มารู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกันดีกว่า


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการออมเงินระยะยาววิธีหนึ่ง โดยที่นายจ้าง และลูกจ้าง ต่างมีส่วนร่วมกันในการสะสมเงิเข้ากองทุน โดยที่การจัดตั้งกองทุนนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการออม เพื่อให้ลูกจ้างสามารถนำเงินนั้นไปใช้ได้ในตอนเกษียณ หรือเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ที่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ แม้กระทั่งเสียชีวิต เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะตกเป็นมรดกแก่ทายาท ดังนั้น เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงนับได้ว่าเป็นสวัสดิการชนิดหนึ่งที่นายจ้างได้จัดหาไว้ให้แก่ลูกจ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน

 

                กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะแตกต่างจากกองทุนบำนาญ เพราะกองทุนบำนาญเป็นการกำหนดเงิ่นไขการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างตามจำนวนปีที่ลูกจ้างทำงานกับบริษัท บางบริษัทอาจมีการเตรียมเงินไว้ให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า ก่อนเกษียณ แต่บางบริษัทก็ไม่ได้มีการจัดเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อปีใดก็ตามที่มีลูกจ้างเกษียณจำนวนมาก บริษัทอาจมีเงินไม่พอสำหรับการจ่ายบำนาญในปีนั้น ๆ

 

                กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะสามารถแบ่งประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้หลายวิธี เช่น การแบ่งประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามลักษณะการจัดตั้ง คือ กองทุนเดี่ยว กองทุนกลุ่ม และ กองทุนร่วมทุน

 

                กองทุนเดี่ยว (Single Fund) เป็นกองทุนที่จัดตั้งของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้มีเงินสะสมเข้ากองทุนในแต่ละเดือนนั้นมีจำนวนมาก กองทุนเดี่ยวจะมีคณะกรรมการกองทุน ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนฯ ตามที่ต้องการ และโดยส่วนใหญ่ เงินกองทุนที่ลงทุนนี้จะจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทของนายจ้าง

 

                กองทุนกลุ่ม (Group Fund) เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นของบริษัทในเครือเดียวกัน โดยที่บริษัทในเครือจะนำเงินหักจากเงินเดือนของลูกจ้าง เข้าร่วมลงทุนกันในกองทุนของกลุ่มบริษัท ลักษณะการลงทุนจะเป็นแบบเดียวกับกองทุนเดี่ยว คือ บริษัทในเครือจะนำส่งเงินมาลงทุนร่วมกันในกองทุนเพียงกองทุนเดียว

 

                กองทุนร่วมทุน (Pooled Fund) เป็นกองทุนที่ร่วมลงทุนของหลายบริษัท เพราะในหลาย ๆ บริษัทอาจมีลูกจ้างจำนวนไม่มาก จึงมีเงินสะสมจากลูกจ้างและนายจ้างในแต่ละเดือนไม่มาก จึงไม่คุ้มที่จะดำเนินการเป็นกองทุนเดี่ยว แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวกลางในการนำเงินสำรองเลี้ยงชีพของหลายบริษัท นำมาร่วมลงทุน โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนแบ่งตามสัดส่วนของเงินร่วมลงทุน

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนอกจากจะจัดแบ่งประเภทโดยการแบ่งตามลักษณะของการจัดตั้งแล้วนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถแบ่งออกได้ตามนโยบายของการลงทุน ได้อีกวิธีหนึ่ง

 

                กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มุ่งเน้นกำไรจากการลงทุนสูง แต่มีความเสี่ยงสูง กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เน้นความสำคัญของความมั่นคงของเงินต้นเป็นหลัก ไม่เน้นในเรื่องของกำไรหรือผลตอบแทนจากการลงทุนมากนัก

 

                หากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเลือกลงทุนใน พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง เงินฝาก ฯลฯ ที่มีหลักประกันสูง ซึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ขะสามารถแบ่งออกได้เป็นหลากหลายแบบ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ

 

                กองทุนหุ้นทุน หรือตราสารทุน เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นสามัญไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าของกองทุน การลงทุนแบบนี้นั้นจะมุ่งเน้นในผลตอบแทนที่มาจากการเจริญเติบโตของบริษัทที่เข้าร่วมลงทุน จะทำให้อนาคตของกองทุนมีมูลค่าที่มากขึ้น

 

                กองทุนตราสารหนี้ เป็นกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป กองทุนชนิดนี้มุ่งเน้นผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยที่จะได้รับ และส่วนเพิ่มของมูลค่าของตราสารหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

                นอกจากนี้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจเลือกลงทุนในตราสารทางการเงินต่าง ๆ ต่อไปนี้ได้เช่นเดียวกัน คือ ตราสารหนี้ระยะยาว เงินฝากในรูปแบบต่าง ๆ หน่วยลงทุนของกองทุนรวม ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ ฯลฯ

 

                เมื่อได้ทราบถึงประเภทต่าง ๆ ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกันกับการลงทุนในรูปแบบอื่น ๆ

 

                ข้อดี คือ การร่วมลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถมีเงินสำรองไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ เพราะการออมในตลอดระยะเวลาการทำงานนั้น เป็นการตัดเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนที่น้อยมาก ออกจากเงินเดือน เพื่อนำไปลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในช่วงเกษียณอายุ นอกจากนี้แล้ว การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังนับได้ว่าเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างอีกด้วย การที่นายจ้างร่วมลงทุนในกองทุนดังกล่าว เป็นการจูงใจให้พนักงานอยากทุ่มเทในการทำงานมากขึ้น

 

                ข้อดีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งผู้มีรายได้ส่วนมากได้รับประโยชน์จากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ การได้รับสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษี เป็นการช่วยลดภาระผู้มีรายได้ในการเสียภาษีประจำปี

 

                นอกจากนี้ ข้อเสียของการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน คือ การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนดังกล่าว จึงต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสำหรับค่าบริหารจัดการเป็นการตอบแทน และการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นการลงทุนที่มมีความยืดหยุ่นน้อยมาก เพราะการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นเป็นการนำเงินลงทุนของหลายคนมารวมกัน จึงไม่สามารถลงทุนไดถูกต้องและตรงใจกับผู้ที่ร่วมลงทุนได้ทุกคน แต่ในปัจจุบันมีการเพิ่มเงื่อนไข Employee’s Choice เข้ามาเพิ่มเติม ก็จะทำให้ผู้ลงทุนมีสิทธิในการเลือกนโยบายการลงทุนได้มากขึ้น

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะนำเงินสะสมของผู้ลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์และสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งการลงทุนต่าง ๆ นั้นจะได้รับผลตอบแทนในหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การลงทุนใดก็ตามที่มีความเสี่ยงสูง ก็จะทำให้ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับนั้นย่อมสูงตามไปด้วย และที่ขาดไม่ได้ก็คือ โอกาสที่จะได้รับผลขาดทุนจากการลงทุนนั้นก็ย่อมที่จะมีสูงด้วย

 

                หากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนำเงินลงทุนไปลงทุนในหุ้นสามัญ ผลตอบแทนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับจากการลงทุนคือ เงินปันผลที่หุ้นสามัญจ่ายให้แก่ผู้ลงทุน และกำไรส่วนเกินทุน หรือกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ ถ้าหุ้นสามัญมีราคาที่สูงขึ้นมากกว่าวันที่ได้นำเงินมาลงทุนในหุ้นสามัญนั้น ผู้ลงทุนจะได้รับกำไรส่วนเกินทุน และความแน่นอนที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญนั้น จะมีความไม่แน่นอนสูงหรือต่ำ ก็ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่กองทุนร่วมลงทุนด้วย

 

                ถ้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นำเงินกองทุนไปลงทุนในพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ก็จะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย และกำไรส่วนเกินทุน เพราะพันธบัตรหรือหุ้นกู้นั้น จะจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นสามัญ แต่หากกองทุนนำเงินทุนไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ความแน่นอนของการที่จะได้รับผลตอบแทนก้จะมีสูงมาก เพราะมีรัฐบาลเป็นประกัน แต่ถ้าลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ก็อาจมีโอกาสที่จะไม่ได้รับเงินตามที่กำหนดไว้ ถือว่าการลงทุนแบบนี้จะมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับกระแสเงินสดตามที่สัญญาไว้ในพันธบัตร (Default Risk)

 

                หากลงทุนในตั๋วแลกเงิน ก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับพันธบัตร แต่มีระยะเวลาที่สั้นกว่า และทางเลือกในการลงทุนของกองทุนรวมก็สามารถลงทุนใน บัตรเงินฝาก หรือตั๋วสัญญาใช้เงินได้เช่นเดียวกัน แต่ความเสี่ยงของการลงทุนนั้นก็จะลดลงตามลำดับ

 

                นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วนั้น ผู้ร่วมลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกประการหนึ่ง โดยหากเป็นกรณีของนายจ้างแล้วนั้น นายจ้างจะสามารถนำเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ และสำหรับลูกจ้างก็จะได้รับประโยชน์ทางภาษีเช่นเดียวกัน คือ เงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายสมทบในแต่ละปีนั้น สามารถนำมาหักจากเงินได้ประจำปีของลูกจ้างได้ และหากลูกจ้างพ้นจากสมาชิกภาพ เนื่องจาก เกษียณอายุ ตาย หรือ ทุพพลภาพ เงินสมทบและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะไม่ต้องนำมาเสียภาษีอีก

 

ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวัดความสามารถในการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุน ดังนั้นการวัดประเมินนี้เป็นการบอกว่าผู้ที่ร่วมสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะมีความพึงพอใจในการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนมากน้อยเพียงใด

 

                การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ต้องเป็นการวัดผลตอบแทนโดยรวม (Total Return) คือ ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริง เช่นกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมกับผลตอบแทนที่ยังไม่เกิด เช่น กำไรขาดทุนที่สามารถประเมินได้ ณ วันที่ทำการคำนวณผลตอบแทน แต่กำไรขาดทุนนั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง

 

                การลงทุนในกองทุนรวมจะใช้เกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) ในการบันทึกผลตอบแทน คือเป็นการทะยอยรับรู้รายได้ ซึ่งจะต่างจากเกณฑ์เงินสด ที่ยังไม่รับรู้รายได้จนกว่าจะได้รับเงินสดจริง และจะต้องคำนวณอัตราผลตอบแทน หรือผลตอบแทน โดยกระทำทุกสิ้นวันหรือสิ้นงวด แล้วนำไปรวมกับมูลค่าของสินทรัพย์ ณ งวดก่อนหน้า และหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อทำการคำนวณหาผลตอบแทน หรืออัตราผลตอบแทน ก็จะได้อัตราผลตอบแทนที่หักค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเรียบร้อยแล้ว

 

                การคำนวณผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังจะต้องคำนึงถึงการเพิ่มหรือลดของจำนวนหน่วยลงทุน หรือมูลค่าลงทุน เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจะมีการนำเงินเข้าสะสมทุกเดือน และมีการถอนออกบ่อยครั้ง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ การคำนวณผลตอบแทนจึงใช้วิธี Time Weighted Return เป็นการคำนวณผลตอบแทนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยปลายงวด โดยเทียบกับต้นงวด

 

                การประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น มีวิธีการอื่น ๆ อีกที่ค่อนข้างซับซ้อน เช่นการใช้ Sharpe’s Portfolio Performance Measure, Treynor’s Portfolio Performance Measure หรือ Jensen Intercept ซึ่งเป็นวิธีการประเมินที่นิยมใช้ในการวัดความเสี่ยงของการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน (Portfolio Investment) และเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการประเมินผลการลงทุนในกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ ได้เช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
หมายเลขบันทึก: 478657เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท