ตราสารอนุพันธ์ บทเรียนก่อนการเลือกลงทุนในSET50 Index Futures / SET50 Index Options / Stock Future / และอนุพันธ์ทองคำ


ตราสารอนุพันธ์

ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคธุรกิจของประเทศไทยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราสารอนุพันธ์ที่ประเทศไทยมีมาค่อนข้างยาวนานกว่าตราสารอนุพันธ์ชนิดอื่น ๆ ก็ คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currencies Exchange Forward Contract) ซึ่งมักจะนิยมใช้สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้า สัญญาดังกล่าวจะเป็นการทำสัญญาระหว่าง ธนาคารพาณิชย์ที่มีการรับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กับผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกซึ่งจะมีรายได้หรือรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำสัญญาดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่จะมีรายได้หรือรายจ่าย ที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้ทราบว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอย่างไร การทำสัญญาดังกล่าวจะทำให้ทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสามารถประเมินถึงรายได้และรายจ่ายที่เป็นจำนวนเงินสกุลบาทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะทำให้ความเสี่ยงจากการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนลดลง

 

                ตราสารอนุพันธ์ประเภทอื่น ๆ ที่มีในประเทศไทยในขณะนี้อีกประเภทหนึ่ง ก็คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) สินค้าเกษตร ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET)  เป็นสัญญาที่ตกลงซื้อขายสินค้าเกษตร เช่น มันสัมปะหลังเส้น แป้งมันสำปะหลังชั้นพิเศษ ข้าวขาว 5% ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแท่ง STR20 และน้ำยางข้น ซึ่งการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรนี้จะช่วยให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้สินค้าเกษตรดังกล่าวเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอื่น ๆ สามารถกำหนดราคาซื้อขายล่วงหน้าได้ การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้เป็นการประกันว่าสินค้าเกษตรดังกล่าวเมื่อผลิตออกมาแล้ว ผู้ขายสินค้าเกษตรจะสามารถขายได้ราคาตามที่ต้องการ และจะผลิตสินค้าออกมาตามความต้องการใช้ของตลาด ไม่มีสินค้าล้นตลาด ส่วนด้านของผู้ซื้อก็จะสามารถมั่นใจได้ว่าราคาวัตถุดิบที่ต้องการซื้อนั้น จะเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ไม่เกิดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตร

 

                ตารสารอนุพันธ์อีกประเภทที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาไม่นานมากนัก คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 (SET50 Index Futures และ SET50 Index Options) สัญญาซื้อขายหุ้นสามัญล่วงหน้า (Stock Futures) ซึ่งดำเนินการซื้อขายที่ตลาดอนุพันธ์ ซึ่งบริหารจัดการโดย บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TFEX) เป็นตลาดที่ทำหน้าที่ซึ่งขายล่วงหน้าดัชนีหลักทรัพย์ SET 50 ของประเทศไทย เป็นการใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเข้ามาในการป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยที่นักลงทุนจะสามารถเลือกลงทุนตามปกติในตลาดหลักทรัพย์ และเลือกลงทุนใน SET 50 Index Futures หรือ Stock Futures เพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ถ้าราคาของหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ต้องการให้เป็น เช่น หากนักลงทุนเลือกลงทุนอยู่ในหลักทรัพย์หลายชนิด แต่กลัวว่าราคาของหลักทรัพย์เหล่านั้น จะมราคาที่ลดลงทำให้เกิดการขาดทุนจากการลงทุน นักลงทุนดังกล่าวก็สามรถที่จะเข้ามาลงทุนใน SET 50 Index Futuresหรือ Stock Futures ได้ เพื่อเป็นการป้องกันในกรณีที่ราคาหลักทรัพย์ลดลง ผู้ลงทุนก็จะขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์ แต่จะได้กำไรจากการลงทุนใน SET 50 Index Futures หรือ Stock Futures มาทดแทน

 

                คำว่า ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) นั้นมาจากรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ว่า Derive ซึ่งแปลว่า “ขึ้นอยู่กับ” จึงแปลเป็นภาษาไทยที่ว่า “อนุ” ที่หมายความว่า น้อย หรือตาม และตามด้วยคำว่า “พันธ์” ซึ่งแปลว่าการก่อกำเนิด ดังนั้นตราสารอนุพันธ์ จึงมีความหมายว่า ตราสารทางการเงินที่ก่อกำเนิดจาก อ้างอิงจาก หรือผันแปรตามสินทรัพย์อ้างอิง โดยทั่วไปตราสารอนุพันธ์จะมีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) หรือตัวแปรอ้างอิงอื่น ๆ (Underlying Variable)

 

                สินทรัพย์ที่อ้างอิง อาจเป็นตราสารทางการเงิน เช่น อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นสามัญ ฯลฯ หรืออาจเป็นสินค้าหรือสินทรัพย์อื่น ๆ เช่น น้ำมัน ข้าว บ้าน รถยนต์ ฯลฯ ตามแต่ที่ตราสารอนุพันธ์นั้นได้กำหนดไว้ ว่าเป็นการอ้างอิงถึงสินทรัพย์ใด

 

                ตัวอย่างของอนุพันธ์ทางการเงินที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น เช่น สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ซึ่งปกติการซื้อขายบ้านและที่ดินเป็นการทำสัญญาจะซื้อจะขายกัน โดยผู้ซื้อทำการวางเงินมัดจำจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ขาย เช่น บ้านมีราคา 3,000,000 บาท ผู้ซื้อได้ตกลงที่จะวางเงินมัดจำจำนวน 500,000 บาทในวันทำสัญญา และจะมีการส่งมอบบ้านกันในอนาคต เช่น อีก 6 เดือนข้างหน้า ในระหว่างสัญญานั้นผู้ซื้อก็จะดำเนินการขอกู้เงินจากธนาคาร เพื่อนำมาซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าว หากธนาคารอนุมัติเงินกู้ ผู้ซื้อก็จะนำเงินมาชำระค่าบ้านตามสัญญา หรือหากผู้ซื้อไม่สามารถกู้เงินจากธนาคารได้ ผู้ซื้อก็จะไม่สามารถทำตามสัญญาได้ ผู้ขายก็จะยึดเงินมัดจำไป หรือหากผู้ซื้อสามารถขายสัญญาดังกล่าวให้แก่ผู้อื่นได้ ผู้ซื้อก็จะได้รับเงินค่ามัดจำคืน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาที่ผุ้ซื้อสามารถที่จะขายสัญญาจะซื้อจะขายได้ หากราคาบ้านมีราคาสูงขึ้นในระหว่างเวลา 6 เดือน สัญญาดังกล่าวอาจมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และถ้าราคาบ้านมีราคาลดลงในระหว่าง 6 เดือน สัญญาดังกล่าวอาจมีมูลค่าลดลง

 

                สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินดังกล่าว เป็นตราสารอนุพันธ์ประเภทหนึ่ง เพราะสัญญาดังกล่าวสามารถเปรียบได้เสมือนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งถูกนับเป็นหนึ่งในตราสารอนุพันธ์ คือ เป็นการตกลงกันล่วงหน้าเพื่อทำการซื้อขายบ้านกันในอนาคต โดยอาจมีการวางเงินมัดจำเป็นบางส่วนในปัจจุบัน และจะชำระค่าสินค้าหรือค่าบ้านและที่ดินที่เหลือในอนาคต โดยที่สัญญาดังกล่าวอาจมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงก็ได้ หากราคาบ้านและที่ดินซึ่งเป็นสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) เกิดมีราคาเพิ่มขึ้นหรือลดลงในระหว่างสัญญา

ตัวอย่างของตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างของตราสารอนุพันธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คือ การทำสัญญาซื้อขายบ้านล่วงหน้า ผู้เขียนจึงขอยกตัวอย่างเพิ่มเติมของตราสารอนุพันธ์ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักการของอนุพันธ์เบื้องต้นมากขึ้น และจะสามารถนำไปประยุกต์กับตราสารอนุพันธ์ทางการเงินได้ในอนาคต ผู้อ่านหลายท่านอาจคิดว่าเรื่องของตราสารอนุพันธ์นั้น เป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน ยากต่อการเข้าใจ แต่หากท่านมีพื้นฐานความเข้าใจที่ดีแล้ว ตราสารอนุพันธ์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่ยากอย่างที่คิด และตราสารอนุพันธ์ จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารความเสี่ยงของบริษัทมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

                ผู้อ่านหลายท่านคงเคยที่จะไปซื้อรถยนต์จากตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ เมื่อท่านต้องการที่จะซื้อรถยนต์คันใหม่สักคันหนึ่ง ท่านคงต้องทำการศึกษาดูว่ารถยนต์คันใด รุ่นใด ที่มีความเหมาะสมมากสำหรับท่าน และเมื่อท่านได้เลือกรถยนต์คันที่ท่านสนใจแล้ว ก็จะตรงไปที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ เพื่อดูว่ารถยนต์คันดังกล่าวนั้นมีลักษณะอย่างไร มีส่วนประกอบใดบ้างที่ติดตั้งมาพร้อมกับรถยนต์ ฯลฯ

 

                เมื่อท่านได้สอบถามจากตัวแทนจำหน่ายแล้วพบว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่มีในสต๊อกสินค้า หากต้องการสั่งซื้อคงต้องใช้เวลาอีก 2 เดือน จึงจะได้รถยนต์คันดังกล่าว ท่านจึงได้ตกลงกับทางตัวแทนจำหน่ายโดยการทำสัญญาว่า ท่านจะกลับมาซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในอีกสองเดือนข้างหน้า ในราคาคันละ 2,000,000 บาท ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ ที่ระบุในสัญญา คือ รถยนต์คันที่ต้องการจะมีสีแดง มีขนาดของวงล้อ 17 มีสัญญากันขโมย ติดฟิลม์รอบคัน ฯลฯ โดยทางตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ได้เรียกเงินมัดจำจากท่านไปจำนวน 5,000 บาท

 

                สัญญาดังกล่าวในตราสารอนุพันธ์นั้นจะเรียกว่า “สัญญาซื้อขายล่วงหน้า” (Forward Contract) โดยที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาทำตามสัญญาที่ระบุไว้ คือ ผู้ซื้อจะต้องกลับมาซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในอีก 2 เดือนข้างหน้า แต่ถ้าหากไม่กลับมาทำตามสัญญาแล้ว ผู้ขายก็จะทำการยึดเงินมัดจำไป แต่ถ้าหากการผิดนัดสัญญาดังกล่าวของผู้ซื้อทำให้ผู้ขายเกิดความเสียหายใด ๆ เพิ่มเติมกว่าเงินมัดจำแล้ว จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายนั้นต่อไป

 

                สัญญาดังกล่าวมีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Forward Contract) คือ เป็นสัญญาที่ตกลงกันระหว่างบุคคลหรือองค์กร สองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งสัญญาว่าจะมากระทำการซื้อในอนาคต และอีกฝ่ายหนึ่งจะทำการขายในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายมีสิทธิ (Right) ที่จะซื้อขายตามสัญญา และต้องเป็นภาระ (Obligation) ของทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามหน้าที่ที่ได้ระบุไว้ในสัญญา

 

                แต่สัญญาซื้อขายล่วงหน้าชนิด Forward นั้น เป็นสัญญาที่มีการตกลงกันระหว่างบุคคลสองฝ่าย จึงอาจมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น ผู้ซื้ออาจไม่กลับมาทำตามสัญญาที่ระบุไว้ หรือผู้ขายอาจไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงทำให้เกิดความเสี่ยงระหว่างการทำสัญญาดังกล่าว

 

ตัวอย่างของตราสารอนุพันธ์อีกตัวอย่างหนึ่งที่สามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน คือ การทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน ซึ่งโดยทั่วไปการทำสัญญาแบบนี้ ผู้ซื้อจะต้องวางเงินมัดจำให้แก่ผู้ขาย และมีการสัญญาตกลงกันว่า จะมีการส่งมอบบ้านและที่ดินกันเมื่อใด เช่นบ้านและที่ดินมีราคา 4 ล้านบาท หากตกลงกันวันที้ต้องทำการวางมัดจำ 50,000 บาท โดยสัญญาว่าจะกลับมาทำการซื้อภายใน 2 เดือนข้างหน้า ตามราคาที่ซื้อขายกันไว้

 

                ระหว่างที่มีการตกลงการซื้อขายกันล่วงหน้านี้ ผู้ซื้ออาจต้องดำเนินการขอกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยกับธนาคาร เมื่อครบกำหนดตามแล้วแล้ว ผู้ซื้อก็จะนำเงินมาชำระ ผู้ขายก็จะโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ แต่ถ้าหากผู้ซื้อไม่นำเงินมาชำระตามกำหนด ผู้ขายก็จะยึดเงินมัดจำไป

 

                ดังนั้นสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินนี้จึงเป็น สัญญาที่มีลักษณะคล้ายกับตราสารอนุพันธ์ คือ มีการตกลงการซื้อขายกันในปัจจุบัน แต่จะมีการซื้อขายจริงกันในอนาคต โดยที่สัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นสัญญาที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่มูลค่าของสัญญานั้นจะขึ้นกับราคาของที่ดินและบ้านในวันที่ส่งมอบ เช่น ถ้าหากราคาของบ้านเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากราคาที่ดินในบริเวณที่จะซื้อนั้นมีราคาสูงขึ้น หรือลดลง มูลค่าของสัญญาก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไป

 

                ถ้าสัญญาจะซื้อจะขาย ตกลงกันไว้ว่าจะซื้อขายบ้านกันใน 2 เดือนข้างหน้าในราคา 4,000,000 บาท ถ้าราคาบ้านและที่ดินเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็น 5,000,000 บาท ก็จะทำให้สัญญาดังกล่าวมีมูลค่า 1,000,000 บาท ซึ่งเงินมัดจำที่ได้วางไว้จำนวน 50,000 บาท หากนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของสัญญาแล้ว นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามหาศาลเลยทีเดียว

 

                ตราสารอนุพันธ์โดยทั่วไปแล้ว เป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกจำนวนน้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้รับจากการลงทุนนั้นอาจได้รับมหาศาล หรืออาจขาดทุนอย่างมากได้เช่นกัน จากตัวอย่างข้างต้น ตราสารอนุพันธ์ลงทุนด้วยเงินเพียงแค่ 50,000 บาท แต่ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นสูงถึง 1,000,000 บาท ในทางกลับกันหากราคาบ้านและที่ดินลดลง เช่นราคาลดลงเหลือเพียง 2,000,000 บาท อาจทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อ ไม่อยากซื้อบ้านและที่ดินดังกล่าว เนื่องจากราคาลดลง ผู้ที่ทำสัญญาจึงไม่ไปทำตามสัญญา จึงถูกยึดเงินมัดจำไป หากเป็นเช่นนี้การลงทุนในครั้งนี้ ถือว่าขาดทุน 100% เพราะเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดเหลือเท่ากับศูนย์

 

                การลงทุนในตราสารอนุพันธ์เป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนน้อย ผลตอบแทนจากการลงทุนอาจได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับราคาของสินทรัพย์ที่อ้างอิงดังตัวอย่างข้างต้น แต่การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ จะต้องมีการตรวจสอบสถานะของสัญญาทุกวัน (Daily Marked to Market) เพื่อไม่ให้คู่สัญญาเกิดความเสี่ยงจากการไม่มาชำระราคาในอนาคต หากสถานะของผู้ซื้อและผู้ขายวันใดมีการขาดทุน ผู้ที่ขาดทุนจะถูกเรียกนำเงินมาชำระเพิ่มเติม เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ที่ได้กำไรจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ในกรณีที่คู่สัญญาไม่มาปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกัน

ท่านผู้อ่านคงได้ทราบถึงกลไกการทำงานเบื้องต้นของตราสารอนุพันธ์ ไปบ้างแล้ว ผู้เขียนจึงจะขอแนะนำถึงประโยชน์ของการใช้ตราสารอนุพันธ์ เพื่อให้ท่านผุ้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ตราสารอนุพันธ์ ซึ่งจะต้องมีการใช้อย่างมากขึ้นในประเทศไทยในอนาคต

 

                ประโยชน์โดยทั่วไปของการมีและใช้ตราสารอนุพันธ์ คือ ประโยชน์ของการสะท้อนถึงราคาสินค้าในอนาคต ตัวอย่างเช่น สินค้าประเภทยางแผ่นรมควันชั้น 3 หากไม่มีระบบการซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยแล้ว การซื้อขายยางแผ่นรมควันชั้น 3 คงต้องเป็นไปตามระบบดั้งเดิม ก็คือการผลิตแล้วรอขาย ซึ่งผู้ผลิตก็จะไม่ทราบว่าสินค้าของตนนั้นจะขายได้เมื่อใด จำนวนเท่าใด และราคาเท่าใด และฝ่ายผู้ซื้อเองก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันว่า จะซื้อสินค้าดังกล่าวได้ครบตามจำนวนที่ต้องการหรือไม่ และจะซื้อได้ในราคาใด

 

                ด้วยการที่มีตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย จึงทำให้ความกังวลใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าเกษตรหมดไป คือ ฝ่ายผู้ขายก็จะทราบถึงมูลค่าที่ตนเองจะได้รับจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้ซื้อก็จะได้รับทราบถึงราคาในอนาคตว่าจะซื้อได้ในราคาใด เมื่อผู้ผลิตทราบว่าราคาสินค้าจะขายได้เท่าใด จำนวนเท่าใด ในอนาคต ผู้ผลิตก็จะจำการผลิตตามจำนวนที่ตนสามารถขายได้ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายทราบว่าราคาในอนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นการสะท้อนราคาในอนาคตของสินค้าเกษตร

 

                ประโยชน์ประการที่สอง ของการมีตราสารอนุพันธ์ คือ การใช้ในการป้องกันความเสี่ยง ตัวอย่างเช่น ผู้นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยมีสินค้าจำนวน 1,000 ชิ้น ๆ ละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้เท่ากับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และผู้ขายให้ชำระค่าสินค้าในอีก 2 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้นำเข้าสินค้ารายนี้ คือ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะถ้าหากอัตราแลกเปลี่ยนเปลี่ยนไปเป็น 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้นำเข้าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทันที

 

                ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงของผู้นำเข้ารายนี้ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาซื้อดอลลาร์ล่วงหน้าจากธนาคาร โดยทำการตกลงอัตราแลกเปลี่ยนกันล่วงหน้า เช่น กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับอีกสองเดือนข้างหน้าในอัตรา 36 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ การทำเช่นนี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้นำเข้าสินค้า ในการที่จะต้องชำระเงินในอนาคต เป็นการป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน

 

                ประโยชน์ประการสุดท้าย คือ การนำเอาตราสารอนุพันธ์ไปใช้ในการเก็งกำไร บุคคลที่มีความสำคัญที่สุดของกลไกในระบบตลาดตราสารอนุพันธ์ หรือตลาดซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านี้ คือ นักเก็งกำไร เพราะนักเก็งกำไรจะทำให้ตลาดอนุพันธ์มีสภาพคล่องสูง ราคาไม่เป็นไปเกินมากกว่าความเป็นจริง นักเก็งกำไรเป็นผู้ที่ต้องการได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของราคาอนุพันธ์ ไม่ได้เป็นผู้ที่จะต้องการใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือตราสารทางการเงินที่ระบุไว้ในสัญญา

 

หากเราจะแบ่งประเภทของตราสารอนุพันธ์ เราจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures & Forward Contracts) ออปชัน (Options) และสัญญาสวอป (Swap Transaction) แต่ตราสารอนุพันธ์เหล่านี้มีรายละเอียดต่าง ๆ อีกมากที่ทำให้มีความแตกต่างกัน และตราสารอนุพันธ์เหล่านี้ก้ยังมีลักษณะหรือประเภทอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายเพิ่มเติมในตอนต่อ ๆ ไป

 

                ผู้เขียนขอแนะนำตราสารอนุพันธ์ทั้ง 3 ประเภทใหญ่ ๆ ให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักถึงประเภทของตราสารอนุพันธ์ในเบื้องต้น คือ

 

                สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures & Forward Contract) เป็นสัญญาซึ่งทำการตกลงกันระหว่างบุคคล หรือสถาบัน 2 ฝ่าย โดยมีฝ่ายของผู้ซื้อ และฝ่ายของผู้ขาย ทำการตกลงกันในสัญญาว่า จะมีการซื้อขายสินทรัพย์ (ซึ่งอาจเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน หรือสินทรัพย์ทางการเงิน) ในอนาคต โดยทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะมีภาระผูกพันที่จะต้องทำตามสัญญาที่กำหนดไว้ ดังนั้นภาระของทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ขายจะต้องนำสินทรัพย์มาทำการส่งมอบในอนาคต และฝ่ายผู้ซื้อจะทำการชำระราคาในอนาคต เช่น คู่สัญญาทำการตกลงจะซื้อขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อระยะเวลาถึงกำหนดตามข้อตกลงในสัญญาทั้งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องทำตามสัญญา (มักจะเรียกว่าวันที่สัญญาครบกำหนดอายุ หรือ Maturity Date) คือ ผู้ซื้อจะต้องนำเงินบาทมาชำระค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และฝ่ายผู้ขายก็จะต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐมาส่งมอบเช่นเดียวกัน

 

                ออปชัน (Option) เป็นสัญญาที่มีลักษณะคล้ายกันกับ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทแรก แต่แตกต่างกันที่สัญญาประเภท ออปชัน เป็นสัญญาที่ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทำการซื้อสัญญาออปชัน ว่าจะมีสิทธิในการซื้อหรือขายสินทรัพย์ใด ๆ ตามสัญญา ดังนั้นสิทธิของการทำตามสัญญานั้นจะเป็นของฝ่ายผู้ซื้อสัญญาซื้อหรือขายล่วงหน้า สิทธินั้นขึ้นอยู่กับว่าสัญญาเป็นการซื้อหรือขาย สำหรับฝ่ายผู้ขายเป็นฝ่ายที่ไม่มีสิทธิเลือกใด ๆ เพราะฝ่ายขายเป็นผู้ที่เขียนสัญญาขึ้นมาขาย และเป็นผู้ที่ได้รับค่าสัญญาไปตั้งแต่ต้น จึงไม่มีสิทธิในการเลือกใด ๆ

 

                สัญญาสวอป (Swap) เป็นสัญญที่มีการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างคู่สัญญา หรือเป็นสัญญาที่มีการแลกเปลี่ยนภาระการลงุทน หรือภาระดอกเบี้ยของคู่สัญญา

 

                ตราสารอนุพันธ์ทั้ง 3 ประเภทนี้ เป็นตราสารทางการเงินที่มีการทำธุรกรรมอยู่บ้างในประเทศไทย เช่น การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้ากับธนาคาร การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย การซื้อขายตราสารประเภท SET 50 Index Futures และ SET 50 Index Option ในตลาดอนุพันธ์ ซึ่งโดยรวมแล้วประเทศไทยยังคงมีตราสารอนุพันธ์ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ

หากกล่าวถึงความเป็นมาของตราสารอนุพันธ์ นั้นมีผู้คาดการณ์ว่า ตราสารอนุพันธ์นั้นน่าจะมีมาตั้งแต่โบราณ แต่พอจะมีหลักฐานที่ปรากฎชัดและบันทึกว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยศตวรรษที่ 17 หรือประมาณปี ค.ศ. 1630 ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นสัญญาการซื้อขายล่วงหน้าดอกทิวลิป ด้วยที่ว่าดอกทิวลิปในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีผู้นิยมจำนวนมาก เกิดสินค้าขาดตลาด ฝ่ายผู้ขายและพ่อค้าคนกลางจึงทำการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายผู้ขายก็จะขายดอกทิวลิปได้ในจำนวนที่ตนมีสัญญาขายล่วงหน้าอยู่แน่นอน และฝ่ายผู้ซื้อก็จะได้รับสินค้าตามที่ต้องการ พร้อมทั้งสามารถกำหนดราคาสินค้าได้ล่วงหน้า ไม่ผันผวนตามปริมาณสินค้าที่จะเป็นในอนาคต

 

ในช่วงเวลาต่อมาอีกไม่กี่ปีในประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวล่วงหน้า เพื่อเป็นการป้องกันการผันผวนของราคาข้าว เพราะโดยปกติในช่วงเวลาดังกล่าวชาวนาญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ทำนาโดยเช่าที่นาของเจ้าของนา เมื่อชาวนาปลูกข้าวและสามารถขายได้ ชาวนาก็จะนำเงินมาชำระค่าเช่าที่นา แต่ในบางปี จำนวนข้าวในตลาดมีมากกว่าปกติ หรืออาจเกิดการขาดแคลน ทำให้ราคาข้าวนั้นมีราคาที่ผันผวน คือ เมื่อข้าวขาดตลาด ราคาข้าวจะสูงขึ้น และเมื่อข้าวมีมากจนเกินไป ราคาข้าวก็จะลดลง ทำให้ชาวนานั้นไม่สามารถชำระค่าเช่าที่นาได้ในบางปี

 

เจ้าของที่นาจึงทำการนำข้าวของชาวนาทั้งหมดเก็บไว้ในยุ้งข้าว และทำตั๋วข้าว (Rice Ticket) ขึ้นมา เพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อข้าว โดยทะยอยเขียนสัญญาขึ้นมาสำหรับขายข้าวในเดือนต่าง ๆ ไม่ให้จำนวนข้าวทะลักออกสู่ตลาดพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้ราคาไม่ดี การที่เจ้าของที่นาทำเช่นนี้เป็นการทะยอยนำข้าวออกขายสู่ตลาดในเดือนที่แตกต่างกัน โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของทั้งผู้ปลูกข้าวที่จะสามารถขายได้ตามราคาที่ตนต้องการ และผู้ซื้อก็จะสามารถแน่นอนใจได้ว่าในอนาคต ตนจะได้รับข้าวตามจำนวนที่ต้องการ และมีราคาตามที่ต้องการ ส่วนฝ่ายของเจ้าของที่นาก็จะได้รับค่าเช่าที่นาครบตามจำนวนด้วยเช่นเดียวกัน

 

ต่อมาศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ (Organized Exchange) จึงเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1848 โดยมีการตั้งตลาดขึ้นในชื่อของ Chicago Board of Trade (CBOT) ซึ่งในช่วงแรกของการจัดตั้งตลาดนั้นสัญญาที่ทำการซื้อขายกันเป็นสัญญาประเภท Forward แต่ต่อมาเมื่อมีผู้เข้ามาลงทุนและเก็งกำไรในตลาด CBOT มากขึ้นสัญญาแบบ Forward จึงถูกเปลี่ยนมาเป็น Futures แทน เพื่อให้สัญญามีลักษณะเป็นมาตรฐานขึ้น ทำให้การซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นสามารถซื้อขายกันได้ง่ายขึ้น กับอีกทั้งการชำระราคาซื้อขายก็เป็นมาตรฐานมากขึ้น มีการเรียกเงินประกัน เพื่อไม่ให้คู่สัญญาผิดนัดชำระราคาได้

 

ต่อมาในปี ค.ศ. 1919 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เปิดตลาดสำหรับ ตราสารอนุพันธ์ อีก 1 ตลาด คือ Chicago Mercantile Exchange (CME) เป็นตลาดที่เปิดขึ้นมาเพื่อการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตราสารทางการเงิน (Financial Futures Contract) เป็นส่วนใหญ่

 

และต่อมาในปี ค.ศ. 1973 Chicago Board of Trade เองก็ได้มีการนำตราสารทางการเงินประเภท Option เข้ามาสู่ตลาดอนุพันธ์เป็นครั้งแรก

 

กลไกการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ เป็นการทำสัญญาเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอ้างอิงในอนาคต ซึ่งมีความแตกต่างจากการซื้อสินค้าหรือบริการโดยทั่วไป ซึ่งมีการซื้อขายที่มีการชำระเงินและส่งมอบสินค้าและบริการทันที การซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่หนึ่ง การซื้อขายผ่านระบบตลาดที่มีระเบียบ (Organized Exchange) ซึ่งการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในระบบตลาดที่มีระเบียบ นั้นจะมีกรรมวิธีการซื้อขายคล้ายกับการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ คือ ตลาดแบบมีระเบียบเป็นตลาดที่มีการซื้อและขายหลักทรัพย์หรือตราสารอนุพันธ์อย่างเปิดเผย มีการกำหนดราคา และช่วงของการขึ้นลงราคาอย่างชัดเจน ข้อมูลข่าวสารของผู้ลงทุนจะได้รับอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีการเปิดเผยราคาหลักทรัพย์และราคาอนุพันธ์ให้ประชาชนผู้ลงทุนทราบ เช่น การถ่ายทอดสดราคาของหลักทรัพย์หรือตราสารอนุพันธ์ทางสถานีโทรทัศน์ หรือบนอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งการตีพิมพ์ราคาของหลักทรัพย์หรือตราสารอนุพันธ์ในหนังสือพิมพ์ เป็นต้น และการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ผ่านระบบของตลาดอนุพันธ์ที่มีระเบียบ ผู้ลงทุนทั้งฝ่ายซื้อและฝ่ายขายจะต้องถูกเรียกเงินประกัน

 

                การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในระบบตลาดแบบมีระเบียบ จะมีการการซื้อขายแบบ Electronic หรือ Open Outcry ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าตลาดจะเปิดให้มีการซื้อขายแบบใด แต่ส่วนใหญ่แล้วตลาดอนุพันธ์จะนิยมใช้ระบบ Open Outcry เป็นระบบในการต่อรองราคาซื้อขายตราสารอนุพันธ์ โดยที่ระบบนี้จะเป็นการเปิดให้ Broker และ ผู้ค้าตราสารอนุพันธ์รายใหญ่ สามารถเข้ามาทำการซื้อและขายตราสารอนุพันธ์ ซึ่งสามารถทำการซื้อขายใน Floor ได้ การซื้อการขายจะกระทำที่ Pitch ของสินค้าประเภทต่าง ๆ โดยมีการส่งสัญญาณมือเป็นการต่อรองราคา ทั้งนี้ในตลาดจะมีระบบทำการบันทึกภาพวีดีโอ เพื่อเป็นหลักฐานในการตกลงในสัญญาต่าง ๆ และเมื่อทำการซื้อขายเสร็จสิ้นจึงจะมีการจดทะเบียนยอดซื้อขายกัน การซื้อขายในระบบ Open Outcry นี้มีโอกาสในการผิดพลาดได้ง่ายกว่าระบบ Electronic มาก

 

                รูปแบบที่สอง การซื้อขายผ่านตลาดต่อรอง (Dealer หรือ Over-The-Counter: OTC) เป็นการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่เราสามารถเรียกได้ว่าเป็นระบบนอกตลาด คือ เป็นการซื้อขายตราสารอนุพันธ์โดยการตกลงกันเองระหว่าง ผู้ลงทุน โดยที่การซื้อขายตราสารอนุพันธ์นั้นจะทำการชำระราคาและส่งมอบกันนอกระบบตลาด คือ ไม่มีการซื้อขายผ่านตลาดแบบมีระเบียบ แต่ในต่างประเทศการซื้อขายในระบบ OTC นี้ เป็นการซื้อขายที่มีนักลงทุน และนักเก็งกำไรทำการซื้อขายมากที่สุด เป็นตลาดที่ได้รับความนิยมมาก

 

                นอกจากนี้ระบบของตลาดแบบมีระเบียบนั้น มีความแตกต่างจากตลาด OTC คือ การซื้อและขายสัญญาล่วงหน้าต่าง ๆ นั้นจะต้องมีการเรียกเงินประกัน เพื่อเป้นการป้องกันไม่ให้นักลงทุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความเสี่ยง เพราะหากไม่มีการเรียกเก็บเงินประกันแล้ว หากนักลงทุนฝ่ายใดเกิดการขาดทุน นักลงทุนฝ่ายนั้นอาจไม่มาชำระราคา หรือไม่มาส่งมอบสินทรัพย์ตามที่ตกลงกันไว้

ความแตกต่างของการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดแบบมีระเบียบ (Organized Exchange) และตลาดต่อรอง (Over-the-Counter Market) นั้นมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ เช่น ลักษณะของสัญญา ความเป็นมาตรฐาน การวางเงินประกัน สภาพคล่องของการซื้อขาย ความเสี่ยงจากการลงทุน และการส่งมอบและชำระราคา เป็นต้น

 

                ตลาดแบบมีระเบียบ (Organized Exchange) เป็นตลาดที่มีสถานที่การทำการซื้อขายแน่นอน มีกระบวนการในการดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย มีพระราชบัญญัติรองรับในการเปิดดำเนินงาน มีเวลาเปิดเวลาปิดแน่นอน ราคาซื้อขายมีการเสนอซื้อหรือขายอย่างเป็นระบบ มีช่วงห่างของการขึ้นหรือลงของราคา มีการประกาศราคาและข้อมูลในการลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการประกาศผ่านระบบอินเตอร์เน็ต สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งหนังสือพิมพ์

 

                ตลาดต่อรอง (Over-the-Counter Market) หรือ ตลาด OTC เป็นตลาดที่ไม่มีการซื้อขายกันอย่างเป็นระบบ การเจรจาซื้อขายเป็นการต่อรองกันเอง ซึ่งจำนวนสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ตกลงกันในสัญญาจะมีขนาดที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่ตลาด OTC เป็นตลาดที่มีความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งขนาดของตลาด OTC ในหลายประเทศจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าตลาดแบบมีระเบียบ และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเจริญเติบโตสูงมากขึ้น

 

                การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดแบบมีระเบียบจะแตกต่างจากตลาดต่อรอง ในรูปแบบของสัญญาที่เป็นมาตรฐาน คือ สัญญาที่จะสามารถนำไปซื้อขายกันในตลาดแบบมีระเบียบได้ จะต้องเป็นสัญญาที่มีมาตรฐานเดียวกัน เช่น ขนาดของสัญญาต้องมีขนาดเท่ากัน วิธีการส่งมอบต้องเหมือนกัน คุณภาพของสินค้าหรือสินทรัพย์ที่กำหนดในสัญญาต้องมีคุณภาพเดียวกัน ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีความเข้าใจกันว่าตนเองนั้นกำลังซื้อหรือขายสัญญาประเภทใด การทำให้สัญญาเป็นมาตรฐานเดียวกันนี้ จะทำให้สัญญาที่ซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบสามารถซื้อขายได้สะดวกมากขึ้น เพราะจำนวนผู้ซื้อและผู้ขายจะมีมาก หากสัญญามีความแตกต่างกันมาก การซื้อและการขายจะไม่คล่องตัว เนื่องจากผู้ลงทุนอาจต้องการซื้อหรือขายสินทรัพย์ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน

 

                การซื้อขายในตลาดแบบมีระเบียบนี้ เพื่อให้ผู้ลงทุนลดความสี่ยงจากการผิดนัดชำระเงิน หรือผิดนัดส่งมอบสินทรัพย์ ตลาดจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการเรียกเงินประกันจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าผ

คำสำคัญ (Tags): #ตราสารอนุพันธ์
หมายเลขบันทึก: 478643เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท