การลงทุนในกองทุนรวม


กองทุนรวม

การลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งเป็นอีกรูปแบบของการลงทุนที่น่าสนใจ มีความเสี่ยงไม่สูงมาก และที่สำคัญเหมาะสมกับผู้ที่ต้องการลงทุนแต่มีความรู้ในเรื่องของการลงทุนน้อย

 

                กองทุนรวม เป็นวิธีการในการลงทุนวิธีหนึ่ง ที่ผู้มีเงินเหลือเก็บออม มาร่วมลงทุนกัน โดยมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่นำเงินนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในตลาดการเงิน ตามนโยบายการลงทุนที่มีการบอกกล่าวกันไว้ล่วงหน้า ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนจะถูกสะสมไว้ในกองทุนรวม

 

                ผลตอบแทนที่กองทุนได้รับนั้น จะถูกสะสมไว้ แต่หากผู้ลงทุนต้องการรับผลตอบแทนดังกล่าว ผู้ลงทุนก็สามารถที่จะขายหน่วยลงทุน (ที่ได้ลงทุนไว้กับกองทุน) เพื่อรับผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนเพิ่มมูลค่าเงินทุน หรือหากผู้ลงทุนไม่ต้องการรับผลตอบแทนในทันที ผู้ลงทุนจะสามารถรอรับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล ทั้งนี้กองทุนรวมที่ลงทุนนั้นจะต้องมีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผล

 

                ผู้ลงทุนแต่ละคนจะได้รับผลตอบแทนตามสัดส่วนการลงทุนของตนเองเท่าที่มีส่วนร่วมอยู่ ผู้ที่ร่วมลงทุนมากจะได้รับผลตอบแทนมาก และผู้ที่ร่วมลงทุนน้อยจะได้รับผลตอบแทนน้อยเช่นเดียวกัน

 

                การลงทุนในกองทุนรวมนั้นจะช่วยผู้ลงทุนที่ไม่มีความรู้ความชำนาญในการลงทุน ให้สามารถลงทุนได้ และมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยลง เพราะการลงทุนในกองทุนรวมจะมีการจัดจ้างผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนมาเป็นผู้จัดการเงินลงทุนนั้นให้เป็นไปตามหลักการลงทุนที่ดี คือ ต้องมีการกระจายความเสี่ยง และได้รับผลตอบแทนตามที่ต้องการ

 

                การลงทุนในกองทุนรวมนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะไม่มีความเสี่ยงในการลงทุนเลยทีเดียว เพราะความเสี่ยงในการลงทุนมักจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับผลตอบแทนเสมอ การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะสูงขึ้นด้วย แต่ด้วยความชำนาญของผู้จัดการกองทุนแล้ว การลงทุนที่มีผลตอบแทนที่ได้รับสูง แต่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจมีความเสี่ยงที่ลดลงได้เช่นกัน

 

                โดยทั่วไปการลงทุนในกองทุนรวมนั้น ถือว่าเป็นการลงทุนทางอ้อม เพราะผู้ลงทุนไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ใด แต่ผู้ลงทุนจะเป็นผู้เลือกกองทนรวมที่จะลงทุนด้วย โดยการศึกษาจากนโยบายของกองทุนต่าง ๆ แต่ผู้ที่จะตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ลงทุนนั้น จะเป็นผู้จัดการกองทุน

 

                ในการระดมเงินทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จะต้องมีการนำเสนอขายต่อสาธารณะ ว่ากองทุนนั้นมีมูลค่าโครงการเท่าใด มีการกำหนดราคาเริ่มต้นต่อหน่วยไว้ที่ใด (ราคาที่ตราไว้ หรือเรามักจะรู้จัดกันในนามของ ราคา Par) โดยที่ราคา Par นั้นอาจมีมูลค่าต่อหน่วยลงทุน ที่หน่วยละ 10 บาท หรือ 1 บาท พร้อมทั้งบอกจำนวนหน่วยที่ออกจำหน่าย

 

                หน่วยการจำหน่ายของกองทุนรวมนั้น เรียกว่า “หน่วยลงทุน” หากผู้ลงทุนต้องการร่วมลงทุนในกองทุนใดก็ตาม ผู้ลงทุนจะต้องทำการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนนั้น ๆ และถ้าผุ้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนแล้ว สถานะของผู้ลงทุนจะกลายเป็น “ผู้ถือหน่วยลงทุน” นั่นเอง

ในการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนไปจัดตั้งกองทุนรวมนั้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จะต้องนำเสนอขายกองทุนรวมดังกล่าวต่อประชาชนนักลงทุนทั่วไป โดยแจ้งถึงวัตถุประสงค์ของกองทุน มูลค่าทั้งหมดของโครงการ และกำหนดราคาต่อหน่วยลงทุนของโครงการ

 

                ราคาต่อหน่วยลงทุน หรือราคาเริ่มต้อนต่อหน่วยลงทุน คือ ราคาที่ตราไว้ หรือ Par Value โดยปกติกองทุนรวมต่าง ๆ จะกำหนดราคาเอาไว้ที่หน่วยลงทุนละ 10 บาท (หรืออาจกำหนดแตกต่าง ๆ จากราคานี้ได้)

 

                ผู้ลงทุนหรือผู้ที่มีเงินออมสามารถร่วมลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ได้โดย การซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ต้องการลงทุน ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม จะเรียกว่า ผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งก็คล้ายกับการซื้อหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ ที่เรียกว่าผู้ถือหุ้นนั่นเอง และหน่วยลงทุนดังกล่าว เปรียบเสมือนหลักทรัพย์ในการลงทุนประเภทหนึ่ง

 

                ตัวอย่างของการลงทุนในกองทุนรวม เช่น กองทุนไทยมั่นคง มีมูลค่าของโครงการ 2,000 ล้านบาท ราคาที่ตราไว้ หรือราคา Par เท่ากับหน่วยลงทุนละ 10 บาท มีจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายจำนวน 200 ล้านหน่วย มีราคาจองซื้อเท่ากับ 10 บาท หากนาย ก. ต้องการที่จะลงทุนในกองทุนดังกล่าว นาย ก. ก็จะสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ ตามที่ นาย ก. ต้องการ เช่น ถ้านาย ก. มีเงิน 2,000,000 บาท นาย ก. จะซื้อหน่วยลงทุนได้จำนวน 200,000 หน่วย ดังกนั้น นาย ก. จะมีส่วนรวมในกองทุนดังกล่าว ร้อยละ 10 ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมด

 

                การร่วมลงทุนในกองทุน ผู้บริหารกองทุนจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการบริหารเงิน โดยนำเงินร่วมลงทุนนั้นไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มูลค่าของเงินในกองทุนเติบโตขึ้น เมื่อมีการคำนวณราคาของกองทุนอีกครั้งหลังจากผ่านการลงทุนมาระยะหนึ่ง บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องตีราคาหรือมูลค่าของกองทุนรวม ว่ากองทุนดังกล่าวมีผลประโยชน์ที่ได้รับเท่าใด แล้วหักด้ว ค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุน สิ่งที่เหลือหลังจากการหักค่าธรรมเนียมดังกล่าว เรียกว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

 

                เมื่อนำเอามุลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน มาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่โครงการมี จะได้ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วยลงทุน หรือ มูลค่าของหน่วยลงทุน ซึ่งหากมูลค่าของหน่วยลงทุนสูงกว่าที่ตราไว้ ผู้ลงทุนจะมีสถานะกำไร แต่ในทางกลับกับ หากมูลค่าของหน่วยลงทุนต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ ผู้ลงทุนก็จะมีสถานะขาดทุน การคำนวณดังกล่าว อาจมีการคำนวณเป็นรายวัน รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีก็ได้ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบถึงสถานะของตนเองที่แท้จริง

การแบ่งประเภทของกองทุนรวมนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายแบบ หากเราจะแบ่งประเภทของกองทุนรวมตามวิธีการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้น จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ กองทุนรวมประเภทที่ไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบอายุโครงการ หรือเรามักจะเรียกกองทุนประเภทนี้ว่า “กองทุนปิด” (Closed-ended Fund) กับหองทุนประเภทที่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนกอ่นครบอายุโครงการ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “กองทุนเปิด” (Open-ended Fund)

 

                Closed-end Fund เป็นกองทุนรวมที่ผู้จัดตั้งกองทุนจะไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนจนกว่ากองุทนรวมนั้นจะถึงวันครบกำหนดอายุโครงการ กองทุนรวมแบบนี้ จะเสนอขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อระดมเงินทุนจากผู้ลงทุน ในการขายหน่วยลงทุนในครั้งแรกนั้น กองทุนจะต้องระบุถึงอายุของโครงการว่าจะมีอายุยาวนานเท่าไร โดยจะกำหนดเป็นปี เช่น 5 ปี 10 ปี เป็นต้น

               

                เมื่อครบอายุของโครงการ บริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมจะดำเนินการรับซื้อหน่วยลงทุนคืนจากผู้ถือหน่วยลงทุน (ผู้ลงทุน) โดยการไถ่ถอนกองทุนนั้น บริษัทจะนำเงินจากการขายสินทรัพย์ในกองทุน มาซื้อคืนหน่วยลงทุน การลงทุนในกองทุนปิดนั้นผู้ลงทุนจะไม่สามารถไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุนกับผุ้จำหน่ายได้ก่อนจะครบกำหนดอายุการลงทุน

 

                ดังนั้นการลงทุนในกองทุนปิด ผู้ถือหน่วยลงทุนจะมีสภาพคล่องที่ค่อนข้างน้อย เพราะหากลงทุนไปแล้ว จะได้รับเงินคืนจากกองทุนนั้นต้องเป็นไปตามวันและเวลาที่กองทุนได้กำหนดไว้ในอนาคต ดังนั้นบริษัทจัดการหลักทรัพย์กองทุนรวมอาจจะดำเนินการจัดการเพิ่มสภาพคล่องหแก่ผู้ลงทุนได้โดย การจัดหาตลาดรองให้แก่ผู้ลงทุน (ตลาดรอง คือตลาดที่ทำการซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆ ตามที่กำหนด เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย ตลาดอนุพันธ์ เป็นต้น) เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุน สามารถนำหน่วยลงทุนไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เมื่อผู้ลงทุนต้องการเปลี่ยนหน่วยลงทุนเป็นเงินสด ก็จะสามารถนำหน่วยลงทุนนั้นมาขายในตลาดได้ ทั้งนี้ราคาของหน่วยลงทุนจะเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งราคาของหน่วยลงทุนนั้นอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่ามูลค่าของหน่วยลงทุนก็ได้

 

                Open-end Fund เป็นกองทุนรวมที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม จัดตั้งขึ้นโดยมีเงื่อนไขในการขายหน่วยลงทุนแตกต่างไปจากกองทุนปิด คือ กองทุนเปิดจะสามารถขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมได้หลังจากมีการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไปแล้ว และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะดำเนินการซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ผู้ลงทุนประสงค์จะขายหน่วยลงทุนคืน ทำให้จำนวนรวมของหน่วยลงทุนที่กองทุนมีอยู่นั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา และลักษณะพิเศษของกองทุนรวมอีกประการคือ กองทุนรวมจะไม่มีการกำหดนระยะเวลาสิ้นสุด

 

                กองทุนเปิดไม่ต้องทำการจัดการซื้อขายหน่วยลงทุนในระบบตลาดรอง เพราะบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการรับซื้อและขายหน่วยลงทุนอยู่แล้ว การซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดนั้น จะสามารถกระทำได้ในทุก ๆ วันทำการ แต่อาจมีบางกองทุนอาจกำหนดการซื้อหรือขายเป็นระยะเวลา เช่น รายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายไตรมาส เป็นต้น ซึ่งผู้ลงทุนจะต้องมีความเข้าใจในสัญญา และเงื่อนไขในการลงทุนของกองทุนรวมก่อนทำการตัดสินใจซื้อ

 

                การแบ่งประเภทกองทุนรวมตามประเภทของผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (Retail Fund) และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน (Non-retail Fund)

 

                กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนแก่บุคคลทั่วไป ไม่เป็นการขายอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นบางกลุ่ม ซึ่งกองทุนลักษณะนี้จะมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผู้ลงทุนจะสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนการลงทุน และกองทุนรวมนี้จะเป็นการนำเสนอขายหน่วยลงทุนแก่บุคคลทั่วไปเป็นวงกว้าง

 

                กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบัน เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนที่เป็นสถาบัน เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย สถาบันการเงินระหว่างประเทศ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ

 

                หากเราต้องการแบ่งประเภทการลงทุนโดยวิธีอื่น จะสามารถแบ่งได้โดย แบ่งประเทภตามนโยบายการลงทุน ซึ่งจะดูจากนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมว่าจะนำเงินของผู้ถือหน่วยลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ประเภทใด ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุน ซึ่งวิธีการในการแบ่งประเภทของกองทุนรวมตามนดยบายการลงทุนนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมผสม

 

                กองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนรวมหุ้นทุน (Equity Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายในการลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ (Common Stock) ใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) ฯลฯ ซึ่งการลงทุนของกองทุนรวมประเภทนี้นั้น จะต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นตราสารทุนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 65 ของมูลค่าทั้งสิ้นของกองทุนรวม สำหรับเงินกองทุนส่วนที่เหลือ ผู้จัดการกองทุนอาจใช้ดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนในการเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ได้ กองทุนในลักษณะนี้จะเหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบของ เงินปันผล และการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ในอนาคต

 

                กองทุนรวมตราสารหนี้ (Fixed Income Fund) เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงิน การบริหารจัดการเงินกองทุนประเภทนี้นั้น จะไม่สามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารทุนได้เลย ผู้ลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและผลกำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาตราสารหนี้ (หรือขาดทุนจากการลดลงของราคาตราสารหนี้) โดยทั่วไปกองทุนรวมตราสารหนี้ จะแบ่งออกเป็น กองทุนตราสารหนี้ทั่วไป ซึ่งจะกระจายการลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภท กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น จะเลือกลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งจะมีอายุเฉลี่ยไม่เกินกว่า 1 ปี และกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว จะเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว โดยมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปี

 

                กองทุนรวมผสม (Mixed Fund) เป็นกองทุนรวมที่เลือกลงทุนทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ ซึ่งการเลือกลงทุนนั้นจะเป็นการจัดผสมระกว่างตราสารหนี้และตราสารทุน โดยการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนรวม ซึ่งการเลือกลงทุนนั้นจะเป็นไปตามสถานการณ์ของตลาดหรือภาวะทางเศรษฐกิจ

               

กองทุนรวมที่จัดแบ่งตามการดำรงอัตราส่วนการลงทุน เช่น กองทุนรวมที่ดำรงอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นการลงทุนโดยมีการกระจายการลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต. จะกำหนดให้บริษัทจัดการกองทุนรวม ต้องจัดการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่ออก หรือรับรองหรือรับอาวัลโดยกิจการใดกิจการหนึ่งเพื่อกองทุนรวมไม่มากจนเกินไป ดังนั้น ไม่ว่ากองทุนรวมจะมีนโยบายเช่นไร จะเป็นกองทุนรวมแบบเปิดหรือปิดก็ตาม ถ้าหากกองทุนรวมดังกล่าวดำรงอัตราส่วนการลงทุนตามประกาศของ ก.ล.ต. ก็จะถือเป็นกองทุนรวมประเภทนี้

 

                การแบ่งประเภทของกองทุนรวมประเภทสุดท้ายนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น กองทุนรวมที่แบ่งตามแหล่งที่มาของเงินทุน เช่น กองทุนรวมที่มีทุนมาจากต่างประเทศ หรือกองทุนรวมที่มีผู้ลงทุนมาจากผู้ลงทุนในประเทศ เป็นต้น

 

                กองทุนรวมที่มีทุนมาจากต่างประเทศ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งในประเทศไทย แต่นำเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุนในต่างประเทศ (On-shore Country Fund) ซึ่งจะแตกต่างจาก กองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในต่างประเทศและเสนอขายในต่างประเทศแต่นำเงินทุนดังกล่าวมาลงทุนในประเทศไทย เราจะเรียกวิธีการนั้นว่า Off-shore Country Fund

 

                กองทุนรวมที่มีทุนมาจากผู้ลงทุนในประเทศ เป็นกองทุนรวมทั่วไปที่จัดตั้งโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมในประเทศไทย ระดมเงินทุนมาจากผุ้ลงทุนในประเทศ แต่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศก็สามารถเข้ามาร่วมลงทุนในกองทุนนี้ได้เช่นกัน

 

                นอกจากการแบ่งประเภทของกองทุนแล้วนั้น กองทุนรวมนั้นยังมีกองทุนรวมในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งเราอาจเรียกว่ากองทุนรวมประเภทพิเศษ เช่น กองทุนรวมมีประกัน (Guaranteed Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ฯลฯ

 

                กองทุนพิเศษต่าง ๆ เหล่านี้มีความหลากหลาย เหมาะสมกับผู้ลงทุนที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นการออมสำหรับผู้มีรายได้ โดยการนำเงินมาร่วมกันลงทุนเป็นระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อสะสมเงนิเอาไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ถือเป็นการสำรองไว้ใช้เพื่อการเลี้ยงชีพในอนาคต และกองทุนประเภทนี้จะมีสิทธิพิเศษ และถือเป็นการจูงใจผู้ลงทุนคือ สิทธิในการลดหย่อนภาษี

 

การลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีข้อดีหลายประการ เช่น การที่ผู้ลงทุนร่วมลงทุนในกองทุนรวมนั้น จะทำให้กองทุนมีทุนในการลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งมากกว่าการที่ผู้ลงทุนเพียงรายเดียวจะสามารถลงทุนได้ การที่กองทุนรวมมีเงินทุนในการลงทุนจำนวนมากนั้น จะทำให้กองทุนสามารถกระจายการลงทุน เพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ได้หลากหลายกว่า

 

                หากผู้ลงทุนรายเดียวต้องการจะลงทุนในหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจะมีเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัด จะทำให้เลือกลงทุนในหลักทรัพย์ได้จำนวนที่น้อย ไม่หลากหลาย แต่ถ้าหากผู้ลงทุนหลายรายมาร่วมกันลงทุนเป็นกองทุน จะทำให้กองทุนรวมนั้นมีเงินที่จะนำไปใช้ในการลงทุนมาก ถ้ากองทุนรวมที่ผุ้ลงทุนร่วมลงทุนั้นเป็นกองทุนรวมหุ้นทุน ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินทุนดังกล่าวไปใช้ในการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อเงินทุนมีมาก การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็จะสามารถกระจายการลงทุนออกไปได้มาก ซึ่งอาจจะซื้อหุ้นสามัญของหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพดี ได้ถึง 30 – 40 บริษัท เมื่อการลงทุนในหลักทรัพย์สามารถลงทุนได้มากเช่นนี้ เมื่อหุ้นสามัญของบริษัทใดก็ตามเกิดมีราคาลดลง อาจเป็นด้วยสาเหตุของบริษัทดำเนินงานผิดพลาด หรือสามเหตุอื่น ๆ ทางการตลาด การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ก็ยังไม่ประสบปัญหาขาดทุน เพราะหุ้นสามัญของบริษัทอื่น ๆ นั้นยังคงมีราคาที่ดีอยู่

 

                ข้อดีอีกประการของการลงทุนในกองทุนรวม คือ การลงทุนโดยผ่านกองทุนรวมนั้น ผู้ลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์มากนัก และผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องมีทักษะหรือความเชี่ยวชาญในการเลือกสรรหุ้นสามัญหรือหลักทรัพย์อื่น ๆ เพื่อนำมาลงทุน เพราะกองทุนรวมจะได้รับการบริหารเงินลงทุนจาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซึ่งผู้จัดการกองทุนรวมนั้น จะต้องมีคุณสมบัติ ผ่านการอบรม ผ่านการสอบ พร้อมทั้งต้องขึ้นทะเบียนกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และดูแลตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะมาเป็นผู้บริหารเงินกองทุน ซึ่งการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของผุ้จัดการกองทุนนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักการและมีเหตุผล

 

                นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ผุ้ลงทุนจะได้รับความสะดวกสบายในการลงทุน โดยผู้ลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่จะลงทุน ไม่ต้องคอยติดตามข่าวสารเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่จะลงทุนมากนัก และที่สำคัญมากที่สุดสำหรับการลงทุนในกองทุนรวม คือ ผุ้ลงทุนที่มีเงินลงทุนจำนวนน้อย จะสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ในหลายหลักทรัพย์ในคราวเดียวกัน นับเป็นการกระจายการลงทุนที่ดี ซึ่งผู้ลงทุนที่มีเงินทุนในการลงทุนน้อยจะไม่สามารถลงทุนได้เช่นนี้ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แต่เพียงลำพัง

 

                การลงทุนในกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมจะมีการคำนวณมูลค่าของหน่วยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวมจะสามารถติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ตลอดเวลา เพื่อประเมินฐานะของการลงทุนตองตนเองว่าการลงทุนในขณะนี้นั้นตนอยู่ในสถานะใด กำไร หรือขาดทุน

การลงทุนโดยทั่วไปของผู้ลงทุนนั้น สามารถเลือกลงทุนได้หลายอย่าง ผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลาย เช่น ลงทุนในหลักทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ในบางครั้งการลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์บางประเภท เมื่อผู้ลงทุนลงทุนไปแล้ว แต่ต้องการจะขาย เพื่อนำเงินสดมาใช้นั้น อาจทำได้ยาก เพราะหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์บางประเภทนั้น อาจมีสภาพคล่องไม่มาก หรืออาจทำการขายสินทรัพย์เหล่านั้นได้ แต่ราคาอาจไม่ดีตามที่พึงประสงค์

 

                แต่การลงทุนในกองทุนรวมนั้น ผู้ลงทุนจะสามารถขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ที่ผู้ลงทุนได้ซื้อไว้ได้ง่ายกว่า แต่การลงทุนในกองทุนรวมผุ้ลงทุนต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า การลงทุนในประเภทนี้นั้น เป็นการลงทุนระยะยาว ไม่ใช่การลงทุนในระยะสั้น เพื่อหวังกำไรจากการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ดังนั้นในบางครั้งการลงทุนในกองทุนรวมอาจจะมีสภาพคล่องที่ต่ำได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้จะเป็นเพราะสภาพคล่องโดยรวมของตลาดทั้งตลาดก็ลดลงด้วยเช่นกัน

 

                นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวม ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งของผู้ที่อาจจะมีเงินลงทุนในจำนวนที่ไม่มากนัก และผู้ลงทุนในกองทุนรวมยังได้รับสิทธิประโยชน์อีกประการหนึ่งคือ การยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินที่ได้รับจากการลงทุน และถ้าลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้วนั้น จะสามารถนำค่าหน่วยลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าว มาหักลดหย่อนภาษีได้

 

                นอกจากการพิจารณาข้อดีในการลงทุนในกองทุนรวมแล้วนั้น ก่อนการเลือกลงทุน เราคงต้องพิจารณาถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นกับกองทุนรวมด้วยเช่นเดียวกัน

 

                การลงทุนในกองทุนรวม จะต้องมีผู้บริหารกองทุนรวม ดังนั้นรายได้ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนนั้นจะต้องถูกหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อเป็นค่าในการบริหารกองทุนของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในบางครั้งการลงทุนในกองทุนรวมอาจได้ผลตอบแทนน้อย หรือขาดทุน ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 

                การลงทุนในกองทุนรวม เป็นการตกลงกันระหว่างผู้บริหารกองทุนกับผู้ลงทุน ตั้งแต่เริ่มแรกที่จะนำเงินมาร่วมลงทุน แต่ถ้าผู้ลงทุนต้องการที่จะให้ผู้บริหารเปลี่ยนแปลงข้อตกลงต่าง ๆ เช่น นโยบายการลงทุน หรือข้อกำหนดของการลงทุน จะกระทำได้ยาก เพราะกองทุนรวมเป็นการลงทุนของกลุ่มคนจำนวนมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใด ๆ ก็ตาม จะต้องอาศัยเสียงหรือความเห็นของผู้ถือหน่วยลงทุนส่วนใหญ่ และต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อน

 

                การเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวม จะกระทำโดยการนำเสนอข่าวสารผ่านการจัดส่งรายงานประจำรอบ 6 เดือน หรือ 12 เดือน ซึ่งข้อมูลที่ผุ้ลงทุนโดยทั่วไปจะได้รับนั้นค่อนข้างช้า และไม่ทันสมัยเท่าใดนัก

 

                การลงทุนในกองทุนรวมนั้นก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่ว ๆ ไป แต่อาจมีความเสี่ยงของการลงทุนในอัตราที่น้อยกว่า ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนเช่นเดียวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ชนิดอี่น ๆ ด้วย

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #กองทุนรวม
หมายเลขบันทึก: 478655เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท