ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการลงทุน


การลงทุน

เมื่อคุณลงทุนด้านการเงิน ย่อมปรารถนาเห็นเงิน แต่คุณต้องยินยอมพร้อมใจ ยิ้มรับปรับอารมณ์ขื่นขมกับปัจจัยที่จะคอยชักพาให้คุณเศร้าเคล้าทุกข์หรือสุขตลอดเวลา

ปัจจัยที่จะทำให้เรานั้นประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ คือ

  1. 1.              ต้องมีวินัย

                ก่อนที่คุณจะมีวินัย คุณต้องรู้ใจของคุณเสียก่อน เริ่มต้นด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ความรู้ ความเข้าใจในหลักทรัพย์ที่ลงทุน เพราะเมื่อคุณหว่านเมล็ดพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น คุณปลูกกล้วยย่อมต้องได้กล้วย ไม่มีทางที่กล้วยจะกลายร่างให้สวยใสกลายเป็นมะเขือเทศไปได้

                หากคุณอยากได้ผลตอบแทนสูงก็ต้องหว่าน “เงิน” หนัก ขึ้นอยู่ที่คุณจะกล้าพอไหม? คุณจึงต้องทำความเข้าใจเรื่องหลักทรัพย์พร้อมแบกรับความเสี่ยง เพราะ

“การลงทุนมีความเสี่ยง

ผู้ลงทุนโปรดตัดสินใจก่อนการลงทุน”

                ประโยคนี้อาจทำให้คุณหยุดชะงัก แล้วเชื่อตามนั้น ทำให้หลายคนไม่กล้าเสี่ยงตาย เพราะเคราะห์ร้ายเพียงแค่ได้ยิน แล้วบินตามความคิดนั้นจนจบไตรภาค ดังนี้

                ภาคที่หนึ่ง การเริ่มต้น

                ภาคที่สอง ฝืนทนลงทุน

                ภาคที่สาม ขาดทุนป่นปี้

                และถ้ามีภาคสี่ อาจจะเป็น ชาตินี้ไม่ขอลงทุน

 

                ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลงมือทำเลย แต่คิดเตลิดไปไกล เท่ากับปิดความสำเร็จของการลงทุนไปแล้ว 50% แต่หากคุณมีวินัยการลงทุน และศึกษาข้อมูลมากพอและสม่ำเสมอ รับรองว่าประโยคนี้ จะไร้ความหมายต่อการตัดสินใจลงทุนของคุณ

“ลงทุนแต่น้อย ทยอยรับผล อย่าซุกซนรีบเร่ง”

 

  1. 2.              ให้กระจายทุน

                เป็นแนะนำให้คุณ “เหยียบเรือสองแคม” หรือ “จับปลาสองมือ” นั่นคือ กระจายการลงทุนให้มากกว่า 1 แห่ง เพราะ “อนาคตไม่แน่นอน ที่กำลังรุ่งอาจร่วง ที่กำลังร่วงอาจรุ่ง”

                การลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งจนเต็มคราบ ณ ที่แห่งเดียว “ความเสียวจะมาเยือน” เสียวที่จะต้องสูญเสียเงินในคราวเดียวมากๆ แล้วไร้ทุนทำต่อ คุณควรลงทุนให้มากกว่า 1 ประเภท เหมือนคำกล่าวเพื่อความร่ำรวยที่ว่า

                “ควรหาช่องทางทำกินมากกว่า 1 ประเภท เมื่อกิจการใดกิจการหนึ่งร่วง ก็ยังมีอีกกิจการคอยช่วยเหลือ แต่ควรเป็นกิจการคนละประเภทกัน”

 

  1. 3.              เกื้อหนุนสิ่งแวดล้อม

                ผลตอบแทนและราคาของหลักทรัพย์นั้น ค่อนข้างขวัญอ่อน สามารถหนีเตลิดได้ทุกเมื่อ หากสภาวะเศรษฐกิจผันผวน ขึ้นๆ ลงๆ จึงจำเป็นที่คุณต้องติดตามข่าวสารและทำการบ้านด้านการลงทุนตลอดเวลา เพราะนโยบายการลงทุน เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เมื่อคุณมีข้อมูลใหม่ๆ ในมือก็จะตั้งรับได้ทัน และเมื่อลงทุนแล้วอย่าปล่อยตามยถากรรม เพราะคนที่ชอกช้ำจะกลายเป็นคุณ

                แต่ไม่ต้องถึงกับนั่งลุ้นทั้งวัน กลัวว่าเงินจะหดหาย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แนะนำว่า “ไปทำงานธรรมดาธรรมดา อย่ามาเสียเวลากับการลงทุน”

 

รู้ เป็น และเข้าใจ

                การลงทุนไม่ใช่การเล่นหุ้น เพราะมักจะเกิดความเข้าใจผิดว่า “เมื่อใดที่คิดจะลงทุนนั่นคือการเล่นหุ้น” ซึ่งการลงทุนมีมากมายหลายช่องทาง ที่คุณจะได้รู้จักมากขึ้น ในบทต่อๆ ไป

                ความรู้เพิ่มเติมอีกประการที่คุณต้องมีติดตัวเมื่อพร้อมลงทุน คือ “ความรู้พื้นฐานด้านการเงินและความสามารถในการอ่านงบการเงิน” ซึ่งมีมากมายหลากหลายระดับความยากง่าย ขึ้นอยู่ว่าคุณสนใจเรื่องอะไร? แล้วตอนนี้รู้หรือยังว่า “คุณจะลงทุนเพื่ออะไร?”

“ลงทุนดีและเป็น

อย่าเห็นแก่กำไรและความประมาท”

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #การลงทุน
หมายเลขบันทึก: 478660เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท