KM00095 : DISCIPLINARY THINKING (2)


หากมอง "ประชาธิปไตย" เป็นแค่เรื่องของกฏหมาย เรื่องของสภาฯ เรื่องของการตีความ ผมก็ว่านั่นเป็นการคิดเพียง "เนื้อหา" แต่หากคิดถึงเรื่องของ "ความรู้สึก" ของ "คนส่วนใหญ่" ผมว่าน่าจะเข้าถึง "บริบท" มากกว่า สำหรับผม "เมื่อคนส่วนใหญ่มีความรู้สึกอย่างไร" นั้น ก็อาจจะเป็นประชาธิปไตยได้
เมื่อวานนั่งดูหนังเรื่อง "Real Steel" ชื่อหนังภาษาไทยคือ "ศึกหุ่นเหล็กกําปั้นถล่มปฐพี" นำแสดงโดย ฮิวจ์ แจ็คแมน (Hugh Jackman) หากดูชื่อหนังภาษาไทยคงนึกว่าเรื่องนี้คงเอาหุ่นยนต์มาต่อยหรือชกกันแบบตายกันไปข้างหนึ่ง และก็อีกเช่นเคยผมก็พยายามดูหนังแบบเข้าถึง "บริบท" มากกว่า "เนื้อหา" (Diciplinary Thinking) ในความเห็นส่วนตัวสิ่งที่ค้นพบในหนังเรื่องนี้ก็คือ หุ่นนักชกมวยของพระเอกเราที่ชนะ (ใจคนดู) ก็เพราะ "ใส่จิตวิญญาณของนักมวยในการต่อสู้เข้าไป" ซึ่งแม้แต่หุ่นที่เป็นแชมป์โลกจะถูกใส่โปรแกรมการชกมวยอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคนสร้างหุ่นแชมป์อาจมองหุ่นเป็นแค่เรื่องของเทคโนโลยี จนมองข้าม "บริบท" ของการชกมวยไป การใส่โปรแกรมต่างๆ เข้าไปจึงเป็นเพียงใส่แค่ "เนื้อหา" ให้หุ่นยนต์
และไม่แปลกใจเลยว่าทำไปเรื่องนี้ถึงสะท้อนถึง "จิตวิญญาณแห่งการชกมวย" ได้อย่างดี เพราะที่ปรึกษาเรื่องการชกมวยของเรื่องนี้คือ ชูการ์ เรย์ เลนเนิร์ด (Sugar Ray Leonard) สุดยอดนักมวยที่คนรุ่นผมต้องรู้จักดี ผมดูเบื้องหลังการถ่ายทำ ตอนที่เรย์ สอนมวยหรือออกแบบท่าการชกต่างๆ ในเรื่อง ดูมีความสุขและเป็นธรรมชาติมาก เรียกได้ว่าการชกมวยของเรย์ดูเป็น "ศิลปะ" มากกว่าแค่การต่อสู้ธรรมดา ขณะเดียวกันก็ทำให้คนแวดล้อมดูมีความสุขไปด้วย
วันก่อนฟังรายการวิทยุของอาจารย์ท่านหนึ่ง จุดเด่นของอาจารย์ท่านนี้คือการพูดตรงไปตรงมา คุยบ้าง ด่าคนโทรเข้ามาบ้าง คนฟังฟังแล้วก็รู้สึกสนุกสนานดี แต่ก็มีคนโทรเข้ามาคุยกับท่านจำนวนมากและมีเรื่องราวที่พูดคุยแตกต่างกันไป มีท่านหนึ่งโทรเข้ามาคุยเรื่อง "การแก้ไขกฎหมายมาตรา......" ที่กำลังเป็นข่าวขณะนี้ ท่านอาจารย์ถามกลับไปว่า "คุณรู้ไหมว่ามาตรานี้เขาเขียนว่าอย่างไร" ท่านที่โทรเข้ามาคุยตอบว่า "ไม่ทราบ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข" ท่านอาจารย์เลยไล่กลับให้ไปหาข้อมูลมาก่อนแล้วค่อยคุยกัน และท่านก็สอนว่าคนเราหากจะมาวิพากษ์วิจารณ์อะไรกันควรหาข้อมูลกันมาให้ดีก่อน ซึ่งอันนี้ผมก็เห็นด้วยครับ และอีกเช่นเคยผมก็ลองคิดถึง "บริบท" มากกว่า "เนื้อหา" ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยทราบรายละเอียดของกฏหมายนี้เท่าไหร่แต่ก็ออกมาคัดค้าน
คำตอบสำหรับผม ก็คือ "การรักและเคารพสักการะ" ครับ ผมไม่ใช่นักนิติศาสตร์ ไม่ใช่นักรัฐศาสตร์ จึงไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องของกฏหมายหรือเรื่องของการปกครอง ผมมองว่าคนไทยเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะ "สมมุติเทพ" ซึ่งก็อาจใกล้เคียงกับหลายๆ ชาติที่มีสถาบันนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ "การเชื่อมโยงสถาบันนี้กับความเชื่อทางศาสนา" ผมเป็นชาวพุทธ ศึกษาเรื่องพุทธมาบ้าง จึงพอที่จะรู้ได้ว่า "การเกิดมาเป็นพระมหากษัตริย์" ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเกิดมาเป็นกษัตริย์แล้ว การเป็นกษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของประชาราษฎร์อาจเป็นเรื่องที่ยากกว่า แต่หากถึงขนาด "เป็นที่เคารพสักการะ" ก็นับว่ากษัตร์ย์พระองค์นั้นประเสริฐสุดแล้ว รวมทั้งถือว่าเราโชคดีที่ได้เกิดมาเจอ  จึงไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่รวมทั้งผมจึงไม่เห็นด้วยอย่าง "ไม่ต้องถามเหตุผล" ว่า "ทำไม?"
หากมอง "ประชาธิปไตย" เป็นแค่เรื่องของกฏหมาย เรื่องของสภาฯ เรื่องของการตีความ ผมก็ว่านั่นเป็นการคิดเพียง "เนื้อหา" แต่หากคิดถึงเรื่องของ "ความรู้สึก" ของ "คนส่วนใหญ่" ผมว่าน่าจะเข้าถึง "บริบท" มากกว่า สำหรับผม "เมื่อคนส่วนใหญ่มีความรู้สึกอย่างไร" นั้น ก็อาจจะเป็นประชาธิปไตยได้ ในหนังเรื่อง "Contact" พูดถึงเรื่องการติดต่อกับอารยธรรมนอกโลก นางเอกเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เชื่อเรื่อง "พระเจ้า" ส่วนพระเอกเป็นบาทหลวงที่ศรัทธาใน "พระเจ้า" นางเอกถามพระเองว่า "คุณเชื่อและรักพระเจ้าเพราะอะไร" พระเอกเลยถามกลับว่า "คุณรักพ่อหรือไม่" นางเอกตอบว่า "รัก" พระเอกเลยถามว่า "เพราะอะไร" นางเอก "............"
วันนี้เริ่มต้นด้วยหนังและจบลงด้วยหนังครับ ขอบคุณครับ
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 477730เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2012 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท