การวัดสุขภาพของบริษัท


อัตราส่วนทางการเงิน

การที่ผู้ลงทุนจะตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ หรือหุ้นสามัญของบริษัทใดนั้น ผู้ลงทุนจะต้องทำการศึกษาถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทเสียก่อน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าบริษัทที่เราจะเลือกลงทุนด้วยนั้นมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้แก่เราเพียงใด การวัดถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทนั้น เปรียบได้กับการวัดสุขภาพของบริษัทโดยใช้เครื่องมือทางการเงิน ผู้อ่านหลายท่านคงเคยไปตรวจร่างกายประจำปีที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการวัดสุขภาพส่วนบุคคลว่า เรานั้นมีสุขภาพเป็นอย่างไรอย่างไร มีสิ่งใดบ้างที่เราจะต้องระมัดระวังในการดำเนินชีวิต การเลือกรับประทานอาหาร ซึ่งการวัดดังกล่าวจะทำให้เราทราบดีว่า สุขภาพของเรานั้นมีจุดเด่น จุดด้อยอะไรบ้าง และเราจะได้รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพของเราได้อย่างทันที เช่นเดียวกันกับการวัดสุขภาพของบริษัท ที่จะต้องมีการวัดว่าบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุนนั้นมีจุดเด่นและจุดด้อยใดบ้าง

 

                การวัดสุขภาพของบริษัท ก็เปรียบเหมือนการวัดสุขภาพของบุคคล คือ การวัดสุขภาพของบริษัทจะต้องกระทำทุกปี เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพของบุคคลทั่วไป หรือหากเราต้องการทราบถึงสุขภาพของตัวเราเองโดยละเอียด เราก็จะสามารถของตรวจสุขภาพในรายการอื่น ๆ เพิ่มเติมเป็นพิเศษ นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพประจำปีได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการวัดสุขภาพของบริษัท เราก็สามารถวัดผลได้ในภาพรวม และลงรายละเอียดเฉพาะรายการก็ได้

 

การวัดสุขภาพของบริษัทนั้นสามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือทางการเงิน ที่นักการเงินหรือนักบริหารธุรกิจโดยทั่วไปทราบกันดี คือ การใช้อัตราส่วนทางการเงิน

 

                อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปรียบเทียบรายการต่าง ๆ ทางการเงินของบริษัท เพื่อให้การอ่านงบการเงินของบริษัทนั้นมีความเข้าใจได้ง่ายขึ้น มากกว่าการอ่านเป็นตัวเลขโดยตรงจากงบการเงิน และการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทโดยใช้อัตราส่วนทางการเงินนั้น จะทำให้ผู้บริหารบริษัทมีความเข้าในในจุดแข็ง จุดอ่อนของบริษัทได้ชัดเจนขึ้น

 

                การวัดอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทนั้น เราสามารถทำได้โดยการนำงบการเงิน คือ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกำไรสะสมของบริษัทมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการวัดอัตราส่วนทางการเงิน

 

                เมื่อเราได้ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในแต่ละด้านของบริษัทออกมาแล้ว วิธีการในการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเหล่านั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินในด้านต่างๆ กับตัวเลขในอดีตของบริษัทเอง เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มในการบริหารงานของบริษัทว่า จะเป็นไปในทิศทางใดในอนาคต และยังทำให้เราทราบถึงผลการดำเนินงานในอดีตอีกด้วย

 

                นอกจากนี้การเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินนั้น สามารถทำได้โดยเปรียบเทียบตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทกับตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินของอุตสาหกรรมเฉลี่ย เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพการบริหารงาน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนั้นสามารถหาได้โดย การนำเอาตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินประเภทเดียวกัน ของบริษัททุกบริษัทที่ประกอบธุรกิจอยู่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกันมาทำการหาค่าเฉลี่ย

 

                การใช้ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมมาเป็นตัวเปรียบเทียบนั้น บางครั้งอุตสาหกรรมที่ประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่ ผสมกับบริษัทขนาดเล็ก ก็จะทำให้ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมนั้นมีค่าที่สูง เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดเล็ก แต่พอเปรียบเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่แล้วก็มีค่าที่น้อยเกินไป ในบางครั้งการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสหกรรม อาจให้ค่าที่ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก

 

                วิธีที่ใช้ในการเปรียบเทียบอีกวิธีหนึ่งคือ การนำค่าอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทเราเองนั้นไปเปรียบเทียบโดยตรงกับบริษัทคู่แข่งขัน วิธีนี้จะทำให้เราทราบถึงสถานะอันแท้จริงของเราเองเทียบกับคู่แข่งขันว่าสถานะของเราเป็นอย่างไร และวีนี้ยังช่วยในการลดความเบี่ยงเบนของค่าเฉลี่ยอตุสาหกรรม ในกรณีที่มีบริษัทเล้กและใหญ่ผสมอยู่ด้วยกันอีกด้วย

 

                การวัดฐานะการดำเนินงานของบริษัทโดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio Analysis) นั้นสามารถแบ่งการวัดออกได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

 

                1. การวิเคราห์สภาพคล่อง (Liquidity Analysis) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัท เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ นำมาเปรียบเทียบกับหนี้สินหมุนเวียน เช่น เจ้าหนี้การค้า ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เพื่อเป็นการวัดถึงความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้น เมื่อหนี้สินเหล่านี้ครบกำหนด กิจการจะมีความสามารถในการชำระมากน้อยเพียงใด

 

                2. การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Analysis) เป็นการใช้อัตราส่วนในการประเมินถึงความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ ว่ากิจการนั้นมีความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด ตรงตามเป้าหมายการดำเนินงานของกิจการหรือไม่ เช่น ความสามารถในการบริหารลูกหนี้ ความสามารถในการบริหารสินค้าคงเหลือ ตลอดจนความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ถาวรต่าง ๆ

 

                3. การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารหนี้สิน (Debt Management Analysis) เป็นการวัดอัตราส่วน เพื่อประเมินถึงปริมาณการใช้หนี้สินของบริษัท ว่าบริษัทมีปริมาณหนี้สินมากน้อยเพียงใด สัดส่วนของโครงสร้างของเงินทุนของกิจการเป็นอย่างไร คือ บริษัทโดยรวมนั้นมีแหล่งของเงินทุนมาจากแหล่งใด มาจากแหล่งของหนี้สิน หรือมาจากแหล่งของเงินลงทุนของเจ้าของมากกว่ากัน นอกจากนี้การวัดอัตราส่วนในกลุ่มนี้ยังคงวัดถึงความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ย และรายจ่ายประจำอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อให้ครอบคลุมถึงความสามารถในการบริหารหนี้สินอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

                4.การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร (Profitability Analysis) เป็นการวัดถึงความสามารถในการทำกำไรด้านต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อเป็นการวิเคราะห์ถึงรายได้และรายจ่ายของกิจการว่ามีความสอดคล้องกันเพียงใด กิจการมีรายจ่ายในส่วนใดมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้ยังคงวิเคราะห์ถึงความสามารถในการทำกำไรต่อเงินที่กิจการจัดสรรมาลงทุน เช่น การเปรียบเทียบกำไรกับเงินทุนที่เจ้าของนำมาลงทุน หรือการเปรียบเทียบกำไรกับสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่บริษัทได้ลงทุนไป

 

                5. การวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาด (Market Value Analysis) เป็นการวิเคราะห์ถึงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ นำมาเปรียบเทียบกับกำไรต่อหุ้น กระแสเงินสดต่อหุ้น และมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีสถานะการดำเนินงานเมื่อเปรียบเทียบแล้วดีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทอื่น ๆ ได้

การวิเคราะห์สภาพคล่องของบริษัท (Liquidity Analysis) เป็นการวัดถึงความสามารถในการจ่ายภาระต่าง ๆ ทางการเงินในระยะสั้นของบริษัท ซึ่งการวัดประสิทธิภาพด้านสภาพคล่องของบริษัทนั้นสามารถวัดได้โดย 2 อัตราส่วนทางการเงิน คือ อัตราส่วนหมุนเวียน (Current Ratio) และอัตราส่วนหมุนเร็ว (Quick Ratio) โดยที่ทั้งสองอัตราส่วนนี้มีลักษณะของการวัดที่คล้ายกัน

 

                อัตราส่วนหมุนเวียน (Current Ratio) เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นมากน้อยเพียงใด การวัดอัตราส่วนนี้ทำได้โดย การนำเอาสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัทในแต่ละปี หารด้วยหนี้สินหมุนเวียนในแต่ละปีของบริษัท เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมีมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนมากน้อยเพียงใด หากค่าที่คำนวณได้ออกมาสูง ก็จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นสูง

 

                คำว่า สินทรัพย์หมุนเวียน นั้นหมายถึง สินทรัพย์ของบริษัทที่มีอายุการใช้งานไม่เกินกว่า 1 ปี เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือ ซึ่งรายการต่าง ๆ ในสินทรัพย์หมุนเวียนนี้สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ภายในระยะเวลาไม่เกินกว่า 1 ปี ซึ่งจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินเพื่อนำมาชำระหนี้สินระยะสั้น หรือหนี้สินหมุนเวียนได้

 

                สำหรับ หนี้สินหมุนเวียน คือ หนี้สินที่มีระยะเวลาไม่เกินกว่า 1 ปีจะครบกำหนดการชำระเงิน ซึ่งโดยทั่วไปหนี้สินหมุนเวียนจะประกอบด้วย เจ้าหนี้การค้า เงินกู้ยืมระยะสั้น ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เป็นต้น

 

                การทำอัตราส่วนกันระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียนนั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการชำระหนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ ระยะสั้นของกิจการ ว่ากิจการมีความสามารถมากน้อยเพียงใด แต่การที่นำเอาสินทรัพย์หมุนเวียนทุกรายการมาเป็นฐานในการคำนวณนั้น อาจเป็นการประมาณการในแง่ดีมากจนเกินไป เพราะไม่ใช่สินทรัพย์หมุนเวียนทุกรายการจะสามารถแปลงเป็นเงินสดได้รวดเร็วเท่ากันทั้งหมด

               

อัตราส่วนหมุนเร็ว (Quick Ratio) จึงเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่จัดทำขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องบางประการของอัตราส่วนหมุนเวียน คือ อัตราส่วนหมุนเร็วนั้นจะเป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนโดยนำเอา สินทรัพย์หมุนเวียน เฉพาะรายการที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็ว (โดยปกติจะนำเอาสินทรัพย์หมุนเวียน หักออกด้วยสินค้าคงเหลือ เพราะสินค้าคงเหลือจะเปลี้ยนเป็นเงินสดได้ค่อนข้างช้าที่สุด) หารด้วยหนี้สินหมุนเวียนรวม

 

                การวัดสถานะทางการเงินของบริษัทโดยใช้อัตราส่วนหมุนเร็วนั้น เป็นการวัดความสามารถในการชำระหนี้สินระยะสั้นของบริษัท โดยพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้รวดเร็ว เพื่อประสิทธิภาพในการชำระหนี้สินระยะสั้น

 

การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Analysis) เป็นการใช้อัตราส่วนทางการเงินในการประเมินถึงความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ของกิจการ ว่ากิจการนั้นมีความสามารถในการบริหารสินทรัพย์ต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด โดยการวิเคราะห์นั้นจะกระทำได้โดยการใช้อัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ดังนี้

 

                อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover Ratio) สามารถคำนวณได้โดยการนำเอายอดขายของบริษัททั้งปี มาหารด้วยจำนวนสินค้าคงเหลือที่ปรากฎอยู่ในงบดุลของบริษัท การวัดอัตราส่วนนี้จะช่วยทำให้บริษัททราบดีว่าสินค้าของเหลือในคลังสินค้าของตนนั้นมีมากน้อยเพียงใด หากสินค้าคงเหลือมีมากจนเกินไป อัตราส่วนดังกล่าวจะคำนวณออกมาได้ต่ำมาก จะแสดงให้เห็นว่ากิจการนั้นมีสินค้าในคลังสินค้ามากจนเกินไป บริษัทต้องเร่งดำเนินการหากวิธีการในการลดจำนวนสินค้าในคลังสินค้า และตรวจสอบหาสาเหตุว่าทำไมสินค้าคงเหลือในคลังสินค้านั้นมีมาก อาจเป็นเพราะสินค้าล้าสมัย หรือเป็นเพราะสาเหตุใด

 

                ระยะเวลาในการเก็บหนี้ถัวเฉลี่ย (Days Sales Outstanding) หรือเรามักจะเรียกอย่างย่อว่า DSO สามารถคำนวณหาได้โดยนำเอาลูกหนี้การค้าที่ปรากฎในงบดุล หารด้วยยอดขายเฉลี่ยต่อวัน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้น เป็นจำนวนวันที่ต้องใช้ในการเรียกเก็บหนี้ การำควณหายอดขายเฉลี่ยต่อวันนั้นจะสามารถคำนวณหาได้โดยง่าย ๆ คือ นำเอายอดขายที่ปรากฎในงบกำไรขาดทุน หารด้วยจำนวนวันต่อปี (365 วัน) เราก็จะได้ยอดขายเฉลี่ยต่อวันออกมา หากกิจการทราบดีว่ากิจการนั้นมียอดขายเชื่อเฉลี่ยต่อวันเท่าใด กิจการก็จะสามารถนำยอดนั้นมาเป็นตัวหารได้เช่นเดียวกัน อัตราส่วนนี้เมื่อคำนวณแล้วจะทำให้ทราบว่าบริษัทใช้ระยะเวลาในการเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้าแต่ละรายนั้นนานเพียงใด หากใช้ระยะเวลานานมากกว่าปกติ บริษัทก็ควรที่จะต้องพิจารณาทบทวนนโยบายการขายสินค้าเชื่อต่อไป

 

                อัตราการหมุนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Turnover Ratio) เป็นอัตราส่วนที่บอกให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ต่อยอดขายของกิจการ สามารถคำนวณหาได้โดย นำเอายอดขายต่อปีในงบกำไรขาดทุนของบริษัท หารด้วยสินทรัพย์ถาวรสุทธิของบริษัท หากตัวเลขที่คำนวณออกมาสูง แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ถาวรเป็นอย่างดี สามารถทำยอดขายได้สูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร ที่ดิน เครื่องจักร ฯลฯ

 

                อัตราส่วนสุดท้ายองของกลุ่มนี้ คือ อัตราการหมุนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover Ratio) เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทในการลงทุนในสินทรัพย์ ว่าบริษัทลงทุนในสินทรัพย์ทั้งหมดแล้วเกิดประโยชน์ต่อบริษัทมากน้อยเพียงใด อัตราส่วนนี้สามารถคำนวณได้โดยการนำเอายอดขายทั้งปี หารด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดที่มีของบริษัท ซึ่งค่าทั้งสองนี้บริษัทสามารถหาได้จากงบกำไรขาดทุนและงบดุล หากค่าที่คำนวณได้ออกมาสูง ก็จะแสดงให้เห็นว่าบริษัทนั้นลงทุนและใช้สินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างคุ้มค่า

 

การวิเคราะห์ความสามารถในการบริหารหนี้สิน (Debt Management Analysis) โดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อประเมินถึงปริมาณการใช้หนี้สินของบริษัท ว่าบริษัทมีปริมาณหนี้สินมากน้อยเพียงใด สัดส่วนของโครงสร้างของเงินทุนของกิจการเป็นอย่างไร คือ บริษัทโดยรวมนั้นมีแหล่งของเงินทุนมาจากแหล่งใด มาจากแหล่งของหนี้สิน หรือมาจากแหล่งของเงินลงทุนของเจ้าของมากกว่ากัน หากบริษัทใดมีหนี้สินจำนวนมาก ซึ่งอาจจะมากกว่าส่วนของเจ้าของ หรือเมื่อเรานำบริษัทที่จะทำการวิเคราะห์มาเปรียบเทียบกับบริษัทคู่แข่งขันแล้ว เราจะสามารถทำการวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทของเราเองนั้นใช้แหล่งที่มาของเงินทุนจากหนี้สินมากกว่าหรือน้อยกว่าคู่แข่งขัน

 

                การที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งมีหนี้สินมากจนเกินไป หรือมีหนี้สินน้อยจนเกินไปนั้น ก็ส่งผลให้เกิดข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน บริษัทที่มีหนี้สินมากจนเกินไปนั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจมากกว่าบริษัทที่มีแหล่งเงินทุนจากหนี้สินน้อยกว่า หรือบริษัทที่ใช้แหล่งเงินทุนจากหนี้สินน้อยเกินไป ก็อาจทำให้สัดส่วนของเงินทุนของบริษัท มีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่า เพราะการใช้สัดส่วนของหนี้สนิไม่เหามะสมของบริษัทอาจทำให้บริษัทมีต้นทุนสุงมากกว่าปกติได้เช่นกัน

 

                อัตราส่วนแรกที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพหรือความสามารถในการบริหารหนี้สินนั้นก็คือ อัตราส่วนหนี้สิน (Debt Ratio) อัตราส่วนนี้จะบอกให้ทราบว่าฐานะทางการเงินของกิจการนั้นมาจากแหล่งของหนี้สินมากน้อยเพียงใด โดยอัตราส่วนนี้จะสามารถคำนวณได้จาก การนำเอาหนี้สินทั้งหมดที่กิจการมี หรือที่ปรากฎอยู่ในงบดุล หารด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดที่บริษัทมี แล้วคูรด้วย 100 จะทำให้เราทราบว่ากิจการนั้นมีหนี้สินคิดเป็นร้อยละเท่าใดต่อสินทรัพย์ หากบริษัทใดมีค่าอัตราส่วนดังกล่าวสูง แสดงให้เห็นว่ากิจการนั้นมีหนี้สินมาก ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต หรือหากบริษัทต้องการที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงิน ก็อาจจะกระทำได้ยากเช่นกัน เพราะผู้ให้กู้จะพิจารณาจากอัตราส่วนนี้

 

อัตราส่วนที่สองในกลุ่มนี้ คือ ความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Time Interest earned) สามรถคำนวณได้โดยนำเอากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Income) หรือกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (Earnings Before Interest and Taxes) ซึ่งเป็นค่าที่สามารถหาได้จากงบกำไรขาดทุนของบริษัท นำมาหารด้วยดอกเบี้ยจ่ายรายปีของบริษัท ซึ่งปรากฎอยู่ในงบดุลเช่นเดียวกัน ค่าที่ได้ออกมาจากการคำนวณนั้นจะทำให้เราทราบว่าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายชำระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นรายจ่ายของการกู้ยืมเงินได้มากน้อยเพียงใด หากความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยต่ำ บริษัทจะประสบปัญหาในการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมในอนาคต

 

การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร (Profitability Analysis) เป็นการวัดถึงความสามารถในการทำกำไรด้านต่าง ๆ ของบริษัท เพื่อเป็นการวิเคราะห์ถึงรายได้และรายจ่ายของกิจการว่ามีความสอดคล้องกันเพียงใด หรืออีกนัยหนึ่ง คือ เป็นการวัดว่ากิจการมีรายจ่ายในส่วนใดมากเกินความจำเป็น นอกจากนี้การวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของกิจการ โดยใช้อัตราส่วนทางการเงิน ยังคงวิเคราะห์ถึงความสามารถในการทำกำไรต่อเงินที่กิจการจัดสรรมาลงทุน เช่น การเปรียบเทียบกำไรกับเงินทุนที่เจ้าของนำมาลงทุน หรือการเปรียบเทียบกำไรกับสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่บริษัทได้ลงทุนไป

 

อัตรากำไรต่อยอดขาย (Profit Margin on Sales) เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของกิจการโดยเปรียบเทียบจากการนำเอากำไรสุทธิของกิจการ มาหารด้วยยอดขายที่บริษัทสามารถขายได้ตลอดทั้งปี และคูณด้วย 100 จะได้ผลการคำนวณออกมาเป็นอัตราร้อยละ หรือเปอร์เซ็นต์ หากค่าที่ได้ออกมาจากการคำนวณนั้นมีค่ามาก ก็แสดงว่าบริษัทมีรายได้ดี และบริษัทก็มีรายจ่ายต่าง ๆ ที่ค่อนข้างน้อย หากค่าออกมาค่อนข้างน้อย แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีรายจ่ายมาก ทำให้อัตรากำไรมีน้อย อัตราส่วนนี้จึงบ่งบอกให้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้และค่าใช้จ่ายของบริษัท ว่ามีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด

 

อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (Return on Total Assets: ROA) เป็นการเปรียบเทียบระหว่างกำไรสุทธิของกิจการและสินทรัพย์รวมของกิจการ การคำนวณอัตราผลตอบแทนนี้สามารถทำได้โดย การนำเอากำไรสุทธิหารด้วยสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท และคูณด้วย 100 ผลที่ได้จากการคำนวณนั้นจะทำให้ผู้วิเคราะห์ทราบว่า ความสามารถในการทำกำไรของกิจการ เมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ที่บริษัทได้ซื้อมาหรือลงทุนไปนั้น มีความคุ้มค่าเพียงใด เพราะผลการคำนวณที่ได้จะออกมาในรูปของอัตราร้อยละ หากอัตราร้อยละมีค่าสูง ก็จะแสดงให้ทราบว่ากิจการมีผลกำไรค่อนข้างดี เมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ทั้งหมดที่บริษัทได้ลงทุนไป หากออกมาต่ำ ก็จะแสดงหเห็นว่าบริษัทมีประสิทธิภาพในการกำไรต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเงินทุนของบริษัทที่ได้ลงทุนไปในสินทรัพย์

 

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (Return on Common Equity: ROE) เป็นอัตราส่วนที่ทำการเปรียบเทียบระหว่างผลกำไรของบริษัท และเงินทุนที่เจ้าของกิจการได้ลงทุนไป สามารถคำนวณได้โดย นำเอากำไรสุทธิของบริษัท หารด้วยส่วนของผู้เป็นเจ้าของ หรือเงินทุนที่กิจการได้ลงทุนไป) และคูณด้วย 100 ผลที่ได้จากการคำนวณจะเป็นอัตราร้อยละ หากผลที่ได้มีค่าสูง ก็จะแสดงให้ทราบว่าบริษัทมีผลกำไรสูง เมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่ได้ลงทุนไป หากผลการคำนวณออกมาต่ำ ก็แสดงว่าบริษัทไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการดำเนินการ จึงทำให้ผู้ถือหุ้นของบริษัท หรือเจ้าของบริษัท ได้รับผลตอบแทนที่ต่ำ หรืออาจไม่คุ้มค่ากับการที่ได้ลงทุนไป

 

การวิเคราะห์มูลค่าทางการตลาด (Market Value Analysis) ซึ่งการวัดในกลุ่มนี้จะเป็นการวิเคราะห์ถึงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ นำมาเปรียบเทียบกับกำไรต่อหุ้น กระแสเงินสดต่อหุ้น และมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น เพื่อให้ทราบว่าบริษัทมีสถานะการดำเนินงานเมื่อเปรียบเทียบแล้วดีมากน้อยเพียงใด เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของบริษัทอื่น ๆ ได้

 

                อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (Price/Earnings Ratio: P/E Ratio) เป็นอัตราส่วนที่แสดงการเปรียบเทียบราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่อกำไรต่อหุ้นที่บริษัทมี การคำนวณอัตราส่วนนี้สามารถทำได้โดยการนำเอา ราคาหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาหหารด้วยกำไรต่อหุ้นของบริษัท ซึ่งค่าที่คำนวณได้ออกมาจะเป็นค่าที่แสดงให้ทราบว่า หากบริษัทมีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ผู้ลงทุนโดยทั่วไปจะยินดีซื้อหุ้นของบริษัทในราคาเท่าใด หากค่าดังกล่าวมีค่าที่คำนวณได้สูง ก็จะแสดงให้เห็นว่าผุ้ลงทุนมองกิจการว่าจะมีอนาคตดี ผู้ถือหุ้นมีความมั่งคั่งสูงที่สุด

 

                ค่า P/E Ratio นั้นมีการมองในหลากหลายมุมมอง คือ อาจมีผู้วิเคราะห์บางรายมองว่าการที่มีค่า P/E Ratio สูงนั้นอาจเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะจะทำให้ระยะเวลาการคืนทุนของกิจการนั้นยาวนานออกไป เพราะการคำนวณค่า P/E นั้น เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างราคาหุ้นสามัญ และกำไรต่อหุ้น หากราคาหุ้นสามัญซื้อขายหุ้นละ 10 บาท และกิจการมีกำไรต่อหุ้น 1 บาท จะทำให้ได้ค่า P/E Ratio เท่ากับ 10 เท่า ก็จะแสดงให้เห็นว่าการลงทุนซื้อหุ้นในวันนี้จะต้องใช้ระยะเวลา 10 ปีจึงจะคืนทุน ดังนั้นค่า P/E ยิ่งมากก็แสดงว่าระยะเวลาในการคืนทุนนั้นยาวนานออกไป การมอง P/E Ratio ด้วยวิธีนี้นั้นอาจเป็นมุมมองในด้านระยะเวลาการคืนทุน แต่การลงทุนในหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนต้องมองอนาคตของกิจการเสมอ ผุ้ลงทุนควรมองที่ความมั่งคั่งของผุ้ลงทุนเอง หากค่า P/E ยิ่งมากก็จะแสดงให้เห็นว่าราคาหลักทรัพย์ที่ซื้อขายนั้นมีค่าสูง ผุ้ลงทุนก็จะได้รับความมั่งคั่งที่สูงขึ้นด้วย

 

                อัตราส่วนราคาต่อกระแสเงินสดต่อหุ้น (Price/Cash Flow Ratio) เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีทัศนคติต่อหุ้นนี้อย่างไร ซึ่งอัตราส่วนนี้สามารถคำนวณได้โดยนำเอา ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หารด้วยกระแสเงินสดต่อหุ้นของกิจการ โดยผลที่คำนวณได้จะแสดงให้เห็นว่าหากกิจการมีกระแสเงินสดต่อหุ้น 1 บาท นักลงทุนจะยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทในราคาเท่าใด ดังนั้นหากอัตราส่วนนี้มีอัตราที่สูง จึงแสดงว่าผุ้ลงทุนจะยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์สูงกว่าบริษัทอื่น

 

                อัตราส่วนราคาตลาดต่อราคาตามบัญชี (Market/Book Ratio) เป็นอัตราส่วนที่แสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีความคิดเห็นอย่างไรต่อบริษัท เพราะถ้าค่าที่ได้ออกมาจากการคำนวณมีค่าเท่าใดก็ตาม จะแสดงให้เห็นว่าผู้ลงทุนมีมุมมองต่อกิจการอย่างไร หากกิจการมีราคาหุ้นตามบัญชี 1 บาท ผู้ลงทุนจะยินดีซื้อหุ้นดังกล่าวในราคาใด โดยการคำนวณอัตราส่วนนี้สามารถทำได้โดย นำเอาราคาตลาดของหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์หารด้วยมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นของกิจการ

 

                อัตราส่วนทั้ง 5 กลุ่มนี้มีจุดประสงค์ในการวัดที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถวัดด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียวได้ การวิเคราะห์บริษัทจึงต้องกระทำทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน จะได้เห็นถึงจุดเด่นและจุดด้อยของกิจการไปพร้อม ๆ กัน

 

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
หมายเลขบันทึก: 478652เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท