นิยามของความเสี่ยง


ความเสี่ยง

 

                ความเสี่ยงมีความหมายในหลากหลายแง่มุม เช่น ความเสี่ยงคือ โอกาสที่เกิดขึ้นแล้วธุรกิจจะเกิดความเสียหาย (Chance of Loss) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ (Possibility of Loss) ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น (Uncertainty of Event) และ การคลาดเคลื่อนของการคาดการณ์ (Dispersion of Actual Result)

 

                ดังนั้นนิยามของความเสี่ยงจึงอาจสามารถกำหนดได้ง่าย ๆ คือ ความคลาดเคลื่อนของผลตอบแทนที่ธุรกิจคาดการณ์ไว้ หากความคลาดเคลื่อนนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมากเท่าใด หรือเกิดขึ้นแล้วจะมีความเสียหายมากขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงนั้นก็จะมีค่ามากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน การที่ผู้เขียนนิยามความเสี่ยงเช่นนี้ เพราะเมื่อความเสี่ยงต่าง ๆ เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งจะสามารถวัดผลกระทบได้จากผลตอบแทน (ของผู้ถือหุ้น) เป็นสำคัญ เพราะเมื่อเกิดผลกระทบใดต่อบริษัทแล้ว ในที่สุดก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อผลตอบแทนด้วยเช่นกัน

 

                มีศัพท์เทคนิคทางความเสี่ยงอยู่ 3 คำ ที่ผู้ทำการประเมินความเสี่ยงนั้นมักใช้สับสนกัน คือ ความเสี่ยง (Risk) ภัย (Peril) และสภาวะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย (Hazard) หรือเราอาจกำหนดเป็นการลำดับเหตุการณ์ได้ว่า ภัยต่าง ๆ นั้นเป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดความเสี่ยง และจะเป็นสภาวะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย

 

                เพื่อให้ความเข้าใจในคำสามคำนี้มากขึ้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ ประกอบ คือ หากบ้านของเราปลูกอยู่ในที่ชุมชนแออัด ภัยของชุมชนแออัด คือ เพลิงไฟที่จะเกิดขึ้น ความเสี่ยงคือ การที่ผู้อยู่อาศัยไม่ทราบว่าจะเกิดไฟไหม้เมื่อใด และการอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดนั้น เป็นสภาวะของการส่งเสริมให้เกิดความเสียหาย

 

                ผู้เขียนขออธิบายถึงคำทั้งสามคำนี้อย่างละเอียดคือ

 

                1. ภัย (Peril) คือ สาเหตุของความเสียหาย ซึ่งภัยสามารถเกิดขึ้นได้จากภัยธรรมชาติ เช่น เกิดพายุ สึนามิ น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น ภัยนอกจากจะเกิดขึ้นได้จากภัยธรรมชาติแล้ว ภัยนั้นยังเกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อัคคีภัย จลาจล ฆาตกรรม เป็นต้น สำหรับสาเหตุสุดท้ายที่จะเกิดภัยได้นั้นคือภัยที่เกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจ เพราะภัยที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจ เป็นอีกสาเหตุที่สำคัญ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วคนทั้งประเทศ หรือทั้งภูมิภาคจะได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวาง

 

                2. ความเสี่ยง (Risk) คือ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ความเสี่ยงนั้น ๆ จะมีแนวโน้มที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยในบริษัท

 

                3. สภาวะที่จะทำให้เกิดความเสียหาย (Hazard) คือ สภาพเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความเสียหายเพิ่มสูงขึ้น โดยสภาวะต่าง ๆ นี้สามารถแบ่งออกได้เป็น สภาวะทางด้านกายภาพ (Physical) คือ สภาวะของโอกาสที่จะเกิดความเสียหาย เช่น ชนิดและทำเลที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง อาจเอื้อต่อการเกิดเพลิงไหม้ สภาวะทางด้านศีลธรรม (Moral) คือ สภาวะของโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากความไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน เช่น การฉ้อโกงของพนักงาน และสภาวะด้านจิตสำนึกในการป้องกันความเสี่ยง (Morale) คือ สภาวะที่ไม่ประมาทและเลินเล่อ หรือการไม่เอาใจใส่ในการป้องกันความเสี่ยง เช่น การที่พนักงานปล่อยให้เครื่องจักรทำงานโดยไม่ควบคุม

 

                นิยามของความเสี่ยงเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่อาจละเลย พนักงานทุกคนในบริษัทควรรับรู้ถึงนิยามความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยามของความเสี่ยงของบริษัท เพราะการที่พนักงานทุกคนมีความเข้าใจในความเสี่ยงตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ทุกคนจะตระหนักดีในเรื่องของความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยทำให้พนักงานทุกคนมีความระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงมากขึ้น

 

                ความเสี่ยงที่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ (Financial Risk) คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วสามารถวัดค่าของความเสียหายออกมาเป็นตัวเงินได้ เช่น ไฟไหม้โรงงานผลิตสินค้า บริษัทจะสามารถคำนวณค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตสินค้าได้ โดยการประเมินถึงทรัพย์ที่เกิดความเสียหายและตีค่าออกมาเป็นจำนวนเงิน เหตุการณ์รถยนต์ประสบอุบัติเหตุจากการนำของไปส่งให้แก่ลูกค้า บริษัทก็จะสามารถตีค่าความเสียหายออกมาเป็นตัวเงินได้เช่นเดียวกัน ความเสี่ยงประเภทนี้จะถูกจัดอยู่ใน Financial Risk

 

                ความเสี่ยงที่ไม่สามารถวัดมูลค่าเป็นตัวเงินได้ (Non-Financial Risk) เป็น ความเสี่ยงที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ เช่น การเสียชีวิตของพนักงานบริษัทจากเหตุการณ์ไฟไหม้ หรือเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้พนักงานขับรถยนต์ของบริษัทถึงแก่ชีวิต การสูญเสียของชีวิตนั้นจึงไม่สามารถประเมินค่าความเสี่ยงออกมาเป็นตัวเงินได้ แต่การเสียหายของทรัพย์สินนั้นสามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ บริษัทที่มีสินค้าคงเหลือไว้ไม่พอจำหน่าย เมื่อผู้บริโภคหรือลูกค้าต้องการซื้อสินค้านั้นแล้วบริษัทไม่มีจำหน่าย ลูกค้าจึงเปลี่ยนไปซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตรายอื่น เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้เช่นเดียวกัน แต่บริษัทนั้นก็ทราบดีว่าบริษัทเกิดความเสียหาย

 

                ความเสี่ยงที่ผันแปรได้ (Dynamic Risk) เป็นความเสี่ยงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ลูกค้าหรือผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรสนิยมในการบริโภคสินค้า เทคโนโลยีในตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้สินค้าที่เดิมเคยขายได้ดีเกิดมียอดขายที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจ ทำให้ยอดขายของบริษัทลดลง ความเสี่ยงประเภทนี้เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ไม่มีความแน่นอนในการเกิดความเสี่ยง ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และเกิดขึ้นในรูปแบบใด ตลอดจนผลกระทบของความเสี่ยงประเภทนี้ก็มีลักษณะไม่เหมือนกันในทุกครั้งที่เกิดความเสี่ยงนี้ด้วย

 

                ความเสี่ยงที่ผันแปรไม่ได้ (Static Risk) หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความเสี่ยงที่คงที่ เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแก่บริษัทจากปัจจัยอื่น ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ เช่น บริษัทเกิดความเสี่ยงเนื่องจากพนักงของบริษัทปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นต้น

 

                ความเสี่ยงพื้นฐาน (Fundamental Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น เกิดภาวะสงคราว แผ่นดินไหว น้ำท่วม เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้เป็นบางส่วน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ได้ เพราะเมื่อความเสี่ยงประเภทนี้เกิดขึ้นแล้ว คนในสังคมจะได้รับความเสี่ยงนี้ในระดับที่เท่า ๆ กัน

 

                ความเสี่ยงจำเพาะ (Particular Risk) เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น ไฟไหม้ จะทำให้เกิดความเสียหายเฉพาะบริษัทที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับส่วนรวม เช่น บริษัทถูกไฟไหม้ บริษัทถูกโจรกรรม ฯลฯ

ความเสี่ยงที่แท้จริง (Pure Risk) คือ ความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดความเสียหาย ถ้าเกิดเหตุการณ์หรือภัยขึ้น หรืออาจกล่าวได้อีกแง่หนึ่งว่า “ถ้าไม่มีภัย ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้น” เช่น บริษัทซื้อรถยนต์มาใช้ในการประกอบธุรกิจ ทันทีที่บริษัทได้ซื้อรถยนต์มา บริษัทก็จะเกิดความเสี่ยงขึ้นทันที เพราะเมื่อพนักงานขับรถยนต์ของบริษัทขับรถยนต์ออกไปปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่เกิดอุบัติเหตุใด ๆ และไม่มีผู้ขับขี่รายอื่นมาทำให้รถยนต์คันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุแล้ว รถยนต์นั้นก็จะอยู่ในสภาพเดิม แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ จนเกิดความเสียหาย บริษัทจะต้องมีภาระในการซ่อมแซมรถยนต์คันดังกล่าว และรถยนต์คู่กรณี เมื่อพนักงานฝ่ายของตนเองนั้นเป็นผู้ผิด

 

                หากบริษัทดังกล่าวทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เอาไว้ บริษัทประกันก็จะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุนั้น ๆ ตามจริง แต่ไม่เกินกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น คือ บริษัทจะไม่ได้รับกำไรจากการทำประกันภัยรถยนต์แต่อย่างไร ความเสี่ยงประเภทนี้จึงเรียกว่าความเสี่ยงที่แท้จริง หรือ Pure Risk คือบริษัทที่ทำการป้องกันความเสี่ยงนั้น จะมีแต่เท่าทุนและขาดทุนเท่านั้น คือ บริษัทจะไม่ได้และไม่เสียจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่บริษัทจะมีรายจ่ายเพื่อการป้องกันความเสี่ยงนั้นด้วย

 

                ความเสี่ยงภัยที่แท้จริงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ความเสี่ยงที่เกิดแก่บุคคล (Personal Risk) ซึ่งความเสี่ยงนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว บุคคลอาจเกิดความสูญเสียในรายได้หรือทรัพย์สิน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการสูญเสียความสามารถในการหารายได้ และความเสี่ยงที่เกิดต่อทรัพย์สิน (Property Risk) คือ ความเสี่ยงที่บุคคลหรือบริษัท เจ้าของทรัพย์สินจะต้องได้รับ เช่น การถูกขโมยทรัพย์สิน หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นต้น

 

                ความเสี่ยงที่มุ่งเก็งกำไร (Speculative Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วมีโอกาส กำไร เท่าทุน หรือขาดทุน ซึ่งความเสี่ยงนี้เราสามารถจะพบได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล การซื้อหวยบนดิน การเล่นการพนัน ฯลฯ หรือในทางธุรกิจ ความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจลงทุนประกอบธุรกิจ ธุรกิจก็จะประสบกับการที่ขาดทุน เท่าทุน หรือ กำไรเช่นเดียวกัน

               

                ความเสี่ยงที่มุ่งเก็งกำไร สามารถแบ่งเป็นกรณีย่อย ๆ ได้ดังนี้ คือ ความเสี่ยงในการจัดการ (Management Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของผู้บริหารของธุรกิจ หากผุ้บริหารตัดสินใจถูกต้อง ธุรกิจจะได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ หรือมากกว่านั้น หากผู้บริหารตัดสินใจผิดพลาด ธุรกิจก็จะเกิดความสูญเสียเช่นเดียวกัน

 

                ความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (Political Risk) เป็นความเสี่ยงที่ธุรกิจได้รับจากอิทธิพลหรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งประเภทของธุรกิจนั้นอาจได้รับการส่งเสริมผ่านนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลง หรือในทางกลับกันธุรกิจอาจได้รับผลกระทบจากการไม่สนับสนุนหรือขัดขวางจากนโยบายของรัฐได้เช่นกัน ความเสี่ยงในด้านนี้รวมไปถึงความเสี่ยงอันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไว้ด้วย หากกฎหมายที่ออกสนับสนุนธุรกิจที่กระทำอยู่ ก็จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่ประมาณการไว้ และหากกฎหมายไม่สนับสนุนธุรกิจที่ประกอบการอยู่ ผลตอบแทนก็อาจได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

 

                ความเสี่ยงจากการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ (Innovative Risk) เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทที่ออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตคิดค้นขึ้นใหม่ ซึ่งการออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้น อาจมีความเสี่ยงคือ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด จะทำให้การลงทุนของบริษัทในการผลิตเกิดความเสี่ยงหายเป็นอย่างมาก

 

การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าหลายบริษัทได้ให้ความสำคัญในด้านการบริหารความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น เพราะการที่ธุรกิจจะลงทุนในสิ่งใดแล้ว ผลที่ธุรกิจต้องการก็คือผลตอบแทนสูงสุด หรือมีกำไรสูงสุด แต่การที่ธุรกิจจะมีกำไรสูงสุดหรือมีผลตอบแทนสูงสุดเท่านั้นยังคงไม่พอในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคปัจจุบัน การบริหารธุรกิจในปัจจุบันจะเน้นที่ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ เพราะการที่บริษัทมีกำไรที่มากหรือผลตอบแทนสูง ไม่ได้แสดงถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทจะได้รับผระโยชน์สูงสุดด้วย แต่หากมองในมุมที่กลับกัน ถ้าผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งดี แสดงว่าธุรกิจนั้นมีการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

 

                ความเสี่ยงของธุรกิจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสิ่งที่บริษัทคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้ตั้งแต่แรก เช่นบริษัทคาดว่าในปีนี้จะทำกำไรได้สูงกว่าปีอื่น ๆ แต่ผลการดำเนินการออกมาไม่เป็นไปดังที่คาดเอาไว้ แสดงว่าการคาดการณ์ของบริษัทนั้นมีความเสี่ยง สาเหตุที่ทำให้บริษัทไม่ได้กำไรตามที่คาดการณ์ไว้นั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์ทางการตลาด ราคาวัตถุดิบ การผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้การค้า ฯลฯ ซึ่งจะต้องทำการวิเคราะห์ต่อไป

 

                ดังนั้นหากธุรกิจใดสามารถประมาณการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจนั้นก็จะสามารถบริหารจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้นได้เช่นเดียวกัน เมื่อบริษัทสามารถประเมินค่าความเสี่ยงได้แล้วนั้น บริษัทก็จะสามารถที่พยายามปรับลดค่าความเสี่ยงให้เข้าสู่ค่าความเสี่ยงที่บริษัทสามารถยอมรับได้ โดยการปรับค่าความเสี่ยงนั้น อาจทำได้โดยการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในอนาคต เช่น ลดการสต๊อกสินค้าเกินความจำเป็น เพราะจะก่อให้เกิดความสูญเสีย เมื่อบริษัทเกิดอัคคีภัย หรือราคาสินค้าดังกล่าวนั้นมีราคาที่ลดลงในอนาคต หรือในทางกลับกัน บริษัทอาจเพิ่มกิจกรรมที่ทำให้บริษัทสามารถปกป้องไม่ให้เกิดค่าเสี่ยงขึ้น เช่น การซื้อวัตถุดิบล่วงหน้า การซื้อหรือขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ฯลฯ

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #ความเสี่ยง
หมายเลขบันทึก: 478656เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท