KM00093 : คิดนอกกรอบภายใต้ผลลัพธ์เดียวกัน


บ้านเราถูกสอนให้เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เลยถูกผนวกเรื่องการ "เชื่อฟัง" เข้าไปด้วย และกลายเป็นวัฒนธรรม "เขาว่ามา......." "ท่านว่ามา......." จนไม่สามารถต่อยอดความคิดเรื่องต่างๆ ได้
ที่ผ่านมามีคนพูดเรื่อง "คิดนอกกรอบ" เยอะ มีหนังสือให้อ่านมากมาย แต่ผมก็ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพวกนี้ เพราะรู้สึกว่าขนาดจะคิดนอกกรอบยังต้องมีคนมาบอกว่าจะคิดนอกกรอบต้องทำตามนี้........ การคิดนอกกรอบมีขอบเขตหรือไม่?  หลายคนอาจชอบใช้คำนี้เวลาคิดไม่เหมือนกับคนอื่น หากหลุดกรอบไปมากจะเรียกว่า "จินตนาการ" หรือ "บ้า"
วันก่อนผมมีโอกาสได้ถกปัญหาบางเรื่องผ่านทาง facebook มีบางท่านได้ตอบกลับมาว่า "อาจารย์สอนว่า................." ผมได้ข้อคิดเห็นต่างๆ กลับไป และทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ว่า "หากไม่มี.......จะเกิดอะไรขึ้น " คำถามแบบนี้ผมได้ต้นแบบมาจากตอนเรียนปริญญาโท อาจารย์ใช้วิธีสอนว่าสิ่งที่ผมเรียนอยู่นั้นมีประโยชน์และใช้งานอย่างไร และสอนแบบนี้ตลอดทั้งเทอม ตอนสอบปลายภาค อาจารย์ส่งสมุดเปล่าให้ ๑ เล่ม แล้วบอกว่า "ถ้าไม่มี........จะเกิดอะไรขึ้น" โดยให้ผมเขียนลงในสมุดเปล่าเล่มนั้นทั้งหมด แบบนี้อาจารย์ "คิดนอกกรอบ" หรือไม่

 

วันก่อนอีกเช่นกัน ได้อ่านหนังสือ "LIVE & LEARN" ของ อ.วรากรณ์ สามโกเศศ มีตอนหนึ่งอาจารย์เขียนเรื่องการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในญี่ปุ่น ที่เน้นกระบวนการ (Process) มากกว่าผลลัพธ์ (Outcome) ซึ่งออกจะขัดกับแนวคิดของคนที่ชอบ "คิดนอกกรอบ" เพราะคนเหล่านี้มักชอบคิดว่า "ผลลัพธ์น่าจะสำคัญกว่ากระบวนการ" (ซึ่งอาจรวมทั้งผมด้วย) แต่พออ่านจนจบก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า "การคิดนอกกรอบควรเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนกระบวนการ" ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากเราสอนเด็กว่า ๒+๒ จะได้เท่ากับ ๔ โดยอาจให้เด็กทำบ่อยๆ บวกให้ได้เร็วๆ นั่นแสดงว่าเราเน้นที่ "ผลลัพท์" แต่หากเราถามเด็กว่า จำนวน ๔ สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้จบ อาจมาจาก ๒+๒,๑+๓,๒.๕+๑.๕,๘/๒,๕-๑.............๑,๐๐๐,๐๐๕-๑ การถามลักษณะนี้จึงเน้น "กระบวนการให้ได้มาซึ่งผลลัพท์" ซึ่งจะเป็นการปูพื้นฐาน "กระบวนคิด" ให้เด็กมากกว่า ไม่จำเป็นต้องเร็วแต่มีหลากหลายวิธีการ และจะว่าไปก็คือ "การคิดนอกกรอบภายใต้ผลลัพธ์เดียวกัน" ซึ่งก็หมายความว่า การคิดนอกกรอบก็ควรมีขอบเขต นั่นก็คือควรมีเป้าหมายหรือผลลัพท์เดียวกันด้วย
 
บ้านเราถูกสอนให้เคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เลยถูกผนวกเรื่องการ "เชื่อฟัง" เข้าไปด้วย และกลายเป็นวัฒนธรรม "เขาว่ามา......." "ท่านว่ามา......." จนไม่สามารถต่อยอดความคิดเรื่องต่างๆ ได้ สุดท้ายก็ใช้วิธี "นำเข้าความคิด" จากข้างนอก ตั้งแต่นอกประเทศนำเข้ามาในประเทศ จนไปถึงนอกตัวเรานำเข้ามาตัวเรา เราจึงก็ไม่ค่อยมี "นวัตกรรมทางความคิดใหม่ๆ" เกิดขึ้น ที่สำคัญหากมี "ความเชื่อ" ร่วมกันมากๆ เมื่อมีคน "คิดต่าง" ก็กลายเป็น "ศรัตรูทางความคิด" หรือประมาณว่า "สามัคคีคือคิดเหมือนกับข้า" และเพราะที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้ถูกสอนให้คิดสร้างหลายกระบวนการภายใต้ผลลัพธ์เดียวกัน
 
สมัยผมเป็นอาจารย์มีนักศึกษารายงานผมว่า "ผู้ป่วย............ต้องนอนยกหัวสูง ๓๐ องศา" ผมถามกลับว่า "แล้วถ้า ๖๐ องศา จะเป็นยังไง" ทุกวันนี้ยังไม่ได้คำตอบนั้น เหมือนที่ผมถามทิ้งไว้ใน Facebook ว่า "หากไม่มี........... จะเกิดอะไรขึ้น" ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ แบบนี้ผมคิดนอกกรอบหรือเปล่า........
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 477036เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2012 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 16:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท