KM00094 : DISCIPLINARY THINKING


ผมถือโอกาสพูดเรื่อง DISCIPLINARY THINKING ให้ที่ประชุมฟัง ดูหลายท่านก็ยังงงๆ หรืออาจคิดไปว่า “ไอ้นี่พูดอะไร????”
ในหนังสือ  “LIVE & LEARN” ของ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้พูดเรื่อง “FIVE MIND” ของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (HOWARD GARDNER) ไว้อย่างน่าสนใจ “FIVE MIND” เป็นการให้ข้อเสนอว่า การจะอยู่รอดได้ดี ในศตวรรษใหม่นี้ เราต้องตระหนักและพัฒนาลักษณะของจิต ๕ ประการ คือ

 

1)      THE DISCIPLINED MIND
2)      THE SYNTHESIZING MIND
3)      THE CREATIVE MIND
4)      THE RESPECTUAL MIND
5)      THE ETHICAL MIND

 

ทั้ง ๕ ประการหมายถึงอะไร สามารถหาอ่านได้จากหนังสือ “จิต 5 ปั้นยอดมนุษย์” แปลโดย เสาวลักษณ์ อัศวเทววิช และวีรวุธ มาฆะศิรานนท์ และถ้ามีโอกาสจะมาพูดถึงอีกที แต่เรื่องที่จะมาเขียนวันนี้คงเป็นเรื่องของ THE DISCIPLINED MIND (ไม่อยากแปลเพราะหาคำที่เหมาะสมไม่ได้) ที่ อ.วรากรณ์ บอกว่าเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เรียกว่า DISCIPLINARY THINKING คือ

 

ก)      การคิดที่ไม่ “ยึดติด” กับเนื้อหา แต่ให้เข้าใจ “บริบท” (ผู้เขียน : เช่น ไม่จำเป็นต้องไปจำปีที่กรุงศรีอยุธยาแตก แต่ควรเข้าใจว่าเพราะเหตุใดกรุงศรีอยุธยาจึงแตก)
ข)      สามารถเก็บสะสมข้อมูลต่างๆ และนำสรุปเป็นทฤษฎีหรือนำมาตั้งข้อสังเกตใด (ผู้เขียน : อาจต้องต่อเนื่องจากข้อแรก คือ เมื่อเข้าใจในบริบทของเรื่องต่างๆ มากเข้าก็สามารถนำมาคิดต่อยอดได้)
ค)      ไม่ยึดติดกับสาขาการศึกษาเดียวในการวิเคราะห์  เช่น เมื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็ใช้วิชาเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เพียงแต่อย่างเดียว (ผู้เขียน : อันนี้เราพบบ่อย ยิ่งเมื่อเรียนมากขึ้นบางครั้งก็ยึดติดกับสาขาที่ตัวเองเรียนมา จนอาจปิดกั้นเรื่องอื่นๆ ทำให้มุมมองแคบลง พูดง่ายคือมี “อัตตา” เพิ่มมากขึ้น)
ง)       มีความสามารถในการคิดบังคับตนเองให้กระทำในสิ่งที่สำคัญ พูดง่ายคือ คิดในเรื่องที่ควรคิดและเป็นประโยชน์
 

 

วันนี้มีโอกาสได้ไปฟังการใช้ระบบส่งต่อผู้ป่วยที่จังหวัดหนึ่งโดยใช้โปรแกรมหนึ่ง ผมนั่งฟังแบบ “จิตปล่อยวาง” (เพราะอาจจะลำเอียงได้เนื่องจากเป็นโปรแกรมของบริษัทที่ทำงาน) ก็พบว่าหลายท่านส่วนใหญ่เข้าใจ “เนื้อหา” กันดี ถามตอบกันเรื่องเกี่ยวกับโปรแกรม การพิมพ์ใบส่งต่อ ระบบรายงานของจังหวัด ผมถามตัวเองว่าตกลง “บริบท” ของการส่งต่อผู้ป่วยคืออะไร และการทำระบบข้อมูลในระบบส่งต่อทำเพื่ออะไร ผมเคยดูสารคดีต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องการส่งต่อผู้ป่วย พบว่านอกจากมีการรับส่งผู้ป่วยแล้วยังมีการ “รับส่งข้อมูล” ระหว่างสถานพยาบาลอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉิน แพทย์หรือพยาบาลในรถฉุกเฉินสามารถทราบข้อมูลการรักษาเบื้องต้นก่อนหน้านี้ได้ ขณะเดียวกันแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินของสถานพยาบาลที่ส่งไปก็สามารถดูข้อมูลทั้งก่อนขึ้นรถฉุกเฉินและระหว่างการรักษาในรถฉุกเฉินได้ และเตรียมพร้อมที่จะให้การรักษาผู้ป่วยเมื่อมาถึง ประเทศเราอาจยังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่หากเข้าใจใน “บริบท” ก็สามารถคิดต่อยอดได้ ผมถือโอกาสพูดเรื่อง DISCIPLINARY THINKING ให้ที่ประชุมฟัง ดูหลายท่านก็ยังงงๆ หรืออาจคิดไปว่า “ไอ้นี่พูดอะไร????”
 
กลับมาที่ “FIVE MIND” ของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ และ DISCIPLINARY THINKING ที่ อ.วรากรณ์ พูดถึง ผมนึกยังไงเรื่องเหล่านี้ก็ไม่พ้นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงพบมาเมื่อกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว การจะทำอะไรให้สำเร็จหรือเกิดสิ่งที่เรียกว่า “มรรค” ก็ต้องอาศัย “มรรค ๘” ซึ่งเริ่มต้นด้วยเรื่องของการ “คิด” ก่อนคือ การมีปัญญาเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) และ การดำริหรือคิดชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เมื่อคิดไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วก็จะสามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมเช่นกัน สุดท้ายก็สามารถควบคุมความคิดให้สามารถดำรงอยู่ในสิ่งที่ถูกที่ควรและเกิดประโยชน์ต่อไปได้ครับ ฉะนั้นอย่าว่าแต่ศตวรรษนี้เลย หากปฏิบัติตามนี้ศตวรรษไหนๆ ก็อยู่ได้ (ด้วยดี) ของดีใกล้ตัวแบบนี้ไม่ต้องไปมองหาที่ไหน อย่างว่าแหละครับพูดแบบ “ฝรั่ง” ดูดีกว่า พูดแบบ “บาลี” ดีหน่อยก็แอบอมยิ้มพูด แย่หน่อยก็เดินหนี แต่สำหรับผมแบบไหนก็ได้ครับขอให้เข้าใจและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ก็ดีทั้งนั้นครับ
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 477478เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2012 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท