นามเรียกขานในตลาดการเงิน


ตลาดการเงิน

“เมื่อจะเริ่มลงทุน คุณต้องเข้าใจความหมาย”

 

                เพราะความหมายแบบวิชาการในการเรียกขานสิ่งต่างๆในตลาดการเงิน นักลงทุนที่มีความรู้ในการลงทุนไม่มากนัก เมื่ออ่านคำเหล่านี้แล้วก็อ่านไม่เข้าใจ จึงอย่าได้หวังจะให้ใครมาลงทุนเพิ่มอีก เพราะแม้แต่เราเองก็ยังไม่ทราบว่า “มันคืออะไร?” แล้วจะลงทุนไปทำแมวหาอะไร? และที่ไม่กล้าเสี่ยงต่อการลงทุน ก็เพราะเป็นเรื่อง “เงิน” และ “ศัพท์โคตะระยาก ไม่เข้าใจ” จึงต้องวางมือไม่ต้องหารือใครแล้ว แต่หากใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ การลงทุนก็น่าสนุกมากขึ้น

 

                ดังนั้น “นามเรียกขานที่อ่านง่าย” ก็จะเป็นการเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจของคุณ

 

                แนะนำว่า ก่อนการลงทุน คุณจะต้องทราบสถานะของตัวเองว่า อยากจะอยู่ในฐานะ “ผู้ร่วมทุน” หรือ “ผู้ให้กู้ (เจ้าหนี้)” ดังที่ผมได้แนะนำคำว่า “ตราสารทุน” และ “ตราสารหนี้” ในบทที่ผ่านมา ซึ่งในบทนี้จะมีนามเรียกขานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นดังนี้

                อย่าเพิ่งถอยหนี ก็เพราะคุณเจอศัพท์เทคนิค จึงทำให้คุณวางมือการลงทุน แล้วก็หุนหันจากไป ไม่กล้าพิสูจน์ความมันส์ เรื่องง่ายๆ ที่คุณเข้าใจไม่ยากกำลังจะเกิดขึ้น ณ บัดนี้!

 

  1. 1.              หุ้นสามัญ (Common Stock)

                เรียกให้สั้น ง่าย กระชับ และได้ยินบ่อยๆ คือ “หุ้น” เมื่อคุณลงทุนในหุ้นสามัญ คุณมีสิทธิ์เป็นเจ้าของบริษัท และออกเสียงตามจำนวนการถือหุ้นและสัดส่วนที่คุณมี เห็นได้ชัดเจนเวลามีการประชุมผู้ถือหุ้น “หากคุณหุ้นน้อยทำได้เพียงคอยสังเกตการณ์ แต่หากคุณหุ้นมโหฬารมีสิทธิ์เรียกขาน Yes, No”

 

                การมีสิทธิแบบนี้แตกต่างจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นแบบ One Man One Vote คือ 1 คน มี 1 สิทธิ แต่การลงคะแนนในบริษัท จะเป็นไปตามสัดส่วนของการถือครองหุ้นสามัญแทน

 

                เช่น คุณร่วมหุ้น 100 หุ้น เท่ากับ คุณมี 100 เสียง ส่วน ดำ จัง แก ร่วมหุ้น 10,000 หุ้น เท่ากับมี 10,000 เสียง (สมมตินะครับสมมติ) เสียงมากกว่าย่อมมีสิทธิ์ตัดสินใจได้สูงกว่านั่นเอง ดำ จัง แก จึงกลายเป็นหุ้นส่วนใหญ่ มีสิทธิ์ขาดมากกว่าหุ้นส่วนน้อยอย่างคุณ

 

                ในละครโทรทัศน์ คุณก็มักจะเห็นตัวร้าย กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เนื่องจากสร้างกระแสลบ กลบภาพลักษณ์ของเจ้าของคนเดิม ทำให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ขายหุ้นออกมาในราคาถูก แล้วก็กว้านซื้อในราคาถูกๆ รวมถึงการล๊อบบี้ผู้ถือหุ้นอื่นๆ ให้มาร่วมหุ้นกับเขาแล้วหาเหตุผลว่า “จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหารสูงสุด เพื่อให้บริษัทดำรงอยู่ได้” เมื่อเขาถือหุ้นมากกว่าตามที่กฎหมายกำหนด จึงต้องเปลี่ยนมือเจ้าของพร้อมเสียงหัวเราะ “555 666” ของตัวโกงในนิยาย

 

                นั่นคือผลของบริษัทที่มีการระดมทุน เพราะจะไม่ใช่แค่บริษัทของตัวเองคนเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่มีคนอื่นๆ เข้ามาช่วยดูแลด้วย หากมีการเชื่อมั่นในฝั่งที่ถือหุ้นสูงและสามารถนำมาเป็นฝ่ายเดียวกันได้ โอกาสเปลี่ยนมือจึงมีสูง หุ้นพุ่งหรือลงดิ่ง ขึ้นอยู่กับการบริหารระบบและผลเติบโตของบริษัทนั้นๆ

 

                หุ้นสามัญจะออกจำหน่ายโดยบริษัทมหาชน สังเกตได้จากชื่อของบริษัทนั้นๆ จะมีวงเล็บต่อท้ายว่า (มหาชน) เช่น “บริษัท ยอดเยี่ยมกระเทียมเจียว จำกัด (มหาชน)” หรือ บมจ. ธนาคารกะมากินไทย (บมจ. ย่อมาจาก บริษัท มหาชน จำกัด)

 

                คุณมีโอกาสรับสิทธิในการจองหุ้นเพิ่ม ในกรณีที่บริษัทต้องการจะเพิ่มทุนได้ก่อนใคร เพราะคุณคือ “ผู้ร่วมหุ้น” ของบริษัทนั้น

 

“หุ้นสามัญคือหลักประกันความเป็นเจ้าของ

และถือครองตามสัดส่วน

 

  1. 2.              หุ้นบุริมสิทธิ (Preferred Stock)

                คุณลักษณะเหมือนกับหุ้นสามัญทุกประการ เพียงแต่ “คุณไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ ต้องใบ้ทั้งตา หู ปาก” คุณจะเป็นบุคคลระดับ VIP และเมื่อถึงเวลาที่บริษัทนั้นๆ ปิดกิจการ หรือยุติการประกอบกิจการ คุณจะได้รับชำระคืนทุนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ เพราะ “คุณไม่ออกเสียงแสดงความเห็น คุณย่อมได้เห็นเงินก่อนคนอื่น”

 

                เช่น คุณร่วมหุ้นบุริมสิทธิจำนวน 100 หุ้น คุณไม่มีสิทธิ์ออกเสียงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาแบ่งชำระคืนเงินต้น คุณจะได้รับก่อนใครๆ แม้กระทั่งหลังจากการชำระให้เจ้าหนี้แล้ว

 

                หุ้นบุริมสิทธิจะมีตัวอักษรภาษาอังกฤษ P ต่อท้ายชื่อหุ้นนั้น เช่น ABC-P, XXX-P เป็นต้น

 

“บุริมสิทธิเหมือนหุ้นสามัญ อาจไม่มันส์กับการโหวต

แต่ขอโทษคุณได้เงินคืนก่อน

 

  1. 3.              หุ้นกู้ (Debenture)

                ตราสารที่บริษัทเอกชน ออกเพื่อขอกู้เงินระยะยาวจากคุณ เท่ากับว่าคุณมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ของกิจการบริษัทเอกชนนั้นๆ และคุณจะได้เงินต้นครบถ้วนพร้อมดอกเบี้ยคืนตามระยะเวลาและอัตราที่กำหนด มักเป็นการซื้อขายในระยะยาว

 

  1. 4.              หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture)

                มีลักษณะคล้ายหุ้นกู้ แต่สามารถแปลงโฉมให้กลายเป็นหุ้นสามัญได้ ในช่วงเวลาและอัตราที่กำหนด นักลงทุนมักนิยมกันมาก เพราะคาดหวังผลตอบแทนจากการแปลงร่าง ซึ่งทำกำไรได้มากกว่าหุ้นกู้ หากราคาของหุ้นสามัญมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

  1. 5.              ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant)

                เป็นใบสำคัญที่แสดงถึงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ หรือหุ้นกู้ ในอนาคต ตามจำนวนและเวลาที่ระบุไว้ในใบสำคัญแสดงสิทธิ

 

                หากเปรียบให้ชัดเจน จะเหมือนใบจองซื้อบ้าน ทำให้คุณมีสิทธิที่จะกลับมาซื้อบ้านในอนาคต แต่สำหรับการเล่นหุ้นใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นการยืนยันว่า “คุณมีสิทธิในการลงทุนกับบริษัทในอนาคต”

 

                ด้วยการมีสิทธิที่ที่จะซื้อหุ้นในอนาคต แต่จะมีกำหนดระยะเวลาในการใช้ “บัตรเบ่ง” เมื่อบัตรหมดอายุ คุณก็ต้องกลับมาเจียมเนื้อเจียมตัวอย่างเดิม

  

  1. 6.              ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant: DW)

                เป็นตราสารทุน ที่เหมือนใบสำคัญแสดงสิทธิทั่วไป (Warrant) โดยบริษัทผู้ออกจำหน่าย (Issuer) ให้สิทธิแก่ผู้ถือ DW ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Securities) ซึ่งหลักทรัพย์อ้างอิงนั้น อาจจะเป็นหุ้นสามัญ (Stock) หรือดัชนีหลักทรัพย์ (Index) ก็ได้

 

                โดยมีการกำหนดราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิ และระยะเวลาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ และบริษัทผู้ออกจำหน่ายจะเป็นผู้กำหนดว่าจะเลือกทำการส่งมอบเป็นหลักทรัพย์หรือเงินสด

 

  1. 7.              ใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (Transferable Subscription Rights: TSR)

                เป็นตราสารทุนที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญตามสัดส่วนจำนวนหุ้นสามัญ ที่คุณครอบครองอยู่เดิม เพื่อเป็นหลักฐานในการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นสามัญเดิม ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ก็จะสามารถขายหรือโอนสิทธิให้แก่ผู้อื่นได้ ซึ่งเป็นการเสริมสภาพคล่องแก่บริษัท และช่วยให้ระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

 

                การออกตราสาร TSR ยังช่วยแก้ปัญหาให้แก่ผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีข้อจำกัดในการลงทุนเพิ่ม หรือเกินกว่าสิทธิที่พึ่งถือหุ้นได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยใช้วิธีการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ที่บริษัทจดทะเบียนจัดสรรให้ และผู้ลงทุนต่างชาติก็สามารถที่จะนำ TSR นี้มาขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้

 

  1. 8.              ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย

(Non-Voting Depositary Receipt : NVDR)

                ตราสารทุนที่ออกโดยบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนโดยอัตโนมัติ (Automatic List) และมีหลักทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) เป็นหุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ และ TSR ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคุณสามารถซื้อขายเอ็นวีดีอาร์ ในลักษณะเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ทั่วไปนั่นเอง

 

  1. 9.              ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง (Depository Receipt: DR)

                ตราสารทุนที่ออกจำหน่าย และเสนอขายโดยบริษัท สยามดีอาร์ จำกัด เป็นหลักทรัพย์ที่ให้สิทธิในการอ้างอิง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ ผู้ลงทุนที่ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางการเงิน (Financial Right) หรือสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน (Voting Right) ในบริษัทจดทะเบียน

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #ตลาดการเงิน
หมายเลขบันทึก: 478649เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท