การเริ่มต้นลงทุนในหลักทรัพย์


หลักทรัพย์

ผู้เขียนได้กล่าวถึงทิศทางและนโยบายในการจัดการลงทุนในคอลัมน์นี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้เขียนไปนั้นเป็นแนวทางหรือทิศทางการลงทุนในตราสารทางการเงินที่ค่อนข้างต้องมีความเข้าใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก อาทิ การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การซื้อขาย SET50 Index Futures, SET50 Index Options, Stock Futures หรือ Gold Futures เป็นต้น แต่สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเหมาะสำหรับผู้อ่านที่มีการลงทุนมาเป็นระยะหนึ่ง มีความเข้าใจในวิธีการลงทุนในหลักการเบื้องต้นอยู่บ้าง จึงจะมีความเข้าใจในเนื้อหาเหล่านี้เป็นอย่างดี

หากท่านผู้อ่านเป็นนักลงทุนมือใหม่ หรือมีความต้องการที่จะเริ่มลงทุนในหลักทรัพย์ หรือตราสารทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ผู้อ่านจำเป็นที่จะต้องมีความรู้พื้นฐานและทำความเข้าใจกับหลักการเบื้องต้นก่อนที่จะเข้าสู่การลงทุนจริงๆ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจจะต้องได้รับการอบรมจากทาง TSI (www.tsi-thailand.org) ซึ่งจะมีการจัดการอบรมเพิ่มพูนให้ความรู้แก่ผู้ลงทุนในทุกระดับ เพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจถึงวิธีการในการลงทุน และเทคนิคต่างๆ ในการตัดสินใจในการลงทุน

ในสัปดาห์นี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างถึงแนวทางในการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์เป็นการเบื้องต้น เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้แกท่านผู้อ่าน ที่อาจพัฒนาไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพในอนาคต

                การลงทุน คือ การที่เราจ่ายเงินสดจำนวนหนึ่งไปในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังจะได้รับผลตอบแทนจากการจ่ายเงินสดนั้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนโดยทั่วไปจะคาดหวังว่าในอนาคตจะได้รับเงินสดจำนวนที่จ่ายไปนั้นคืน บวกกับเงินสดส่วนที่เพิ่ม หรืออาจเรียกได้ว่า “ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม” โดยที่ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดว่าจะได้รับนั้น จะสามารถชดเชยระยะเวลาที่เสียไป อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุก ๆ การลงทุนได้อย่างคุ้มค่า

หรืออาจกล่าวได้ว่า การลงทุน หมายถึง การออมในปัจจุบัน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น การที่ผู้ลงทุนตัดสินใจนำเงินออมมาลงทุน ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ตลาดการเงิน (Financial Markets) ในปัจจุบัน มีทางเลือกสำหรับการลงทุนให้เลือกลงทุนได้หลากหลายวิธี ทั้งสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) เช่น หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นทุนกองทุนรวม ฯลฯ หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เช่น ทองคำ ที่ดิน อาคาร เพชร พลอย เครื่องประดับ ฯลฯ ดังนั้นการที่ผู้ลงทุนมีความรู้ความเข้าใจในสินทรัพย์ที่จะลงทุนจึงมีความสำคัญมาก การลงทุนโดยไม่มีความรู้ หรือไม่เข้าใจในเรื่องความเสี่ยงและทางเลือกในการลงทุนดีพอ จะทำให้การลงทุนนั้นที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด

การที่ผู้ลงทุนเริ่มแรก เข้าใจการลงทุน และลงทุนได้อย่างถูกวิธี จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสที่ดีในการสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็ว การลงทุนที่มีการกระจายการลงทุนเป็นอย่างดี จะช่วยผู้ลงทุนให้ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนได้ เพราะการที่ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยง หรือการลงทุนในหลาย ๆ หุ้นพร้อมกัน ก็เปรียบได้เหมือนการที่เราขนย้ายไข่ไก่ ถ้าเรานำไข่ไก่ใส่ไว้ในลัง ๆ เดียวใหญ่ ๆ หากลังนั้นเกิดตกระหว่างการขนย้าย ก็จะทำให้ไข่ไก่ทั้งหมดเกิดความเสียหาย แต่ถ้าเรานำไข่ไก่ใส่กล่องเล็ก ๆ หลาย ๆ กล่อง เมื่อมีการขนย้าย หากกล่องใดกล่องหนึ่งเกิดตก เราก็จะสูญเสียไข่ไก่เพียงจำนวนน้อย ดังนั้นการกระจายการลงทุน จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น

เงินลงทุนที่ผุ้ลงทุนนำมาลงทุนในหุ้นสามัญ หรือหลักทรัพย์ต่าง ๆ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย เพราะเงินจำนวนนี้จะถูกหมุนเวียนไปยังผู้ที่ต้องการใช้เงินทุน โดยผ่านสื่กลางทางการเงินหลากหลายรูปแบบในระบบการเงิน ทั้งในรูปแบบของเงินให้กู้ หรือเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ธุรกิจที่ต้องการเงินทุน อาจนำเงินทุนนั้นไปใช้ในการเริ่มธุรกิจ การสร้างโรงงาน การซื้อเครื่องจักร การจ้างแรงงาน การซื้อวัตถุดิบ การขยายการผลิต รวมทั้งการลงทุนในโครงการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการผลิตและการลงทุนเหล่านี้ จะก่อทำให้เกิดการจ้างแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจภาคส่วนอื่น ๆ ดังนั้นหากการลงทุนมีจำนวนมาก ก็จะเป็นการสะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศที่สำคัญอีกด้วย

จากผลงานวิจัยของ Marilyn MacGruder Barnwall แห่ง MacGruder Agency ซึ่ง Thailand Securities Institute (TSI) ได้กล่าวไว้ในเวปไซด์ของ TSI ว่านักลงทุนนั้นสามารถแบ่งประเภทของนักลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ ออกเป็น 2 ประเภท ใหญ่ ๆ คือ

1. นักลงทุนประเภทที่ลงทุนและรอรับผลตอบแทนจากการลงทุน (Passive Investor) เป็นผู้ลงทุนที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือยอมรับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก จึงทำให้การลงทุนโดยทั่วไปจะเป็นการลงทุนผ่านการจัดการลงทุนโดยมืออาชีพเป็นหลัก

2. นักลงทุนประเภทที่ลงทุนและมุ่งหวังผลตอบแทนจากการลงทุน (Active Investor) เป็นผู้ลงทุนที่เห็นว่ามีโอกาสในการลงทุนเสมอ จึงเป็นผู้ลงทุนที่ลักษณะเป็นผู้ที่ชอบความเสี่ยง และมักจัดการลงทุนด้วยตนเอง

นอกจากนี้ TSI ยังได้กล่าวถึงบทวิเคราะห์ของ Bailard, Biehl & Kaiser Five-Way Model (BB&K) ซึ่งแบ่งนักลงทุนออกเป็น 5 ประเภท โดยพิจารณาจากแนวปฏิบัติในการลงทุน ซึ่งเป็นผลสะท้อนออกมาจากความมั่นใจหรือความวิตกกังวลของนักลงทุนแต่ละบุคคล

1. นักผจญภัย (Adventurer) เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบใช้ชีวิตอยู่กับความไม่แน่นอน และตัดสินใจอย่างหุนหันพลันแล่น การตัดสินใจในการลงทุนจึงขาดความรอบคอบ ทำให้การลงทุนจึงเป็นแบบมุ่งหวังผล

2. พวกเป็นตัวของตัวเอง (Individualist) เป็นนักลงทุนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง เช่นเดียวกับนักผจญภัย แต่จะมีการตัดสินใจอย่างรอบคอบระมัดระวัง โดยจะมีการพิจารณาการลงทุนอย่างถี่ถ้วน จึงมักลงทุนแบบมุ่งหวังผล ซึ่งจะต้องลงทุนด้วยการตัดสินใจของตนเอง แต่ถ้าผู้ลงทุนประเภทนี้ไว้ใจให้มืออาชีพจัดการลงทุนให้แล้ว ก็มักจะไม่เข้ามายุ่งในกระบวนการตัดสินใจในการลงทุนอีกเลย

3. ดาราคนดัง (Celebrity) เป็นนักลงทุนที่มักขี้กังวล ชอบลงทุนตามกระแส กลัวตกข่าว ในการลงทุนนั้นจึงมักตัดสินใจเร็วไม่ค่อยระมัดระวัง ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนในกลุ่มนี้จะเป็นลูกค้าของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์มากกว่าจะเป็นลูกค้าของผู้จัดการกองทุน

4. ผู้พิทักษ์ (Guardian) เป็นผู้ลงทุนที่มีความระมัดระวังรอบคอบ ค่อนข้างจู้จี้ มีความวิตกกังวลมาก เป็นคนที่รู้ข้อจำกัดของตัวเอง ไม่ชอบตัดสินใจ ผู้ลงทุนในกลุ่มนี้จึงมักจะให้ผู้จัดการกองทุนมืออาชีพจัดการลงทุนแทนตนเอง และผู้ลงทุนกลุ่มนี้มักลงทุนแบบรอรับผล

5. พวกที่อยู่คาบเส้น (Straight Arrow) ได้แก่ พวกที่ไม่อยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งข้างต้น แต่จะมีลักษณะกลางๆ  ไม่ตรงตามแบบในข้างต้น แบบใดแบบหนึ่งเฉพาะ

สำหรับการกำหนดจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสม เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ผู้ลงทุนทุกคนต้องมีความจำเป็นต้องตัดสินใจในการลงทุน การนำเงินออมหรือเงินสำหรับการใช้จ่ายมาลงทุนมากเกินไป อาจจะทำให้ผู้ลงทุนต้องประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเป็นการกดดันตัวเองมากจนเกินไป 

แต่หากการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนที่น้อยเกินไป ก็อาจทำให้ผู้ลงทุนอาจเสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนตามที่ควรจะได้รับ ซึ่งการจัดสรรเงินสำหรับการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้การลงทุนของผู้ลงทุนโดยทั่วไปเป็นไปอย่างมีสมดุล

ข้อควรคำนึงในการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุน คือ ผู้ลงทุนควรจะต้องมีเงินออม และเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินในจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายประมาณ 3 - 6 เดือนล่วงหน้า โดยเงินที่ผุ้ลงทุนจะนำมาใช้ในการลงทุนนั้นควรเป็นเงินส่วนที่เกินจากเงินออมและเงินสำรอง เพราะการลงทุนโดยปกติจะมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจจะสูญเสียเงินลงทุนไป การนำเงินออมหรือเงินสำรองมาลงทุน จึงอาจจะทำให้ผู้ลงทุนประสบปัญหาสภาพคล่องในอนาคตได้

การกำหนดนโยบายในการลงทุน ผู้ลงทุนอาจเริ่มต้นจากการกำหนดเป้าหมายและวัตถุประสงค์การลงทุนที่ชัดเจน เช่น การลงทุนในครั้งนี้จะลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและครอบครัวจำนวน 5,000,000 บาท เพื่อไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ หรือการลงทุนในครั้งนี้ ทำเพื่อเป็นทุนการศึกษาของลูกจำนวน 3,000,000 บาท ในอนาคต หรือ การลงทุนในครั้งนี้ เป็นการลงทุนเพื่อต้องการให้มีรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นเดือนละ 5,000 บาท เป็นต้น

การที่ผู้ลงทุนจะกำหนดนโยบายในการลทุนใดนั้น ผู้ลงทุนจะต้องทำการสำรวจตนเองเสียก่อนว่า การลงทุนแบบใดจึงจะมีความเหมาะสมกับตนเองเป็นสำคัญ เช่น ผู้ลงทุนที่มีสถานะภาพโสด อาจลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงได้สูงกว่าผู้ลงทุนที่มีครอบครัวแล้วเป็นต้น

กำหนดอัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการกำหนดนโยบายการลงทุน การได้มาซึ่งอัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน จะทำให้ผู้ลงทุนได้รับทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นก่อนการลงทุน ว่าตนเองนั้นต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลให้การคัดเลือกสินทรัพย์  หลักทรัพย์ลงทุน หรือจัดสรรการลงทุนเป็นไปได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้การกำหนดนโยบายการลงทุน ผู้ลงทุนมีความจำเป็นที่จะต้องครอบคลุมถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการลงทุน ดังนี้

1. อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องดำเนินการกำหนดตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรกในการตัดสินใจลงทุน เพื่อเป็นการกำหนดว่าผู้ลงทุนนั้นมีความต้องการที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากน้อยเท่าใด

2. ระยะเวลาการลงทุน เป็นการกำหนดถึงกรอบระยะเวลาในการลงทุน ว่าผู้ลงทุนจะต้องการลงทุนเป็นระยะเวลามากน้อยเพียงใด เช่น การลงทุนเพื่อออมเงินไว้ใช้ในยามจำเป็น หรือเมื่อเกษียณอายุ ก็จะมีระยะเวลาในการลงทุนที่แตกต่างกัน

3. ประเภทของสินทรัพย์ที่จะลงทุน เป็นการคัดเลือก ว่าผู้ลงทุนมีความประสงค์ที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอะไร

4. การจัดสรรเงินลงทุน เป็นการกำหนดปริมาณเงินที่จะนำมาใช้ในการลงทุนว่า ผู้ลงทุนต้องการที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใด จำนวนเท่าใด

 

เช่น ผู้ลงทุนมีเงินลงทุนจำนวน 100,000 บาท ผละผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทนเดือนละ 5,000 บาท จากการลงทุน ผู้ลทุนจะต้องคัดเลือกลงทุนในสินทรัพย์ลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 5% โดยการเลือกประเภทของหลักทรัพย์ที่ลงทุนนี้ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยง และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตด้วย

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการลงทุน

1. การลงทุนใดก็ตามที่มีอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับค่อนข้างสูง การลงทุนนั้นจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่มากขึ้นด้วยเสมอ นักลงทุนจะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ จะต้องมีความรู้และมีวินัยในการลงทุนเป็นอย่างดี ความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่จะลงทุน ความเสี่ยง สภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนขจัดอุปสรรคสำคัญในการลงทุนได้ เพราะการที่ผู้ลงทุนมีความรู้และวินัยในการลงทุนจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุด แต่สิ่งที่ผู้ลงทุนพึ่งระลึกถึงเสมอคือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน”

2. การกระจายการลงทุนโดยการจัดการกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน  (Portfolio Management) จะช่วยผู้ลงทุนในการลดความเสี่ยงในการลงทุน หากผู้ลงทุนทำการลงทุนในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และบริษัทนั้นไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ ทำให้ราคาหลักทรัพย์อาจผันผวน ทำให้อัตราผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ดังนั้นการสร้างกลุ่มสินทรัพย์ลงทุน  หรือการจัดสรรเงินลงทุนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์มากกว่าหนึ่งประเภทจะช่วยในการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ เปรียบเสมือนการที่เราใส่ไข่ทั้งหมดรวมไว้ในตระกร้าใบเดียว หากเกิดการตกหล่น ก็จะทำให้ไข่ทั้งหมดแตก แต่ถ้าเรานำไข่ใส่ไว้ในตระกร้าหลายใบ เมื่อตระกร้าใบหนึ่งตก ไข่ในตร้าใบอื่นก็ยังคงเหลืออยู่

3. ผู้ลงทุนจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่าการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น อัตราผลตอบแทน และราคาของหลักทรัพย์ทรัพย์จะมีความอ่อนไหวต่อสภาวะแวดล้อมค่อนข้างมาก และจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การติดตามและทบทวนการลงทุนให้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนจะต้องมีการกระทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถรับผลตอบแทนเป็นที่น่าพึงพอใจอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้สิ่งทีผู้ลงทุนควรจะต้องพึงระลึกไว้อย่างสม่ำเสมอคือ การลงทุน ไม่ใช่ การเล่นหุ้น แต่เป็นการลงทุนอย่างจริงจัง และทางเลือกในการลงทุน ไม่ใช่มีแค่หุ้นสามัญเท่านั้น แต่ผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ในหลักทรัพย์อื่น ๆ อีกหลากหลายประเภท เช่น พันธบัตร ทองคำ ฯลฯ

ผู้ลงทุนที่ดีจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ และเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน มีการกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องมีวินัยในการลงทุน และการลงทุนควรเป็นแบบกระจายการลงทุนเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน

นอกจากนี้ผู้ลงทุนควรที่จะต้องมีความสามารถในการอ่านงบการเงิน หมายเหตุประกอบงบ และบทวิเคราะห์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน และในการลงทุนทุกครั้งผู้ลงทุนมักจะเก็งกำไร แต่กลับลืมว่าต้องมีการการขาดทุนไว้ด้วย และผู้ลงทุนที่ดีต้องไม่โลภ และไม่ประมาท   

ก่อนที่ผู้ลงทุนจะเริ่มต้นการลงทุน ผู้ลงทุนมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงเครื่องมือต่าง ๆ ในการลงทุน ทั้งนี้เครื่องมือในการลงทุนหรือ ตราสารทางการเงินที่ใช้ในการลงทุนประกอบด้วย

ตราสารทุน (Equity Instruments) เป็นตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่บริษัทออกจำหน่ายให้แก่ผู้ถือ (Holder) หรือผู้ลงทุน เพื่อเป็นการระดมเงินทุนไปใช้ในกิจการ โดยผู้ลงทุนหรือผู้ถือตราสารทุนนั้นจะมีฐานะเป็น “เจ้าของกิจการ” ซึ่งจะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือมีสิทธิในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ รวมทั้งมีโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นเงินปันผล (Dividend) เมื่อกิจการมีกำไร หรือมีกระแสเงินสดอย่างเพียงพอ แต่บริษัทที่ออกตราสารทุนไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอทุกปี โดยการตัดสินใจในการจ่ายเงินปันผลนี้จะขึ้นอยู่กับผลกำไรของบริษัท และนโยบายในการจ่ายเงินปันผลของบริษัท ว่าบริษัทใช้นโยบายใดในการจ่ายเงินปันผล หรือมีแนวคิดในการจ่ายเงินปันผลอย่างไร ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ และโอกาสในการลงทุนในอนาคต โดยทั่วไปแล้วตราสารทุนสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

หุ้นสามัญ (Common Stock) 

เป็นตราสารทุนประเภทหุ้นทุน ซึ่งออกจำหน่ายโดยบริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชนผู้ลงทุน โดยผู้ซื้อ/ผู้ถือหุ้นสามัญจะมีสิทธิร่วมเป็นเจ้าของบริษัท มีสิทธิในการออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนของหุ้นที่ถือครองอยู่ โดยร่วมเป็นผู้ตัดสินใจในปัญหาสำคัญต่าง ๆ ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เช่น การเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผล การควบรวมกิจการ ฯลฯ

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นสามัญมีสิทธิได้รับเงินปันผลเมื่อบริษัทมีผลกำไร หรือได้รับเงินปันผลตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท และผู้ลงทุนนี้จะมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างของราคาหุ้นสามัญ เมื่อราคาหุ้นสามัญนั้นมีการปรับตัวสูงขึ้น และมีโอกาสได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่เมื่อบริษัทต้องการที่จะเพิ่มทุนหรือจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิต่างๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้น

หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock) 

เป็นตราสารทุนประเภทหุ้นทุนเช่นเดียวกัน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์นี้จะมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของกิจการเช่นเดียวกับหุ้นสามัญ แต่มีข้อแตกต่างจากหุ้นสามัญบางประการ คือ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิจะได้รับสิทธิในการชำระคืนเงินทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการ หรือต้องยุติการดำเนินงานโดยกระทันหัน

หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) 

เป็นตราสารหนี้ที่มีสิทธิเปลี่ยนมาเป็นตราสารทุนได้ในอนาคต หุ้นกู้แปลงสภาพนี้จะมีสิทธิที่จะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญในช่วงเวลา อัตรา และราคาที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจดี หุ้นกู้แปลงสภาพนี้ได้รับความนิยมมาก เพราะผู้ซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพส่วนใหญ่จะคาดหวังผลตอบแทนที่จะได้รับจากการแปลงสภาพมาเป็นหุ้นสามัญ เพราะจะทำให้ราคาของหุ้นสามัญนั้นดีกว่าการทำกำไรจากผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยของหุ้นกู้ธรรมดา

ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือวอแรนท์ (Warrant) 

เป็นตราสารทุนที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างอิงอยู่ (Underlying Asset) โดยหลักทรัพย์ที่ใบสำคัญแสดงสิทธินั้นอ้างอิงอยู่ ประกอบด้วย หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หุ้นกู้ หรือตราสารอนุพันธ์ ตามราคาใช้สิทธิ (Exercise Price) จำนวนที่ให้ใช้สิทธิ (นิยมใช้เป็นอัตราส่วน) และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ถ้าหากผู้ลงทุนถือใบสำคัญแสดงสิทธิจนพ้นกำหนดระยะเวลาแล้ว ผู้ลงทุนก็จะไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant: DW) 

เป็นตราสารทุนที่มีลักษณะเหมือนกับใบสำคัญแสดงสิทธิทั่วไป (Warrant) โดยบริษัทผู้ออกจำหน่าย (Issuer) ให้สิทธิแก่ผู้ถือ DW ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Securities) โยที่หลักทรัพย์อ้างอิง อาจเป็น หุ้นสมัญ (Stock) หรือดัชนีหลักทรัพย์ (Index) ก็ได้ โดยมีการกำหนดราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิ และระยะเวลาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ และบริษัทผู้ออกจำหน่ายจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเลือกทำการส่งมอบเป็นหลักทรัพย์หรือเงินสดก็ได้

ใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (Transferable Subscription Rights: TSR) 

เป็นตราสารทุนที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญตามสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญที่ผู้ถือหุ้นสามัญครอบครองอยู่เดิม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามัญใช้เป็นหลักฐานในการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นสามัญเดิมที่ ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ก็จะสามารถขายหรือโอนสิทธินั้นให้แก่ผู้อื่นได้ เป็นการเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นสามัญของบริษัทและช่วยให้บริษัทสามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ การออกตราสารประเภทนี้ ยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีข้อจำกัดในการลงทุนเพิ่ม หรือเกินกว่าสิทธิที่พึ่งถือหุ้นได้ตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยวิธีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทจดทะเบียนจัดสรรให้ โดยผู้ลงทุนต่างชาติจะสามารถนำ TSR นี้มาขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้

ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย หรือเอ็นวีดีอาร์ (Non - Voting Depositary Receipt: NVDR) 

เป็นตราสารทุนที่ออกโดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ (Automatic List) และมีหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) เป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ได้ในลักษณะเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั่นเอง

ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Depository Receipt: DR) 

เป็นตราสารทุนที่ออกจำหน่ายและเสนอขายโดยบริษัท สยามดีอาร์ จำกัด เป็นหลักทรัพย์ที่ให้สิทธิในการอ้างอิง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ผู้ลงทุนที่ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆเช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางการเงิน (Financial Right) หรือสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน (Voting Right) ในบริษัทจดทะเบียน

 

ตราสารการลงทุนอักประเภทหนึ่งที่นักลงทุนทั่วไปควรรู้จัก คือ ตราสารหนี้ (Debt Instrument หรือ Fixed Income Securities) เป็นตราสารทางการเงินที่ผู้ออกจำหน่ายตราสาร (หรือผู้ที่เขียนตราสารขึ้นมา) ซึ่งเรียกว่า ผู้กู้หรือลูกหนี้ โดยมีข้อผูกพันทางกฎหมายว่าจะจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวดๆ (ซึ่งอาจมีกำหนดการจ่ายเงิน เป็น ปีละครั้ง หรือปีละสองครั้งเป็นต้น) และเงินต้น หรือผลประโยชน์อื่นๆ ตามข้อกำหนดที่ได้ระบุไว้ในตราสารให้แก่ผู้ซื้อซึ่งเรียกว่า ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ เมื่อตราสารหนี้มีอายุครบกำหนดที่ตกลงกันไว้ โดยระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนของตราสารหนี้นั้นจะมีตั้งแต่ระยะสั้น (ไม่เกินหนึ่งปี) ระยะปานกลาง (หนึ่งถึงห้าปี) ไปจนถึงระยะยาว (เกินห้าปีขึ้นไป) ในกรณีตราสารหนี้ที่ผู้ลงทุนทำการลงทุนในตลาดทุนโดยทั่วไปจะหมายถึงตราสารที่มีอายุไถ่ถอนมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป โดยผู้ซื้อหรือผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์อื่นตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในตราสารฉบับนั้น ๆ

คำว่า “ตราสารหนี้” ใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเปลี่ยนมือของผู้ถือหรือผู้ลงทุน ซึ่งมีความแตกต่างจากสัญญาการกู้ยืมเงิน ที่แสดงแต่เพียงความเป็น “เจ้าหนี้” และ “ลูกหนี้” ของผู้ให้กู้กับผู้กู้เงินเหมือนกัน แต่สัญญาการกู้ยืมเงินนั้นไม่สามารถเปลี่ยนมือของความเป็นเจ้าหนี้ได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนมือของตราสารหนี้ระหว่างนักลงทุนนั้นสามารถทำผ่านกลไกตลาดรอง (Secondary Market) ได้ ซึ่งปัจจุบันตลาดรองของประเทศไทยที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการซื้อขายตราสารหนี้ก็คือ BEX (Bond Electronic Exchange) ซึ่งดำเนินการโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น "ตราสารหนี้" คือ ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ต้องการเงินทุน (ผู้กู้ หรือผู้ออกจำหน่ายตราสารหนี้) และผู้ที่มีเงินทุนแต่ต้องการผลตอบแทน (ผู้ให้กู้ หรือผู้ลงทุน) มีภาระผูกพันกัน โดยมีข้อกำหนดต่างๆ ที่ระบุในสัญญาหุ้นกู้ (Indenture) อีกทั้งตราสารหนี้ยังสามารถเปลี่ยนมือกันได้ในตลาดรองเช่นเดียวกับการซื้อขายหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

"ตราสารหนี้" เป็นคำศัพท์ที่มีความหมายกว้างๆ นักลงทุนบางท่านอาจรู้จักตราสารหนี้ในลักษณะของ “พันธบัตร” และ“หุ้นกู้” โดยพันธบัตรที่นักลงทุนในประเทศไทยรู้จักนั้น มักใช้ในการเรียกตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ ว่าคือ พันธบัตร และมักจะใช้คำเรียกว่า หุ้นกู้ เมื่อตราสารหนี้นี้ออกโดยบริษัทเอกชน แต่หลักเกณฑ์พื้นฐานในต่างประเทศนั้น มักจะใช้ใช้คำว่า “Bond” สำหรับตราสารหนี้ทั่วไปทั้งที่ออกโดยภาครัฐและภาคเอกชน มีในบางกรณีที่เรียกว่า“Debenture” เมื่อตราสารหนี้นั้นไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ตราสารหนี้จึงจัดได้ว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการลงทุน ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้นี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนว่าจะให้ความสนใจต่อการลงทุนในตราสารประเภทนี้มากน้อยเพียงใด โดยนักลงทุนจะพิจารณาจากผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับและระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุนในตราสารหนี้นั้นมีดังนี้

1. การลงทุนในตราสารหนี้ เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนในตราสารทุน เพราะการลงทุนในตราสารหนี้ได้มีการกำหนดอัตราผลตอบแทนที่แน่นอน ทำให้นักลงทุนสามารถคาดการณ์กระแสเงินสด หรือรายได้ที่ผู้ลงทุนพึงจะได้รับในอนาคตได้เป็นอย่างดี

2. ผู้ลงทุนที่ลงในตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างคงที่และสม่ำเสมอ เพราะตราสารหนี้มีการกำหนดจ่ายดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าตลอดระยะเวลาการลงทุน และมีความแน่นอนมากกว่าการลงทุนในตราสารทุน

3. ตราสารหนี้เป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน เนื่องจากการลงทุนในตราสารทุนนั้น ผู้ลงทุนจะไม่สามารถประมาณการรายได้จากเงินปันผลหรือส่วนต่างกำไร (Capital Gain / Loss) ที่แน่นอนได้ และการลงทุนในตราสารหนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านราคา (Volatility) น้อยกว่าการลงทุนในตราสารทุน

4. การมีตลาดรองรองรับ (Marketability) ทำให้การซื้อขายเปลี่ยนมือของตราสารหนี้นั้นสามารถทำได้อย่างคล่องตัว และหากตราสารหนี้ที่ลงทุนนั้นเป็นตราสารที่มีคุณภาพดี เช่น ผู้ออกตราสารเป็นรัฐบาลหรือบริษัทเอกชนที่มีฐานะการเงินมั่นคง ก็จะทำให้ตราสารหนี้นั้นมีสภาพคล่อง (Liquidity) หรือสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ง่ายขึ้น

5. การลงทุนในตราสารหนี้นั้นใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายสำหรับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ทำให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินนิยมลงทุนในตราสารหนี้ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถมั่นใจได้ว่าสภาพคล่องจะมีค่อนข้างสูงในตลาดตราสารหนี้

6. ตราสารหนี้ที่ได้ลงทุนไว้ สามารถนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น ใช้ค้ำประกันธุรกิจ ค้ำประกันผู้ต้องหา หรือใช้ในการบริหารเงินนอกงบประมาณสำหรับหน่วยราชการ เป็นต้น ทั้งนี้

การลงทุนในหลักทรัพย์สำหรับผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาและตัดสินใจลงทุน ทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนกลุ่มนี้สามารถร่วมลงทุนได้ใน กองทุนรวม (Mutual Fund) โดยที่การลงทุนในกองทุนรวมนี้เป็น โครงการลงทุนที่ระดมเงินทุนจากนักลงทุนหลายๆรายมารวมกันเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ และจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล จากนั้นกองทุนก็จะนำเงินลงทุน ที่ระดมได้จากนักลงทุนรายย่อย ๆ ที่มาร่วมกันลงทุน ไปลงทุนในหลักทรัพย์ หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้การลงทุนของกองทุนรวมจะต้องเป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายแก่นักลงทุนนั้น สิ่งที่นักลงทุนแต่ละรายจะได้รับจากการลงทุนในกองทุนรวมเรียกว่า “หน่วยลงทุน (Unit Trust)” โดยที่หน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนถือนี้จะเป็นหลักฐานยืนยันฐานะความเป็นเจ้าของเงินที่นักลงทุนได้ลงทุนไป โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เป็นผู้จัดตั้งและทำหน้าที่บริหารกองทุนรวมให้ได้ผลตอบแทนตามนโยบายการลงทุน และนำเอาผลตอบแทนที่ได้รับนำมาเฉลี่ยคืนให้กับนักลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนที่ลงทุนไว้แต่แรกในกองทุนรวมนั้น

การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ผู้บริหารกองทุนรวมสามารถตัดสินใจลงทุนในตราสาร หรือหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น

1. หุ้นสามัญ (Common Stocks หรือ Ordinary Shares) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ หรืออาจเรียกได้ว่าตราสารทุน และเมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงานผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับเงินปันผลในอัตราที่จัดสรรโดยที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยคำนวณตามสัดส่วนของจำนวนหุ้นที่ถือครอง ทั้งนี้ เงินปันผลอาจมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผลกำไรและกระแสเงินสดรับจากการดำเนินงานประจำปีของกิจการ

2. หุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stocks) คือ ตราสารสิทธิที่แสดงความเป็นเจ้าของกิจการ การออกจำหน่ายหุ้นบุริมสิทธิ์กิจการจะมีการจดบุริมสิทธิ์ไว้อย่างชัดเจนไม่สามารถยกเลิกได้ เมื่อกิจการมีกำไรจากการดำเนินงาน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินปันผลในอัตราคงที่ตามที่จดบุริมสิทธิ์ไว้ อาจจะมากหรือน้อยกว่าผู้ถือหุ้นสามัญก็ได้ แต่หากกิจการนั้นต้องเลิกดำเนินการและมีการชำระบัญชีโดยการขายทรัพย์สิน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์จะได้รับเงินคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

3. ใบสำคัญแสดงสิทธิในหุ้น (Stock Warrants) คือ ตราสารสิทธิที่กิจการออกให้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้สิทธิ ในการซื้อหุ้นออกใหม่ในราคา จำนวน และภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้ลงทุนถือครองใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นแล้ว ผู้ลงทุนจะมีสิทธิในความเป็น

คำสำคัญ (Tags): #หลักทรัพย์
หมายเลขบันทึก: 478666เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 15:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท