ภาพที่ให้กำลังใจครู


นึกถึงสมัยก่อนโน้น ครั้งบรรจุเป็นครูใหม่ นักเรียนตั้งใจเรียน มุ่งมั่นในอนาคตตัวเองมากกว่าวันนี้ เคยสงสัยคิดไปเองหรือไม่ จึงลองสอบถามพูดคุยกับเพื่อนครูดู และจากการที่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการศึกษามาตลอด ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นักเรียนเอาใจใส่การเรียนน้อยลงจริงๆ

จะว่าตัวครูเป็นสาเหตุ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่เชื่ออยู่ว่าคงไม่มีครูคนใดมีความสุขหรือสบายใจดอก ที่สอนนักเรียนแล้ว นักเรียนไม่ตั้งใจ ไม่ฟัง เอาแต่คุยกัน หรือนั่งซึมกะทือ สายตาเหม่อออกไปนอกห้อง หมายถึงจิตใจไปอยู่ที่ไหนไม่รู้

เมื่อก่อนนักเรียนอย่างนี้จะมีห้องละ 4-5 คน แต่เดี๋ยวนี้จะมี 4-5 คนเท่านั้นที่เอาใจใส่ต่อการเรียนขนาดครูอดชื่นชมไม่ได้ ผมกำลังพูดเฉพาะประสบการณ์ตัวเองล้วนๆเลยนะครับ ไม่มีตัวเลขจริง หรืออ้างอิงจากผลการวิจัยใดๆ

แถมยังเชื่ออีกด้วยว่า ในสถานการณ์อย่างนี้ ครูส่วนใหญ่ล้วนเคยพยายามแก้ไขปัญหากันมาแล้วทั้งนั้น ด้วยวิธีการ เทคนิคจัดการเรียนรู้ เครื่องมือ สื่อ หรืออุปกรณ์ที่มีอยู่ และแล้วก็จะไปติดขัดในเรื่องเวลา ความพร้อมของโรงเรียน และ/หรือกระบวนการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่มหาวิทยาลัย ฯลฯ ติดขัดมากเข้า หันไปทางใดก็คล้ายกัน ไม่มีทางออก สุดท้ายก็มักต้องตกอยู่ในภาวะจำยอม ต้องทำใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็น่าจะพอแล้ว เป็นตัวช่วยให้สบายใจขึ้น ยามที่ต้องไปเผชิญกับเหตุการณ์เดิมๆอีกในชั้นเรียน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการเรียนของนักเรียนเปลี่ยนไป น่าจะเป็นสภาพแวดล้อม สังคม และความเจริญก้าวหน้าของสื่อเทคโนโลยี ในเมื่อทั้งรายการทีวี ละคร ภาพยนตร์ เกมโชว์ วาไรตี้ หรือสิ่งต่างๆที่ปรากฏในเว็บไซต์ ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลง ภาพ คลิป รวมถึงสื่อลามกต่างๆ ล้วนแต่น่าสนใจกว่าครู ห้องเรียน หรือตำราเรียนทั้งสิ้น แล้วอย่างนี้จะไม่ให้นักเรียนไขว้เขวได้อย่างไร ไหนจะกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เพลิดเพลินกว่าอีก ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวเตร่ ร้านเกม โลกออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ

สำหรับเด็กๆที่ครอบครัวมีความพร้อม ได้รับการดูแลเอาใจใส่ ได้รับความรักเพียงพอ หรือมีตัวอย่างที่ดีจากคนในครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องอาชีพการงาน เหล่านี้จะบรรเทาปัญหาได้ เพราะเด็กๆจากครอบครัวอบอุ่นมักจะมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน แต่ถ้าผิดไปจากนี้หรือในทางตรงกันข้าม ความตระหนักที่ต้องตั้งใจหรือเอาใจใส่ต่อการเรียนของเด็กๆจะน้อย อันเนื่องมาจากขาดเป้าหมายและแรงจูงใจในชีวิต ซึ่งเป็นปัจจัยเชิงลบพาให้เด็กหันเหไปสู่หนทางดังกล่าว ในสภาพโรงเรียนต่างๆที่ผมเคยสอนมา นับวันเด็กๆกลุ่มนี้จะยิ่งทวีจำนวน

ถ้าเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21(21st century skills) เด็กๆจะถูกอธิบายว่า ขาดทักษะชีวิตหมายถึง ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือไม่มีทักษะในการต่อสู้ชีวิตให้อยู่ได้อย่างปกติสุข หรือรู้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม ขณะใจตัวเองตระหนักชัดว่า การขาดทักษะชีวิตของเด็กๆนั้น มีที่มาจากการจัดการศึกษานั่นเอง ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมโลกได้

อย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนต้องจัดการเรียนรู้ เพื่อเสริมเติมทักษะชีวิตให้ ผมเป็นครูเช่นครูคนอื่นๆอีกมากมาย ที่พยายามทำหน้าที่ เท่าที่ตัวเองมีกำลังความสามารถ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สอนวิชาเริ่มต้นโครงงานวิทยาศาสตร์ให้นักเรียนชั้น ม.1 ผมเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเช่นเคย กังหันลมหมุนเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอะไร?” เด็กๆช่วยกันคิดตั้งสมมติฐานต่างๆนาๆ อาทิ ขนาดของใบพัด ชนิดของใบพัด ลักษณะ หรือรูปร่างของใบพัด ฯลฯ

จากนั้นจึงให้นักเรียนออกแบบ และลงมือทำการทดลอง เพื่อพิสูจน์คำตอบที่ตัวเองคาดเดาขึ้น พร้อมบันทึกผลและเขียนรายงานส่ง อันที่จริงผมใช้เรื่องและวิธีเดียวกันนี้ สอนทักษะวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้ชั้น ม.1 มาก็หลายรุ่นแล้ว แต่กระนั้นในทุกครั้ง หรือทุกรุ่นที่สอน เมื่อสังเกตเห็นนักเรียนทำงาน โดยเฉพาะขณะนักเรียนทดสอบความเร็วในการหมุน หรือนับจำนวนรอบ/เวลา

แววตาและสีหน้าของนักเรียนครับ ที่ให้กำลังใจครูอย่างผม..อย่างแรง

หมายเลขบันทึก: 476536เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2012 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

* มาร่วมเป็นห่วงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนในยุคนี้ด้วยค่ะ

* แต่ผู้ใหญ่จะหมดหวังไม่ได้ ต้องร่วมด้วยช่วยกันปรับปรุงเปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวให้ทันกับสภาะที่กล่าว อย่างที่น้องครูธนิตย์กำลังทำอยู่ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของเด็กๆให้รู้จักคิดวิเคราะห์ทั้งในเชิงคุณธรรมและวิทยาการค่ะ

                                 ***...ภาพใสๆ ของศิษย์น้ำดี ...ช่วยเติมพลังให้ใจเป็นสุขเสมอๆ ...***

         
                                         Flowerspinkleavesbutterfliessparkle - animation-flower Pictures

ดูแววตาเด็กๆ ที่ดูสิ่งซึ่งประดิษฐ์ขึ้นกับมือ แล้วชื่นชมคุณครูที่จัดกิจกรรมให้เด็กเกิด "focus" ในสิ่งที่ทำ

เห็นด้วยกับที่คุณครูธนิตย์ว่าคะ

สภาพปัจจุันมีสิ่ง รบกวนให้การตั้งเป้าหมายชีวิตชัดเจนทำได้ยากขึัน

แต่อารมณ์ ขณะที่เราดำเนินขยับใกล้เป้าหมาย เป็นความสุขที่ใครไม่เคยก็ไม่รู้

แล้วไปติดกับอารมณ์สนุกสนานชั่วคราวอย่างน่าเสียดาย

  • การเล่าเรื่องของอาจารย์ ให้ทั้งการคิดใคร่ครวญทางวิชาการทางการศึกษาที่อยู่ภายใต้กิจกรรมการเรียนการสอนและการดูแลเด็กๆ ให้ศิลปะของชีวิต ให้ความสุขความรื่นรมย์ใจต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนเส้นทางดำเนินไปของชีวิตและการงาน รวมทั้งเป็นการบันทึกรายงานและเผยแพร่นำเสนอเรื่องราวของโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งกับพัฒนาการในชีวิตของเด็กๆอีกรุ่นหนึ่งในสองมือปั้นของคุณครู ต่อสังคมวงกว้าง ชอบวิธีนำเอางานและประสบการณ์ชีวิตมาศึกษาให้ได้ทั้งปัญญาและจิตใจที่เบิกบานของอาจารย์แบบนี้มากเลยครับ
  • เป็นวิธีปฏิบัติและเฝ้าสังเกตตนเองไปด้วยอย่างลึกซึ้ง เห็นโลก ความสำนึกร่วมต่อสังคม และสติปัญญาอันกว้างขวาง อยู่ในห้องเรียนเล็กๆ มีมุมมองและสะท้อนการเรียนรู้ออกมาจากทุกอย่างได้อย่างลึกซึ้งอยู่เสมอ

ห้องเรียนนี้หนูมีความสุขมากเลยค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณครูธนิตย์

  • ห้องเรียนนี้มีชีวิตชีวาจัง
  • เด็กๆน่ารักมากค่ะ

ทักษะเด็กไทย น้อยลงในเรื่องดีๆ แต่กลับไปมากในเรื่องไม่ดี

ชื่นชมจากใจจริง ตรงนี้ครับ

    แววตาและสีหน้าของนักเรียนครับ ที่ให้กำลังใจครูอย่างผม..อย่างแรง

คุณครูหลายท่านที่ผมสัมผัสมา  ยังไปไม่ถึงตรงนี้ครับ ยังขาดความละเอียดอ่อนในการสนใจพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็ก

เรื่องเด็กสนใจเรียนน้อยลง  ผมนึกถึงเรื่องช้างป่า ที่จันทบุรีและตราด  ช้างป่า บุกรุกมาทำลายสวนผลไม้ ชอบมากินทุเรียนหมอนทอง  ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างป่า บอกว่า  จะให้ช้างป่า กลับไปอยู่ป่าเหมือนเดิม  มันคงไม่กลับแล้ว  มันติดใจความอุดมสมบูรณ์ ของสวนผลไม้

     จะให้เด็กสนใจเรียนเหมือนเดิม  ไม่ได้แล้ว เพราะเด็กติดใจ ความทันสมัย มากมายรอบตัวเขา

เด็กไม่ตั้งใจเรียน ทั้ง ๆ ที่ใช้สื่อที่ทันสมัย

ไม่เหมือนสมัย ก่อน ๆ อย่างที่อาจารย์ว่า ติด ๐ ติด ร มส. เป็นว่าเล่น เชื่อไหมครับ ผู้บริหาร

ใช้วิธีบังคับครู (ไม่บังคับก็เหมือนบังคับ) ใครที่ให้เด็ก ติด ๐ ร มส ไม่ขอความดีความชอบให้

เด็กที่ไม่เข้าเรียน ถึงเวลา ผู้บริหารอนุญาตให้สอบ ไม่ให้เกียรติครูผู้สอน นี่แหละครับ สาเหตที่เด็กไม่สนใจเรียน

เพราะอย่างไร ผู้บริหารก็ช่วยเอง มีจริงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท