล้วหารด้วยวันฐาน คือ วันแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเริ่มเปิดดำเนินการซื้อขาย แล้วคุณด้วย 100 เพราะการกำหนดค่าดัชนีจะเริ่มต้นที่ค่าดัชนีเท่ากับ 100 จุด

เมื่อมีค่าดัชนีหลักทรัพย์แล้ว ผู้ลงทุนก็จะทราบทิศทางในการลงทุน

นอกจาก SET Index หรือดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคำนวณจากราคาหุ้นสามัญที่มีอยู่ทั้งตลาดหลักทรัพย์แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังได้จัดทำ SET 50 Index และ SET 100 Index ซึ่ง SET 50 Index เป็นดัชนีที่ทำขึ้น เพื่อแสดงถึงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญจำนวน 50 บริษัท และ SET 100 Index เป็นดัชนี เพื่อแสดงถึงระดับและความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นสามัญจำนวน 100 บริษัท โดยราคาหุ้นสามัญที่นำมาคำนวณใน SET 50 Index และ SET 100 Index จะเป็นหุ้นสามัญที่มีมูลค่าตลาดสูง มีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง และมีปริมาณหุ้นสามัญหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถเข้าลงทุนได้

 ดัชนีหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นดัชนีราคาประเภทหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์เหมือนกับดัชนีอื่น ๆ เช่นเดียวกันกับ ดัชนีราคาผู้บริโภค ที่ใช้ในการวัดการเปลี่ยนแปลงในราคาสินค้า ในกรณีของดัชนีราคาหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น SET Index SET50 Index หรือ SET100 Index นั้น การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของค่าดัชนีทั้ง 3 ประเภท จะบ่งบอกถึงการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนีนั้น ๆ ซึ่งนักลงทุนจะสามารถใช้ ค่าดัชนีเหล่านี้ในการวัดผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนได้

นอกจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET Index ที่คำนวณ จากหุ้นสามัญทั้งหมดบนกระดานหลัก SET 50 Index กับ SET 100 Index และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังมีการคำนวณดัชนีราคาหุ้น โดยแบ่งตามการจัดกลุ่มอุตสาหกรรมและหมวดธุรกิจ ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อช่วยให้นักลงทุนเห็นภาพการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในรายละเอียดมากขึ้น เช่น

ดัชนีราคารายกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group Index) เป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ใช้สะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงิน กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ โดยมีหลักการคำนวณเช่นเดียวกันกับการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือการคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) โดยมีวันที่ 31ธันวาคม 2546 เป็นวันฐาน คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น ๆ มาทำการคำนวณ โดยการคำนวณนี้จะไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปีมารวมในการคำนวณ

ดัชนีราคารายหมวดธุรกิจ (Sectoral Index) เป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ใช้สะท้อนการเคลื่อนไหวของหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐาน (Fundamental) เดียวกัน โดยมีหลักการคำนวณเช่นเดียวกันกับการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวคือใช้การคำนวณแบบถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization Weight) คำนวณโดยใช้หุ้นสามัญจดทะเบียนทุกตัวในแต่ละหมวดธุรกิจ และไม่นำหลักทรัพย์ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เกิน 1 ปีมารวมในการคำนวณ โดยหวมดธุรกิจต่าง ๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้ หมวดธุรกิจการเกษตร หมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม หมวดธุรกิจแฟชั่น หมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ หวมดธุรกิจยานยนต์ เป็นต้น

นักลงทุนที่เพิ่งเริ่มลงทุนใหม่ ๆ หรือเพิ่งรู้จักกับการลงทุนในหุ้นสามัญ อาจมีข้อสงสัยตั้งแต่เริ่มแรกของการตัดสินใจลงทุน หรืออาจมีคำถามในใจเสมอว่า  “หุ้นสามัญที่ได้ลงทุนไปนั้นจะมีราคาเพิ่มขึ้น หรือลดลง” “ราคาหุ้นสามัญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากอะไร และเป็นเพราะอะไร” หรือ “เราจะสามารถคาดเดา หรือคาดการณ์การณ์ หรือทราบถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นสามัญได้หรือไม่” การที่ผู้ลงทุนจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ นักลงทุนต้องเข้าใจถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในราคาหุ้นสามัญ หรือปัจจัยที่จะส่งผลกระทบกับราคาหุ้นนั่นเอง

แนวคิดหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถตอบคำถามดังกล่าวได้นั้น นักลงทุนจะต้องเข้าใจถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดราคาหุ้นสามัญ คือการใช้แนวความคิด“การหามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นสามัญ”

  การหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญ คืออะไร?

ทางสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ได้ให้ความเห็นไว้ว่า แนวความคิดการหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญ เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่านักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นสามัญย่อมคาดหวังผลประโยชน์ หรือผลตอบแทนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตจากการลงทุน ดังนั้นราคาหุ้นสามัญที่นักลงทุนตัดสินใจลงทุนในวันนี้ จึงเป็นราคาสำหรับสิ่งที่ตนคาดหวังว่าจะได้รับในอนาคต นั่นเอง

จากแนวคิดดังกล่าวของสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ทำให้ผู้ลงทุนทราบว่า ราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไป จึงน่าจะเกิดจากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่า สิ่งที่ตนจะได้รับในอนาคตทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคาหุ้นสามัญ เช่น ถ้ามีผู้คาดการณ์ว่าการลงทุนในหุ้นสามัญ XYZ จะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลมากขึ้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้น XYZ ในราคาที่สูงขึ้น ราคาหุ้น XYZ ก็จะปรับตัวสูงขึ้นด้วย

และในทางกลับกัน ถ้านักลงทุนคนหนึ่งคาดการณ์ว่าหากลงทุนในหุ้นสามัญ XYZ ณ ปัจจุบัน โดยคาดว่าถ้าถือไปอีก 2 – 3 เดือน แล้วขายต่ออาจจะได้ราคาขายต่อน้อยกว่าตอนที่ตนซื้อมา นักลงทุนคนนั้นก็จะไม่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้น XYZ ณ ราคาปัจจุบัน แต่จะยอมจ่ายในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่คาดว่าตนอาจจะเผชิญในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น XYZ ก็จะปรับตัวลดลง

ดังนั้นราคาหุ้น ณ เวลาปัจจุบัน จะถูกกำหนดมาจาก 2 ปัจจัยหลักๆ คือ 

1.ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดว่าจะได้รับทั้งในรูปของเงินปันผล และส่วนต่างราคา 

2.ความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้นสามัญ

สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ได้ระบุว่า ความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้นสามัญนั้นเกิดจากตัวแปรหลัก 3 ประการ ที่เป็นตัวกำหนด ผลตอบแทน และความเสี่ยง คือ

1. ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี หุ้นสามัญที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ดี จะมีราคาเพิ่มขึ้น เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจดี ประชาชนจะกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น เมื่อยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้นตามมา และท้ายที่สุดเมื่อบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้มากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากเรื่องของผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว หากนักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีจริง ยังมีส่วนให้นักลงทุนกล้าที่จะลงทุนซื้อหุ้นมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าโอกาสที่บริษัทจะขาดทุนในช่วงนี้นั้นมีน้อย ดังนั้นความเสี่ยงจากการลงทุนก็น้อยไปด้วย นักลงทุนจึงกล้าที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ราคาหุ้นมักปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี หุ้นที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่ดี จะมีราคาลดลง เนื่องจากนักลงทุนจะมีความกังวลในผลการประกอบการของบริษัท เพราะช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี กำลังซื้อของประชาชนลดลง ยอดขายของบริษัทจะลดลง กำไรของบริษัทจะลดลงหรือขาดทุน ทำให้นักลงทุนรู้สึกถึงความเสี่ยงจากการลงทุนจึงมีการขายหุ้นออกมา เมื่อมีการขายหุ้นออกมาจำนวนมากก็จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงในที่สุด

2. ตัวแปรทางอุตสาหกรรม ถ้าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นมักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าผลประกอบการของบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นจะปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะอุตสาหกรรม ในทางตรงกันข้าม ถ้าอุตสาหกรรมใดอยู่ในช่วงขาลง ราคาหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมนั้นก็จะมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลถึงความเสี่ยงจึงขายหุ้นในอุตสาหกรรมดังกล่าวออกมา

3. ตัวแปรด้านผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ เป็นตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นโดยตรงทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ กลยุทธ์ของบริษัท และความสามารถของผู้บริหาร กล่าวคือ ในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไม่ดี หากผู้บริหารของบริษัทมีความสามารถสูง ก็อาจจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงไม่มาก และราคาหุ้นก็จะปรับตัวลดลงไม่มาก

ขั้นตอนในการซื้อขายตราสารทุนมีทั้งสิ้น 8 ขั้นตอนตามแนวทางของ Thailand Securities Institute (TSI) ได้วางไว้ คือ

ขั้นตอนที่ 1. กำหนดวัตถุประสงค์และระยะเวลาการลงทุน เป็นขั้นตอนแรก และเป็นขั้นตอนที่สำคัญสุดของการเข้าลงทุนในตราสารทุน คือ การวางแผนการลงทุน โดยนักลงทุนจำเป็นที่จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์การลงทุนว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร เนื่องจากเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป

ขั้นตอนที่ 2. การวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ การที่นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจได้ว่าในช่วงนี้เศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น หรือขาลง จะทำให้นักลงทุนทราบว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่ และในกรณีที่นักลงทุนยังต้องการจะลงทุน นักลงทุนควรจะมีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก นักลงทุนอาจลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญลงเนื่องจาก ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี ดังนั้นผลตอบแทนที่จะได้จากการลงทุนอาจจะลดลงจนไม่สามารถชดเชยกับความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับกับการลงทุน นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังจะต้องวิเคราะห์ถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และในระดับประเทศอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรม นอกจากผู้ลงทุนจะต้องทำความเข้าใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศ หรือเศรษฐกิจของโลกแล้ว ผู้ลงทุนยังต้องทำความเข้าใจข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอีกด้วย เนื่องจากตัวแปรทางเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมจะช่วยนักลงทุนในการตัดสินใจเลือกบริษัทลงทุน เช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจขาลงอุตสาหกรรมอาหารและยา จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมยายนต์ หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากอาหารและยาเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคยังคงมีอยู่ทำให้รายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ลดลงไม่มากเท่ากับรายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ผู้บริโภคมักมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็จะลดการบริโภคในสินค้าเหล่านี้

ขั้นตอนที่ 4. การวิเคราะห์บริษัท เมื่อนักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมแล้ว ข้อมูลสุดท้ายที่นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องทำการวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ หรือตราสารทุนก็คือ การวิเคราะห์ข้อมูลบริษัท เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะเลือกลงทุนในบริษัทใด เนื่องจากบริษัทแต่ละบริษัทย่อมมีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ผลประกอบการที่แตกต่างกัน ปัจจัยเอื้อประโยชน์ และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่างกัน ดังนั้นการตัดสินใจเลือกบริษัทที่ถูกต้องก็จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนตามที่ตนคาดการณ์ไว้ แต่ถ้านักลงทุนตัดสินใจผิดก็อาจจะทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือขาดทุนจากการลงทุนก็เป็นได้

ขั้นตอนที่ 5. การประเมินมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญ เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่า นักลงทุนควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ดี โดยมีเกณฑ์การตัดสินใจคือ ถ้ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญที่ได้จากการประเมิน มากกว่า ราคาตลาดปัจจุบัน นักลงทุนควรตัดสินใจซื้อหุ้นสามัญตัวนั้น เพราะ ราคาหุ้นในปัจจุบันถูกกว่ามูลค่าของตัวมันเอง และในทางกลับกัน ถ้ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญที่ได้จากการประเมินน้อยกว่าราคาตลาดในปัจจุบันนักลงทุนก็ไม่ควรซื้อหุ้นสามัญตัวนั้น หรือในกรณีที่นักลงทุนมีหุ้นสามัญอยู่ในมือแล้ว ก็ควรขายทิ้ง เพราะ ราคาหุ้นในปัจจุบันแพงกว่ามูลค่าของตัวมันเอง

ขั้นตอนที่ 6. การหาจังหวะการลงทุน เมื่อผู้ลงทุนทราบแล้วว่าราคาหุ้นในปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Under Value) สิ่งที่ผู้ลงทุนควรทำ คือการตัดสินใจซื้อ หรือตัดสินใจลงทุน ซึ่งนักลงทุนจะต้องใช้เกณฑ์ต่าง ๆ ข้างต้น ประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุนในหลักทรัพย์

ขั้นตอนที่ 7. การตัดสินใจซื้อขาย คือผู้ลงทุนต้องส่งคำสั่งซื้อ หรือขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก หรือโบรกเกอร์ โดยผู้ลงทุนทุกคนจะต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อใช้ในการส่งคำสั่งซื้อ หรือขาย โดยโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาเปิดบัญชีให้แก่ลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของบริษัทหลักทรัพย์

ขั้นตอนที่ 8. การติดตามผลการลงทุน ภายหลังจากที่นักลงทุนตัดสินใจซื้อ หรือขายหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นักลงทุนควรทำในลำดับถัดมาคือการติดตามผล กล่าวคือเป็นการหมั่นตรวจสอบสถานะ การลงทุนของตนว่าเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนที่ตนกำหนดไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ทีกำหนดไว้ ผู้ลงทุนจะได้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการลงทุนของตนให้ทันเวลา

 

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทน และความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งจะต้องนำไปเพื่อใช้ในการพิจารณากำหนดมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นสามัญ นั้นประกอบด้วย ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ปัจจัยทางอุตสาหกรรม และปัจจัยของบริษัท

โดยที่การวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อการคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งในแนวโน้มระยะสั้น และแนวโน้มระยะยาว ว่าจะมีสถานการณ์อะไรบ้างที่จะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นสามัญ และการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน โดยผู้วิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ จะต้องดูทั้งสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และสภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การเงินในปัจจุบันมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ดังนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ก็จะสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดการเงิน และการลงทุนภายในประเทศได้เช่นเดียวกัน

ในการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้วิเคราะห์จะต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1.วัฏจักรเศรษฐกิจ (Economic Cycle) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักลงทุนทราบว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศ หรือเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงใด ซึ่งปกติวัฏจักรเศรษฐกิจจะแบ่งเป็น 4 ช่วงได้แก่ เศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) เศรษฐกิจหดตัว (Contraction) เศรษฐกิจต่ำสุด (Recession) และเศรษฐกิจขยายตัว (Recovery)

เศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) เป็นจุดสูงสุดของวัฏจักร ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการผลิตบริโภค

เศรษฐกิจหดตัว (Contraction) เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง GDP ต่ำลง การผลิต และการจ้างงานลดลง รายได้ครัวเรือนลดลง

เศรษฐกิจต่ำสุด (Recession) ช่วงเวลานี้การว่างงานสูง ความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง สินค้าที่ผลิตขึ้นมาไม่สามารถขายได้

เศรษฐกิจขยายตัว (Recovery) เป็นช่วงที่การผลิต และการจ้างงานเริ่มเพิ่มขึ้น รายได้และรายจ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น

2. ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซี่งตัวเลข GDP นั้นจะได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลมูลค่าของผลผลิตสินค้า และบริการทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในประเทศ ถ้า GDP ของประเทศสูงขึ้นหมายความว่ามูลค่าของผลผลิตสินค้า และบริการทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในประเทศในปีนั้นเพิ่มขึ้น แสดงว่าเศรษฐกิจในปีนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น ในทางตรงกันข้ามกัน ถ้า GDP ของประเทศมีค่าลดลง ก็หมายความว่ามูลค่าของผลผลิตสินค้า และบริการทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในประเทศปีนั้นลดลง แสดงว่าเศรษฐกิจในปีนั้นมีแนวโน้มถดถอย

3. ผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เป็นมูลค่าผลิตผลของอุตสาหกรรมมวลรวม โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปกติผลผลิตของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และผลผลิตของอุตสาหกรรมโดยรวมก็จะมีทิศทางไปในทางเดียวกันกับวัฏจักรเศรษฐกิจ

4. ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) เป็นดัชนีที่แสดงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าจากผู้ผลิต โดยจำแนกเป็นราคากลุ่มผลิตภัณฑ์ และราคาในแต่ละช่วงของการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป ถ้าดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นแสดงว่าราคาสินค้าประเภทวัตถุดิบมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระดับ

หมายเลขบันทึก: 478672เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท