ตราสารอนุพันธ์ มันส์ แค่ไหน?


ตราสารอนุพันธ์

คุณอาจจะเคยได้ยินชื่อเสียงนี้มาบ้าง แต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่า หมายถึงอะไร ผมจะอธิบายแบบล้วงลึกถึงบรรพบุรุษของ “ตราสารอนุพันธ์” เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง ก่อนที่คุณจะเออออกับผู้อื่นว่า “อ๋อ....รู้แล้ว” ทั้งๆ ที่รู้แค่ “เงาลางๆ” เท่านั้น

 

ก่อกำเนิดเกิดอนุพันธ์

                กรรมวิธีการก่อกำเนิด มีมาเนิ่นนาน ในสมัยศตวรรษที่ 17 หรือประมาณปี ค.ศ. 1630 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าดอกทิวลิป

                สมัยนั้น ดอกทิวลิปกำลังเป็นที่นิยมของผู้คน จึงเกิดเหตุการณ์ “ทิวลิปขาดตลาด” ฝ่ายผู้ปลูกหรือผู้ขายและพ่อค้าคนกลางจึงคิดสัญญาการซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ฝ่ายขายก็จะขายดอกทิวลิป ในราคาที่ตกลงและส่งให้ตามจำนวนที่ระบุในสัญญาขายล่วงหน้า โดยไม่สามารถพลิกลิ้นเปลี่ยนราคาขายให้สูงขึ้นหรือถูกกดราคาซื้อจากพ่อค้า ส่วนพ่อค้าก็จะได้รับจำนวนดอกทิวลิป ตามที่ต้องการ และกำหนดราคาสินค้าได้ล่วงหน้า 

ต่อมาอีกไม่กี่ปี ประเทศญี่ปุ่นก็ทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า เพื่อเป็นการป้องกันการผันผวนของราคาข้าว เพราะชาวนาญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ ทำนาโดยเช่าที่นาของเจ้าของนา

เมื่อชาวนาปลูกข้าวและสามารถขายได้ ชาวนาก็จะนำเงินมาชำระค่าเช่าที่นา แต่ในบางปี จำนวนข้าวในตลาดมีมากกว่าปกติ หรืออาจเกิดการขาดแคลน ทำให้ราคาข้าวนั้นมีราคาที่เปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ คือ เมื่อข้าวขาดตลาดราคาก็จะสูง และเมื่อข้าวมีมากราคาก็จะลดลง ทำให้ในบางปีชาวนาไม่สามารถชำระค่าเช่าที่นาได้

เจ้าของที่นาจึงนำข้าวของชาวนาทั้งหมด เก็บไว้ในยุ้งข้าว และทำตั๋วข้าว (Rice Ticket) ขึ้นมา เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อข้าว โดยทยอยเขียนสัญญาขึ้นมาสำหรับขายข้าวในเดือนต่างๆ ไม่ให้จำนวนข้าวทะลักออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ราคาไม่ดี การทำสัญญานี้ขึ้นก็เพื่อ ลดความเสี่ยงของผู้ปลูกข้าว ให้สามารถขายได้ในราคาที่ตนเองต้องการ และผู้ซื้อก็มั่นใจได้ว่า จะได้รับข้าวตามจำนวนที่ต้องการและมีราคาตามที่กำหนดไว้ ส่วนฝ่ายของเจ้าของที่นา จะได้รับค่าเช่าที่นาครบตามจำนวนด้วยเช่นเดียวกัน เรียกว่า “สัญญาเป็นประโยชน์ เป็นเรื่องโปรดของทุกฝ่าย”

                “Derivativesหรือ “ตราสารอนุพันธ์” เป็นการขยายความหมาย จากคำศัพท์ภาษาอังกฤษ

Derive   แปลว่า มีกำเนิดมา, กำพืด, ได้มา

Derivative            แปลว่า คำที่แยกมา

                ส่วนในภาษาไทย “อนุพันธ์” มาจากการประสมคำ 2 คำ ได้แก่

อนุ                          แปลว่า   น้อย, เล็ก

พันธ์                      แปลว่า                   การก่อกำเนิด

อนุพันธ์ มีความหมายว่า สิ่งเล็กๆ อันมีที่มาจากการก่อกำเนิด (ไม่ใช่ สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก ก็แล้วกัน!)

                ที่มาของ Derivatives คือ สิ่งสมมุติเพื่อใช้ทดแทนต้นแบบ ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) จึงน่าจะแปลได้ว่า หลักทรัพย์เล็กๆ เพื่อเป็นการยืนยันของการได้มา ซึ่งก็คือ “เอกสารที่มีผลและสามารถใช้อ้างอิงความเป็นเจ้าของในการลงทุน” นั่นเอง (ใช้ภาษาสวย เพื่อให้ฟังดูดีมีชาติตระกูล)

                หากเป็นความหมายทางวิชาการ ก็สามารถเขียนได้ดังนี้ ตราสารอนุพันธ์ มีความหมายว่า ตราสารทางการเงินที่ก่อกำเนิด อ้างอิง หรือผันแปรตามสินทรัพย์อ้างอิง โดยทั่วไป ตราสารอนุพันธ์จะมีมูลค่า ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) หรือตัวแปรอ้างอิงอื่นๆ (Underlying Variable)

                งงและปวดหัวบ้างไหม? ผมขอหยุดดีกว่า เดี๋ยวพาลโยนเล่มนี้ทิ้ง จึงขอยกตัวอย่างให้คุณเข้าใจความหมายของตราสารอนุพันธ์ให้มากขึ้น

 

นี่แหละใช่เลย!!

                 คุณมีเงินจำนวน 1 ล้านบาทในธนาคาร จะเอาออกมาอ้างอิงด้วยของจริงก็กระไรอยู่ จึงให้ธนาคาร ออกเป็น เช็คเงินสด แทน ซึ่งเรียกว่า “ตราสารอนุพันธ์”

                คุณมีบ้าน 1 หลัง เมื่อติดต่อราชการหรือแสดงความเป็นเจ้าของบ้าน คุณจะพก “บ้าน” ไปด้วย ก็คงจะเรื่องป่วยการ เพราะไม่ได้มีไฟฉายย่อส่วนแบบโดเรมอน จึงต้องมีเอกสารแสดงแทนสิ่งของ ก็เรียกว่า “ตราสารอนุพันธ์”

                อีกหน่อย เวลาคุณเดินทางไปต่างถิ่น แต่ไม่สะดวกที่จะให้สามีหรือภรรยาไปด้วย แต่เพื่อเป็นการยืนยันสถานะที่แท้จริง ก็คงต้องพก “ตราสารอนุพันธ์ยืนยันความเป็นสามีหรือภรรยา” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่าเพิ่งตกใจ สิ่งที่ผมบอกมีจริง แต่มีไม่ทุกคนหรอก นั่นคือ “ทะเบียนสมรส” นั่นเอง

                ตราสารอนุพันธ์ จึงเป็นข้อกำหนดของการอ้างอิงเอกสาร เพื่อแสดงสิทธิของการเป็นเจ้าของในทรัพย์สินที่สามารถนำมาลงทุน ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นสามัญ ฯลฯ หรืออาจเป็นสินค้าหรือสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น น้ำมัน ข้าว บ้าน รถยนต์ ฯลฯ

 

คุณอยู่กับตราสารอนุพันธ์ทุกวัน

แท้ที่จริง คุณคลุกคลีอยู่กับตราสารอนุพันธ์เป็นประจำ เพียงแต่ไม่ได้ให้ความสนใจ เท่าเรื่องอื่นๆ ที่คุณสนใจมากกว่า ลองเริ่มต้นสนใจสิ  แล้วคุณจะรู้ว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ

 

เริ่มตั้งแต่ การซื้อขายบ้านและที่ดินเป็นการทำสัญญาจะซื้อจะขายกันล่วงหน้า โดยที่คุณวางเงินมัดจำจำนวนหนึ่ง ให้แก่ผู้ขาย เช่น บ้านราคา 3,000,000 บาท คุณวางเงินมัดจำ 500,000 บาท ในวันทำสัญญา และจะส่งมอบบ้านพร้อมทั้งชำระราคาส่วนที่เหลือในอนาคต

เช่น อีก 6 เดือนข้างหน้า ในระหว่างที่สัญญายังไม่ครบกำหนด คุณดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคาร เพื่อนำเงินกู้มาซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าว หากธนาคารอนุมัติเงินกู้ คุณก็นำเงินมาชำระค่าบ้านตามสัญญา หรือหากคุณไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ แล้วคุณไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ผู้ขายก็จะยึดเงินมัดจำดังกล่าวไป เสียเงินฟรีๆ บ้านและที่ก็ไม่ได้!

หรือหากคุณขายสัญญาจะซื้อจะขายกันล่วงหน้า ให้ผู้อื่นได้ คุณก็จะได้รับเงินค่ามัดจำคืน แต่ก็ขึ้นอยู่กับราคาที่คุณสามารถที่จะขายสัญญานี้ได้ และหากบ้านมีราคาสูงขึ้นในระหว่างเวลา 6 เดือน สัญญาดังกล่าวอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าจำนวนเงินที่ได้วางมัดจำไว้ (กำไรเห็นๆ) แต่ถ้าราคาบ้านลดลงในระหว่าง 6 เดือน สัญญาดังกล่าวอาจมีมูลค่าลดลงด้วยเช่นเดียวกัน (ขาดทุนชัดๆ)

จากสัญญาจะซื้อจะขายบ้าน สามารถทำกำไรให้คุณได้ไม่ยาก เพียงแต่คุณต้องรู้วิธีในการลงทุนกับตราสารอนุพันธ์ ซึ่งคุณต้องอยู่ด้วยกันแทบทุกวันอยู่แล้ว

พี่เบิ้มแห่งการแลกเปลี่ยน

ปัจจุบันนี้ ตราสารอนุพันธ์เริ่มเป็นที่นิยมของนักลงทุนมากขึ้น แม้จะไม่ค่อยหวือหวา แต่ก็ทำกำไรได้ไม่น้อย โดยเฉพาะมีบทบาทในภาคธุรกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก 

ตราสารอนุพันธ์ ที่อยู่ในตลาดทุนเนิ่นนานมากกว่าชนิดอื่นๆ เรียกได้ว่าเป็น “พี่เบิ้ม” คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currencies Exchange Forward Contract) ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้า

ซึ่งเป็นการทำสัญญาระหว่างธนาคารพาณิชย์ที่มีบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก ซึ่งมีรายได้หรือรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ

การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า จะทำให้ทราบว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในอนาคต จะเป็นอย่างไร และสัญญานี้จะทำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้า สามารถประเมินรายได้และรายจ่ายเป็นเงินสกุลบาท ได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนลดลง

 

การเกษตรก็มีตราสารกับเค้าด้วยนะ

                ประเทศของเราเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงการลงทุนด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่องให้เฟื่องฟู จึงมีตราสารอนุพันธ์ทางการเกษตร โดยเรียกว่า “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) สินค้าเกษตร” โดยตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย

                เช่น มันสัมปะหลังเส้น แป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ ข้าวขาว 5% ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแท่ง STR20 และน้ำยางข้น เป็นต้น ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร จะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าการเกษตร สามารถกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้าได้

                การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร เป็นการประกันว่า เมื่อผลิตสินค้าทางการเกษตรออกมาแล้ว ผู้ขายสามารถขายได้ราคาตามที่ต้องการ และผลิตสินค้าออกมาตามความต้องการของผู้บริโภค ไม่มีสินค้าล้นตลาด

                ทำให้ผู้ซื้อมั่นใจว่า ราคาวัตถุดิบที่ต้องการ จะเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ไม่เกิดความผันผวน ปั่นป่วนราคาสินค้าเกษตร

 

น้องใหม่ใสกิ๊ก!!

                ตราสารอนุพันธ์น้องใหม่ใสกิ๊ก เพิ่งคลอดได้เมื่อไม่นานมานี้ ได้แก่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 (SET50 Index Futures และ SET50 Index Options) และสัญญาซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้า (Stock Futures) บริหารงานโดย บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TFEX) ทำหน้าที่ซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 ของประเทศไทย

                เป็นการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เข้ามาในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยคุณสามารถเลือกลงทุนตามปกติในตลาดหลักทรัพย์ และเลือกลงทุนใน SET 50 Index Futures หรือ Stock Futures เพิ่มเติมได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดทุนมากเกินไป

                ถ้าราคาของหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลง ในทิศทางที่ไม่ต้องการ เช่น คุณเลือกลงทุนอยู่ในหลักทรัพย์หลายชนิด แต่กลัวว่าราคาของหลักทรัพย์ต่างๆ จะมีราคาลดลง อาจจะเกิดการขาดทุน คุณก็สามารถเข้ามาลงทุนใน SET50 Index Futures หรือ Stock Futures ได้ เพื่อป้องกันราคาหลักทรัพย์ลดลง แม้คุณจะขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ แต่จะได้กำไรจากการลงทุนใน SET50 Index Futures หรือ Stock Futures มาทดแทน เริ่มน่าสนใจขึ้นหรือยัง?

ประเภทของตราสารอนุพันธ์

                คุณคงพอรู้แล้วว่า ตราสารอนุพันธ์เป็นสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของ “เงิน” โดยไม่ต้องวุ่นวายกับ “ของจริง” แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. 1.                                     สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures & Forward Contract)

                เป็นสัญญาตกลงกัน ระหว่างบุคคลหรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อและฝ่ายของผู้ขาย ทำสัญญาว่า “จะมีการซื้อขายสินทรัพย์” ซึ่งอาจเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนหรือสินทรัพย์ทางการเงิน (น้องฟ้า หรือน้องตา) ในอนาคต

                เข้าใจให้ง่ายขึ้น คือ ผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาส่งมอบต่อกันในอนาคต และผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต เช่น คุณต้องการจะซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้าจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลงในสัญญา คุณและสถาบันการเงินจะต้องทำตาม “สัญญาครบกำหนดอายุ” หรือ “Maturity Date

                คือ คุณจะนำเงินบาทมาชำระค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินก็จะนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาส่งมอบแก่คุณ ซึ่งอัตราการแลกเปลี่ยนจะขึ้นอยู่ในวันกำหนดส่งมอบ

                ระหว่างช่วงระยะเวลาที่คุณรอตามสัญญานั้น เป็นช่วงเวลาที่ลุ้นระทึก ข่าวสารเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศจะทำให้คุณใจเต้นระรัว และคอยลุ้นว่า “เงินบาทจะแข็งค่าหรืออ่อนค่า”

                บางครั้งก่อนถึงวันส่งมอบ อาจทำให้คุณใจพองโตเพราะคุณได้กำไรก้อนโตจากการแลกเปลี่ยน พอวันส่งมอบอัตราแลกเปลี่ยนก็อาจพลิกล๊อค ให้คุณขาดทุนระยับก็เป็นได้!!

 

  1. 2.                                     สัญญาสิทธิ (Option)

                มีลักษณะคล้ายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ “สัญญาสิทธิ” เป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อแบบเต็มร้อย ว่าจะซื้อหรือขายสินทรัพย์นั้นตามสัญญา ส่วนผู้ขายสามารถทำได้แค่เพียง ขาย ขาย และขาย ตามสัญญา พร้อมรับเงินไปตั้งแต่ต้น

 

  1. 3.                                     สัญญาสวอป (Swap)

                เป็นสัญญาแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคตระหว่างคู่สัญญา สัญญาการแลกเปลี่ยนภาระการลงทุน หรือภาระดอกเบี้ย เป็นสัญญาในการเปลี่ยนแปลง “เจ้ามือ” นั่นเอง

 

ก่อกำเนิดอนุพันธ์อย่างเป็นทางการ

 

ปี ค.ศ. 1848 มีการก่อตั้งศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ (Organized Exchange) ในชื่อของ Chicago Board of Trade (CBOT)

ในช่วงแรกของการจัดตั้งตลาด สัญญาที่ทำการซื้อขายเป็นสัญญาประเภท Forward เมื่อมีผู้เข้ามาลงทุนและเก็งกำไรในตลาด CBOT มากขึ้น สัญญาแบบ Forward จึงถูกเปลี่ยนมาเป็น Futures แทน เพื่อให้สัญญามีลักษณะเป็นมาตรฐานขึ้น ทำให้การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทำได้ง่ายขึ้น และการชำระราคาซื้อขายก็มีมาตรฐาน โดยการเรียกเงินประกัน เพื่อไม่ให้คู่สัญญาผิดนัดชำระ

ต่อมาในปี ค.ศ. 1919 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดตลาดสำหรับ ตราสารอนุพันธ์ อีก 1 ตลาด คือ Chicago Mercantile Exchange (CME) เป็นตลาดที่เปิดขึ้นมาเพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตราสารทางการเงิน (Financial Futures Contract)

และในปี ค.ศ. 1973 Chicago Board of Trade ได้นำตราสารทางการเงินประเภท Option เข้ามาสู่ตลาดอนุพันธ์เป็นครั้งแรก

ประโยชน์ของตราสารอนุพันธ์

ตราสารอนุพันธ์ ถือได้ว่าเป็นส่วนช่วยให้สามารถมองเห็นสภาพเศรษฐกิจรวมถึงการคาดเดา ราคาสินค้าต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีประโยชน์ดังนี้

 

  1. 1.                คาดเดาราคาในอนาคต

          เช่น  ยางแผ่นรมควันชั้น 3 หากไม่มีระบบการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตร การซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 คงต้องเป็นไปตามระบบดั้งเดิม ก็คือ การผลิตแล้วรอขาย ซึ่งผู้ผลิตก็ไม่รู้ชะตากรรมว่าแผ่นยางจะขายได้วันไหน จำนวนเท่าใด และราคาเท่าใด

          ส่วนผู้ซื้อไม่รู้ว่า จะซื้อแผ่นยางรมควันได้ครบตามจำนวนที่ต้องการหรือไม่ และจะซื้อได้ในราคาใด เป็นอาการเครียดซึมลึก เพราะนึกไม่ออกว่าต้องเผื่อเงิน หรือเผื่อสินค้าไว้แค่ไหน? แล้วหากเกิดสินค้าตาย ขายไม่ออก ใครจะรับผิดชอบ!

 

  1. 2.                ลดอัตราเสี่ยง

         ประโยชน์ประการที่สอง ของการมีตราสารอนุพันธ์ คือ การใช้ในการป้องกันความเสี่ยง เช่น นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จำนวน 1,000 ชิ้น ๆ ละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้เท่ากับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และผู้ขายให้ชำระค่าสินค้าในอีก 2 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำเข้าสินค้ารายนี้ คือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน

         เพราะถ้าหากอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนไปเป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้นำเข้าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทันที

         เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของผู้นำเข้า จึงสามารถทำได้โดยการ “ทำสัญญาซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า” จากธนาคาร โดยตกลงอัตราแลกเปลี่ยนกันล่วงหน้า เช่น กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับอีกสองเดือนข้างหน้าในอัตรา 36 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ครบตามสัญญา ผู้นำเข้าก็จะชำระเพียง 36 บาท ต่อดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งในขณะนั้น อัตราแลกเปลี่ยน อาจะเป็น 38 บาท ต่อดอลล่าร์ สหรัฐ ก็เป็นได้

 

  1. 3.                ไม่เลี่ยงเก็งกำไร

          การนำเอาตราสารอนุพันธ์ไปใช้ในการเก็งกำไร บุคคลที่มีความสำคัญที่สุด ของกลไกในระบบตลาดตราสารอนุพันธ์ หรือตลาดซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้ คือ “นักเก็งกำไร”

 

          เพราะนักเก็งกำไร จะทำให้ตลาดอนุพันธ์มีสภาพคล่อง ราคาไม่สูงเกินกว่าความเป็นจริงมากนัก นักเก็งกำไรเป็นผู้ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์ จากการเปลี่ยนแปลงราคาอนุพันธ์ ไม่ได้เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือตราสารทางการเงินที่ระบุไว้ในสัญญา

                เนื้อหาและรายละเอียดของตราสารอนุพันธ์ ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ใน Pocket Book ลงทุนเป็น เห็น ความสำเร็จ ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปนะครับ

อ้างอิง

  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2548 - 2550. บทความจากหนังสือพิมพ์บิสิเนสไทย คอลัมน์ส่องธุรกิจ
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554. การจัดการความเสี่ยงและตราสารอนุพันธ์เบื้องต้น พิมพ์ครั้งที่ 4 สำนักพิมพ์เพียร์สัน เอ็ดดูเคชั่น
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2550 - 2555. บทความจากนิตยสาร Make Money คอลัมน์ Finance & Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2551 - 2555. บทความจากหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการรายวัน คอลัมน์ Road to Investment
  • ดร.กิตติพันธ์ คงสวัสดิ์เกียรติ. 2554 ลงทุนเป็น เห็นความสำเร็จ สำนักพิมพ์ แมคกรอฮิล
คำสำคัญ (Tags): #ตราสารอนุพันธ์
หมายเลขบันทึก: 478646เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2014 11:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท