KM00096 : ปรัชญาทางการตลาดของ Apple


มาดูซิครับว่าปรัชญานี้มีอะไรบ้างและจะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร
เคยไหมครับที่บางครั้งเราคิดงานแทบตาย แต่พอไปนำเสนอหรือนำไปให้คนใช้ กลับไม่ถูกใจ แถมโดนบ่นกลับมา หรือเคยมีบ้างไหมที่เราคิดและทำผลงานมาดีเกือบตาย และพอไปนำเสนอกลับไม่มีคนฟัง และคอยแต่จ้องจะจับผิดเรา หรือถามว่าเราว่าผลงานของเราทำแบบนี้ได้ไหม ทั้งๆ ที่เพิ่งพูดจบไป ผมคิดว่าหลายคนคงเคยเจอแบบนี้และท้อไปบ้างไม่มากก็น้อย

 

ผมยังคงอ่านประวัติหนังสือของ Steve Jobs ที่รวบรวมและเขียนโดย Walter Isaacson ไม่จบ แต่ก็อ่านไปได้ประมาณ ๒ ใน ๓ แล้ว สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าวิธีคิดของ Steve Jobs ไม่เคยเปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าจะโดนบีบให้ออกจาก Apple ไปเปิดบริษัทคอมพิวเตอร์ NeXT (ไม่ได้เขียนผิดนะครับ Jobs ถึงขนาดจ้างผู้เชียวชาญมาออกแบบให้เขียนแบบนี้) หรือมาทำบริษัท Animation Pixar และสุดท้ายคือกลับมาบริหารงาน Apple อีก ก็คือเรื่องของ "ปรัชญาทางการตลาดของ Apple" (The Apple Marketing Philosophy)

 

Mike Markkula ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Apple คนหนึ่ง ที่ Jobs เคารพเหมือนพ่อ (และเป็นคนหนึ่งที่บีบบังคับให้ Jobs ต้องออกจาก Apple แต่สุดท้ายเมื่อ Jobs กลัมา ก็บีบให้ Markkula ออกจาก Apple เช่นกัน) ได้สอนเรื่องนี้ไว้ให้ Jobs และเขาก็แทบจะใช้สิ่งนี้มาตลอด และผมก็เห็นว่าน่าจะเป็นเช่นนั้นจริงจากเท่าที่อ่านมา รวมทั้งข้อพิสูจน์จากผลิตภัณฑ์ของ Apple ที่มีให้เราเห็น ผมรับรองได้ว่าคนส่วนใหญ่เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์ของ Apple ย่อมต้องมีความรู้สึก "อยากได้" บ้างไม่มากก็น้อย มาดูซิครับว่าปรัชญานี้มีอะไรบ้างและจะนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไร รวมถึงสามารถแก้ปัญหาที่ผมกล่าวไว้ในช่วงต้นได้หรือไม่

 

"ปรัชญาทางการตลาดของ Apple" มี ๓ ข้อ ดังนี้ครับ
๑) Empathy ผมก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษมากครับ แต่พอแปลได้ว่า "ความเอาใจมาเขาใส่ใจเรา" พูดง่ายๆ คือ ก่อนคิดทำอะไรควรคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ก่อน หรือ "ทำตัวให้เหมือนผู้ใช้เองแล้วค่อยคิด" เรื่องนี้เราเห็นได้บ่อยครับว่าทำไมสินค้าบางอย่างทำออกมาแล้วคนไม่ใช้ เพราะคนทำอาจเป็นศิลปินไปหน่อย ใส่ความคิดตัวเองเป็นหลัก ผลก็คือไม่ตรงใจผู้ใช้ (ยกเว้นศิลปินแบบสุดโต่ง อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง) แนวคิดนี้เราไปปรับใช้กับการทำงานทั่วไปก็ได้ครับ คือ พยายามคิดถึงคนอื่น เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก แค่ข้อแรกก็ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขแล้วครับ

 

๒) Focus คำนี้คงไม่ต้องแปลมาก น่าจะทราบกันดี ข้อนี้ Markkula หมายถึง "ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก" หรือ "ชี้ให้ตรงจุด" เช่นกันครับ บางครั้งเวลาเราไปพูดคุยกับใคร หรือติดต่อกับใคร บางทีก็อรัมภบทมากไป หรือชักแม่น้ำทั้ง ๕ อยู่นานกว่าจะเข้าเรื่อง แบบนี้ก็อาจเจรจาไม่สำเร็จ ที่สำคัญอาจเข้าใจไปกันคนละเรื่อง สุดท้ายก็แก้ปัญหาไม่ตรงจุด Focus นี้อาจรวมไปถึงความเรียบง่ายไม่ซับซ้อนด้วย (เพราะ Jobs ชอบวิถีแบบเซนด้วย) ยิ่งหากทำเรื่องยากหรือเรื่องที่ซับซ้อนให้เป็นเรื่อง "ง่าย" ด้วยแล้วยิ่งดีครับ

 

๓) Impute คำนี้ผมเปิด Dictionary ดู แปลว่า "ใส่ร้าย" แต่ Markkula กลับเลือกให้คำนี้ อาจดูแรงดี Markkula บอกว่า "คนส่วนใหญ่เลือกซื้อหนังสือจากปก ดังนั้นหากเราทำผลิตภัณฑ์ให้ดีเท่าไหนก็ตาม แต่การนำเสนอไม่ดี คนก็อาจเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เราไม่ดี" (ประมาณนี้แหละครับ) แต่ดูให้ดีนะครับ ข้อนี้จะหมายถึงสิ่งที่เราทำมา "ดี" ก็ควรนำเสนอให้ "ดี" ตามไปด้วย ไม่ใช่ทำ "ไม่ดี" แต่มานำเสนอให้ "ดี" บทพิสูจน์ที่เห็นได้ชัดของ Apple ในข้อนี้คือ เราจะเห็นว่าบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ Apple จะถูกออกแบบมาอย่างสวยงาม แค่เห็นกล่องก็อยากเปิดดูสินค้าภายใน ซึ่ง Jobs จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และลงมาดูตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบไปจนถึงการผลิตบรรจุภัณฑ์

 

เอาล่ะครับ อ่านเจอมาเห็นว่ามีประโยชน์ เลยมาเขียนให้อ่านกันครับ ส่วนใครจะนำไปประยุกต์ใช้กับตัวเองอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละท่านครับ
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 478192เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2012 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท