ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยประมาท


ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ

                “นางสาวนุ้ย ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลชุมชน ได้ปฏิบัติงานเวรเช้า เวลาประมาณ 11.30 น. เพื่อนร่วมงานได้บอกว่ายา Ampicilin สำหรับฉีดให้ผู้ป่วยเวลาเที่ยงไม่พอหนึ่งคน นางสาวนุ้ย จึงได้ไปขอยืมยา Ampicilin จากตึกผู้ป่วยข้างเคียง โดยหยิบขวดยาผิด เป็นยา Chloramphenical  ซึ่งลักษณะสีของขวดยา Chloramphenical จะเหมือนกับขวดยา Ampicilin  นางสาวนุ้ย นำไปฉีดให้ผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยมีอาการขมคอมากและปวดมาก บริเวณที่ฉีดมีอาการแดง มีผื่นขึ้นบริเวณที่ฉีด แต่คนไข้ไม่ได้รับอันตรายรุนแรงและไม่ติดใจเอาความหรือเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ

                   พฤติการณ์ของนางสาวนุ้ย ดังกล่าว เป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่เอาใจใส่ระมัดระวัง และประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ลงโทษภาคทัณฑ์”

                    ปัจจุบัน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติความผิดวินัยฐานกระทำโดยประมาทไว้ใน มาตรา 83 “ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใดอันเป็นข้อห้าม ดังต่อไปนี้  ( ๔ ) ต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ”

    สำหรับการกระทำโดยประมาทนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙ วรรคสี่บัญญัติให้คำจำกัดความไว้ว่า “กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัย และพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่” วรรคที่ห้ายังได้อธิบายขยายความหมายของการกระทำไว้อีกว่า “การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

    กรณีอุทาหรณ์ ข้างต้น นางสาวนุ้ยหยิบขวดยา Chloramphenical โดยคิดว่าเป็นยา Ampicilin  เนื่องจากลักษณะสีของขวดยาทั้งสองเหมือนกัน เหตุดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยได้รับยาผิดและเกิดอาการผิดปกติของร่างกายเนื่องจากยาแต่ไม่เป็นอันตรายรุนแรง การกระทำของนางสาวนุ้ยที่ไม่ตรวจสอบดูชื่อยาให้ละเอียดรอบคอบเพียงพอ โดยเพียงแต่ตรวจดูลักษณะสีของขวดยาเท่านั้น ซึ่งในการเตรียมยาฉีดให้ผู้ป่วยตามหลักวิชาการ นางสาวนุ้ยควรตรวจสอบดูชื่อยาในฉลากยาก่อนนำไปให้ผู้ป่วย ถือเป็นการไม่ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอแก่การที่ตนเป็นพยาบาลวิชาชีพผู้มีความชำนาญในการปฏิบัติงานพยาบาล เมื่อกระทำในการที่ตนมีหน้าที่ปฏิบัติในงานราชการจึงเป็นความผิดวินัยข้าราชการฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวในทางความผิดอาญานางสาวนุ้ยยังอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390  “ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษ...”

     ส่วนความรับผิดในทางแพ่งฐานละเมิด ถ้าหากผู้ป่วยหรือผู้เสียหายติดใจเรียกร้องค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน เนื่องจากได้รับอันตรายจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยประมาทดังกล่าว รัฐต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแทนข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน้าที่   แต่หากพิสูจน์การกระทำของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ได้ว่าเป็นพฤติกรรมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ผู้กระทำจะต้องเป็นฝ่ายรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเอง ( เรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติราชการ ทางกลุ่มงานจะนำเสนอรายละเอียดต่อผู้อ่านในฉบับต่อไป )

                    ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่กลุ่มผู้มีหน้าที่ให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนผู้รับบริการโดยตรง เช่นกรณีอุทาหรณ์ดังกล่าวนั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของผู้อื่น หากไม่ได้ปฏิบัติให้ระเอียดรอบคอบอย่างเพียงพอตามหลักวิชาการและหลักมาตรฐานคุณภาพของงานแล้ว โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดย่อมมีได้มาก ข้าราชการจึงควรต้องเป็นผู้มีร่างกายและจิตใจที่มีความพร้อมต่อการให้บริการ มีองค์ความรู้ที่เพียงพอเหมาะสม และปรับปรุงพัฒนาระบบคุณภาพบริการให้ต่อเนื่อง

เอกสารอ้างอิง

  1. ประมวลกฎหมายอาญา
  2. พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
  3. จุลสารวินัย ฉบับที่ 2 / 2551 กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
หมายเลขบันทึก: 476197เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท