สรุป แนวโน้ม และผลกระทบ ต่อไทย


แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศจะยังระมัดระวังท่าทีที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาร์ในช่วงนี้ แต่คาดว่า ต่อไปจะพยายามหาทางเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในเมียนมาร์มากขึ้น เนื่องจากแร่ธาตุและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของเมียนมาร์ ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาร์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจไม่ให้ถูกลิดรอนไป ในสภาวะที่เมียนมาร์จะมีช่องทางต่างๆ มากขึ้น

สรุป

          จากพัฒนาการด้านการเมืองและความมั่นคงของเมียนมาร์ ตลอดจนผลกระทบต่อไทยดังกล่าวข้างต้น กรณีชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย- เมียนมาร์เป็นประเด็นสำคัญที่สุดสำหรับไทยเนื่องจากกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยบริเวณชายแดนของไทยทั้งทางตรง ในกรณีเขตแดน ผลกระทบต่อประชาชนไทยในบริเวณชายแดน และการไหลทะลักของผู้หนีภัยการสู้รบ และทางอ้อม กรณีปัญหาข้ามแดนต่างๆ อาทิ โรคติดต่อ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นประเด็นที่เมียนมาร์ให้ความสำคัญมากที่สุดกับไทยด้วย โดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เมียนมาร์อ้างว่าอาศัยดินแดนไทยในการปฏิบัติการ ดังนั้น ไทยควรจะต้องประเมินและวางนโยบายในเรื่องนี้อย่างรัดกุมและเป็นเอกภาพ และมีการบูรณาการเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยในภาพรวมและระยะกลางและยาวเป็นสำคัญ เพื่อให้ไทยสามารถกลับสู่สถานะที่จะสามารถต่อรองกับเมียนมาร์ไม่ให้ดำเนินการใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อไทย และใช้วิธีการเชื่อมโยงประเด็นปัญหาหนึ่งกับความร่วมมือทวิภาคีอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อไทยดังเช่นที่ผ่านมาก

ส่วนแนวทางตามกระบวนการสร้างความปรองดองแห่งชาติของรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งมีแนวโน้มว่าอาจต้องใช้เวลาที่ยาวนานจะเกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งไทยไม่ต้องการให้เมียนมาร์หวนกลับไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และจะร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้เมียนมาร์มีพัฒนาการประชาธิปไตยต่อไป แม้ว่าจะเชื่องช้าและไม่ราบรื่นก็ตาม โดยให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาสังคมและประชาชนเมียนมาร์ เพื่อให้พร้อมรับความท้าทายเมื่อประเทศเข้าสู่ระบอบรัฐสภาต่อไป สำหรับท่าทีและบทบาทของนางออง ซาน ซูจี มีความสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตยและการปรองดองแห่งชาติอย่างมาก ซึ่งล่าสุด เมื่อ ๑๓ ธ.ค.๕๔ คณะกรรมการการเลือกตั้งเมียนมาร์ ได้อนุมัติให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อท่าทีของฝ่ายค้าน ชนกลุ่มน้อย สาธารณชนในเมียนมาร์ รวมทั้งปฏิกิริยาของประชาคมระหว่างประเทศด้วย ไทยจึงควรมีช่องทางในการประสานงานและปฏิสัมพันธ์กับนางไว้ โดยอาศัยความระมัดระวังไม่ให้ขัดกับผลประโยชน์ที่ไทยจะได้จากการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลเมียนมาร์

อนึ่ง แม้ว่าประชาคมระหว่างประเทศจะยังระมัดระวังท่าทีที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาร์ในช่วงนี้ แต่คาดว่า ต่อไปจะพยายามหาทางเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในเมียนมาร์มากขึ้น เนื่องจากแร่ธาตุและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ของเมียนมาร์  ไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาร์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทย ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจไม่ให้ถูกลิดรอนไป ในสภาวะที่เมียนมาร์จะมีช่องทางต่างๆ มากขึ้น

เรือรบ เมืองมั่น (๒๕๕๕) ได้วิเคราะห์พัฒนาการทางการเมืองของเมียนมาร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับฝ่ายต่อต้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นจุดศูนย์กลางของความสนใจของเมียนมาร์มายาวนานได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อในปีที่ผ่านมา รัฐบาลของประธานาธิบดี Thein Sein ได้ดำเนินการสร้างความปรองดองกับฝ่ายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม จนบรรลุผลสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่สำคัญ ๕ ใน ๖ กลุ่ม หยุดยิงและเข้าร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพ  พรรคฝ่ายค้านหลัก คือ แนวร่วมสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) รวมทั้งนาง Aung San Suu Kyi กลับสู่การต่อสู้ทางการเมืองในระบบโดยจะลงเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้น ๔๘ ที่นั่งในปี ๒๕๕๕  และชาติตะวันตก ตลอดจนสหประชาชาติ ได้ส่งผู้แทนระดับสูงเดินทางเยือนเมียนมาร์อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาร์น่าจะลดน้อยลง  รัฐบาลจะปรับแก้กฎหมายที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และนานาชาติจะเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาร์มากขึ้น โดยใช้ภาคธุรกิจมีบทบาทนำในการค้าการลงทุนในด้านพลังงานและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นหลัก   สถานการณ์ที่ปรากฏขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อไทยซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งรัฐบาลเมียนมาร์และฝ่ายต่อต้าน นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดนและผลประโยชน์ในประเทศเมียนมาร์อย่างมหาศาล  อย่างไรก็ตาม การที่ชนกลุ่มน้อยหยุดยิงอาจทำให้ไทยปราศจากพื้นที่กันชน กองกำลังของเมียนมาร์สามารถประชิดชายแดนไทยโดยตรง ซึ่งอาจนำไปสู่การกระทบกระทั่งในพื้นที่ทับซ้อนที่ยังปักปันไม่ลุล่วง

 

แนวโน้ม

แนวโน้มท่าทีประชาคมระหว่างประเทศจากการที่เมียนมาร์เปิดประเทศมากขึ้น  คาดว่า ประเทศตะวันตกจะยังคงเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวภายในของเมียนมาร์อย่างใกล้ชิด โดยน่าจะมีท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นภายหลังรัฐบาลเมียนมาร์เปิดประเทศไปแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อประเมินความคืบหน้าด้านประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์ แล้วจึงกำหนดท่าทีและนโยบายต่อเมียนมาร์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป สำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของเมียนมาร์ โดยเฉพาะจีน และอินเดีย จะแสดงบทบาทสนับสนุนเมียนมาร์เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคง พลังงาน การค้าและการลงทุน รวมถึงการคงอิทธิพลของตนต่อเมียนมาร์ ซึ่งทั้งสองประเทศจะต้องแข่งขันกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มกลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเมียนมาร์อีกครั้ง เพื่อคานอิทธิพลของจีนและอินเดีย  ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯ ต้องการโดดเดี่ยวเกาหลีเหนือ เพื่อง่ายต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว  รวมถึงแสวงประโยชน์จากการดำเนินความสัมพันธ์กับเมียนมาร์ดังกล่าว  ขณะเดียวกัน การแข่งขันด้านอิทธิพลของทั้งสี่ประเทศทำให้เมียนมาร์จำเป็นต้องวางตัวไม่ให้เอนเอียงเข้าข้างประเทศใดประเทศหนึ่งอย่างชัดเจน เพื่อแบ่งสรรประโยชน์ที่เมียนมาร์จะได้รับจากการดำเนินความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับทั้งสี่ประเทศต่อไป  อย่างไรก็ตาม เมียนมาร์น่าจะประสบความยากลำบากในการกำหนดท่าทีต่อเกาหลีเหนือ ผู้เป็นพันธมิตรเดิม 

 

ผลกระทบต่อไทย

          น่าจะมีการลงทุนในเมียนมาร์เพิ่มมากขึ้นอย่างมาก เศรษฐกิจของเมียนมาร์น่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับในห้วง ๓๐ ปีที่ผ่านมา  ซึ่งอาจจะส่งผลให้จำนวนแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ ทั้งที่ถูกและผิดกฎหมาย ที่เคยทะลักเข้ามาทำงานในไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ลดลงบ้างพอสมควร เนื่องจากน่าจะมีแหล่งงานในประเทศเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าแรงที่สูงกว่าในไทย ก็ยังคงเป็นปัจจัยจูงใจที่มีอิทธิพลสูงอยู่

          การค้าขายตามแนวชายแดน ไทย – เมียนมาร์ จะคึกคักขึ้น  การขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากฝั่งไทยไปเมียนมาร์ รวมถึงการขนย้ายสินค้าปฐมภูมิ แร่ธาตุ ไม้ ฯลฯ จากฝั่งเมียนมาร์มาไทย จะมีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เศรษฐกิจชายแดนตามช่องทางการค้าจะดีขึ้นอย่างชัดเจน  อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายเข้า-ออกของคนและยานพาหนะเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จะกลายเป็นช่องทางขนถ่ายยาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมายที่สำคัญ  ยิ่งไปกว่านั้น อาจถูกใช้เป็นเป้าล่อ จนท.รัฐของไทย ให้พุ่งความใจ และใช้ทรัพยากรบุคคล รวมถึงเวลาจำนวนมาก ในการควบคุมเส้นทางคมนาคมขนส่งหลัก จนหละหลวมในช่องทางดำเนินยุทธวิธี

          การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้นของเมียนมาร์ น่าจะเป็นแหล่งทุนที่สำคัญในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อเข้ามาเสริมสมรรถนะของกองทัพเมียนมาร์ที่ค่อนข้างล้าหลังและขาดการปรับปรุงมาตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้น่าจะเป็น “สิ่งหอมหวาน” ในตอนนี้ ที่สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน เข้า “คลุกวงใน” อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วงชิง Order ลอตใหญ่ ภายในเวลาไม่เกิน ๕ ปีนี้  ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่ เมียนมาร์ จะได้รับที่นั่งในการฝึกศึกษาและหลักสูตรทางทหารจากกองทัพไทย

          พัฒนาการทางการเมืองของเมียนมาร์ ที่มีทิศทางดีขึ้นเป็นลำดับ น่าจะมีส่วนเอื้อประโยชน์ต่ออภิมหาโครงการ (Mega Project) ท่าเรือน้ำลึกทวาย ให้สำเร็จพร้อมเปิดดำเนินการได้ตามกำหนด  ทั้งนี้ ท่าเรือน้ำลึกทวายน่าจะนำความมั่งคั่งมาให้กับไทยพอ ๆ กับที่เมียนมาร์จะได้รับ หากผู้นำรัฐบาลได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน ดังนี้

๑)      นักวิชาการ และ นักวิจัย – ในทางข้อมูล สติปัญญา ความรอบรู้ และรอบคอบ

๒)      นักธุรกิจ และ นักลงทุน – ด้านความรู้และประสบการณ์ ในเชิงพาณิชย์ การลงทุน การขนส่ง และกิจการคลังสินค้า

๓)      นักการทหาร นักจัดการความมั่นคง และผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ – ในด้านความร่วมมือตามแนวชายแดน การส่งมอบความสงบสุขและความปลอดภัย รวมถึงการอำนวยบรรยากาศแห่งการค้าและการลงทุนที่ดี

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

หมายเลขบันทึก: 477203เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2012 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท