KM00089 : ควรเลือกยืนข้างใดข้างหนึ่ง!


เรื่องนี้หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจสำคัญสำหรับหลายคน บางคนอาจพลาดบางที่สำคัญในชีวิตเรื่องไป เพียงแค่เราไปยืนขวางเอาไว้ และอย่างที่ผมบอกไป เป็นการสอนให้เรารู้จัก "ใส่ใจผู้อื่น" มากขึ้น
เมื่อช่วงก่อนน้ำท่วมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปอบรมที่ไต้หวัน การไปครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งแตกต่างจากครั้งแรก เพราะเราไปแบบไม่มีทัวร์มาคอยช่วยพาไปไหนมาไหนเหมือนครั้งแรก ทำให้ต้องเดินทางกันเอง ต้องยอมรับว่าระบบขนส่งมวลชนของไต้หวันนั้นเยี่ยมยอดและแตกต่างจากบ้านเราพอควร ทั้งรถประจำทางและรถไฟ้ฟ้าใต้ดิน บนดิน มีให้เลือกใช้กันอย่างสะดวก ไปได้แทบทุกที่ที่เราต้องการ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สภาพการจราจรในไทเป ซึ่งเป็นเมืองหลวงของไต้หวันไม่ติดขัดแบบบ้านเรา และส่งผลให้มีมลพิษน้อยตามมา
การนิยมใช้ระบบขนส่งมวลชนของคนไต้หวัน บวกกับอากาศที่ไม่มีมลพิษ ทำให้ผมพบว่าตามสถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ป้ายจอดรถประจำทาง หรือตามท้องถนน จึงเต็มไปด้วยผู้คนที่เดินไปมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะการเดินภายในสถานีรถไฟฟ้าแต่ละแห่งก็เป็นระยะทางไม่น้อย (คงคล้ายๆเหมือนกับบ้านเรา) ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุที่ผมไม่ค่อยพบ "คนอ้วน" ในไทเป แต่ข้อเสียก็มีนะครับ เมื่อคนมารวมอยู่กันมากๆ โอกาสเกิดโรคติดต่อก็ง่าย ไต้หวันจึงมีปัญหาเรื่องนี้พอควรและพยายามรณรงค์ให้ใส่หน้ากากอนามัย (Mask) ยามเจ็บป่วย
การใช้บริการ "เท้า" ของตัวเองนี่แหละครับเป็นเรื่องของวันนี้ สิ่งที่ผมสังเกตุเห็นได้อย่างหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็น "วัฒนธรรม" ของคนที่นี่คือ เมื่อใช้บริการบันไดเลื่อนหรือทางเลื่อน หากยืนนิ่งๆ (คือไม่เดิน) ทุกคนจะยืนชิดขวาโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เหลือช่องด้านซ้ายไว้ให้คนที่ไม่ต้องการยืนนิ่งๆ ใช้เดิน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากครับเพราะแต่ละคนมีความเร่งรีบไม่เท่ากัน จริงๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นการสอนให้ "นึกถึงคนอื่น" แบบง่ายๆ ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นเฉพาะตามสถานีรถไฟฟ้า เพราะหลายคนอาจต้องรีบไปให้ทันขบวน (จริงๆ รถไฟฟ้าที่นี่มาเร็วมากแทบจะทุกนาที) แต่ผมก็พบวัฒนธรรมนี้ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ด้วย ทีมคนไทยที่ไปด้วยกันหลายคนก็ยังติดนิสัยจากเมืองไทย ขึ้นบันไดเลื่อนปุ๊ปก็จะยืนขวางเต็มบันไดเพื่อคุยกัน บางผมก็ต้องช่วยบอกให้ชิดขวา ไม่อย่างนั้นก็จะโดนมองแบบแปลกๆ
หันมาดูในบ้านเราบ้าง เราจะเห็นแทบทุกบันได้เลื่อน ทางเลื่อน ก็จะถูกยืนเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่ไปด้วยกัน ถ้ามากันสองคนก็จะยืนคนละข้าง ถ้ามาเป็นกลุ่มก็ไม่ต้องพูดถึง (โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น) หากใครมาขอให้หลีกทางเพื่อจะรีบเดินขึ้น ก็อาจถูกมองว่า "จะรีบไปไหน" (อันนี้แบบสุภาพนะ) เพราะเราชอบใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง (COW : Center of the World) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ตามทางเลื่อนก็มีติดไว้ว่า "กรุณายืนชิดขวา" แต่ก็ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติตาม ส่วนใหญ่ก็จะยืนคุยกันเต็มช่องทาง คงคิดว่า "ไหนๆ ก็ไม่ต้องเดินเองแล้ว ก็คุยให้เต็มที่"
ผมลองเข้าไปค้นหาใน Google เพื่อดูว่าประเทศเรามีการพูดเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด ก็พบว่ามีคนพูดถึงพอควร มีการจัดโครงการ "คนไทยขึ้นบันไดยืนชิดขวา Stand on the right" มีการสร้าง Facebook เรื่องนี้ขึ้นที่ www.facebook.com/standontheright ตั้งแต่เดือนธันวาคม ๒๕๕๓ มีคนเข้ามากดชอบ (Like) เพียงแค่ห้าพันกว่าคน และยังมีการจัดทำภาพยนต์เรื่องสั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน Youtube (http://www.youtube.com/watch?v=S_OCg9OstAY) ก็มีคนเข้าไปดูเพียงแปดพันกว่าคน แสดงว่าคนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก หรืออาจเป็นเพราะเนื้อหายังไม่ "โดนใจ" เท่าที่ควร เพราะการพลาดเที่ยวบินอาจดูไกลตัวไป เรื่องใกล้ตัวที่ผมเคยเจอเองก็เป็นเรื่องที่ต้องรีบไปเข้าห้องน้ำ เพราะท้องไส้ไม่ปกติ แต่ต้องยืนรอบนบันไดเลื่อนด้วยความทรมาน (ยากกินไม่ระวังเอง)
เรื่องนี้หลายคนอาจมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่อาจสำคัญสำหรับหลายคน บางคนอาจพลาดบางที่สำคัญในชีวิตเรื่องไป เพียงแค่เราไปยืนขวางเอาไว้ และอย่างที่ผมบอกไป เป็นการสอนให้เรารู้จัก "ใส่ใจผู้อื่น" มากขึ้น หากลองทำกันดู (หมายถึงช่วยกันทำนะครับ) เราอาจจะพบว่ามีคนที่รีบและต้องการไปก่อนเรามากมาย ส่วนจะยืนข้างไหนก็ตามควรตกลงให้ตรงกันครับ เพราะหากบางคน "ขวา" บางคน "ซ้าย" ก็คงไม่ต่างไปจากเดิม นักวิชาการส่วนใหญ่ก็แนะนำให้ "ชิดขวา" เพราะคนเราถนัดขวามากกว่าทำให้จับราวบันไดได้แน่นกว่า โดยเฉพาะเด็กและคนชรา แต่จะข้างไหนก็ไม่เป็นไร สำคัญที่จะทำอย่างไรให้ "วัฒนธรรม" แบบนี้เกิดขึ้่นในเมืองไทยเราครับ "วัฒนธรรมที่เห็นแก่ผู้อื่น"
 
 
 
     
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 476182เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 12:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท