สตีฟ จ็อบส์ อัฉริยะบุรุษผู้กำลังเดินทางสู่อริยะบุคคล


ผมใช้เวลาหลังเลิกงานตอนเย็นทุกวัน 1 อาทิตย์เต็ม ในการอ่านหนังสือ อัตชีวะประวัติของสตีฟ จ็อบส์ ที่เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน...นับเป็นหนังสือไม่กี่เล่มในช่วงชีวิตนี้ ที่ผมตัดสินใจ "อ่านละเอียด" ไม่ใช่ "อ่านเอาความ" หรือ "อ่านเอาเรื่อง" หรือ อ่านผ่านๆ แม้ว่าตอนแรกจะตั้งใจแบบนั้น เนื่องจากขนาดของหนังสือที่หนาถึง 669 หน้า และเวลาที่มีน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณงานที่รับเขามาไว้ในตาราง แต่พอเริ่มอ่าน ผมพบว่า ประสบการณ์ชีวิตของ สตีป จ็อบส์ มีส่วนหนึ่งที่ตรงกับความเชื่อ ความยึดถือ ที่ผมมีต่อการดำเนินชีวิต ที่เน้นความเชื่อมโยง เป็นองค์รวม เน้นการบูรณาการมากกว่าแยกส่วน ไม่มีกรอบ ไม่ตกอยู่ในกระแส....อีกทั้งแนวการเขียนของ ไอแซคสัน ที่ทำให้ผมรู้ว่า การเขียนให้เห็นภาพรวม เชื่อมโยง การเขียนให้เห็นภาพ สามารถทำได้โดยไม่ต้อง เขียนเชิง timeline  หรือ เรื่องเล่า เท่านั้น..... หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมตั้งใจว่า จะไปตามอ่านผลงานของเขาอีกเป็นแน่...

 

 

ต่อไปนี้ เป็นการตีความของผมเอง จะถูกหรือผิดอย่างไร ไม่น่าจะใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเป็นเพียง ชุดความเห็นหนึ่งเท่านั้น ที่เกิดจากชุดความรู้จากหนังสือเล่มนี้ บวกกับชุดความรู้เดิมที่มีอยู่ในใจผม...

  1. นับแต่นี้ต่อไป เมื่อคนทั่วไปกล่าวถึงสตีปจ็อบส์ ส่วนใหญ่จะนึกถึง บุรุษนวัตกร ผู้พลิกโลก จากงานสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีได้แก่ iPad iPod iPhone iTunes Store, Apple Store, หนังแอนิเมชั่นเรื่อง Toy Story เครื่อง Macintosh, และ เครื่อง Apple II
  2. แต่สิ่งที่สำคัญกว่าข้อ 1. ที่สตีฟจ็อบส์อยากให้คนจดจำเขา คือ บริษัท Apple และหลักการสร้างสรรค์นวัตกรรมแบบบูรณาการทุกส่วนเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนทั้งซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ตั้งแต่ต้นจนจบ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นตามข้อ 1. เป็น"ปฏิวัตกรรม" (ผลิตภัณฑ์ที่ปฎิวัติจากเดิมโดยสิ้นเชิง) ล้วนแล้วแต่ถูกแบบทุกส่วนให้กลมกลืน ลงตัว โดยสนใจในรายละเอียดทุกชิ้น ทุกขั้นตอน แม้แต่ลายวงจรก็ต้องจัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ
  3. ตอนสมัยวัยรุ่น ขณะที่หนุ่มสาวยุค 60 ต่อต้านเทคโนโลยี หันไปพี้ยา LSD และทำตัวเป็นฮิปปี้มีเซ็กมีสุขไปวันๆ แต่สตีฟกลับออกแสวงหาตนเอง ตามแนวทางศาสนาพุทธแบบ เซ็น แสวงหาสัจจธรรมที่ อินเดีย อยู่หลายปี และนอกจากเขาจะไม่ต่อต้านเทคโนโลยีแล้วเขายังหลงไหลมัน เขาผนวกบวกรวมหรือบูรณาการ ศิลปะและจิตวิญญาณผสานกับความสามารถสร้างสรรค์ที่เน้นความง่าย สบาย จนสามารถสร้างนวัตกรรมตามข้อ 1. ได้อย่าง "งาม" ในหนังสือเล่มนี้บอกว่า สตีฟยืนอยู่ตรงจุดตัดระหว่างศิลปะและเทคโนโลยี
  4. อัฉริยภาพของสตีฟ คือ ความสามารถในการโฟกัส (ผมไม่แปลกใจเพราะเป็นธรรมดาของผู้ฝึกสมาธิ) ความเชื่อมั่นในตนเองและกล้าที่จะทำอย่างที่ตนเองคิด ความสามารถในการมองคนหาคนมาทำงาน และความสามารถในการใช้คน ความสามารถในการเจรจา ความสามารถในการวางแผนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ ความสามารถในการประเมินผลงานในรายละเอียด ความสามารถในการมองอนาคตหรือวิสัยทัศน์ และสุดๆ เลยก็คือ ความสามารถในการสร้างสนามความจริงที่ถูกบิดเบือน (Reality Distortion Field) (ผมว่าหลักอันนี้โด่งดังในหนังสือเรื่อง Top Secret  ซึ่งในทางพุทธ มีกล่าวไว้นานแล้วเกี่ยวกับคำอธิฐาน กับพลังของจิต)
  5. สตีฟจ็อบส์ นับว่า "เป็นคนไม่ดี" ในสายตาของสังคม ในเรื่องต่อไปนี้ การแบ่งคนออกเป็นสองประเภทคือแบบเก่งเกรดเอและพวกขยะ การทำร้ายจิตใจคนแบบไม่แยแสและไม่ไว้หน้าถ้าเขาไม่ชอบ การพูดคำหยาบ การไม่ยอมรับผิดชอบตอนที่ลูกสาวคนแรก "ลิซ่า" เกิด  เขาเป็นคนไม่มีเมตตา
  6. เคล็ดลับที่สตีฟจ็อบส์ ใช้ทำให้ Apple ประสบผลสำเร็จ  คือ อัฉริยภาพของเขาในข้อ 4. และ "ความร้าย" ของเขาในข้อ 5. การเคี่ยวเข็ญให้คนอื่นทำสิ่งที่คนเหล่านั้นเชื่อว่าไม่มีทางทำได้ แต่เขาเชื่อว่าทำได้ (สนามความจริงที่ถูกบิดเบือน) ได้รับการยอมรับที่หลังว่า วิธีของเขาทำให้คนเหล่านั้นทำได้และพัฒนาขึ้นจริงๆ
  7. สตีฟจ็อบบ่นให้โอบาม่าฟังว่า การศึกษาของสหรัฐ "ห่วยแตก" และล้าหลังและหมดสมัยแล้ว ต้องมีการปฏิรูปด่วน เขามองว่าตัวถ่วงที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ผลคือ สหภาพครูที่สร้างกฎเกณฑ์ระเบียบที่วุ่นวายยุ่งยาก ซับซ้อน เขาบอกว่า ครูที่ไม่ทำงาน สอนไม่เป็น ไม่ปรับตัว ต้องถูกไล่ออก สตีฟจ็อบส์และบิลเกตส์ ประหลาดใจอย่างยิ่งว่างาน "ปฏิวัตกรรม" ตามข้อ 1. นั้น มีผลน้อยมากต่อวงการศึกษา ... ทั้งๆ ที่ระบบสื่อสาร สิ่งพิมพ์ วงการเพลง หนัง และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว ....นอกจากนี้ สตีฟยังบอกโอบาม่าว่า ห้องเรียนที่ครูยืนสอนอยู่หน้าชั้นและนักเรียนนั่งเรียงแถวกันบนโต๊ะ และระบบที่นักเรียนต้องแบกหนังสือเรียนหนักๆ ควรจะหมดสิ้นไปได้แล้ว....

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว... ในใจผมเกิดความอยากได้ อยากทดลองใช้นวัตกรรมในข้อ 1. อย่างมาก โดยเฉพาะ iMac หรือ Mac Book Pro... อุปกรณ์ที่ผมใช้ตอนนี้คือผลิตภัณฑ์ของ Microsoft กับ Andriod ของ Google ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของสตีฟจ็อบส์.... ผมไปทดลองใช้งานเครื่องสาธิตที่ศูนย์ Apple แล้ว ของเขาดีจริงสมกับที่วอลเตอร์เขียนไว้ทุกประการ...

 

สุดท้ายนี้ ผมมีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าสตีฟจ็อบส์จะมองแบบภาพรวมโดยพัฒนาซอฟแวร์และฮาร์แวร์ให้ทำงานอย่างไม่แยกส่วนกัน แต่ผมก็ยังคิดว่า เขายังแยกส่วนตัวเองออกมาจากสังคม ในอีกฝั่งหนึ่งคือ Microsoft และ Android ถึงแม้ว่าจะมองแบบแยกส่วนซอฟแวร์ออกจากฮาร์ดแวร์ แต่มองอีกมุม พวกเขาได้รวมเอาสังคมและนักพัฒนาทั่วโลกไว้ในแนวทางการพัฒนา..อย่างไรก็ตาม สตีฟจ็อบแสดงให้เห็นแล้วว่า แนวทางของเขาเป็นผู้สร้างสรรค์ "ปฏิวัติกรรม" ทั้งหมดที่ผ่านมา....

 

ท้ายสุดจริงๆ.. ผมมีความเห็นว่า แม้นว่าในชาตินี้สตีฟจ็อบส์  ยังไม่ได้ก้าวเข้ามาอยู่บน "เส้นทางสายเอก" สู่ อริยะบุคคล แต่เขาก็เดินทางเข้ามาใกล้และเฉียดใกล้แนวทางแห่งการ "ตื่นรู้" มากแล้ว...หลายคนมองว่า เขาสร้างสรรค์และตัดสินใจหลายอย่างจาก "การหยั่งรู้" (intuition)... ขอให้บุญกุศลที่สตีฟได้ทำให้ชาวโลกทั้งหมด ส่งผลให้เขาได้กลับมาพบกับพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ ให้เขาได้เข้าถึงซึ่งสัจจธรรมตามที่ได้เขาได้วาดหวังไว้ตอนสมัยที่เขายังหนุ่มเถิด....

หมายเลขบันทึก: 476707เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2012 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กันยายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท