ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง


ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

 

 

http://www.nature-dhrama.com

 

ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง

          มีเรื่องที่คอยสะกิดใจให้เขียน "ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง" คือเรื่องการเข้าค่ายลูกเสือในปัจจุบันนี้ ด้วยเห็นว่าการกระทำ และหลักปฎิบัติ ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามโอกาสที่มี ซ้ำยังเป็นการส่งเสริมเรื่อง "เศรษฐกิจเกินพอเพียง" ไว้อย่างแน่นหนาแก่เยาวชน

          นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดชัดเจนให้โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่องสร้างค่านิยมแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียน โดยโรงเรียนต้องบริหารจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดก็ได้ อาจจะจัดเป็นโครงการ หรือบูรณาการไว้ในเนื้อหาหนึ่งเนื้อหาใดที่เห็นว่าเหมาะสม  กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือเป็นกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมค่านิยม "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้อย่างมากโรงเรียนทุกโรง  ผู้บริหาร คณะครูไม่ควรมองข้าม โดยบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมเข้าค่ายของลูกเสือ   หลักสูตรลูกเสือมีการกำหนดเนื้อหากิจกรรมสอดแทรกค่านิยมเศรษฐกิจ  พอเพียงเสริมเข้าเป็นพิเศษ

          โรงเรียนหลายโรงยังบริหารจัดการเรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับงานนโยบาย เห็นได้จากมีโรงเรียนทางปักษ์ใต้ หรือที่อื่น ๆหลายโรงเรียนนำลูกเสือไปเข้าค่ายต่างจังหวัด จัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือในเมืองแทนที่จะจัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือในป่าเขาลำเนาไพร  การไปเข้าค่ายในเมืองเป็นเรื่องที่ผิดต่อหลักการวิชาลูกเสือโดยสิ้นเชิง ยิ่งหากกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนสร้างค่านิยมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เด็กด้วยแล้วก็ยิ่งผิดพลาด ยกกำลังสอง

           การเดินทางไปต่างจังหวัดต้องใช้เวลานาน ยิ่งข้ามเขตข้ามภาคก็ยิ่งเพิ่มขึ้น  ระยะทางเพิ่ม เวลาเพิ่ม ค่าใช้จ่ายเป็นค่ารรถ ค่าอาหารก็เพิ่มขึ้นจุดนี้เองที่ไม่ได้สนับสนุนนโยบายการเสริมสร้างค่านิยม "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้แก่นักเรียน กลับส่งเสริมค่านิยม "เศรษฐกิจเกินพอเพียง"        

             กิจกรรมอื่น ๆ ของลูกเสือที่ตั้งค่ายพักแรมอยู่ในเมืองล้วนไม่สนับสนุนเรื่องค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย   การพักอยู่ในค่ายที่สร้างไว้ถาวรแล้วก็ดี   การรับประทานอาหารจากโรงครัวที่คอยบริการก็ดี  กิจกรรมเดินทางไกลที่เิดินในเมืืองแทนการเดินป่าก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่ไม่สนับสนุนการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย นอกจากนี้คือสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งกิจกรรมบางส่วนนอกจากการไม่สนับสนุนสร้างค่านิยมเรื่องดังกล่าวได้แล้วยังขาดสภาพความเป็นลูกเสือที่แท้จริง ลูกเสือที่แท้จริงต้องสัมผัสกับป่าเขาลำเนาไพร

          การที่ลูกเสือได้เข้าค่ายในสภาพภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติ กิจกรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินไปด้วยความสอดคล้องของความเป็นลูกเสือ การได้ปฎิบัติกิจกรรมในการอยู่ร่วมกันในค่ายแบบชีวิตของชาวป่า เช่นการสร้างค่ายพักแรม การหุงหาอาหารแบบชาวป่า การช่วยเหลือเกื้อกูลในหมู่ลูกเสือที่ได้จัดแบ่งไว้ตามหน้าที่ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้คือวิชาความรู้ของลูกเสือที่แท้จริง และยังส่งเสริมค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการได้เป็นอย่างดี

         ขอชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมการเข้าค่ายลูกเสือแบบ "ลูกเสือป่า" มีส่วนในการส่งเสริมค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร รวมทั้งส่งเสริมวิชาลูกเสืออย่างไร ขณะเดียวกันก็ได้มองเปรียบเทียบการเข้าค่ายลูกเสือแบบ "ลูกเสือเมือง" ดังที่กล่าวไว้พอสังเขปบ้างแล้ว  ถึงตรงนี้ขอตกลงการใช้คำเพื่อความสะดวก และเข้าใจคือ  ลูกเสือที่เข้าค่ายในเมืองเรียกว่า "ลูกเสือเมือง" ส่วนลูกเสื่อที่เข้าค่ายในป่าดงพงไพรเรียกว่า "ลูกเสือป่า" พอยกสองคำนี้ชี้แจงให้ทราบคงมีความรู้สึกว่ามองสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น  เห็นภาพพจน์ดีขึ้น

         กิจกรรมเดินทางไกลของลูกเสือป่าสอนให้เกิดความสำนึก เกิดความนึกคิดเรื่องความประหยัดได้อย่างดี เช่นเรื่องน้ำดื่ม หากผู้กำกับลูกเสือบอกกับลูกเสือว่า ระยะทางที่จะเดินทางไกลประมาณ 10 กิโลเมตร  เส้นทางที่ผ่านไม่มีแหล่งน้ำ   น้ำที่พอจะหาได้คือน้ำจากเถาวัลย์พืช    น้ำจากต้นกล้วยเท่านั้น  จากคำบอกเล่าของผู้กำกับเพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกเสือมีความคิดเรื่องประหยัดน้ำได้ทันที ฉะนั้นหลักสูตร และกิจกรรมต้องมีการวางแผนอย่างดี เพื่อสร้างค่านิยมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเหมาะสมกลมกลืน  สร้างหลักสูตรที่รองรับไว้แล้วต่อไปก็เป็นเรื่องของผู้กำกับที่ต้องเน้นกิจกรรมอย่างเข้าใจ

          กิจกรรมเดินทางไกลยังสอนให้ลูกเสือมีความอดทน มีความเพียรพยายาม มีจิตใจช่วยเหลือเกื้อกูล รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดความเมตตากรุณาขึ้นอย่างไม่รู้ตัว หากผู้กำกับสอนเน้นให้เห็นความสำคัญในเรื่องการอยู่ร่วมเป็นหมู่ ว่าควรปฎิบัติตนอย่างไร นี่คือการเสริมสร้างให้ลูกเสือเกิดทัศนคติที่ดีในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สร้างคุณธรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

          การสร้างค่ายด้วยไม้ ด้วยใบไม้ใบหญ้า  การใช้เชือกผูกแทนตะปู การปรุงอาหารแบบชาวป่า รู้จักใช้ไม้ฟืน รู้จักก่อไฟ  รู้จักใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนภาชนะ เช่น ใช้ไม้ใฝ่หลามข้าวเป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ผู้กำกับต้องเน้น และส่งเสริมการปฎิบัติจริงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม คือควบคุม และคอยให้ความรู้อย่างถูกต้องทั่วถึง

          การปลูกฝังให้เห็นการดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่งคือ หลังจากสร้างค่ายเสร็จผู้กำกับให้ความรู้แก่ลูกเสือเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ
พอเพียงโดยตรง  โดยสร้างสถานการณ์ว่า  หากเราต้องพักอยู่ที่นี่เป็นเวลา 1 ปี เราจะแก้ปัญหาเรื่องการดำเนินชีวิตในการอยู่ร่วมอย่างไร ใช้วิธีการพูดคุย อภิปราย  ผลสรุปคงได้มา และน่าจะสรุปออกมาในรูปดังนี้  ต้องค้นหาแหล่งน้ำ  ต้องปลูกพืชผักสวนครัว ต้องปลูกข้าวไว้กิน ต้องเลี้ยงปลา  ต้องเลี้ยงไก่ไว้กินเนื้อกินไข่  อะไรก็แล้วแต่ที่ออกมาจากการกำหนดสถานการณ์ ผู้กำกับชี้ให้เห็นว่านี้คือหลักเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินชีวิตต้องพึงพาเพื่อนฝูง และตนเองอย่างนี้  ในก้าวต่อไปเรื่องการต่อยอดก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

          นโยบายของกระทรวงศึกษาซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่วางไว้ หากนำกิจกรรมของลูกเสือ และได้ปฎิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวที่ได้เสนอไว้ แม้จะเป็นส่วนเล็กน้อยเพียงส่วนหนึ่งคิดว่าพอจะสร้างค่านิยมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้บ้างพอสมควรไม่มากก็น้อย

          จากพฤติกรรมที่ครูนำเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายลูกเสือแบบ " ลูกเสือเมือง" นั่นบอกถึง "ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง" หากผู้ปฏิบัติตามนโยบายยังหลงทาง  ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเรื่องนี้  หรือยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ เราจะปลูกฝัึงค่านิยม "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้อย่างไร

          กิจกรรมลูกเสือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างค่านิยมระบบแบบเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น  กิจกรรมอื่น ๆ ยังอีกมากที่พอจะช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ได้ เช่น โครงการเกษตรเพื่อสนับสนุนอาหารกลางวันโรงเรียน  โครงการปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน  โครงการรั้วกินได้ โครงการปลูกไม้ประดับกินได้  ฯลฯ เหล่านี้อยู่ที่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะสรรหากิจกรรมคอยส่งเสริมนักเรียน

          เรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อสร้างค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้ข้อมูลจากการสังเกต การพูดคุยสอบถามจากเพื่อน ๆ ครูด้วยกัน ฉะนั้นการวางแผนนโบบาย แล้วขาดการปฏิบัติอย่างจริงจัง  ขาดการติดตามผลถือเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ขอถามทั้งหน่วยงานระดับเหนือ และหน่วยงานระดับล่าง ว่า  "เรากำลังคิดอะไร"   "เรากำลังทำอะไร"

หมายเลขบันทึก: 478611เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2012 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 04:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ประทับใจในแนวคิดของท่านมาก มีหลายคนคิดและพูดกันว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประสบผลดี เป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ ยกเว้น ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะ สพฐ. เราอยู่ในพื้นที่เรารู้เราเห็น ทำงานแบบรูปหน้าปะจมูก ระดับกรม ก็ทำแค่พอฮือฮา ระดับเขต แทบไม่ต้องพูดถึง นิ่งสนิท ทั้งที่เรื่องพอเพียง เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องพูด กำกับ ติ ดตามตลอด แบบเป็นธรรมชาติของงาน เรื่องลูกเสือ นับวันยิ่งหนักข้อ ผู้ใหญ่ก็รู้ แต่เฉย ถึงเวลา ฝึกก็ออกต่างจังหวัด ไปฝากตามค่ายเอกชน ให้เขาฝึกให้ ครูแต่ละโรงเรียนนอนสบายแถมเล่นการพนันกันเพลิน เป็นอย่างนี้มานานแล้ว ขอบคุณท่านที่ทำให้ผมเห็นภาพนี้ชัดเจนขึ้น ว แวะเที่ยวที่โรงเรียนบ้างนะครับอยู่ที่ www.bannongphue.com ขอบคุณครับ

มาเยี่ยมค่ายลูกเสือ

และนำภาพชายทะเลหัวหินมาฝากครับ

เรียน คุณชยันต์ เป็นพระคุณยิ่ง มีโอกาส และจะหาโอกาสเยี่ยมเยียนครับ ลงทางใต้โทรถึงผมได้เลย ครับ

เรียน คุณชยันต์ ครับเป็นพระคุณยิ่งมีโอกาสจะมาเยือน ลงทางใต้โทรถึงผมนครับ 0894350039

พระขจรศิลป์ สิปฺปธโร (โคตรหานาม)

ประทับใจจริงๆที่ยังมีครูกล้าออกมาเเสดงความคิดเห็น

ชอบเเนวคิดนี้จริงๆมันสวนทางกับนโยบายของครูหลายๆท่านที่เอาเงินเเผ่นดินไปเผาเล่นๆโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท