การลงทุนในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย


ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า

การบริหารความเสี่ยงโดยใช้เครื่องมือทางการเงินชนิดตราสารล่วงหน้า (Futures Contract) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่มีความนิยมใช้ในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะมีการซื้อขายดัชนีหลักทรัพย์ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็น SET50 Index Futures หรือ SET50 Index Options แล้ว การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร ของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (ต.ส.ล.) (Agricultural Futures Exchange of Thailand: AFET) ก็เป็นตราสารการเงิน หรือ ตราสารอนุพันธ์อีกตัวหนึ่งที่มีความนิยมซื้อขายกันมากขึ้นในปัจจุบัน

 

                ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าปีพ.ศ. 2542 เป็นตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเพียงตลาดเดียวในประเทศไทย มีฐานะเป็นนิติบุคคลอิสระ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

 

ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ได้เริ่มเปิดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าด้วย ข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าล่วงหน้าของ "ยางแผ่นรมควันชั้น 3" เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 และต่อมาได้เพิ่ม ข้อตกลงซื้อขายของ "ข้าวขาว 5%" ในวันที่ 26 สิงหาคม 2547 และข้อตกลงซื้อขาย "แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้นพิเศษ" เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ฯลฯ ซึ่งต่อไปในอนาคตสินค้าเกษตรอีกจำนวนมากจะเริ่มเข้าสู่ระบบการซื้อขายล่วงหน้าแบบนี้อีกเกือบทุกประเภท

 

การที่นำสินค้าเกษตรประเภทต่าง ๆ นี้เข้าสู่ระบบการซื้อขายล่วงหน้านั้น จะทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้นำผลผลิตทางการเกษตรไปใช้ในงานอตุสาหกรรมหรือเพื่อการส่งออกสามารถกำหนดราคาหรือต้นทุนของการผลิตได้ง่ายขึ้น เพราะผู้ที่ต้องการนำผลผลติทางการเกษตรไปใช้ในงานอตุสาหกรรมหรือเพื่อการส่งออก สามารถล่วงรู้ถึงราคาของวัตถุดิบที่จะใช้ในกระบวนการผลิตได้ล่วงหน้า เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาของวัตถุดิบในอนาคตได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ผลิตสินค้าเกษตรนั้น เมื่อมีกระบวนการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแล้ว จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรได้รับทราบถึงราคาขายและจำนวนผลิตผลที่จะขายในอนาคต เป็นการรับประกันว่าสินค้าเกษตรที่ตนผลิตนั้นจะสามารถขายได้ในอนาคต ซึ่งกระบวนการนี้จะเข้ามาทดแทนการประกันราคาสินค้าเกษตรของรัฐได้ในอนาคต

 

ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (ต.ส.ล.) เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยการทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใน ต.ส.ล. ซึ่งเป็นกระบวนการซื้อขายในตลาดล่วงหน้า (Futures Exchange) ซึ่งนับเป็นตลาดที่ถูกจัดอยู่ในระบบของตลาดที่มีการบริหารจัดการอย่างมีระเบียบ (Organized Market) ดังนั้นวิธีการซื้อขายและข้อกำหนดการซื้อขายต่าง ๆ นั้น จะต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ ๆ ดังนี้

การซื้อขายจะต้องทำการซื้อขายโดยสมาชิกหรือผ่านสมาชิกเท่านั้น คณะกรรมการตลาดได้ออกข้อบังคับของคณะกรรมการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อหรือขายสินค้าเกษตรฉบับที่ 1 พ.ศ. 2546 ให้การซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้นจะต้องกระทำโดยสมาชิก ดังนั้นการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะต้องดำเนินการผ่านสมาชิกของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ผู้สนใจซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าสามารถทำการซื้อขายล่วงหน้าผ่านทางสมาชิกตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเภท "นายหน้าซื้อขายล่วงหน้า" หรือ "โบรกเกอร์" ได้ ซึ่งการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยจะทำการซื้อขายผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ ไม่ใช่การซื้อขายแบบเคาะกระดาน (Open-Outcry or Pit-Trade) เหมือนกับการซื้อขายในประเทศอื่น ๆ เพราะในหลายประเทศที่ยังคงใช้ระบบการซื้อขายแบบ Pit-Trade หรือ Open Outcry นั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อที่มีความสามารถในการซื้อขายสัญญาล่วงหน้า สามารถเข้าร่วมประมูลราคาได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า

การซื้อขายใน ต.ส.ล. จะมีกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายที่เป็นมาตรฐาน สินค้าเกษตรที่จะนำมาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้น จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยใช้หลักเกณฑ์ทางวิชาการ และหลักเกณฑ์อื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น สินค้าเกษตรที่จะนำมาเป็นสินค้าที่ใช้ในการซื้อขายล่วงหน้านั้น จะต้องเป็นสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวของราคาไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) เป็นสินค้าที่มีผู้เกี่ยวข้องที่มีศักยภาพที่จะเข้าไปทำการซื้อขาย เป็นสินค้าที่มีจำนวนมากและมีการผลิตอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของการที่จะนำสินค้าเข้ามาซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบได้นั้น สินค้าจะต้องมีข้อมูลการค้าเป็นที่เปิดเผย เป็นสินค้าที่มีการจัดชั้นคุณภาพสินค้า และเมื่อผ่านกระบวนการคัดเลือกเพื่อนำสินค้าเข้ามาซื้อขายแล้ว จะต้องมีสัญญาซื้อขายและข้อกำหนดสินค้าที่มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสัญญาที่เหมือนกัน และเกิดความยุติธรรมระหว่างผู้ซื้อล่วงหน้าและผู้ขายล่วงหน้าในกรณีที่จะมีการส่งมอบสินค้าเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเป็นการประกันว่าผู้ซื้อล่วงหน้าจะได้รับสินค้าที่ตรงตามความต้องการโดยที่ผู้ขายต้องส่งมอบสินค้าที่มีคุณลักษณะหรือคุณภาพตามข้อกำหนดสินค้า ที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อวันทำสัญญา

 

หลังจากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จะต้องมีสำนักหักบัญชี (Clearing House) ดูแลการปฏิบัติตามข้อตกลงการซื้อขายล่วงหน้าให้เป็นไปโดยเรียบร้อย เพื่อที่จะทำให้กระบวนการรับและส่งมอบดำเนินการไปอย่างราบรื่น สำนักหักบัญชีจึงเป็นหน่วยงานทำหน้าที่จัดการด้านการเงินให้ผู้ซื้อและผู้ขาย เช่นเป็นตัวแทนในการจ่ายค่าสินค้า ค่าตรวจสอบสินค้า และค่าเช่าคลังสินค้า แทนให้แก่ผู้ซื้อ และเป็นตัวแทนรับเงินค่าสินค้าจากผู้ขาย นอกจากนี้สำนักหักบัญชียังทำหน้าที่ในการปรับสถานะทางบัญชีระหว่างวันของผู้ซื้อและผู้ขายล่วงหน้าอีกด้วย

ในวันทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะต้องมีการวางเงินประกันการซื้อขาย ผู้ซื้อล่วงหน้าและผู้ขายล่วงหน้าตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จะต้องวางเงินประกันเริ่มแรก (Initial Margin) เพื่อให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยสำนักหักบัญชีจะมีหน้าที่ในการปรับฐานะเงินประกันของผู้ซื้อและผู้ขายระหว่างวันทำการซื้อขาย (Mark-to-Market) ตามราคาล่วงหน้าของสินค้าประเภทนั้นๆในแต่ละวัน เช่นราคาสินค้าล่วงหน้าในวันนั้นลดลงต่ำกว่าราคาที่ผู้ขายขายล่วงหน้าไว้ ผู้ขายจะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาที่เคลื่อนไหว หรือถ้ากรณีที่ราคาในวันนั้นปรับตัวสูงขึ้นสูงกว่าราคาที่ผู้ขายขายล่วงหน้าไว้ ผู้ขายจะขาดทุนจากส่วนต่างของราคาเช่นเดียวกัน สำหรับสำนักหักบัญชีนั้นจะมีหน้าที่ในการปรับสถานะเงินประกันที่ผู้ซื้อและผู้ขายล่วงหน้าสำหรับสถานะกำไรหรือขาดทุนในแต่ละวัน ถ้าขาดทุนจนถึงระดับที่ทาง ต.ส.ล. กำหนดสำนักหักบัญชีจะทำหน้าที่ในการเรียกผู้ซื้อหรือผู้ขายให้มาวางเงินประกันเพิ่ม (Maintenance Margin) ถ้าไม่มีเงินประกันมาวางเพิ่ม ต.ส.ล. จะสามารถบังคับให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายทำการหักล้างสถานะสัญญาซื้อขายของตนเองได้ มาตรการดังกล่าวนั้นมีไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายล่วงหน้าขาดทุนมากเกินกว่าภาระที่ตนเองจะสามารถรับได้

 

สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการซื้อและขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้น ปัจจุบันมี ยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS3) ข้าวขาว 5% แบบ Both Options (BWR5) น้ำยางข้น (LATEX) ยางแท่งเอสทีอาร์ 20 (STR20) แป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้นพิเศษ (TS) มันสัมปะหลังเส้น (TC) ฯลฯ

 

ในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินงานของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) ได้กำหนดให้ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย สามารถนำข้าวขาว 5% และยางแผ่นรมควันชั้น 3 เข้าซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นลำดับแรกในไตรมาสที่ 1 ของปี พ.ศ. 2547

 

สาเหตุที่คณะกรรมการ ก.ส.ล. ได้กำหนดให้ข้าวขาว 5% เป็นสินค้าประเภทแรก ๆ ที่นำมาซื้อขายล่วงหน้านั้น เป็นเพราะข้าวมีความสำคัญอย่างมากต่อเกษตรกรไทย ประเทศไทยเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ในตลาดโลกมากว่า 30 ปี ราคาข้าวในประเทศไทยมีอิทธิพลต่อราคาข้าวในตลาดโลก ดังนั้นการกำหนดให้ข้าวขาว 5% สามารถทำการซื้อขายได้ล่วงหน้านั้น จึงเป็นเครื่องมือประกันความเสี่ยงสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกได้เป็นอย่างดี การทำข้อตกลงดังกล่าวล่วงหน้านั้นจะทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถทราบได้ถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นตลอดจนราคาที่ตนสามารถจะทำกำไรและขายได้ ทำให้ซื้อขายข้าวขาว 5% ล่วงหน้าจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง และจะทำให้ราคาล่วงหน้านั้นเป็นราคาอ้างอิงสำหรับการค้าข้าวของโลกต่อไป

 

เช่นเดียวกันกับข้าวขาว 5% การกำหนดให้ยางแผ่นรมควันชั้น 3 เป็นสินค้าเกษตรประเภทแรกๆที่นำมาซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า คือ ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก และที่สำคัญที่สุดคือราคายางพาราในประเทศไทยมีอิทธิพลต่อราคาล่วงหน้าในตลาดโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นและประเทศสิงคโปร์ เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้นยางพาราที่ผลิตจากประเทศไทยนั้น ก็มีการนำไปซื้อขายกันล่วงหน้าในตลาดโตเกียวและตลาดสิงคโปร์อยู่แล้ว การจัดให้มีการซื้อขายยางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ล่วงหน้านั้น จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้ที่ต้องการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ

 

และหลังจากนั้นสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำยางข้น (LATEX) ยางแท่งเอสทีอาร์ 20 (STR20) และแป้งมันสำปะหลังประเภทสตาร์ช ชั้นพิเศษ (TS) ก็ได้นำเข้ามาสู่ระบบการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย และในอนาคตจะมีสินค้าเกษตรอีกจำนวนมากที่จะเข้าสู่ระบบการซื้อขายล่วงหน้ามากขึ้น

 

การนำสินค้าเกษตรเข้ามาซื้อขายในระบบตลาดล่วงหน้านั้น การตกลงการซื้อขายล่วงหน้าจะต้องเป็นในรูปแบบของ Futures Contract ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบ Futures Contract จะต่างจาก Forward Contract คือสัญญาจะต้องมีมาตรฐาน

 

การทำสัญญาแบบ Forward Contract นั้น สัญญาเป็นการตกลงกันระหว่างบุคคลหรือสถาบันสองฝ่าย ซึ่งเป็นการตกลงกันเองโดยไม่ผ่านระบบตลาด เช่นการซื้อขายดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้ากับธนาคาร ก็เป็นการทำสัญญาซื้อหรือขายล่วงหน้าระหว่างบุคคลหรือสถาบันสองฝ่าย คือฝ่ายแรกคือ ธนาคาร กับฝ่ายที่สองคือ บริษัทผู้ต้องการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น ซึ่งสัญญาแบบนี้จะเป็นสัญญาที่ไม่มีมาตรฐาน คือ สัญญาที่ธนาคารทำการตกลงกับลูกค้าแต่ละรายนั้นจะมีจำนวนไม่เท่ากัน ราคาไม่เหมือนกัน ฯลฯ

 

สำหรับสัญญาแบบ Futures Contract ซึ่งใช้ในการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้น จะต้องเป็นสัญญาที่มีมาตรฐาน คือ สัญญาจะต้องกำหนดจำนวนสินค้าว่า 1 สัญญาจะใช้ในการซื้อหรือขายสินค้าจำนวนเท่าใด ราคาที่ใช้ในการซื้อขายสินค้านั้นจะมีจำนวนเท่าใด ตลอดจนการเคลื่อนไหวของราคาในการซื้อขายสัญญา วันที่ครบกำหนดตามสัญญา คุณภาพของสินค้าที่ทำการตกลงซื้อขาย การวางเงินประกันในการซื้อขาย และวิธีการส่งมอบสินค้า

 

การที่สัญญาแบบ Futures Contract จะต้องกำหนดให้มีมาตรฐานนั้น เพื่อให้สัญญาหรือข้อตกลงต่าง ๆ เป็นที่เข้าใจของทุกคนที่ทำการซื้อขายในตลาด เพราะผู้ที่ทำการซื้อขายในตลาดล่วงหน้านั้นมีจำนวนมาก การเข้าใจของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ถ้าสัญญาไม่เป็นมาตรฐาน อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในการซื้อหรือขายสินค้าล่วงหน้าได้

 

ซึ่งสัญญาการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าแบบปกติในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยนั้น เป็นสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าแบบ Physical Delivery คือเป็นสัญญาที่ต้องมีการส่งมอบสินค้าตามที่ตกลงกันในสัญญา แต่สัญญาซื้อขายข้าวขาว 5% แบบ Both Option เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนในการตัดสินใจว่าจะให้มีการส่งมอบสินค้าในอนาคตกันจริง ตามรูปแบบของ Physical Delivery หรือจะเป็นแบบการชำระราคาตามราคาตลาดแบบ Cash Settlement คือการชำระผลกำไรและขาดทุนจากการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นการยุติภาระผูกพันในการส่งมอบสินทรัพย์ตามสัญญา

 

ความเป็นมาตรฐานของสัญญา Futures นั้น จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าใจดีว่า กำลังซื้อหรือขายสินค้าใดล่วงหน้า ราคาเท่าใด จำนวนเท่าใด คุณภาพของสินค้าที่จะมีการส่งมอบในอนาคตนั้นเป็นอย่างไร เพราะการซื้อขาย Futures Contract นั้นจะเป็นการซื้อขายในระบบตลาดที่มีระเบียบ (Organized Market) หรือเป็นตลาดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นคู่สัญญาจะมีจำนวนมาก การที่จะนำ Futures Contract เข้ามาซื้อขายในตลาดได้นั้น สัญญาจึงต้องมีมาตรฐาน เมื่อผู้ลงทุนสนใจที่จะทำการซื้อขาย Futures Contract ก็จะเข้าใจทันทีว่าสัญญานั้นมีลักษณะเป็นเช่นใด

 

ตัวอย่างของการกำหนดสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าของยางแผ่นรมควันชั้น 3 ของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความเข้าใจถึงสัญญาที่ตนจะซื้อหรือขายนั้นตรงกัน ตลาดสิค้าเกษตรล่วงหน้าจึงกำหนดให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีข้อกำหนดต่าง ๆ ดังนี้

วันแรกที่เริ่มการซื้อขาย

28 พฤษภาคม 2547

สินค้า

ยางแผ่นรมควันชั้น 3

คุณภาพสินค้าที่ส่งมอบ

สำหรับสัญญาฯ ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2551
ตามมาตรฐาน Green Book และผลิตหรือส่งมอบจากโรงงานที่ตลาดรับรอง

สำหรับสัญญาฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป
มาตรฐาน Green Book โดยผู้ซื้อสามารถกำหนดลักษณะเฉพาะ (House Term) ตามที่ต้องการ และผลิตหรือส่งมอบจากโรงงานที่ตลาดกำหนด

หน่วยการซื้อขาย

5,000 กิโลกรัม หรือ 5 เมตริกตัน / หนึ่งหน่วยการซื้อขาย

หน่วยการส่งมอบ

20,000 กิโลกรัม หรือ 20 เมตริกตัน / หนึ่งหน่วยการส่งมอบ

วิธีการซื้อขาย

Computerized continuous trading

ราคาซื้อขาย

บาท / กิโลกรัม

อัตราการขึ้นลงของราคา (ช่วงราคา)

0.05 บาท / กิโลกรัม

อัตราการขึ้นลงของราคาสูงสุดประจำวัน

2.80 บาท / กิโลกรัม
- อัตราดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตาม หลักเกณฑ์การปรับอัตราขึ้นลงของราคาสูงสุดประจำวัน
- อัตราล่าสุด

จำนวนการถือครองข้อตกลง

สำหรับสัญญาฯ ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2551
ไม่เกิน 100 ข้อตกลงในเดือนส่งมอบ
ไม่เกิน 500 ข้อตกลงของทุกเดือนรวมกัน
สำหรับผู้ที่มีฐานะเป็นผู้ประกันความเสี่ยงที่ได้รับอนุญาตจากตลาด อาจถือครองได้มากกว่าข้อจำกัดข้างต้น

สำหรับสัญญาฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป
1st contract month: ไม่เกิน 200 ข้อตกลง
2nd contract month: ไม่เกิน 600 ข้อตกลง
ทุกเดือนรวมกัน: ไม่เกิน 3,000 ข้อตกลง
สำหรับผู้ที่มีฐานะเป็นผู้ประกันความเสี่ยง
1st contract month: ไม่เกิน 500 ข้อตกลง

อัตราเงินประกัน

อัตราเงินประกันล่าสุด

หลักประกันการส่งมอบ

อัตราหลักประกันล่าสุด

เวลาซื้อขาย

10.00 น. ถึง 15.45 น.

เดือนที่ครบกำหนดส่งมอบ

ทุกเดือนติดต่อกันไม่เกิน 9 เดือน

วันซื้อขายสุดท้าย

วันทำการที่ 3 ก่อนวันทำการแรกของเดือนส่งมอบ

วันส่งมอบสุดท้าย

วันทำการสุดท้ายของเดือนส่งมอบ

วิธีการส่งมอบ จุดส่งมอบ และเงื่อนไขการส่งมอบ

สำหรับสัญญาฯ ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ 2551
ส่งมอบยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ท่าเรือกรุงเทพ หรือท่าเรือแหลมฉบังตามเงื่อนไข Free on Board (FOB)

สำหรับสัญญาฯ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป
ผู้ซื้อเป็นผู้กำหนดจุดส่งมอบและคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า (Buyer’s Option)
1) FOB (PAR)
- กรุงเทพ
- แหลมฉบัง
2) ภายในประเทศ (Discount)
- คลังสินค้าหรือโรงงานที่ตลาดกำหนด

ที่มา: www.afet.or.th (ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย)

 

จะเห็นได้ว่าสัญญาแบบ Futures Contract นั้น จะมีการระบุถึงชื่อของสินค้า คุณภาพของสินค้า เพื่อทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจดีว่าสินค้าที่ตนทำการซื้อขายล่วงหน้านั้นมีคุณภาพอย่างไร นอกจากนี้สัญญาจะกำหนดหน่วยการซื้อขาย เพื่อทำให้ผู้ลงทุนรู้ดีกว่า 1 สัญญานั้นประกอบด้วยสินค้าจำนวนเท่าใด น้ำหนักเท่าใด ฯลฯ

 

                นอกจากนี้ยังระบุถึงราคาของสินค้า การเคลื่อนไหวของราคาสินค้า และอัตราการขึ้นลงสูงสุดของราคาประจำวัน การวางหลักประกัน เวลาทำการซื้อขาย กำหนดการส่งมอบสินค้าตามสัญญา วิธีการส่งมอบ สิ่งต่าง ๆ ที่ระบุในสัญญานี้กระทำเพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีความเข้าใจในสัญญาที่ซื้อขาย ว่าตนกำลังทำสัญญาใดอยู่ จำนวนเท่าใด คุณภาพอย่างไร ฯลฯ

 การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยนั้น เป็นการซื้อขายแบบในตลาดที่มีระเบียบ หรือ Organized Exchange ดังนั้นขั้นตอนการซื้อขายจึงมีความสำคัญที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษา

การใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) ในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าของตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้านั้น มีวัตถุประสงค์ของการทำธุรกรรมต่าง ๆ ล่วงหน้า เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวที่ไม่แน่นอนของราคาสินค้าเกษตรในอนาคต

 

                ตัวอย่างของการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า อาทิ การซื้อขายยางพาราล่วงหน้า เป็นกลไกของการสั่งซื้อและสั่งขายยางพาราล่วงหน้า โดยที่ผู้ขายสินค้ายางพาราล่วงหน้านั้น เริ่มต้นโดยผู้ผลิตยางพารา ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงของตนโดยการขายยางพาราล่วงหน้า เพราะราคายางพารานั้นจะมีการเคลื่อนไหวขึ้นลงไม่แน่นอนตามสถานการณ์ของตลาด ราคาขายของยางพาราจึงอาจมีความไม่แน่นอนในอนาคต ผู้ผลิตจึงไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าราคาของยางพารานั้นจะเป็นเช่นไร เมื่อถึงเวลาที่ผลิตผลพร้อมที่จะขายในอนาคต ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ราคาขายยางพาราลดลงในอนาคต ผู้ผลิตจึงอาจขอทำสัญญาขายยางพาราล่วงหน้าในราคาที่ตนเองต้องการ เพื่อทำให้ผู้ผลิตทราบได้ว่าในอนาคตนั้นยางพาราที่ผลิตจะขายได้ในราคาใด เป็นการป้องกันความเสี่ยงของผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี

 

                ฝ่ายของผู้ซื้อยางพาราล่วงหน้านั้น อาจเป็นผู้ที่ต้องการใช้วัตถุดิบยางพาราในกระบวนการผลิต หรือต้องการส่งออกยางพาราไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ดังนั้นการทำการซื้อยางพาราล่วงหน้านั้น จะทำให้ผู้ซื้อเองทราบได้อย่างแน่นอนว่าวัตถุดิบที่ตนจะใช้ในกระบวนการผลิตนั้น จะมีมูลค่าเท่าใดในอนาคต หรือถ้าหากเป็นผู้ส่งออก ก็จะทำให้ทราบว่าต้นทุนในการส่งออกในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพื่อที่ตนจะสามารถกำหนดราคาขายให้แก่คู่ค้าในต่างประเทศได้ล่วงหน้า และไม่มีความเสี่ยง

 

                ดังนั้นการทำสัญญาซื้อหรือขายล่วงหน้านั้น เป็นการป้องกันความเสี่ยงให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสัญญาล่วงหน้า เพื่อทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถทราบถึงราคาขายและราคาซื้อของตนเองในอนาคต ไม่ว่าราคาของสินค้าในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งสองฝ่ายก็จะสามารถซื้อหรือขายสินค้าตามสัญญาได้ในราคาที่ต้องการ

 

                ถ้าหากการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า มีคู่สัญญาเพียงแต่ผู้ผลิต (ผู้ทำสัญญาขายล่วงหน้า) และผู้ที่ใช้วัตถุดิบ (ผู้ทำสัญญาซื้อล่วงหน้า) แต่เพียงสองฝ่ายเท่านั้น ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าจะไม่มีสภาพคล่องเท่าที่ควร

 

                หากเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์แล้ว ถ้าผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มีเพียงแต่ผู้ที่ต้องการซื้อหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว หรือลงทุนเพื่อรอรับเงินปันผลเพียงอย่างเดียว สภพาของตลาดหลักทรัพย์คงจะไม่มีการเคลื่อนไหวในแต่ละวันมากนัก เพราะผู้ลงทุนจะซื้อแล้วเก็บหุ้นไว้เป็นระยะยาว เช่นเดียวกันกับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ถ้าตลาดมีเพียงแต่ผู้ที่ต้องการขายสินค้าที่ตนเองผลิต และต้องการซื้อสินค้าไปเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือส่งออกเท่านั้น ตลาดสินค้าเกษตรก็จะมีลักษณะที่ซบเซาเช่นเดียวกัน

 

                สาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์มีภาวการณ์ของราคาหลักทรัพย์เคลื่อนไหวตลอดเวลานั้น เป็นเพราะตลาดมีนักลงทุนที่ต้องการลงทุนเป็นระยะเวลายาวส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นนักเก็งกำไร ซึ่งนักเก็งกำไรนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ตลาดมีการเคลื่อนไหว หรือมีสภาพคล่อง เพราะยิ่งมีนักเก็งกำไรมากเท่าใด จะมีผู้ที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในแต่ละวันมากขึ้น

 

                สำหรับตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีนักเก็งกำไร (Speculator) แล้วตลาดก็จะซบเซา เพราะนักเก็งกำไรจะเป็นผู้ที่ทำให้ตลาดมีสภาพคล่อง เช่นเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์ คือ นักเก็งกำไรจะเป็นคนที่ทำให้มูลค่าของสัญญามีการเคลื่อนไหว หรือมีสภาพคล่องนั่นเอง

 

                ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ระบบของตลาดอาจยังไม่สมบูรณ์มากนัก แต่ระยะเวลาจะทำให้ตลาดนี้มีความสมบูรณ์มากขึ้น และจะเป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อระบการเงินของประเทศไทย และจะเป็นแหล่งที่พึ่งพาในการบริหารความเสี่ยงที่ดีของธุรกิจและผู้ที่ต้องการบริหารความเสี่ยงอีกแหล่งหนึ่งในอนาคต

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
หมายเลขบันทึก: 478667เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท