วิธีการเรียนการสอนเพื่อเตรียมพร้อมในการทำงานในศตวรรษที่ 21


การเรียนการสอน ศตวรรษที่ 21

บทความนี้เขียนโดยครูที่สอนศิษย์โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เขาสามารถทำงานได้จริงเมื่อเขาจบไปแล้ว ในการที่จะสอนนักศึกษาให้ทำงานได้จริง เราจะต้องเข้าใจสังคมที่ครูและศิษย์อยู่ซึ่งเป็นสังคมในศตวรรษที่ 21 เข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนในยุคอินเทอร์เน็ต และปรับวิธีการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้เขามีความรู้ ความสามารถ มีจริยธรรมและคุณธรรมมากขึ้น เพื่อให้พร้อมในการทำงานจริงร่วมกับผู้อื่น

 

1.สังคมศตวรรษที่ 21

ในปัจจุบันสังคมเปลี่ยนแปลงเร็ว มนุษย์เปลี่ยนเร็ว ความรู้เปลี่ยนเร็ว คงเป็นไปไม่ได้ที่ครูจะสอนสิ่งที่ทันสมัย ความรู้แบบฉาบฉวยหาง่ายบนอินเทอร์เน็ต ความรู้ที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์หายาก เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จะต้องเปลี่ยน จะต้องเปลี่ยนจากสอนที่เน้นเนื้อหามาเป็นการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ควรเน้นการทำ ครูควรจะสอนเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานเท่านั้น ควรจะเน้นการออกแบบการเรียนรู้ เน้นการสร้างแรงบันดาลใจ เป็นโค้ชที่แนะนำไม่ใช่เป็นหัวหน้าที่สั่งให้ศิษย์ทำตาม แนะนำให้ศิษย์คิดและเลือกในสิ่งที่เขาเห็นว่าเหมาะสมสำหรับเขา ในสังคมศตวรรษที่ 21 ครูไม่ได้มีหน้าที่มาเล่าเนื้อหาในตำรา แต่มีหน้าที่ฝึกการเรียนรู้ของศิษย์ อนึ่งเนื่องจากสังคมเปลี่ยนเร็วในศตวรรษที่ 21 การแก้ปัญหาต่างๆ ยากที่จะทำสำเร็จได้ด้วยคนเดียว ควรจะทำเป็นทีม เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนควรจะเน้นและมีโอกาสให้ผู้เรียนฝึกการทำงานเป็นทีม การทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่แตกต่างกัน ฝึกการฟังและการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ฝึกการมีส่วนร่วม สามารถทำหน้าที่ได้ทั้งเป็นผู้นำและผู้ตามในสภาวะที่เหมาะสม

2. ผู้เรียนในยุคอินเทอร์เน็ต

ในยุคอินเทอร์เน็ต ผู้เรียนมีข้อเสียตรงไม่ชอบอ่าน แต่ชอบทำ เพราะตั้งแต่เด็กใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากกว่ากับหนังสือ ชอบอยากได้คำตอบ แต่ไม่ชอบคิด เพราะสามารถใช้กูเกิลค้นหาคำตอบได้ ไม่ได้ฝึกให้ลองอ่านและคิดเอง สามารถทำอะไรหลายอย่างได้พร้อมกัน เช่น เล่นเกมและคุยกับเพื่อนออนไลน์พร้อมกัน การเรียนที่ให้ผู้เรียนนั่งฟังตลอดคาบจึงเป็นการเรียนที่จะเกิดผลสัมฤทธิ์ประโยชน์น้อยมากเพราะไม่เหมาะสมกับนิสัยและจริตของผู้เรียน แต่ผู้เรียนชอบทำ ชอบทดลอง และชอบมีอะไรหรือใครคอยแนะนำบ้างเพื่อพบปัญหา

3. วิธีการเรียนการสอนและการประเมินผล

วิธีการเรียนการสอนที่ได้พยายามทำตั้งแต่สอนในปี 2546

1. ฝึกให้ศิษย์มีการคิด เพราะถ้าศิษย์คิดไม่เป็น หรือไม่ยอมคิด ก็จบ ไม่สามารถนำไปใช้งานจริงหรือแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่จะกระตุ้นให้ศิษย์คิดคือต้องตั้งคำถามให้เขาคิด

2. ฝึกให้ศิษย์พยายามที่จะเข้าใจ หากคิดแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่เกิดประโยชน์ แล้วทำอย่างไรให้เข้าใจ ก็ต้องลองปฏิบัติจริง ทำจริง อย่างที่คำพังเพยว่า สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็น ไม่เท่ามือทำ

3. ฝึกให้ศิษย์มีการวิเคราะห์ ทำอย่างไรให้ศิษย์วิเคราะห์ได้ ก็ต้องให้ศิษย์เจอปัญหาเยอะๆ ให้คิดหาสาเหตุที่ทำให้เกิดผลอย่างนี้เยอะๆ ปัญหาที่ให้อยู่ในรูปแบบของโจทย์ในแล็ป

4. ฝึกให้ศิษย์มีทักษะการแก้ปัญหา ทำอย่างไรให้เด็กแก้ปัญหาได้ ก็ต้องให้เด็กหัดตั้งสมมุติฐานและออกแบบการทดลองเพื่อพิสูจน์ว่าสมมุติฐานนั้นเป็นจริงหรือไม่ เมื่อเด็กติดปัญหา ก็ไม่ได้บอกแนวทางแก้ปัญหา แต่พยายามฝึกให้เขาแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน หากเขาเริ่มต้นไม่เป็น ก็ตั้งสมมุติฐานให้เขาออกแบบผลการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมุติฐานที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของโจทย์ในแล็ป

5. ประเมินผลโดยสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับการทำงาน มีการสอบภาคปฏิบัติที่นักศึกษาสามารถค้นหาข้อมูลจากกูเกิลได้ มีการสอบกลางภาคและปลายภาคที่นักศึกษา สามารถเปิดหนังสือ เปิดสมุด เปิดดิกชันนารีได้ เพราะเชื่อว่าเมื่อนักศึกษาไปทำงาน นักศึกษาก็สามารถใช้กูเกิลและเปิดนักศึกษาได้ การประเมินผลการเรียนการสอนจึงไม่ได้วัดการท่องจำแต่วัดจากการเข้าใจ วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้งานจริงได้

6. ฝึกให้ศิษย์ทำงานเป็นทีมและมีทักษะในการสื่อสารโดยการมีโปรเจกต์ให้ศิษย์ทำ โดยศิษย์จะต้องเริ่มตั้งแต่เขียนข้อเสนอโครงการ เขียนเว็บเพจเกี่ยวกับโครงการ พัฒนาโปรแกรมที่เสนอในโครงการ เขียนรายงานความก้าวหน้า เขียนรายงานฉบับสมบูรณ์ และนำเสนอโครงการ เมื่อศิษย์ส่งงานในแต่ละครั้ง ศิษย์จะได้รับข้อเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงในการส่งงานครั้งต่อไป โดยที่โปรเจกต์มักจะให้ทำในสิ่งที่แก้ไขปัญหาจริง มีการเชื่อมโยงกับองค์กรและบริษัทเพื่อจะได้โจทย์ในชีวิตจริง

7. มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเช่นเฟซบุ๊กเพื่อให้ศิษย์ได้แนะนำคนอื่นเมื่อเขาได้ความรู้ใหม่หรือเทคนิคใหม่ที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นในการทำแล็ปหรือทำโปรเจกต์

8. เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล และมีความจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงพยายามหาโอกาสเสริมทักษะภาษาอังกฤษให้เขาด้วย เอกสารทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ บางวิชาบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ แต่มีแล็ปภาษาไทยเสริม และมีการตั้งคำถามเพื่อทดสอบว่าศิษย์เข้าใจสิ่งที่สอนเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ หากไม่เข้าใจ ก็อธิบายเป็นภาษาไทยให้

สรุปแล้วการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ครูจะต้องเชื่อมโยงบุคลากรภายนอกที่ทำงานจริง และมีการเตรียมพร้อมให้ศิษย์สามารถทำงานจริงได้ผ่านการทำแล็ปและการทำโปรเจกต์เป็นทีม สามารถทำงานในระดับสากลโดยใช้ภาษาอังกฤษได้ และเป็นคนที่มีจิตอาสาและมีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

อ้างอิง

หมายเลขบันทึก: 476117เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2012 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มีหลายประเด็นที่น่าสนใจโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เอามาฝากด้วยครับ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/474983

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท