แนวทางการประกอบอาชีพชาวเรือ สำหรับนักเรียนเดินเรือพาณิชย์


แนวทางการประกอบอาชีพชาวเรือ สำหรับนักเรียนเดินเรือพาณิชย์

แนวทางการประกอบอาชีพชาวเรือ สำหรับนักเรียนเดินเรือพาณิชย์

            วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช

       เปิดสอนหลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ ฝ่ายช่างกลเรือ  (Engine Department) โดยเริ่มจาก ระดับ ปวส.2 ปี และต่อเนื่องอีก 3 ปี ศึกษาเน้นหนักในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ เครื่องยนต์และเครื่องจักรกลเรือ การไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ การต่อเรือ และการทรงตัวของเรือ การโรงงานและการบริหารงานสังคม จิตวิทยาและหลักผู้นำ

       ความก้าวหน้าในการทำงาน ฝ่ายช่างกลเรือ จะทำงานในหน้าที่รับผิดชอบทางด้านเครื่องยนต์กลไกที่ใช้ขับเคลื่อนภายในเรือทั้งหมด ให้สามารถทำงานได้ดีจนถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย ตำแหน่งสูงสุดคือ ต้นกลเรือ ใช้ ระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี บางคนก็เปลี่ยนตัวเองมาทำงานบนบก (ท่าเรือ สำนักงาน อู่เรือ อู่ซ่อมเรือ ตำแหน่งระดับผู้บริหารบ้าง)

        การทำงานในเรือ ปริญญาตรีที่ได้รับไม่ใช่สิ่งสำคัญในการกำหนดเงินเดือนสิ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานบนเรือคือ ประกาศนียบัตรผู้ทำการในเรือ (ชาวเรือเรียกว่า “ตั๋ว”) ซึ่งหลักสูตรที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือนครศรีธรรมราช เปิดสอนเป็นหลักสูตรมาตรฐานสากลขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO MODEL COURSE) ประกาศนียบัตรที่ได้รับสามารถทำงานบนเรือได้ทุกประเทศทั่วโลก ถ้าท่านมีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์การทำงาน มีภาษที่สองหรือภาษสากลที่ดี สิ่งที่ท่านจะได้รับคือค่าตอบแทนที่คุ้มค่าและสูงกว่าอาชีพอื่น ๆ หลายเท่า ดังนั้นคู่แข่งที่แท้จริงคือ ตัวท่านเองที่บอกว่าสามารถทำงานได้หรือไม่ คู่แข่งรองลงมาคือชาวต่างชาติที่มีภาษาสากลที่ดีกว่า คู่แข่งสุดท้ายคือคนไทยด้วยกัน

       หน่วยงานที่พร้อมรับเข้าทำงาน กิจการที่เกี่ยวข้องธุรกิจทางเรือ เช่น หน่วยงานราชการ (ตำแหน่งที่รองรับมี จำนวนจำกัด) กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร กรมประมง

      หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ (ตำแหน่งที่รองรับมีจำนวนจำกัด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเรือ)

      หน่วยงานบริษัทเอกชน (ตำแหน่งงานที่พร้อมรองรับมีจำนวนจำกัด) บริษัทเรือต่าง ๆ ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลก (ทำงานในระดับนายประจำเรือ) บริษัทต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินเรือ บริษัทที่เกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล กิจการขุดแร่ในทะเล อู่ต่อเรือและอู่ซ่อมเรือ (ทำงานในระดับนายช่างกล) บริษัทอะไหล่เรือ (ทำงานในระดับวิศวกร)

        รายได้และสวัสดิการ (เมื่อสำเร็จการศึกษา) รายได้ของคนประจำเรือเมื่อเทียบกับคนทำงานบนบกที่มีความรู้เท่าเทียมกัน จะมีรายได้สูงกว่าอย่างน้อย 2-3 เท่า ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสายการเดินเรือโดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ

        สายนอก หมายถึง สายการเดินเรือของบริษัทนั้นเดินทางรับ-ส่งสินค้าต่าง ๆ ทั่วโลกไปประเทศต่าง ๆ โดยไม่แวะเข้าเทียบท่าที่ประเทศไทย เช่น เดินทางระหว่างญี่ปุ่น-อเมริกา , แอฟริกา-ตะวันออกกลาง-ยุโรป เป็นต้น สำหรับระยะเวลาการทำงานของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับสัญญาครั้งแรกที่เข้าทำงานระหว่างบริษัทเรือกับพนักงาน ชาวเรือส่วนใหญ่เรียกว่า Contract (คอนแทร็ค) ระยะเวลาหนึ่ง Contract ไม่เท่ากัน อาจจะเป็น 6 เดือน หรือ 8 เดือน หรือ 12 เดือน หรือมากกว่าหนึ่งปี เมื่อหมด Contract แล้วสามารถพักผ่อนได้ประมาณ 1-2 เดือน ในช่วงพักผ่อนนี้สามารถเปลี่ยนบริษัทเรือ หรืออบรมหลักสูตรพิเศษ เพื่อเพิ่มวิทยฐานะของตัวเองหรือกลับเข้าไปทำงานที่เดิมได้

       ข้อเสียของสายนอก คือ ไปทำงานเป็นระยะเวลานาน ๆ ห่างไกลครอบครัว เมื่อหมดสัญญาหรือหมดContract แล้วถึงจะได้กลับบ้านมาหาครอบครัว

       ข้อดีของสายนอก คือ ค่าตอบแทนสูง โอกาสสร้างฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวเร็ว ได้ท่องเที่ยวและพบเห็นสิ่งใหม่ ๆ ขอบประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

       สายใน หมายถึง สายการเดินเรือของบริษัทนั้นเดินทางรับ-ส่งสินค้าต่าง ๆ ไป ประเทศในแถบใกล้เคียงและต้องแวะเข้าเทียบท่าประเทศไทยอยู่เป็นประจำ เช่น ไทย-สิงคโปร์ หรือไทย-ฮ่องกง เป็นต้น สำหรับระยะการทำงานของแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับสัญญาครั้งแรกที่เข้าทำงานระหว่างบริษัทเรือกับพนักงาน

       ข้อเสียของสายใน คือ ค่าตอบแทนต่ำกว่าสายนอก

       ข้อดีของสายใน คือ มีโอกาสอยู่กับครอบครัวมากกว่าสายนอก

       สำหรับสวัสดิการของชาวเรือ มีความจำเป็นต้องดี ทั้งนี้เพื่อชดเชยกับสภาวะการทำงานที่ต้องจากบ้านเป็นเวลานาน ทนต่อการตรากตรำในทะเล และต้องพบแรงกดดันจากวัฒนธรรมต่าง ๆ การกินอยู่ต่างกัน ภาษาต่างกัน ภายในเรือซึ่งมีคนทำงานในเรือไม่ใช่มีเฉพาะคนไทย เรือลำหนึ่งอาจต้องมีชาวเรือที่เป็นคนอินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ จีน อื่น ๆ อีกมากมาย ภาษาที่จะต้องสื่อสารในการทำงานพื้นฐานคือภาษาอังกฤษ ดังนั้นคนเรือที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษดี ย่อมมีค่าตอบแทนการทำงานดีกว่าคนที่พูดได้บ้าง เขียนได้นิดหน่อย นอกเหนือจากที่กล่าวมา ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการทำงานในเรือสินค้า

หมายเลขบันทึก: 477484เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2012 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จบ ม.6  จะเรียนด้ายไม่ครับ  แล้วเปิดรับสมัคร  ปี2556  วันไหนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท