KM00091 : "ป้าจุ๊" (จุรี โอศิริ)


"ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ใคร หากเราไม่ได้ยืนอยู่จุดเดียวกับเขา"
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่รู้จักกับ "ป้าจุ๊" (จุรี โอศิริ) แต่อย่างใด แต่รู้จักท่านผ่านผลงานการแสดงต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก การจากไปของท่านก็คงเป็นไปตามหลักธรรมชาติ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป" แต่วันนี้เรื่องที่จะพูดถึงคงเป็นเรื่องคำสอนของท่าน ที่ได้ยินจากรายการวิทยุ "สินเจริญ" ว่า

 

"ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ใคร หากเราไม่ได้ยืนอยู่จุดเดียวกับเขา"
 
คำว่า "วิพากษ์วิจารณ์" หากดูจากความหมายโดยทั่วไปน่าจะหมายถึง "การแสดงความคิดเห็น ติชม วิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง" แต่ในความรู้สึกของคนไทยคำนี้น่าจะมีความหมายในเชิง "ลบ" (Nagative) มากกว่า "บวก" (Positive) จึงไม่แปลกที่คนไทยมักไม่ชอบการถูก "วิพากษ์วิจารณ์" และอาจเป็นเพราะว่า "สื่อ" ส่วนใหญ่บ้านเรามักใช้คำว่า "......(การกระทำ)...ของ....(ผู้กระทำ).....ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า......."  เลยยิ่งทำให้เราไม่ชอบคำนี้เข้าไปอีก จริงหากแปลความหมายของ "ป้าจุ๊" ให้ง่ายก็น่าจะเป็น "อย่าไปว่าใครเขาเลย หากเราไม่เข้าใจเหตุผลที่แท้จริงของเขา" ป้าจุ๊คงอยู่ในวงการ "มายา" มานานเลยพบเห็นเรื่องเหล่านี้เยอะ และวงการ "มายา" ส่วนใหญ่ก็มีแต่เรื่อง "มายา" เยอะสมชื่อ คนไทยไม่ชอบ "ถูกวิพากษ์วิจารณ์" แต่ "ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่น"  พูดง่ายๆ คือ "ชอบพูดเรื่องของคนอื่นมากกว่าเรื่องตนเอง" จึงไม่แปลกที่หนังสือ "บันเทิง" (ที่ผมคิดว่าไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรทางด้าน "กระบวนคิด") จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เพราะพูดถึงแต่เรื่องคนอื่น ที่สำคัญคนเหล่านั้นเป็นที่รู้จักในสังคม จึงสามารถนำไปพูดคุยกันต่อได้อย่างสนุกสนาน "คนโน้นคบกับคนนี้" "คนนี้เลิกกับคนนั้นเพราะ
 
เย็นวันเดียวกันนั้น (วันที่ได้ยินคำสอนของป้าจุ๊) ผมพาลูกไปเล่นที่ "บ้านบอล" (หมายถึงที่ๆ ลูกบอลและอุปกรณ์ต่างๆ ให้เด็กปีนป่ายเล่น เด็กชอบเรียกบ้านบอล ก็เลยเรียกตาม) ระหว่างนั้นมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ ๔-๕ ขวบ เดินออกมาและ "อาเจียน" ถึง ๒ ครั้ง ไม่มีพ่อแม่เด็กเข้ามาดู จึงถามพนักงานแถวนั้น บอกว่าแม่เด็กพาเด็กมา "ปล่อย" ให้เล่นที่นี่ตั้งแต่เช้า ไม่รู้จัก ไม่มีเบอร์โทร บังเอิญมีเด็กผู้ชายอีกคนอายุประมาณ ๕-๖ ขวบ เดินเข้ามาดู สอบถามได้ความว่าเป็นพี่ชาย ผมและภรรยาใช้เวลาสอบถามเกือบชั่วโมง กว่าจะรู้ว่าพ่อแม่เด็กทำงานที่ไหน ชื่ออะไร ซึ่งแม่เด็กทำงานในบริษัทไม่ไกลออกไปนัก ผมจึงเดินไปตามให้ (ผมทราบจากภรรยาว่าระหว่างที่ผมเดินไปตามแม่เด็กนั้น เด็กก็อาเจียนอีก ๒ ครั้ง) เมื่อไปถึงบริษัท แม่เด็กไม่อยู่ พนักงานในบริษัทจึงโทรตามให้ แม่เด็กรีบกลับมาดูลูกแล้วรีบพากลับไป (เรื่องราวมีมากกว่านี้ แต่ขอสรุปสั้นๆ ครับ) คนแถวนั้นเริ่ม "วิพากษ์วิจารณ์" แม่เด็ก ผมเลยหันไปบอกภรรยาว่า "อย่าวิพากษ์วิจารณ์ใคร หากเราไม่ได้ยืนอยู่จุดเดียวกับเขา" พ่อแม่เด็กอาจมีความจำเป็นที่เราไม่รู้ก็ได้

 

ที่ยกตัวอย่างให้นี้ก็อยากแสดงให้เห็นว่า หลายคนชอบเป็น "ผู้ดูเหตุการณ์" และ "วิพากษ์วิจารณ์" มากกว่า แต่มีน้อยคนที่จะพยายามหาคำตอบของเหตุการณ์อย่างมีเหตุมีผล หรือ "เข้ามามีส่วนร่วมในเหตุการณ์" จึงไม่แปลกอะไรที่เรามักเห็นคำ "วิพากษ์วิจารณ์" ที่ไม่มีทางออก หรือ "ติ แต่ไม่มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ"


ขอบคุณ "ป้าจุ๊" ครับที่ยังทิ้งคำสอนดีๆ ไว้ให้พวกเรา และหากมองคำสอนนี้ให้ลึกลงไป ก็คงต้องบอกกว่า "ดูคนอื่นให้น้อยลง ดูตัวเองให้มากขึ้น ทำเพื่อคนอื่นให้มากขึ้น ทำให้เพื่อตัวเองให้น้อยลง" สุดท้ายขอกลับไปเรื่องที่เล่ามานิดหนึ่ง พ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กหากมีความจำเป็นต้อง "ปล่อย" ลูกแบบนี้ ควรแจ้งช่องทางติดต่อให้พนักงานทราบหรือเขียนเบอร์โทรศัพท์ไว้กับตัวเด็กก็จะดีครับ การสอนให้เด็ก "เอาตัวรอด" เป็นเรื่องดี แต่ก็อย่า "ประมาท" ครับเพราะเราไม่มีทางทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นในได้อนาคตครับ
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 476669เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2012 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท