ผู้ไทก่อนมาอยู่ในสยาม มาช่วยกันเปิดเพดานประวัติศาสตร์ผู้ไทครับ :มหากรรมผู้ไทนานาชาติที่เขาวง กาฬสินธุ์ (3)


แล้วคำถามที่คนผู้ไทในอิสานยังไม่มีคำตอบ คือ ตกลงผู้ไทเป็นผู้ไทดำ หรือผู้ไทขาว หรือไม่ใช่ทั้งสอง หากไม่ใช่ แล้วผู้ไทที่เวียดนาม(ที่ไม่ใช่ไทดำ/ไทขาว และ ที่มณฑลกวางสีประเทศจีน นั้นยังมีอยู่หรือไม่ และอยู่อย่างไร

 

เรียนรู้ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทยก่อนงานสัมมนาผู้ไทนานาชาติ วันที่ 9-11 มี.ค. 55 ที่เขาวง(ผู้ไทกุดสิมนารายณ์) กาฬสินธุ์ครับ
ผมหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะทำให้ข้อมูลประวัตศาสร์ฃองผู้ไทจะได้พลิกโฉมใหม่ด้วยเพดานความรู้เรื่องผู้ไทในบ้านเราทุกวันนี้จำกัดอยู่แค่ผู้ไทในสยามกับลาวเท่านั้น
มาช่วยกันเปิดเพดานประวัติศาสตร์ผู้ไทครับ


 

 

           

ภาพสาวน้อยผูไทจากมณฑลกวางสี ประเทศจีน

 

 

ประวัติศาสตร์ลาวบอกไว้ว่าอาณาจักรลาวล้านช้างในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมมิกราช (พ.ศ.2181–พ.ศ.2238) เป็นยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองของเวียงจันทน์อีกยุคหนึ่ง เนื่องด้วยพระองค์มีวิธีการ ปกครองบ้านเมืองที่หลักแหลมและเป็นธรรม ทำให้ล้านช้างมีความมั่นคงและสงบร่มเย็นกว่าครึ่ง ศตวรรษ ด้วยพระองค์ทรงเป็นผุ้ที่มีความยุติธรรม จากกรณีที่พระราชโอรสของพระองค์ได้กระทำ ความผิดลักลอบเป็นชู้กับภริยาของขุนนางผู้หนึ่ง พระองค์ก็ลงโทษตามอาญาถึงขั้นประหารชีวิต โดย มิได้ใส่ใจว่าเป็นพระโอรสด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงอยู่ในสภาพที่ไร้รัชทายาทและเมื่อพระองค์สวรรคต โดยไร้รัชทายาท ประชาชนจึงได้อัญเชิญพระยาเมืองจัน ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แต่ก็ ครองราชย์อยู่ได้หกปี เจ้านันทราชแห่งเมืองน่านก็ยกทัพเข้ามาชิงเมืองเวียงจันทน์ไว้ได้ เจ้านันทราช จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ แห่งอาณาจักรล้านช้างใน พ.ศ. 2238

 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2(พระไชยองค์เว้) ที่แต่เดิมเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงผู้หนึ่ง ซึ่งลี้ภัยไปประทับอยู่ ณ เมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ได้เข้านำกำลังกลับมายึดเวียงจันท์ได้สำเร็จ จึงทำการสำเร็จโทษ เจ้านันทราช  แล้วขึ้นเสวย ราชสมบัติเป็นกษัตริย์กรุงเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2241

ตามพระนิพนธ์ของพระบรมวงษ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาเสรีในหนังสือชื่อ "พระราชธรรมเนียมลาว” ได้กล่าวถึงคนผู้ไทว่า สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์เว้) แห่งราชอาณาจักรเวียงจันทน์ ได้มีหัวหน้าชาวผู้ไท ซึ่งมีนามว่าพระศรีวรราช ได้มีความดีความชอบในการช่วยปราบกบฏในนคร เวียงจันทน์จนสงบราบคาบ  กษัตริย์เวียงจันทน์ จึงได้ปูนบำเหน็จ โดยพระราชทานพระราชธิดา ชื่อนางช่อฟ้า ให้เป็นภรรยา ในกาลต่อมา (ประมาณ ปี พ.ศ. 2260) จึงได้แต่งตั้งให้บุตรซึ่ง เกิดจากพระศรีวรราชหัวหน้าชาวผู้ไทย และเจ้านางช่อฟ้ารวม 4 คนแยกย้ายกันไปปกครอง หัวเมืองชาวผู้ไทยคือ เมืองสบแอก เมืองเชียงค้อ เมืองวัง เมืองตะโปน(เซโปน) พร้อมกับอพยพชาวผู้ไท(ปัญหาที่ต้องการหาคำตอบคือ ผู้ไทเดิมก่อนจะอพยพลงมาอยู่ที่เมืองวังนั้น ผู้ไทอยู่ที่ไหนมาก่อน แล้วที่ไม่ได้อพยพมาด้วยมีไหม) ลงไปอยู่ทางใต้ ของราชอาณาจักรเวียงจันทน์ (ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขต และคำม่วนของลาวติดชายแดนญวน)

 

 

    แผนที่แสดงการตั้งถิ่นฐานคนผู้ไท และการอพยพของชาวผู้ไท จากลาวมาสู่สยาม(อิสาน)

 

 

ต่อมา ชาวผู้ไท จากเมืองวังและเมืองตะโปน ได้แยกย้ายออกไปตั้งเป็นเมืองต่างๆ ขึ้นอีก คือ เมืองพิน, เมือง,นอง, เมืองพ้อง, เมืองพลาน, เมืองเชียงฮ่ม, เมืองผาบัง, เมืองคำอ้อคำเขียว เป็นต้น (เรียบเรียงจาก บทพระนิพนธ์ของพระบรมวงษ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐาเสรีในหนังสือชื่อ "พระราชธรรมเนียมลาว พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2479 ซึ่งพระองค์เธอเป็นพระราชธิดาของราชกาลที่ 4 และเจ้าจอมมารดาดวงคำ ซึ่งเจ้าจอมมารดาดวงคำเป็นพระราชนัดดาของเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทร์)

.........

แค่ข้อมูลว่า ผู้ไทมาอยู่ลาวเมื่อไหร่ ข้อมูลนี้ก็สับสนแล้วครับ
ในเอกสารข้อมูลของศุนย์ภูไทศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์ ได้ให้ข้อมูลการอพยพของผู้ไท จากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู (ประเทศเวียดนามปัจจุบัน)สู่เมืองวัง(ประเทศลาวในปัจจุบัน) โดยศูนย์ภูไทศึกษาได้นำเสนอประวัติผู้ไทในตอน จากเมืองน้ำน้อยอ้อยหนูเข้าสู่เมืองวัง ไว้ว่า


“ท้าวก่า” หัวหน้าของผู้ไทยดำได้เกลี้ยกล่อมชาวผู้ไทดำราวหมื่นคนเศษ(สังเกตุศูนย์ภูไทศึกษาเขาเสนอว่าผู้ไทเป็นผู้ไทดำมาก่อน จากผู้ไทดำมาลาวแปลงร่างเป็นภูไท เพราะไปอยู่เขตป่าเขตเขา5555) ให้อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของเจ้าอนุวงศ์หรือเจ้าอนุรุธแห่งนคร เวียงจันทน์(ในช่วงปี พ.ศ. 2335-2338 )เจ้าอนุวงศ์ได้โปรดให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง อันเป็นพื้นที่ป่าดงและมีภูเขาตามที่ชาวภูไทยถนัดทำกินในการปลูกข้าวไร่และ ทำสวนผลไม้ ต่อมาท้าวก่าและสมัครพรรคพวกได้เแย่งชิงอำนาจในการปกครองเมืองวังกับชนพื้นเมืองเดิมคือ “พวกข่า” โดยทำการเสี่ยงบุญวาสนาแข่งขันยิงลูกหน้าไม้ให้ติดหน้าผา ปรากฎผลว่าลูกหน้าไม้ของฝ่ายท้าวก่าซึ่งติดขี้สูดสามารถยิงติดหน้าผาได้ชัยชนะจากการประลอง (ท้าวหนู น้องชายของท้าวก่าเป็นผู้แสดงฝีมือ) แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่เหนือกว่าของชนเผ่าผู้ไท ท้าวก่าได้รับการแต่งตั้งเป็น “พญาก่า” ปกครองเมืองวังขึ้นตรงต่อเวียงจันทน์ ทั้งนี้ต้องส่งพร้า มีดโต้และขวาน เป็นเครื่องบรรณาการต่อกรุงเวียงจันทน์ปีละ 500 เล่ม และต้องส่งขี้ผึ้งหนัก 25 ชั่ง เป็นบรรณาการแก่เจ้าเมืองญวนด้วย( ข้อมูลที่ศูนย์ภูไทศึกษานำเสนอนี้สับสนครับด้วยความเป็นจริงแล้วเจ้าอนุวงศ์หรือเจ้าอนุรุทธราช ครองนครเวียงจันทน์ในช่วงปี พ.ศ. 2347 – 2370และหากผู้ไทเมืองวังมาในสมัยเจ้าอนุวงศ์จริง ตอนเจ้าอนุวงศ์เป็นอุปราชเมืองเวียงจันทน์ ก็เคยนำทัพไปตีเมืองแถนนำเอาผู้ไทดำมาให้สยาม และไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรี  คำถามคือหากผู้ไทเป็นไทดำมาก่อน ทำไมผู้ไทกับผู้ไทดำเมืองเพชร และผู้ไทดำเมืองแถนจึงต่างกันมากมาย และเรื่องการแย่งชิงอำนาจกับ "ข่า" โดยยิงหน้าไม้ให้ติดหน้าผานี่ ตำนานนี้ที่เมืองแถนก็มีครับ หรือว่ามีการประลองกันมาหลายยุคแล้วผู้ไทก็ใช้วิธีการเดิมแล้วชนะทุกครั้ง ส่วนข่าก็ใช้วิธีการเดิมแล้วแพ้ทุกครั้ง5555 )

...........
ผู้ไทก่อนจะมาอยู่ที่ลาว

โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาและตานเอกสารที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์ผู้ไท มักจะนำเสนอตรงกันว่าถิ่นฐานเดิมผู้ไทเดิม อยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู (ใกล้กับเมืองแถน) หรือบางแห่งก็บอกว่ามาจากเมืองแถน(เห็นว่าเมืองนาน้อยอ้อยหนูคือเมืองแถน) ในเขตสิบสองจุไท(ทางตอนเหนือของลาวและเวียดนาม และติดกับทางตอนใต้ของประเทศจีน) เดิมกลุ่มผู้ไทแบ่งออกเป็น 2 พวกคือ        

            1. ผู้ไทดำ มีอยู่ 8เมืองนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำและสีคราม

            2. ผู้ไทขาว มีอยู่ 4 เมืองอยู่ใกล้ชิดติดกับชายแดนจีนจึงนิยมแต่งกาย ด้วยเสื้อผ้าสีขาว

 

 

               

ผู้ไทดำเมืองแถน ประเทศเวียดนามโดย อ.ธีรภาพ โลหิตกุล

และในยุคสมัยก่อนฝรั่งเศสเข้าครอบครองในแถบนั้นมีหัวเมืองผู้ไท  รวมผู้ไทดำและผู้ไทขาวมี 12 เมือง จึงเรียกดินแดนส่วนนี้ว่า "สิบสองจุไท" หรือ "สองเจ้าไท"  แล้วคำถามที่คนผู้ไทในอิสานเรายังไม่มีคำตอบ คือ ตกลงผู้ไทเป็นผู้ไทดำ หรือผู้ไทขาว หรือไม่ใช่ทั้งสอง หากไม่ใช่ แล้วผู้ไทที่เวียดนามแถวเกาบัง และที่ เจิ้นหลง มณฑลกวางสี ประเทศจีน ที่พวกเขา ต่างก็เรียกตัวเองว่า ผู้ไท (Phu Tay หรือ ฺ Bhu Dai)นั้น  จะยังไม่นับเป็นญาติเป็นผู้ไทใช่หรือไม่  ทำไมจึงไม่นับ แล้วทุกวันนี้เขาอยู่กันอย่างไร  นี่ยังไม่รวมผู้ไทแดงนะครับ หากตามข้อมูลของศูนย์ผู้ไทศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์ ก็แสดงว่าศูนย์ภูไทศึกษายอมรับในสมมุติฐานว่าผู้ไทก็คือผู้ไทดำนั่นเอง

 

ถิ่นฐานเดิมของผู้ไทในอิสานอยู่ที่เมืองวังและเมืองใกล้เคียง

อันว่าเมืองวัง, เมืองตะโปน เป็นถิ่นกำเนิดของชาวผู้ไทในฝั่ง ซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาว) ก่อนที่จะอพยพ เข้ามาอยู่ในภาคอีสานปัจจุบัน การอพยพของผู้ไทมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขงมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อตอน เจ้าอนุวงค์เวียงจันทน์ เป็นกบฎต่อกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2369 ต่อมาเมื่อกองทัพสยามยกข้ามแม่น้ำโขง ไปปราบปรามจนสงบราบคาบแล้ว ทางกรุงเทพฯ จึงได้มีนโยบายจะอพยพชาวผู้ไท จากเมืองวัง, เมืองตะโปนจากชายแดนปลายพระราชอาณาเขต ซึ่งใกล้ชิดติดกับแดนญวน ให้ข้ามโขงมา ตั้งถิ่นฐานทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง(ภาคอีสาน)ให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัย มิให้เป็นกำลังแก่ นครเวียงจันทน์ และฝ่ายญวนอีกต่อไป จึงไปกวาดต้อนผู้คนซึ่งเป็นชาวผู้ไท จากเมืองวัง, เมืองตะโปน,เมืองพิน, เมืองนอง, เมืองคำอ้อคำเขียว ซึ่งอยู่ในแขวงสุวรรณเขต ของลาวปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นอาณาเขต ของพระราชอาณาจักรสยามอยู่ในขณะนั้น ให้ข้ามโขงมาตั้งบ้านตั้งเมือง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงในเขต เมืองกาฬสินธิ์, สกลนคร, นครพนมและมุกดาหาร


 

                   

   ผู้ไทเมืองหนองสูงมุกดาหาร ภาพโดย Adul Tanthakosai

 

 

แล้วคนผู้ไทมาอยู่ในสยามตั้งแต่เมื่อไหร่  มาได้อย่างไร
เมื่อ พ.ศ. 2369 (ก่อนสงครามเจ้าอนุวงศ์)ตรงกับในสมัยราชกาลที่ 3  ที่เมืองวังมีความวุ่นวาย เกิดขัดแย้งภายในของกลุ่มผู้ไท ที่มีเมืองวังเป็นเมืองหลัก ได้มีไทครัวผู้ไทกลุ่มหนึ่งอพยพมาตั้งบ้านเรือนในฝั่งขวาแม่น้ำโขง มีนายไพร่ รวม 2,648 คน ต่อมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านบุ่งหวาย ในปี พ.ศ.2373  พระสุนทรราชวงษา เจ้าเมืองยโสธร ว่าราชการอยู่เมือง นครพนมได้มีใบบอกขอตั้งบ้านดงหวายเป็นเมือง "เรณูนคร" ต่อมา ร.3 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกบ้านบุ่งหวาย ขึ้นเป็นเมืองเรณูนคร  และตั้งให้ ท้าวสาย หัวหน้าไทครัวผู้ไทเป็น "พระแก้วโกมล" เจ้าเมืองเรณูนคร คนแรก ขึ้นเมืองนครพนม(ในปี พ.ศ. 2387) ซึ่งคือท้องที่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนมในปัจจุบันนั่นเอง (จากเอกสาร ร.3 จ.ศ.1206 เลขที่ 58 หอสมุดแห่งชาติ)


ชาวผู้ไทเรณูนคร จึงเป็นชาวผู้ไทกลุ่มแรกที่อพยพมาอยู่ในเขตฝั่งขวาแม่น้ำโขง(หมายถึงผู้ไทที่เป็นบรรพบุรุษของคนผู้ไทในอิสานปัจจุบัน)


หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2387 ผู้ไทจากเมืองวังอ่างคำและเมืองใกล้เคียง ก็อพยพตามมา เป็นกลุ่มที่ 2 แล้วไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ เมืองพรรณานิคม  (จ.สกลนคร) เมืองคำชะอี หนองสูง  (จ.มุกดาหาร) เมืองกุดสิมนารายณ์ (อ.เขาวงและ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธฺุ์)ตามลำดับครับ       โดยผู้ไทกลุ่มจากเมืองกะป๋องได้อพยพมาตั้งที่เมืองวาริชภูมิเป็นกลุ่มผู้ไทที่ข้ามมาฝั่งขวาแม่น้ำโขงกลุ่มล่าสุด(ในปี พ.ศ.2420 ในสมัย ร.5)


  

ภาพการฟ้อนผู้ไทเรณุนครหน้าองค์พระธาตุพนม

  

     ภาพการฟ้อนผู้ไทเรณุนคร หน้าองค์พระธาตุพนม
.. ......

 

 

หมายเลขบันทึก: 476645เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2012 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สาวภูไท ถิ่นเรณูนคร ยังติดตราตรึงใจ ใครๆ ได้เสมอนะคะ

เห็นภาพแล้วต้องบอกว่า ว้าว สวยงาม เอกลักษณ์ มากๆ เด้อค่า

มิน่าล่ะคะ ในเพลง ได้พบนวลนาง ดั่งเหมือนต้องมนต์แน่นิ่ง ... :)

ส่งกำลังใจให้งานภูไท ในมีนา ราบรื่น ลุล่วง นะคะท่านเทพฯ

ขอบคุณครับคุณIco48 Poo อันดามัน

จากอันดามันไปไกลเติงเจียงฮาย เมินนักแล้วไม่ได้ทักทายกัน

ยินด้จ๊าดนักครับ

ประเด็นที่ผมอยากฟังความเห็นจากท่านผู้รู้/ท่านที่ศึกษาเรื่องผู้ไท คือ
ผู้ไทมาอยู่เมืองวังในสมัยไหนกันแน่

  • สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์เว้)แห่งเวียงจันทน์ ในช่วง พ.ศ. 2241_2260
  • สมัยเจ้าอนุวงศ์หรืออนุรุธ แห่งเวียงจันทน์ในช่วง พ.ศ. 2335_2338
  • สมัยเจ้าอนุวงศ์หรืออนุรุทธราชแห่งหลวงพระบางในช่วง พ.ศ.ไหนไม่ทราบ

ใครมีข้อมูลมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ช่วยให้ข้อคิดเห็นด้วยครับ

 

  • เมื่อ 5 ก.พ. 55 พบสาวผู้ไทงาม(สมัยโบราณ)ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นข้อมูลบอก ว่าผู้ไท มาอยู่ในเขตของสยามในพื้นที่ อิสาน นานมาแล้วครับ
  • ผมกลับบ้านกาฬสินธุ์คราวนี้ได้แวะเมืองเก่า เมืองฟ้าแดดสงยาง ได้คุยกับ อ.ไผท ภูธา ถึงเรื่องนี้
  • ว่าเมืองฟ้าแดดสงยางเดิม เมืองเมืองของพวกผู้ไท ที่นับถือแถน มีตำนานเล่าว่าในสมัยหนึ่ง เมืองธิดางามชื่อว่าธิดาฟ้าหยาดมีรูปโฉมที่งดงามมากดั่งหยาดลงมาจากเมืองฟ้าจึงเป็นที่หมายปองของหนุ่มจากเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มลาวมีความขัดแย้งกัน จึงเกิดการรบกันเกิดขึ้น ต่อมาเมืองจึงได้ล่มจมและร้างไปในที่สุด
  • อ.ไผท เตรียมหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ "ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางไว้ให้ผม" วันไปพบหาหนังสือที่เตรียมไว้ไม่เจอ บอกอัศจรรย์ใจมาก

      

ภาพพระธิดาฟ้าหยาด พระธิดาสาวผู้ไทงามแห่งเมืองฟ้าแดดสงยาง ภาพวาดจากนิมิต โดยพระครูโพธิชยารักษ์ วัดโพธิ์ชัยเสมาราม หรือวัดบ้านก้อม(บ้านเสมา)
........
อ.ไผท ภูธาเล่าให้ผมฟังว่า
ในหนังสือตำนานเมืองฟ้าหยาดสงยาง ที่แต่งโดย ดร.ไพโรจน์ เพชรสังหาร
อดีตศึกษาธิการและวัฒนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ พิมพ์เมือปี 2543
หนังสือเล่มนี้ อ.ไผท ตั้งใจมอบให้ผม ด้วยเห็นว่าผมสนใจศึกษาเรื่องผู้ไท
.....
ในคำปรารภ ของหนังสือเล่มนี้ได้กล่าวถึงว่าจากหลักฐานทางโบราณวัตถุ
บอกได้ว่า ชุมชนที่เกิดขึ้นเมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว และมีหลักฐานวัตถุโบราณ ของพวกแถน หรือกลุ่มคนผู้ไททางสิบสองจุไท มาอยู่เมื่อ ประมาณราว พ.ศ.900 ต่อมา ขอมจึงมาทับซ้อนลงในช่วง พ.ศ. 1200-1300 ชุมชนที่นี่มีความเจริญรุ่งเรืองดูได้จากมีเสมาหิน ที่มากที่สุดในประเทศไทย
.......
ส่วนเรื่องราวตามตำนานเมืองฟ้าแดดสงยางเกิดขึ้นในห้วงพ.ศ. 1800-1900 หลังขอมเสื่อมอำนาจลง
ตำนานนี้เขียนเป็นภาษาลาวโบราณ เก่าแก่มาก พบที่บ้านส่องใต้ ต่อมาพระอารยานุวัตร พระเถระผู้ใหญ่ของจังหวัดมหาสารคาม จึงนำมาปริวรรต เป็นคำกวีลาวสมัยใหม่ รายละเอียดจะนำเสนอต่อไปครั

  • เมื่อช่วงเย็นวันนี้(วันที่15 ก.พ.54)ได้พูดคุยกับผู้นำชุมชนอาวุโสจากจังหวัดชุมพร
    ได้ให้ความเห็นกับผมว่าที่ผมสันนิษฐานว่าผู้ไทดำที่มามาอยู่ชุมพร สมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา มากับแขกอาสาจามจากเวียดนามตอนกลางนั้น ข้อมูลน่าจะไม่ถูกต้อง
  • ผู้นำชุมชนอาวุโสได้คุยกับกลุ่มผู้ไทดำที่ชุมพร(ระดับชาวบ้านบอกต่อกันมา)เล่าว่าพวกเขามาจากเมืองเทพสถิตย์สมัยเก่า(อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ) ผู้ไทดำเขามาจากเชียงขวางพร้อมลาวพวน ก่อนเกิดอยุธยา อพยพหนีความขัดแย้งในลาว มาจนสุดเขตแดนลาว ตรงดงพญาไฟ(ดงพญาเย็น ปัจจุบัน)
  • ยังคนมีร่องรอยของผู้ไทดำและลาวพวนโบราณทั้งที่อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ และที่จ.ชุมพร ให้สืบค้นหาร่องรอย
  • ความน่าสนใจของผมอยู่ที่ว่า ความเป็นผู้ไทดำ  ความเป็นลาวพวน ตั้งแต่สมัยก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยา ยังมีร่องรอยให้ค้นหาพบ  แล้วทำไมร่องรอยความเป็นผู้ไท(เฉยๆ)อย่างบรรพบุรุษผม  จึงตามหาร่องรอยไม่เจอ แค่จากกัน ห่างกัน ประมาณ 300 - 400 ปีเท่านั้น  แต่ตามหาข้อมูลไม่ได้...น่าคิด

ประเด็นที่ผมอยากฟังความเห็นจากท่านผู้รู้/ท่านที่ศึกษาเรื่องผู้ไท คือ ผู้ไทมาอยู่เมืองวังในสมัยไหนกันแน่ •สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์เว้)แห่งเวียงจันทน์ ในช่วง พ.ศ. 2241_2260 •สมัยเจ้าอนุวงศ์หรืออนุรุธ แห่งเวียงจันทน์ในช่วง พ.ศ. 2335_2338 •สมัยเจ้าอนุวงศ์หรืออนุรุทธราชแห่งหลวงพระบางในช่วง พ.ศ.ไหนไม่ทราบ ใครมีข้อมูลมีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ช่วยให้ข้อคิดเห็นด้วยครับ 

  • ผมใคร่เสนอความคิดนิดหนึ่งครับ ว่าตามคำบอกเล่า  พะญาก่าย้ายจากเมืองนาน้อยอ้อยหนู  มาอยู่เขตลาว เจ้าผู้ปกครองลาวให้มาอยู่เมืองวัง  เมื่อสิ้นพะญาก่า  มีพะญาโตโชบุตรชาย  เป็นเจ้าเมืองแทน พะญาเตโชมีชื่อผู้นี้ มีลูกชาย  ชื่อ ท้าวเพชร  ท้าวสาย โคตรเหง้าชาวเรณูนคร   ท้าวเพชร  ท้าวสายนี้มาอยู๋เมืองเรณูก่อนเจ้าอนุวงษ์ มาตีสยาม ปีหนึ่ง  แสดงว่า ราวปี พ.ศ. 2368-2369 หากจะนับย้อนไปว่ามาอยู่เมืองวังช่วงไหน  ไม่น่าเกิน 50 ปี ก่อนปี พ.ศ. 2369 เพราะเปลี่ยนเจ้าเมืองวังแค่ 2 คน 
  • สันนิษฐานว่าชาวภูไทเราย้ายมาจากเมืองนาน้อย.. ราวปี พ.ศ. 2300-2330  สมัยปลายกรุงศรีฯ  -ธนบุรี   น่าจะใกล้ความจริงมั้ยครับ 
  • ชาวเรณู  หรือ เมืองเว  นั้นย้ายมาฝั่งธาตุพนมเพราะเกรงภัย  พะญาก่ำ  เจ้าเมืองต่อจากพญาเตโช ที่โหดเหี้ยม   
  • ชาวเมืองอื่นๆ   เช่นเมืองกุดสิม ที่เป็น  เหง้า  ของผมนั้น ตามคำบอกเล่าที่บอกต่อกันมานั้น ย้ายกันมาหลังเกิดสงครามเจ้าอนุ  ข้ามโขงแถบเมืองมุก ขึ้นเขาภูพาน  บ้านกะซะ  บ้านแก่งนาง  ตั้งตูบตามรายทาง จนเจอที่มั่น ตรงหุบเขาที่เป็นวง  น่าจะราวปี  พ.ศ. 2375  เห็นจะได้ หรืออาจจะก่อนนั้นปี สองปี ที่บอกว่าปี พ.ศ. นี้นั้น ผมอิงตามประวัติวัดกลางกุดสิมคุ้มใหม่ ซึ่งระบุปีที่สร้างไว้คือ พ.ศ. 2375  ตราตั้งเมืองปี พ.ศ. 2388
  • ถ้าเราศึกษาประวัติกันก่อนหน้านี้ สัก 50 ปี เพดานประวัติศาสตร์คงชัดเจนกว่าที่เรารู้  ผู้รู้ส่วนมาก ก็ลาโลกไปแล้ว

 

     คุณ Ico48 วิระศักดิ์ อารมณ์สวะ

  • หลักฐานการบอกเล่าต่อกันมา ก็เป็นหลักฐานประกอบส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีหลายทางการบอกเล่า เกิดความไม่ชัดเจน
  • หลักฐานบอกเล่า การมาอยู่เมืองวัง ล่าสุดก็เชื่อได้ว่า...ประมาณนั้นไล่พ่อลูกกันได้
  • แต่หลักฐานว่า มาจากเมืองนาน้อยอ้อยหนู ช่วงไหน ทำไมถึงมา  เมืองนาน้อยอ้อยหนูใช่เมืองแถนหรือไม่ และพวกที่อยู่ที่นั่นมีไหม ถัามี ทุกวันนี้ยังมีอยู่ไหม และมีอยู่ที่ไหนก็ไม่มีคำตอบ
  • ตามความเห็นของผม สมมุติฐานผู้ไทมาตอนไหน นั้นน่าจะใช่ทั้งสาม
  • สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์เว้)แห่งเวียงจันทน์ ในช่วง พ.ศ. 2241_2260 ก็น่าจะถูก เพราะตามประวัติศาสตร์ลาวบอกว่ากองทัพของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 (เจ้าองค์เว้)ยกทัพผ่านเมืองแถน แล้วยกมาทางเชียงขวาง
    ดังนั้น แม่ทัพนายกองของเมืองแถนก็ต้องมาช่วยรบจริง และมีความดีความชอบในการปราบกบถ ในช่วงแรกอาจมาอยู่แถวเชียงขวางก่อน
  • ต่อมาหลวงพระบาง เวียงจันทน์ขัดแย้งกัน มีการแบ่งไทครัวกันผู้ไทจึงมาอยู่เมืองวัง ตอนเจ้าอนุวงศ์เป็นอุปราช ผมว่าทำนองนี้
    ผู้เชี่ยวชาญเรื่องลาวบอกผมว่าผู้ไทมาอยู่ที่เชียงขวางระยะหนึ่ง แล้วต่อมามาอยู่ที่เมืองวังเวียง(เมืองนี้สวยมากใกล้เวียงจันทน์) ริมฝั่งแม่น้ำงึม
  • ยังมีร่องรอยของคนผู้ไทที่เป็นอิทธิพลร่วมเช่น การขับงึม คล้ายลำผู้ไทมาก
  • เพลงสาวบ้านเกิ่น ที่โด่งดัง ว่าสาวบ้านเกิ่นงามหลายก็เป็นสาวผู้ไท ที่ตกค้างอยุ่บริเวณนั้น
  • ครับนี่คือการศึกษาผ่านร่องรอย สภาพแวดล้อม เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ มิใช่แค่เรื่องเล่าอย่างเดียวครับ

 

(ภาพโดยคุณวันชัย)

  • แจ้งข่าวมวลมิตรในG2K ครับ
  • วันที่ 9-11มี.ค.55งานมหกรรมผู้ไทนานาชาติ ที่เขาวง  

  • อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล และอาจารย์ Adul Tanthakosai 
ตกลงจะไปร่วมงานด้วย 
  คืนวันที่8 มี.ค. ผมจัดงานเล็กๆ เป็นการลงข่วง เข็ญฝ้าย ย้อนยุค ให้พี่ๆนักถ่ายภาพ
เป็นกรณีพิเศษ ที่บ้านผม
ด้วยท่านจะนอนค้างในหมู่บ้าน ถ่ายภาพนิ่งและสารคดีหมู่บ้าน

  • วันนั้น จะเป็นการชุมนุมนักถ่ายภาพ ที่ติดตาม อ.ธีรภาพ โลหิตกุลมา ถ่ายภาพ
    
ข่าวว่ากวีซีไรท์คนล่าสุดมาร่วมงานด้วย
สนใจเชิญนะครับ จะนอนค้างในหมู่บ้าน เลยก็ได้นะครับ
รวมทั้งจะอยู่ถ่ายภาพ การลงข่วง เข็นฝ้ายของสาวผู้ไท
บ้านผม ที่บ้านเหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธ์
ในคืนวันที่ 8 มี.ค. 55 ครับ
  • 
ผู้สาวผู้ไทยบ้านเหล่าใหญ่ เตรียมแต่งชุดสาวผู้ไทให้งามๆ
จะได้เจอกับตากล้องชั้นครูของเมืองไทย
อย่าง อาจารย์ธีรภาพ โลหิตกุล
และอาจารย์ Adul Tanthakosai
  • ตากล้องมือใหม่ป้ายแดงอย่างผม 
อดตื่นเต้นไม่ได้ครับ

  • ใครสนใจเชิญครับ

อ่านแล้วผมก็ไม่ปักใจเชื่อว่า ไทดำกับผู้ไทจะเป็นกลุ่มเดียวกัน.....เพราะอย่างแรก คนภูไท มี สิงหรือเรียกว่านามสกุลหรือเรียกว่าแซ่อย่างคนจีน มีเหมือนคนไทดำหรือไม่ อย่างที่สอง คนภูไทเรียกพ่อแม่ของพ่อและพ่อแม่ของแม่เหมือนคนไทดำหรือไม่(อันนี้ให้ไปหาเอาเองว่าคนไทดำเรียกกันว่าอย่างไรแต่ที่แน่ๆพวกเราไม่เรียกใช้คำว่าปู่ย่าตายายแน่นอน} อย่างที่สาม คนภูไท มีผ้าเอนกประสงค์ที่โพกศรีษะที่เรียกว่า ผ้าเปียว เหมือนคนไทดำหรือไม่ อย่างที่สี่ หญิงภูไทไม่มีผ้าซิ่นลายแตงโมเหมือนคนไทดำ อย่างที่ห้า พิธีกรรมต่างๆอย่างเช่นพิธีเสนเฮือน มีเหมือนคนไทดำหรือไม่ อันดับที่หก คนไทดำมีภาษาเขียนแต่คนภูไทมีภาษาเขียนเป็นของตัวเองหรือไม่ มีอีกมากมายที่ไม่สามารถจะปักใจเชื่อได้ว่าคนภูไทจะเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับคนไทดำ......มันมีความแตกต่างกันเยอะจริงๆ

ผมชาวผู้ไทประวัติของตาทวดมาจากเมืองเซโปน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ชาวผู้ไทที่ย้ายกลับไปลาวก็มีบางส่วน ผู้ที่ไม่อพยพมาไทยก็มี หนีการกวาดต้อนของสยามเข้าป่าหลบอยู่ตามถ้ำตามเขา ก็มี ประวัติศาสตร์ของลาวถูกสยามทำลาย ของชาวผู้ไทก็คาดว่าจะต้องถูกทำลายเพื่อรวมเป็นไท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท