KM00087 : "ผู้อำนวยการ คือ?"


ผู้อำนวยการ คือ ผู้อำนวยความสะดวกให้ทุกคนทำงานได้

วันนี้ (๒๐ ม.ค. ๕๕) ช่วงบ่ายมีโอกาสได้นั่งฟัง อ.ธีรพล (นพ.ธีรพล เจนวิทยา) อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต ๑๐ อุบลราชธานี ที่เพิ่งเกษียณอายุไปเมื่อ ๒ วันที่แล้ว มาเล่าเรื่องประสบการณ์ทำงานในฐานะผู้บริการหน่วยงานหนึ่ง ส่วนตัวผมไม่ได้รู้จักท่านมากเท่าไหร่ เพราะท่านมักทำงานอยู่ในพื้นที่ แต่ก็เริ่มสะดุดใจครั้งหนึ่งเมื่อมีโอกาสไปบรรยายที่ สปสช. เขต ๑๐ และท่านก็ไม่ได้เข้าฟังด้วย แต่เพียงหนึ่งวันที่ผมกลับมากรุงเทพฯ ท่านก็มีเมลล์ (E-mail) มาขอบคุณ ซึ่งผมไม่เคยเจอผู้อำนวยการหรือผู้บริหารหน่วยงานไหนทำมาก่อน จึงเริ่มรู้สึกประทับใจในตัวท่าน หลังจากนั้นก็ได้ยินเจ้าหน้าที่ด้วยกันพูดถึงท่านบ่อยๆ ในเรื่องของความเป็นกันเองและความมี "เมตตา" ต่อเจ้าหน้าที่ จึงไม่แปลกใจที่ไม่เคยได้ยินข่าวเจ้าหน้าที่ สปสช. เขต ๑๐ "ย้าย" หรือ "ลาออก" ตรงกันข้ามกลับมีคนเข้าคิวขอย้ายไปที่นี่มากมาย

"ผู้อำนวยการ คือ ผู้อำนวยความสะดวกให้ทุกคนทำงานได้" เป็นประโยคที่ท่านพูด ฟังแล้วรู้สึกประทับใจ สามารถนำไปใช้ได้ทุกระดับ หัวหน้างาน หัวหน้ากลุ่มงาน ผู้จัดการ ยิ่งตำแหน่งสูงเท่าไหร่ ก็ควรต้องยิ่งรับผิดชอบให้ "ผู้ร่วมงาน" ทำงานได้สะดวก ท่านบอกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนถือเป็น "ผู้ร่วมงาน ไม่ใช่ลูกน้องกับเจ้านาย" และยังได้ยกคำสอนของพระอาจารย์อลงกต (วัดพระบาทน้ำพุ) เรื่อง "ตะปูเกือกม้า" ท่านบอกว่า "ตะปูเกือกม้าหากติดไม่แน่น เป็นสนิม เมื่อม้าวิ่งเกือกม้าก็หลุด เกือกม้าหลุดม้าก็ล้ม ม้าล้มขุนศึกก็ตกหลังม้า ขุนศึกตกหลังม้าก็แพ้ศึก เมื่อแพ้ศึกก็สิ้นชาติ" ฉะนั้น ทุกคนจึงมีความสำคัญ แตกต่างกันตรงหน้าที่

"ผู้อำนวยการ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง" ท่านบอกว่าท่านปล่อยให้เจ้าหน้าที่คิดและทำในงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ หากทำได้ดีไม่มีปัญหาก็ไม่จำเป็นต้องมาบอกท่าน แต่เมื่อมีปัญหาเมื่อไหร่ให้รีบมาบอก ท่านจะได้ช่วยเหลือ และหากใครทำได้ดีก็เป็นผลงานของคนนั้น แต่หากท่านทำก็เป็นผลงานของท่าน (ผู้เขียน : เรื่องนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง ผู้บริหารในองค์กรหลายท่านมักคิดว่าต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกน้องทำ เพราะกลัวผู้บริหารระดับสูงกว่าซักถามแล้วตัวเองไม่รู้เรื่องจะเสียหน้า แต่หากเข้าใจแนวคิดของ อ.ธีรพล ก็จะเห็นได้ว่า หากผู้บริหารระดับสูงกว่าถามเราก็สามารถให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบท่านนั้นมาตอบได้ เพราะผู้อำนวยการหรือผู้จัดการหรือหัวหน้าก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ท่านนั้นๆ ดำเนินการเรื่องนั้นๆ ที่รับผิดชอบให้สำเร็จลุล่วงได้ อย่ากลัวเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเก่งกว่า เพราะหากเก่งกว่าเราเมื่อไหร่ เราก็สบายมาขึ้นเท่านั้น)

"แฟ้มบนโต๊ะผมไม่เคยเหลือตอนเย็น" ท่านบอกว่าท่านจะเซ็นหนังสือให้เสร็จสิ้นในตอนเย็นทุกวัน "และแฟ้มก็ไม่เคยเดินไปเองได้" ท่านจะเป็นคนเดินกลับไปวางคืนตามโต๊ะเจ้าหน้าที่หลังจากเซ็นเสร็จทุกวัน (ผู้เขียน : ท่านได้แสดงถึงความไม่ถือตัว และถือว่าทุกคนก็มีหน้าที่ต่างกัน และทำหน้าที่ของตนให้ดี ครั้งหนึ่งผมเคยไปที่สำนักงาน สปสช. เขต ๑๐ เห็นท่านยืนบอกให้เจ้าหน้าที่ช่วยพิมพ์หนังสือตอบกลับหน่วยบริการ ทีละประโยค ทีละประโยค ผมเลยถามเจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่งว่าท่านทำอะไร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นบอกว่าเป็นงานของท่าน ท่านรับเป็น PM (Project Manager) เรื่องหนึ่งเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ท่านก็เลยทำในส่วนของท่านเอง ฟังแล้วผมยิ่งรู้สึกชื่นชมท่าน)

ผมได้อ่านหนังสือประวัติของสตีฟ จ๊อบ (Steve Job) บ้างบางส่วน พบว่าวิธีการบริหารแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน (ไม่ได้วัดกันที่เรื่องรวยนะครับ แต่วัดกันที่เรื่องงานที่สำเร็จ) จะว่าไปก็คงต้องขึ้นอยู่กับคนที่ทำงานร่วมกันด้วย จ๊อบเลือกวิธีแข็งกร้าวกระตุ้นทีม ขณะที่ อ.ธีรพล ใช้ความเมตตา มีคนบอกว่าการบริหารคนต้องมีทั้ง "พระเดช" และ "พระคุณ" แต่ผมคิดว่าจะเลือกใช้แบบไหนก็ขึ้นอยู่กับคนที่แวดล้อมเรา นับว่าโชคดีที่ สปสช. เขต ๑๐ มีทั้งคนเก่งและคนดี การใช้ "พระคุณ" จึงสามารถทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จได้

ขอบคุณ อ.ธีรพล ที่มาให้แง่คิดดีๆ หลายๆ เรื่อง ถึงแม้ผมไม่ใช่ผู้บริหาร แต่ก็สามารถนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีครับ
คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 475557เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2012 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ว้าว อยากให้มีผอ. ลักษณะนี้เยอะๆ ในเมืองไทย ทุกระดับค่ะ

เคยฟังเรื่องเล่าว่ามีบางที่เมื่อหลายปีก่อน ยังต้องคลานเข่าเข้าเสนอเซ็น ฟังแล้วช็อคเลยค่ะ ๕ ๕ เมืองไทย ยังถือเรื่อง พิธีรีตอง เจ้ายศเจ้าอย่างเกิน ควรปรับกันด่วน :)

อ่านแล้วนึกถึง ท่าน CEO นิ้วก้อย ในบันทึกนี้ ชอบๆ ขอบคุณค่ะ

 

ขอชื่นชมทั้งผู้เขียนและ อ. ธีรพล ตอนนี้หลายหน่วยงานต้องการผู้บริหารแบบนี้ จริง ๆ

สวัสดัครับ คุณ Poo คุณพรชัย

หากต้องการให้มีผู้บริหารแบบนี้มากๆ อาจต้องเริ่มที่ตัวเองก่อนครับ


ถ้าในหน่วยงาน องค์การต่างๆ มีผู้บริหารแบบนี้ ผมเชื่อว่าสังคมไทย น่าอยู่กว่านี้ และการย้ายคงไม่มี การทำงานก็แฮปปี้

ขออนุญาตแชร์นะคะ  เพราะมีประโยชน์มาก ๆ ค่ะ 

ส่วนมากผู้อำนวยการไม่รู้ความหมายภาษาไทยมันไม่ใช่ตำแหน่งผู้บัญชาการหรือผู่้สั่งการ

เท่าที่เจอมา ผู้อำนวยการ คือ ผู้ทำให้งานวุ่นวายมากขึ้นเป็น 100 เท่า พันเท่า 5555

ขอบคุณบันทึกดี ๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท