การลงทุนด้านการศึกษาของประเทศ


การลงทุน

ปี พ.ศ. 2552 นี้ เป็นปีที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการ นักธุรกิจ ข้าราชการ ฯลฯ มีความเห็นเช่นเดียวกันทั้งประเทศ หรือแทบจะทั้งโลก คือ เศรษฐกิจในยุคนี้จะเป็นเศรษฐกิจขาลง หรือฟุบกันอย่างทั่วหน้า ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือรายเล็ก ก็ประสบปัญหาในการทำธุรกิจเช่นเดียวกันทั้งประเทศ บัณฑิตที่จบใหม่ มีอัตราการตกงานจำนวนเพิ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ที่มีงานอยู่แล้วเริ่มตกงานมากขึ้น หรือบางบริษัทใช้วิธีการในการช่วยไม่ให้คนตกงานมากนัก โดยการให้พนักงานทำงานเพียงครึ่งหนึ่งของเวลาการทำงานเดิมที่มีอยู่ และจ่ายค่าแรงเพียงครึ่งเดียว

                ในเมื่อคนที่ไม่มีงานทำจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ กับอีกทั้งโอกาสในการหางานใหม่นั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก โอกาสวิกฤตเช่นนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการให้กลุ่มคนที่ว่างงานเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการทดแทนการฝึกอบรมอาชีพ และเพิ่มพูนศักยภาพในการทำงานให้มากขึ้น ในแต่เดิมผู้ที่เข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีนั้นมักจะยังไม่ทราบว่าตนเองนั้นมีความสนใจในการศึกษาเรื่องใด เพียงแต่ให้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือเลือกเรียนตามเพื่อนฝูง ทำให้เมื่อจบการศึกษาออกมาแล้ว บุคคลกลุ่มนี้ทำงานไม่เป็นไปตามสาขาวิชาที่ศึกษามา เช่น จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ แต่ทำงานเป็นฝ่ายการตลาดขายบัตรเครดิต หรือไม่ก็จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์ แต่เป็นพนักงานขายหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น

                รัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้กลุ่มคนตกงาน แต่กำลังอยู่ในวัยทำงานเหล่านี้ หรือผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน ได้เข้ารับการศึกษา ในระหว่างเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ หากรัฐบาลส่งเสริมกิจกรรมนี้ ก็เปรียบเป็นการลงทุนกับคนในชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแต่แจกปลาหรืออาหารให้คนกินอย่างเดียว แต่รัฐบาลควรจะสอนให้คนเหล่านั้นหาปลาหรือหาอาหารเป็นด้วย โดยรัฐอาจจะช่วยส่งเสริมให้ทุนการศึกษา อาจเป็นระบบเดียวกับทุนกู้ยืมการศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่ขยายออกในระดับปริญญาโท และเอกให้มากขึ้น

                โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องเอาเงินงบประมาณของประชาชนมาใช้ แต่เป็นเพียงขอความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ทั้งรัฐ และเอกชน ให้ลดค่าเล่าเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาลง 20 – 50% ของค่าเล่าเรียน โดยอาจให้ค่าเล่าเรียนในระดับปริญญาโทและเอกนั้นไม่สูงจนเกินไป และรัฐบาลจะต้องช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนจากธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ มาให้กู้กับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ แต่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้น้อยในช่วงนี้ ทั้งนี้ต้องแก้ไขระเบียบในการให้เครดิตด้านการศึกษา เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้ สามารถกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้ โดยให้ผู้ที่ต้องการจะศึกษากู้เงินเป็นระยะเวลา 1 – 2 ปี ตามระยะเวลาการศึกษา ทั้งนี้รัฐบาลอาจต้องกำหนดเกณฑ์ในการรับทุนกู้ยืมเช่นนี้ โดยจำกัดให้มหาวิทยาลัยละไม่เกิน 200 – 300 คน ต่อภาคการศึกษา เพื่อเป็นการกระจายจำนวนนักศึกษาลงทะเบียนให้ทั่วถึงทุกมหาวิทยาลัย เพื่อช่วยมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้มีจำนวนนักศึกษาพอเพียงและไม่มีสัดส่วนมากจนเกินไป จนทำให้มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ขาดทุนจากการจัดการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา

                การจัดการศึกษาให้แก่ผู้ที่ตกงานในช่วงนี้ เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต และใช้เงินลงทุนน้อย เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เมื่อคนที่ได้รับการศึกษาเหล่านี้ ได้ศึกษาถึงทักษะต่าง ๆ ที่สูงขึ้น คนเหล่านี้ก็จะมีความพร้อมที่จะเข้าทำงานในระดับที่สูงขึ้น หรือบัณฑิตผู้ที่จบการศึกษาใหม่ ก็จะสามารถเข้ารับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เป็นการรอให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งดีกว่าปล่อยให้บัณฑิตเหล่านี้ตกงาน รองาน เป็นระยะเวลา 2 – 3 ปี ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อประเทศชาติ

                ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งส่งเสริมให้เกิดโครงการเช่นนี้โดยเร็ว เพราะในอีกเพียง 1 – 2 เดือนนี้จะมีบัณฑิตจบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาออกมาอีกหลายแสนคน เพราะในช่วงนี้เป็นช่วงสิ้นปีการศึกษา และการเตรียมการเช่นนี้ใช้เวลาไม่นาน ก็จะสามารถแก้ปัญหาการตกงานได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น การจัดการให้ระบบนี้เกิดขึ้นอาจทำได้โดย การเรียกประชุมทุกมหาวิทยาลัยให้รับทราบถึงแนวทางการดำเนินนโยบาย การแก้ไขเกณฑ์มาตรฐานในการปล่อยสินเชื่อ (เฉพาะการศึกษา) และการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ซึ่งเวลาทั้งหมดอาจใช้เพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็จะแก้ไขปัญหาการตกงานของบัณฑิตใหม่ หรือผู้ที่เพิ่งตกงานได้บางส่วนในทันที

                ขอฝากให้รัฐบาลภายใต้การนำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาถึงแนวทางการการลงทุนโดยไม่ต้องใช้เงินทุนนี้ แต่จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคนในชาติเป็นอย่างยิ่งด้วย

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #การลงุทน
หมายเลขบันทึก: 478669เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท