การจัดการความรู้ในโรงเรียนเพลินพัฒนา


โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นตัวอย่างองค์กรที่นำการจัดการความรู้มาใช้จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม

การจัดการความรู้ในโรงเรียนเพลินพัฒนา

เขตทวีวัฒนา  กรุงเทพฯ

โดย

นางสาวพยอม นาคนางรอง    รหัสนักศึกษา 54D0103209

นางสาวพิชญกานต์  บำรุงกลาง รหัสนักศึกษา 54D0103211

ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy – KBE) งานต่างๆ จำเป็นต้องใช้ความรู้มาสร้างผลผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น การจัดการความรู้เป็นการรวบรวม สร้าง จัดระเบียบ แลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ความรู้ในองค์กร โดยพัฒนาระบบจากข้อมูลไปสู่สารสนเทศ เพื่อให้เกิด ความรู้และปัญญามาสนับสนุนให้การทำงานของแรงงานความรู้ (Knowledge Worker) มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สร้างช่องทางและเงื่อนไขให้คนเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อนำไปใช้พัฒนางานของตนให้สัมฤทธิ์ผล

โรงเรียนเพลินพัฒนาก่อกำเนิดมาจากการทักทอเจตนารมณ์ของกลุ่มคนที่ต้องการจะเห็นกระบวนการศึกษาของสังคมไทย ในแนวสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับยุคสมัยกลุ่มคนเหล่านี้มีทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู นักวิชาการนักศึกษา ตลอดจนกลุ่มธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ที่มาจับมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อระดมทรัพยากร ความรู้ความสามารถที่มีก่อตั้งโรงเรียนเพลินพัฒนาขึ้นมาด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างคนดีของสังคมไทยที่จะเป็นคนเก่งในสังคมโลก

โรงเรียนเพลินพัฒนาเป็นโรงเรียนแนวใหม่ที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ ด้วยกระบวนการเรียนรู้ และเทคนิควิธีในการเรียนรู้ที่หลากหลาย ให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เด็กชื่นชอบ และเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ผู้เรียน มีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรม ผ่านวิถีการดำเนินชีวิตเพราะเด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าจะเป็นอย่างที่เราบอกให้เป็น มีการจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อมทางกายภาพเพื่อรองรับแนวคิด “ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม” และมีการเรียนรู้ด้วยยุทธศาสตร์ "ก้าวพอดี" ที่พอเหมาะกับวัยสอดคล้องกับเวลาและสถานการณ์ ด้วยความเพลิดเพลิน และพัฒนาอย่างมีความสุข

เมื่อปี พ.ศ. 2546 โรงเรียนเพลินพัฒนาก่อกำเนิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังว่าเราจะสร้างและถักทอให้โรงเรียนเป็น " ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม" หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการสร้าง "องค์กรแห่งการเรียนรู้" และถักทอเครือข่ายของการเรียนรู้เข้ากับชุมชนที่เป็นบริบทของโรงเรียน ซึ่งอันที่จริงแล้วก็คือภารกิจสำคัญของโรงเรียนที่โดยปกติก็ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและครอบครัวของสังคมอยู่แล้ว

 “การทำให้ดู อยู่ให้เห็น สอนให้เป็นนี้คือกระบวนการทางวัฒนธรรม”

หากมีกระบวนการทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นกับชุมชนใด ย่อมหมายถึงว่าชุมชนนั้นมีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสะสมองค์ความรู้ การส่งผ่านความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติขององค์กร ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการของการจัดการความรู้ (Knowledge Management-KM) ที่เน้นการให้คุณค่ากับความรู้ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ที่แฝงฝังอยู่ในตัวคนนอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากเอกสารตำรา ด้วยเหตุนี้แนวทางของการจัดการความรู้จึงสอดรับกันกับแนวคิดและหลักปฏิบัติของโรงเรียนเพลินพัฒนาอย่างพอดี และการจัดการความรู้ก็ยังเป็นเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้องค์กรเกิดความสามารถในการจัดการกับความรู้ที่มีอยู่แล้วอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่ความเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ดังเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในเร็ววัน

เป้าหมายของงาน

  • เป้าหมายในระดับองค์กร การจัดการความรู้ช่วยให้โรงเรียนบรรลุความเป็น "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม" ได้ด้วยกระบวนการพัฒนาปัญญาที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของโรงเรียน เกิดเป็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เข้าไปในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างเป็นธรรมชาติ
  • เป้าหมายในระดับกลุ่มงาน การจัดการความรู้ช่วยให้เกิดการพัฒนางานการจัดการเรียนการสอนของช่วงชั้นต่างๆ เกิดการสั่งสมองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการพัฒนาความรู้ ไปบนฐานข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติ
  • เป้าหมายในระดับห้องเรียน การจัดการความรู้ช่วยให้เกิดการพัฒนางานการจัดการเรียนการสอนของครูในแต่ละหน่วยวิชา ที่ทำงานอยู่กับห้องเรียน ทั้งในส่วนของการจัดการกับความรู้ (หลักสูตร แผนการเรียนรู้) การจัดการชั้นเรียน และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

เป้าหมายการพัฒนาคน

เป้าหมายในการพัฒนาคน การจัดการความรู้ช่วยให้ทุกคนได้เติบโตไปในงานของตน

  • ผู้เรียน ที่มีทักษะในการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย คือผู้ที่เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
  • บุคลากร ที่มีทักษะในการทำงานให้เป็นการเรียนรู้ คือผู้ที่พัฒนาตน และพัฒนางานอยู่ตลอดเวลา

โรงเรียนเพลินพัฒนามองเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ ( Knowledge Management - KM) โดยมีผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่เป็นผู้นำการจัดการความรู้ หรือ CKO (Chief Knowledge Officer) และมีรองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ หรือ Facilitator ที่เป็นผู้ติดตั้งระบบ KM ให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในหน่วยงานของโรงเรียน ตั้งแต่ปลายปีการศึกษา 2549 เป็นต้นมา

เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานใหม่ ผู้บริหารโรงเรียนได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ จึงได้ตั้งส่วนประมวลและพัฒนาความรู้ขึ้นเพื่อจะได้มีบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่ในการจัดการกับความรู้ที่หมุนเวียนอยู่ในโรงเรียน ทั้งในส่วนของการทำให้สิ่งสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ปรากฏขึ้น แล้วบันทึกความรู้ต่างๆ เก็บไว้เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกใช้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมุ่งเน้นไปที่การถอดรหัสความรู้ที่มีอยู่ภายในตัวบุคคล มากกว่าการรวบรวมชุดความรู้ที่ปรากฏในรูปของเอกสาร

นอกจากนั้นในส่วนของผู้ปกครอง ด้วยการสร้างโอกาสและการจัดพื้นที่ให้เกิดการพบปะกันของผู้ที่สนใจในเรื่องต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างสม่ำเสมอ มีการร่วมกันสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ร่วมกัน จนเกิดเป็นโครงสร้างของการอยู่ร่วมกัน คือ องค์กรครอบครัวเพลินพัฒนา

ในขณะเดียวกัน ก็เกิด ห้องเรียนพ่อแม่ ขยายเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากกลุ่มพ่อแม่ที่พบหน้ากันบ่อยๆ ที่โรงเรียน ชวนกันพูดคุยเรื่องทั่วไป จนมาเป็นการนัดพบกันของผู้ปกครองแต่ละห้องเรียนอย่างเป็นทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันตั้งแต่เรื่องการงานอาชีพ เป็นการสร้างความสนิทสนมและเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ให้กับลูกๆ ไปจนถึงเรื่องการหาแนวทางในการส่งเสริมและปรับปรุงพฤติกรรมของลูกๆ ร่วมกัน ซึ่งบางครั้งก็มีการเชิญคุณครูเข้ามาร่วมพูดคุยดัวย เพราะการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งที่บ้านและโรงเรียน

จากกิจกรรมที่ได้รับการจัดตั้ง มาเป็นวิถีชีวิตปกติ ที่ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ และสม่ำเสมอ จึงเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของชุมชน ที่พร้อมจะถ่ายทอดไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาในชุมชนเพลินพัฒนานี้ ด้วยบรรยากาศและวิถีชีวิตเช่นนี้ โรงเรียนเพลินพัฒนาจึงเป็นตัวอย่างองค์กรที่นำการจัดการความรู้มาใช้จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 475299เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2012 16:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอชื่นชมและให้กำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีของ "การสร้างความมีส่วนร่วมของการเรียนรู้" เช่นนี้ค่ะ

เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์มากครับ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรที่เรราทำงานได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณมากครับที่นำความรู้ดีๆมาแบ่งบันกันครับ...

ถูกต้องครับ การจัดการองค์ความรู้เป็นกระบวนการต่อยอดความรู้ใหม่ๆที่ยังคงรักษาฐานความรู้เดิมของวัฒนธรรมท้องถิ่นเดิมที่มีอยู่ ให้มีระบบและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะความรู้นั้นสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีระบบจัดการองค์ความรู้นั้นๆได้ดีแค่ไหน

การจัดการเรียนร้ของโรงเรียนเพลินพัฒนา เป็นการสร้างคนให้มีความรู้ตามหลักคือ ให้ความสำคัญของการพัฒนามนุษย์ และโรงเรียนให้ความสำคัญกับครอบครัว ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการศึกษาของบุตร มีการแลกเปลี่ยนระหว่างบ้านและโรงเรียน เพื่อให้ครอบครัวรับรู้ว่าโรงเรียนจัดการศึกษา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท